จับตา ฟังคำพิพากษาอุทธรณ์คดี “สมบัติ ทองย้อย” ถูกกล่าวหาโพสต์ ‘หมิ่นประยุทธ์’ หลังโต้แย้งศาลชั้นต้น 5 ประเด็น

ในวันที่ 18 พ.ย. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีที่ สมบัติ ทองย้อย อดีตการ์ดผู้ชุมนุมเสื้อแดงวัย 55 ปี ถูก อภิวัฒน์ ขันทอง กล่าวหาว่าได้โพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊กมีเนื้อหาดูหมิ่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จำนวน 2 โพสต์ หลังถูกศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีความผิดตามฟ้อง และลงโทษจำคุกไว้ 8 เดือน 20 วัน แต่เขาต่อสู้คดีต่อมา

ในนัดนี้ สมบัติแจ้งทนายความจะขอฟังคำพิพากษาจากคอนเฟอเรนซ์ในเรือนจำ ทำให้เขาจะไม่ได้ถูกเบิกตัวมาศาล 

.

คดีกล่าวหาโดยทนายของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยผู้เสียหายไม่เคยมาเบิกความ

สำหรับผู้กล่าวหาในคดีนี้ คือ อภิวัฒน์ ขันทอง ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงปี 2562 และยังรับการแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจสอบและดำเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี  โดยพบว่าในช่วงปี 2563-65 มีคดีจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ที่อภิวัฒน์ไปกล่าวหาไว้ไม่น้อยกว่า 26 คดี มีทั้งคดีที่เป็นการโพสต์เนื้อหาทางออนไลน์เกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์ และคดีตามมาตรา 112 ซึ่งหลายคดียังดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน

สมบัติ ทองย้อย นับเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาชุดคดีดังกล่าว โดยอภิวัฒน์อ้างว่ารับมอบอำนาจผู้เสียหาย นำโพสต์เฟซบุ๊ก 2 ข้อความ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2562 และ 19 ส.ค. 2563 ไปกล่าวหาไว้ที่ สน.นางเลิ้ง ใน 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ 1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา”  2) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 “ดูหมิ่นเจ้าพนักงานฯ” และ 3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16 ฐานตัดต่อภาพทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงฯ

สมบัติให้การปฏิเสธ และต่อสู้คดีเรื่อยมา โดยรับว่าได้โพสต์ข้อความตามฟ้องจริง แต่ข้อความดังกล่าวไม่เป็นการหมิ่นประมาทและดูหมิ่น แต่เป็นการติชมโดยสุจริต รวมถึงยืนยันว่าประชาชนสามารถตั้งคำถาม กับบทบาทในการตรวจสอบการใช้อำนาจของนายกฯ ได้

คดีนี้ในชั้นสืบพยาน อัยการโจทก์ยื่นบัญชีพยานจะนำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นผู้เสียหาย เข้าเบิกความด้วย แต่หลังจากที่ศาลเจ้าของสำนวนปรึกษากับอธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้แล้ว ได้มีคำสั่งไม่ให้ออกหมายเรียก พล.อ.ประยุทธ์ แต่ให้ส่งเป็นหนังสือเชิญให้มาเป็นพยานแทน  แต่หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็มิได้มาเบิกความต่อศาล โดยอ้างในวันสืบพยาน ว่าไปปฏิบัติราชการอยู่ต่างประเทศ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนจึงให้งดสืบพยานปากผู้เสียหาย นอกจากนั้นยังไม่อนุญาตให้ออกหมายเรียกเอกสารหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของกรรมการตรวจสอบฯ ดังกล่าวที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งขึ้น ตามที่ฝ่ายจำเลยร้องขอเพื่อใช้ต่อสู้คดี

ย้อนอ่าน “ไม่เคยพบนายกฯ คนใดมาไล่ฟ้องประชาชนเช่นนี้” บันทึกสืบพยานคดี #หมิ่นประยุทธ์ ของ ‘สมบัติ ทองย้อย’

.

.

ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาเห็นว่าสมบัติมีความผิดตามฟ้อง โดยเห็นว่าข้อความทั้ง 2 กรรม ไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์อันมีมูลเหตุมาจากข้อเท็จจริง แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยข้อมูลเท็จ

ส่วนประเด็นที่ว่าจำเลยต่อสู้ว่า การแต่งตั้ง อภิวัฒน์ ขันทอง ให้ทำหน้าที่ประธานกรรมการตรวจสอบและดําเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลเห็นว่าชอบด้วยกฎหมายแล้ว เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่งตั้งนายอภิวัฒน์ ให้ทำหน้าที่ดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11 (6) เพื่อจัดการและแก้ไขการกระทำที่ผิดกฎหมายบนโซเซียลมีเดีย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะการกระทำผิดเกี่ยวกับการดูหมิ่นนายกฯ และคณะรัฐมนตรีเท่านั้น 

ศาลลงโทษกระทงแรก ให้ลงโทษจำคุกในฐานความผิดตัดต่อภาพทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงฯ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีบทลงโทษหนักที่สุด จำคุก 1 ปี และลงโทษในกระทงที่สอง ตามความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ให้จำคุก 1 เดือน แต่เห็นว่าจำเลยให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุกทั้งสิ้น 8 เดือน 20 วัน และให้นับโทษจำคุกต่อจากคดีมาตรา 112 

.

