ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำคุก 8 เดือน 20 วัน คดีหมิ่นประมาทฯ “ประยุทธ์” ของ “สมบัติ ทองย้อย” ชี้ ไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต

วันที่ 18 พ.ย. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีของ “สมบัติ ทองย้อย” อดีตการ์ดผู้ชุมนุมเสื้อแดงวัย 55 ปี ซึ่งถูก อภิวัฒน์ ขันทอง รับมอบอำนาจจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวหาว่า โพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊กช่วงปี 2562 – 2563 มีเนื้อหาดูหมิ่น พล.อ.ประยุทธ์ จำนวน 2 โพสต์ หลังถูกศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา, ดูหมิ่นเจ้าพนักงานฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328, 136 และตัดต่อภาพทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงฯ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16 ลงโทษจำคุกไว้ 8 เดือน 20 วัน และให้นับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีมาตรา 112 โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืน 

เมื่อนับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดี 112 ตามคำพิพากษาแล้ว สมบัติมีโทษจำคุกรวม 4 ปี 8 เดือน 20 วัน

สำหรับผู้กล่าวหาในคดีนี้ คือ อภิวัฒน์ ขันทอง ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงปี 2562 และยังรับการแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจสอบและดำเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี  โดยพบว่าในช่วงปี 2563-65 มีคดีจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ที่อภิวัฒน์ไปกล่าวหาไว้ไม่น้อยกว่า 26 คดี มีทั้งคดีที่เป็นการโพสต์เนื้อหาทางออนไลน์เกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์ และคดีตามมาตรา 112 ซึ่งหลายคดียังดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน

สมบัติ ทองย้อย นับเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาชุดคดีดังกล่าว โดยอภิวัฒน์อ้างว่ารับมอบอำนาจผู้เสียหาย นำโพสต์เฟซบุ๊ก 2 ข้อความ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2562 และ 19 ส.ค. 2563 ไปกล่าวหาไว้ที่ สน.นางเลิ้ง ใน 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ 1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา”  2) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 “ดูหมิ่นเจ้าพนักงานฯ” และ 3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16 ฐานตัดต่อภาพทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงฯ

ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาเห็นว่า สมบัติมีความผิดตามฟ้อง โดยเห็นว่าข้อความทั้ง 2 กรรม ไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์อันมีมูลเหตุมาจากข้อเท็จจริง แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยข้อมูลเท็จ ลงโทษจำคุก 1 ปี 1 เดือน ก่อนลดเหลือ 8 เดือน 20 วัน และให้นับโทษต่อจากคดีมาตรา 112

สมบัติให้การปฏิเสธ และต่อสู้คดีเรื่อยมา โดยรับว่าได้โพสต์ข้อความตามฟ้องจริง และได้อุทธรณ์คดีในหลายประเด็น ได้แก่ 

  1. ประเด็นที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ออกหมายเรียกพยานเอกสารซึ่งฝ่ายจำเลยร้องขอ ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นอำนาจการร้องทุกข์ของ อภิวัฒน์ ขันทอง ผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหาย  โดยอ้างว่าไม่ปรากฏว่าเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี
  2. ประเด็นคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 32/2563 ที่ให้อำนาจอภิวัฒน์ ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวไม่มีการระบุถึงบทบัญญัติกฎหมายที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการออกคำสั่ง และไม่ได้ระบุว่าอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ทั้งยังไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี การออกคำสั่งนี้จึงขัดต่อหลักกฎหมาย
  3. ประเด็นที่ผู้เสียหายในคดีนี้ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่เจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่ ทั้งโจทก์ไม่ได้สืบให้เห็นว่าขณะเกิดเหตุ พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานอย่างไร และอาศัยอำนาจตามกฎหมายใด 
  4. จำเลยยืนยันว่าโพสต์ภาพและข้อความดังกล่าว เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต อันเป็นวิสัยของประชาชนพึงกระทำในระบอบประชาธิปไตย
  5. การพิสูจน์ของโจทก์ยังมีข้อพิรุธสงสัยว่าข้อความตามฟ้องครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่ เนื่องจากยังมีข้อสงสัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เห็นโพสต์ข้อความทั้งสองตามฟ้องหรือไม่

วันนี้ (18 พ.ย. 2567) เวลา 09.20 น. สมบัติถูกเบิกตัวมาฟังคำพิพากษาทางวีดิโอคอนเฟอเรนซ์อยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แทนการเดินทางมาศาล ศาลเรียกชื่อจำเลยให้รายงานตัว โดยสมบัติได้กล่าวชื่อและนามสกุลของตัวเอง ก่อนที่ศาลจะถามกับสมบัติว่า จำเลยอุทธรณ์คดีด้วยประเด็นเกี่ยวกับอะไรบ้าง สมบัติตอบศาลว่า รวม ๆ แล้ว เขายืนยันว่าข้อความที่โพสต์เป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต 

หลังสมบัติกล่าวจบ ศาลได้เริ่มอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยอ่านประเด็นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา 3 ประเด็น ดังนี้

1.ประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นไม่ออกหมายเรียกพยานหลักฐานที่สำคัญในคดีตามที่จำเลยร้องขอ ซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับการออกคำสั่งของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับประเด็นอำนาจการร้องทุกข์ของอภิวัฒน์ ขันทอง

    ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พยานเอกสารที่จำเลยขอให้ออกหมายเรียกจำนวน 5 รายการ ได้แก่ รายงานสถิติและผลการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทุกฉบับ, รายงานการประชุมของคณะกรรมการชุดดังกล่าว หรือรายงานการดำเนินการที่ส่งถึงนายกรัฐมตรี เป็นพยานเอกสารที่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญของคดีนี้ ที่ศาลชั้นต้นไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารดังกล่าวมา ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย 

    2.ประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ว่า คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 32/2563 ซึ่งมอบอำนาจให้อภิวัฒน์ ขันทอง ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

      ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วเห็นว่า คำสั่งนายกรัฐมนตรีฉบับดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่งตั้งอภิวัฒน์ให้ทำหน้าที่ดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11 (6) เพื่อจัดการและแก้ไขการกระทำที่ผิดกฎหมายบนโซเซียลมีเดีย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะการกระทำผิดเกี่ยวกับการดูหมิ่นนายกฯ และคณะรัฐมนตรีเท่านั้น

      3.ประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โดยยืนยันว่าการโพสต์ภาพและข้อความดังกล่าว เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต อันเป็นวิสัยของประชาชนพึงกระทำในระบอบประชาธิปไตย

        ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเห็นว่า การกระทำของจำเลยไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต เป็นการเหยียด หยามศักดิ์ศรี 

        อุทธรณ์ทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น พิพากษายืน 

        .

        ทั้งนี้ สมบัติถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย. 2566 ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีโพสต์ข้อความ “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” พร้อมกับอีก 2 ข้อความ หลังจากถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 4 ปี และเขาตัดสินใจไม่ต่อสู้คดีต่อในชั้นฎีกา ทำให้คดีสิ้นสุดลง โดยก่อนหน้านั้นหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เขาถูกคุมขังโดยไม่ได้ประกันตัวก่อนมาแล้วราว 7 เดือนเศษ ทำให้รวมระยะเวลาถูกคุมขังมาแล้วราว 1 ปี 9 เดือนเศษ

        X