“ไม่เคยพบนายกฯ คนใดมาไล่ฟ้องประชาชนเช่นนี้” บันทึกสืบพยานคดี #หมิ่นประยุทธ์ ของ ‘สมบัติ ทองย้อย’

ในวันที่ 31 ม.ค. 2566 เวลา 09:00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาในคดี  #หมิ่นประยุทธ์ ของ “สมบัติ ทองย้อย” วัย 52 ปี ซึ่งถูก อภิวัฒน์ ขันทอง ประธานกรรมการตรวจสอบและดําเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี แจ้งความกล่าวหาว่าได้โพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊กมีเนื้อหาดูหมิ่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะเจ้าพนักงาน จำนวน 2 โพสต์ (ในช่วงเดือน มิ.ย. 2562 และ ส.ค. 2563) 

คดีนี้สมบัติถูกฟ้องใน 3 ข้อหา ได้แก่ ดูหมิ่นเจ้าพนักงานฯ, หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 328 และตัดต่อภาพทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงฯ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16

.

ระหว่างกระบวนการสืบพยาน ศาลสั่งงดสืบพยานปาก พล.อ.ประยุทธ์ ผู้เสียหาย เห็นว่าไม่เป็นที่แน่นอนว่าพยานจะสามารถมาเบิกความได้

ในนัดตรวจพยานหลักฐานเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 อัยการโจทก์แถลงติดใจสืบพยานทั้งหมด 5 ปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหา, พยานคนกลางผู้ได้อ่านข้อความตามฟ้อง, เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบการใช้บัญชีเฟซบุ๊กของจําเลย, พนักงานสอบสวน และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นผู้เสียหายของคดีนี้ 

ด้านฝ่ายจำเลย ทั้งทนายและจำเลยร่วมกันแถลงถึงแนวทางการต่อสู้คดีว่าจำเลยโพสต์ข้อความตามฟ้องจริง แต่ข้อความดังกล่าวไม่เป็นการหมิ่นประมาทและดูหมิ่น และในการต่อสู้คดีจะนำสืบพยานฝ่ายจำเลยรวม 4 ปาก ประกอบด้วย จำเลย, ผู้รวบรวมสถิติจาก iLaw และนักวิชาการ 2 ราย ซึ่งจะให้ความเห็นเรื่องอำนาจของประชาชนในการตั้งคำถาม กับบทบาทในการตรวจสอบในการใช้อำนาจของนายกฯ และการฉ้อฉลเชิงอำนาจ

ทั้งนี้ หลังจากที่ศาลเจ้าของสำนวนทำการปรึกษากับอธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้แล้ว ก็ได้มีคำสั่งไม่ให้ออกหมายเรียก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ให้ส่งเป็นหนังสือเชิญแจ้งให้มาเป็นพยานแทน 
อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่มีการสืบพยาน เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้เสียหาย มิได้มาเบิกความต่อศาลตามที่ได้รับหนังสือเชิญแจ้ง โดย อภิวัฒน์ ขันทอง ซึ่งเป็นผู้แจ้งความในคดีได้แถลงต่อศาลว่า เหตุที่ผู้เสียหายไม่สามารถมาเบิกความต่อศาลได้เนื่องจากไปปฏิบัติราชการอยู่ต่างประเทศ คือไปเข้าร่วมประชุมเวทีสุดยอดผู้นำอาเซียน – สหภาพยุโรป ที่ประเทศเบลเยี่ยม

จากนั้นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนจึงเห็นสมควรให้งดสืบพยานปากผู้เสียหาย โดยระบุพิเคราะห์แล้วเห็นว่าพยานไม่สามารถมาเบิกความได้ ประกอบกับคดีนี้จำเลยยังถูกคุมขังอยู่ ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และหากเลื่อนนัดออกไปก็ไม่เป็นที่แน่นอนว่าพยานจะสามารถมาเบิกความได้ จึงเห็นสมควรให้งดสืบพยานปากดังกล่าว

.