จำเลยยื่นอุทธรณ์โต้แย้ง 5 ประเด็น: ศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสาร – อำนาจร้องทุกข์ – คำสั่งนายกฯ ไม่ชอบ – ข้อความเป็นการติชมโดยสุจริต-ยังสงสัยผู้เสียหายเห็นข้อความหรือไม่

สมบัติได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยสรุปประเด็น ได้แก่

1. กรณีศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ออกหมายเรียกพยานเอกสารซึ่งฝ่ายจำเลยร้องขอ จำนวน 5 รายการ อาทิ รายงานสถิติและผลการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทุกฉบับ, รายงานการประชุมของคณะกรรมการชุดดังกล่าว หรือรายงานการดำเนินการที่ส่งถึงนายกรัฐมตรี เป็นต้น โดยอ้างว่าไม่ปรากฏว่าเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี

ฝ่ายจำเลยยืนยันว่าพยานเอกสารดังกล่าว เป็นประเด็นสำคัญในการต่อสู้คดี ในเรื่องความชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่ง และดำเนินการตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นอำนาจการร้องทุกข์ของ อภิวัฒน์ ขันทอง ผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหาย ตลอดจนอำนาจฟ้องของโจทก์ในฐานความผิดส่วนตัวของผู้เสียหาย จึงขอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นนี้ด้วย

2. ประเด็นคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 32/2563 ที่ให้อำนาจนายอภิวัฒน์ ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าชอบนั้น พบว่าคำสั่งดังกล่าวไม่มีการระบุถึงบทบัญญัติกฎหมายที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการออกคำสั่ง และไม่ได้ระบุว่าอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ทั้งยังไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี การออกคำสั่งนี้จึงขัดต่อหลักกฎหมายไม่มีอำนาจ เนื่องจากคำสั่งต้องระบุถึงบทบัญญัติกฎหมายที่เป็นฐานรองรับการใช้อำนาจนั้นด้วย เพื่อป้องกันการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ดังนั้นคำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าว จึงออกโดยมิชอบ และไม่มีผลบังคับใช้

นอกจากนี้ การดำเนินการตามคำสั่งนายกฯ ดังกล่าว ก็เป็นการดำเนินการของนายอภิวัฒน์เพียงผู้เดียว โดยมิได้ผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการ ไม่มีมติที่ประชุมว่าให้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ผู้ใดบ้าง การดำเนินการดังกล่าวขัดต่อเจตนารมณ์ของคำสั่งที่ให้คณะกรรมการตรวจสอบกลั่นกรองข้อเท็จจริงบนสื่อโซเชียล เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ที่เป็นเท็จก่อน และมีมติที่ประชุมเพื่อดำเนินคดีผู้ใดต่อไป

อีกทั้งอภิวัฒน์ยังเบิกความถึงลำดับเหตุการณ์ ว่าการออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวในเดือนกันยายน 2563 เนื่องจากมีการชุมนุมทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล และมีการโพสต์ข้อความด่าว่ารัฐบาลตามสื่อโซเชียล รวมถึงนายกรัฐมนตรี การออกคำสั่งดังกล่าวจึงส่อให้เห็นเจตนาของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มุ่งดำเนินคดีฟ้องปิดปากประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาล เพื่อต้องการให้เกิดภาระทางคดี และมุ่งหวังให้ประชาชนหยุดเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รวมทั้งเป็นการใช้ทรัพยากรบุคคลและงบประมาณของรัฐ โดยมิใช่เพื่อประโยชน์สาธารณะของประชาชนอย่างแท้จริง โดยพบว่าจากเอกสารในคดีมีประชาชนที่นายอภิวัฒน์ไปกล่าวหาไว้กว่า 100 ราย โดยอ้างคำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าว

3. ผู้เสียหายในคดีนี้ คือ พล.อ.ประยุทธ์ มิใช่เจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน หรือดูหมิ่นโดยการโฆษณา โดยฝ่ายโจทก์มีการอ้างว่านายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าพนักงาน ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 และมีอำนาจกำกับซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แต่เจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องการกำหนดโครงการการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น

โดยทั่วไปนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี หรือฝ่ายบริหาร ไม่ถือว่าเป็นเจ้าพนักงาน อย่างข้าราชการทั่วไป เพราะเป็นตำแหน่งทางการเมือง โดยทั่วไปจะเป็นเจ้าพนักงานต่อเมื่อมีกฎหมายกำหนดให้บุคคลดังกล่าวไปปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยตรงในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่อาจนำอำนาจกำกับโดยทั่วไปในการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรี มาใช้ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136 ได้ 

ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าขณะเกิดเหตุในการโพสต์ข้อความของจำเลย พล.อ.ประยุทธ์ ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานอย่างไร และอาศัยอำนาจโดยตรงตามกฎหมายใด

ในส่วนข้อหาดูหมิ่นผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามมาตรา 393 กำหนดให้โจทก์ต้องฟ้องภายในอายุความ 1 ปี นับแต่วันกระทำผิด แต่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เกินระยะเวลาดังกล่าว ฐานความผิดนี้จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 (5)  ทั้งผู้เสียหายก็ไม่ได้มอบอำนาจให้นายอภิวัฒน์ไปร้องทุกข์กล่าวโทษในความผิดส่วนตัวของผู้เสียหาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องทั้งในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16 ดังที่ปรากฏในคำเบิกความ ว่านายอภิวัฒน์ มีอำนาจเป็นตัวแทนเฉพาะในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้มีการมอบอำนาจจากนายกรัฐมนตรีในฐานะส่วนตัวให้ดำเนินคดี นายอภิวัฒน์จึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์ในทั้งสองฐานความผิดนี้ ที่เป็นความผิดต่อส่วนตัว

4. จำเลยยืนยันว่าโพสต์ภาพและข้อความดังกล่าว เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต อันเป็นวิสัยของประชาชนพึงกระทำในระบอบประชาธิปไตย จำเลยในฐานะประชาชนคนไทยย่อมสามารถวิพากษ์วิจารณ์การกระทำใดของนายกรัฐมนตรี ผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชนและในฐานะบุคคลสาธารณะ แม้จะมีถ้อยคำไม่เหมาะสมไปบ้าง แต่เจตนาของวิพากษ์วิจารณ์เพื่อส่งเสียงแสดงความคิดเห็นถึงความไม่พอใจต่อการกระทำของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

ภาพที่จำเลยโพสต์ก็เป็นภาพที่เผยแพร่ต่อกันมาในเฟซบุ๊ก ซึ่งมีมูลเหตุจากประวัติการเข้าสู่อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มาจากการรัฐประหาร มิได้เป็นวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว หรือแสดงความเห็นในเชิงข่มขู่คุกคาม ทั้งยังมีลักษณะเป็น “มีม” ในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งสร้างความตลกขบขัน หรือเป็นการล้อเลียนเสียดสี ให้ลดความเคร่งเครียดลง ซึ่งผู้พบเห็นสามารถแยกออกจากข่าวทั่วไปได้  

ส่วนในโพสต์ที่สอง ก็มีจุดประสงค์ในการติเตียนถึงพฤติกรรมที่ผิดพลาดและความคาดหมายในการแก้ไขให้ถูกต้อง เป็นการติชมอย่างเป็นปกติวิสัย และเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ตามหลักการใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น แม้จะต้องเป็นการกระทำไม่ก่อให้เกิดการใช้สิทธิไปกระทบสิทธิส่วนบุคคลของบุคคลใด แต่เมื่อพิจารณาสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะและดำรงตำแหน่งทางการเมือง การตีความจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจึงควรตีความอย่างจำกัดกว่าบุคคลทั่วไป เพราะหากตีความอย่างกว้าง ย่อมส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ หรือแสดงความคิดเห็นต่อบุคคลสาธารณะได้ 

5. การพิสูจน์ของโจทก์ยังมีข้อพิรุธสงสัยว่าข้อความตามฟ้องครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่ เนื่องจากยังมีข้อสงสัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เห็นโพสต์ข้อความทั้งสองตามฟ้องหรือไม่ และหากเห็นโพสต์ดังกล่าวจริง ก็ไม่แจ้งกับนายอภิวัฒน์หรือเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนเอง เพื่อให้การว่าเกิดความเสียหายแก่ตนในประการใดบ้าง ทั้งความเสียหายจากการเบิกความของนายอภิวัฒน์ ก็เป็นความคิดเห็นของนายอภิวัฒน์เอง ซึ่งมิใช่ผู้เกี่ยวข้องกับสองโพสต์ดังกล่าว โจทก์จึงยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับความเสียหายจากโพสต์ดังกล่าว 

.

ทั้งนี้ สมบัติถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย. 2566 ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีโพสต์ข้อความ “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” พร้อมกับอีก 2 ข้อความ หลังจากถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 4 ปี และเขาตัดสินใจไม่ต่อสู้ต่อ ทำให้คดีสิ้นสุดลง โดยก่อนหน้านั้นหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เขาถูกคุมขังโดยไม่ได้ประกันตัวก่อนมาแล้วราว 7 เดือนเศษ  ทำให้รวมระยะเวลาถูกคุมขังทั้งสองช่วง ราว 1 ปี 9 เดือนเศษ

X