บันทึกผู้สังเกตการณ์การสืบพยานคดีหมิ่นประยุทธ์

คดีนี้มีการสืบพยานขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 13 – 15 ธ.ค. 2565 ณ ห้องพิจารณา 705 ศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยภาพรวมของการสืบพยานคือ พนักงานอัยการนำพยานเข้าเบิกความจำนวน 4 ปาก จากเดิมที่แถลงไว้ทั้งสิ้น 5 ปาก ขณะที่ทนายจำเลยนำพยานขึ้นเบิกความจำนวน 3 ปาก ได้แก่ จำเลย และพยานนักวิชาการอีก 2 ปาก โดยสมบัติ ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจากคดีมาตรา 112 ถูกนำตัวจากเรือนจำมาร่วมกันพิจารณาคดี

.

  • ภาพรวมคำให้การพยานฝ่ายโจทก์

พยานโจทก์ปากที่ 1: อภิวัฒน์ ขันทอง รับมอบอำนาจผู้กล่าวหา

พยานเบิกความว่าได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความเป็นเท็จเกี่ยวกับการดูหมิ่น หมิ่นประมาทนายกฯ และคณะรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและเมื่อพบว่ามีผู้กระทำความผิดดังกล่าวก็มีอำนาจแจ้งความดำเนินคดีได้

สำหรับคดีนี้ คณะกรรมการตรวจสอบฯ เห็นว่าโพสต์ของจำเลยทั้ง 2 โพสต์ ทำให้นายกฯ เสียหาย เป็นการกล่าวว่านายกฯ โง่ และคำว่า พ่องงงง เป็นคำด่า อีกทั้งข้อความว่า #มึงนี่ควายจริงๆ เป็นการกล่าวว่านายกฯ โง่เหมือนควาย ซึ่งพยานระบุว่าข้อความที่จำเลยโพสต์นั้นไม่เป็นความจริง และได้รายงานให้นายกฯ ซึ่งเป็นผู้เสียหายทราบแล้ว

นอกจากนี้ พยานยังเบิกความอีกว่านอกจากจำเลยในคดีนี้แล้ว ยังมีบุคคลอื่นที่โพสต์ข้อความในลักษณะเดียวกันอีกประมาณ 10 คน ซึ่งพยานได้รายงานให้นายกฯ ซึ่งเป็นผู้เสียหายทราบแล้วเช่นกัน และได้อาศัยอำนาจตามคำสั่งของนายกฯ ในฐานประธานคณะกรรมการตรวจสอบฯ เข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

พยานเบิกความว่าตนมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ตั้งแต่ 20 ส.ค. 2562 ได้รับการแต่งตั้งโดยนายกฯ ซึ่งอาศัยอำนาจจากระเบียบแต่งตั้งโดยเฉพาะ ทำให้ในเอกสารคำสั่งไม่ระบุว่าแต่งตั้งโดยอาศัยอำนาจตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และไม่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี 

สำหรับการปฏิบัติงานตามที่ได้รับแต่งตั้ง พยานยืนยันว่าการปฏิบัติงานตามคำสั่งนายกฯ ของตน ไม่จำเป็นต้องอาศัยมติคณะกรรมคณะตรวจสอบฯ โดยในการร้องทุกข์ดำเนินคดีนั้น คณะกรรมการคนอื่นได้ช่วยพยานดูเอกสารว่ามีลักษณะเข้าข่ายการหมิ่นประมาทหรือไม่ หากแต่อำนาจในการแจ้งความดำเนินคดีเป็นของพยาน

ทั้งนี้ พยานยืนยันว่าตนได้รับคำสั่งจากนายกฯ ให้เป็นตัวแทนเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ และรัฐมนตรี โดยไม่เป็นการดำเนินคดีส่วนตัว ทั้งยังไม่ได้เลือกที่จะดำเนินคดีเฉพาะผู้ที่มีความเห็นต่างในทางการเมือง แต่จะดำเนินคดีความกับบุคคลใดๆ ก็ตามที่โพสต์ข้อความในลักษณะที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น 

สำหรับทั้งสองโพสต์ของจำเลยในคดีนี้ ซึ่งมีรูปภาพประกอบด้วยนั้น พยานระบุว่าตนไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ทำการตัดต่อภาพและไม่ทราบว่ามีแต่ละภาพมีเจตนาใด รวมทั้งไม่ได้ตรวจสอบว่ามีแหล่งที่มาจากสื่อมติชนหรือไม่ หากแต่มองว่าการที่จำเลยนำภาพและข้อความดังกล่าวมาลงในสื่อออนไลน์นั้น มีเจตนาทำให้นายกฯ เสียหาย

ตอบอัยการถามติง

พยานเบิกความยืนยันว่าได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจสอบฯ ตามคำสั่งนายกฯ เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2563 และพยานเป็นเพียงคนเดียวที่เมื่อพบการกระทำความผิดแล้วสามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้เลย โดยระบุว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบฯ อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11 (6)

นอกจากนี้ พยานยังยืนว่าการแจ้งความดำเนินคดีจำเลยในคดีนี้ สืบเนื่องมาจากการดูภาพและข้อความทั้งหมดประกอบกัน โดยดูจากการกระทำ ไม่ใช่ความคิดเห็นทางการเมือง 

.

พยานโจทก์ปากที่ 2: วิสันต์ ยอดดี มอเตอร์ไซต์รับจ้างที่ถูกตำรวจขอความเห็นต่อคดี

พยานเบิกความว่า พ.ต.ท.อธิชย์ ดอนนันชัย ได้ให้พยานดูเอกสาร ซึ่งเป็นรูปภาพนายกฯ ถูกตัดต่อให้มีผมยาว ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง และมีคำว่า “อีฉ้อ” ที่พยานเข้าใจว่ามีความหมายถึงนายกฯ ฉ้อโกง เป็นคนไม่ดี ขณะที่อีกภาพเป็นรูปภาพนายกฯ ใส่สูท มีข้อความในภาพที่แสดงว่านายกฯ เป็นคนโง่ ทั้งนี้ พยานไม่ทราบว่าใครเป็นคนตัดต่อภาพดังกล่าว

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

พยานเบิกความว่าตนเองเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้ได้เนื่องจากคุ้ยเคยกับ พ.ต.ท.อธิชย์ ดอนนันชัย มาเป็นเวลากว่า 2-3 ปี ก่อนเกิดเหตุ และเคยถูกเชิญไปเป็นพยานในคดีต่างๆ ของ สน.นางเลิ้ง ประมาณ 5 คดี รวมถึงคดีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และลูกสาวเป็นผู้เสียหายด้วย 

อย่างไรก็ดี พยานไม่ทราบว่าเอกสารที่ตำรวจให้ลงลายมือชื่อนั้นมีข้อความอย่างไร ทั้งนี้ พยานระบุว่าตนเองไม่ได้รับสิทธิพิเศษในการเข้ามาเป็นพยานในคดี แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ทราบว่าเหตุใดทางตำรวจจึงให้เข้ามาเป็นพยาน

ต่อมาพยานเบิกความว่าโดยส่วนตัวแล้วมีความชื่นชม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกฯ และไม่เห็นด้วยกับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ทั้งนี้ พยานยังไม่เคยได้ยินคนกล่าวว่า เอานายกฯ โง่มาบริหารประเทศ, เอายามมาบริหารประเทศ หรือเอาควายมาบริหารประเทศ

ตอบพนักงานอัยการถามติง

พยานเบิกความว่าคำว่า “ฉ้อ” ในโพสต์ของจำเลยแปลความได้ว่าเป็นคนไม่ดี และการที่พยานมาเบิกความต่อศาลนี้ ได้เห็นภาพและข้อความในทั้ง 2 โพสต์ของจำเลยตามเอกสารแล้ว

.

พยานโจทก์ปากที่ 3: พ.ต.ท.อธิชย์ ดอนนันชัย พนักงานสอบสวน 

พยานเบิกความว่าขณะเกิดเหตุปฏิบัติงานเป็นรองผู้กำกับการสอบสวน สน.นางเลิ้ง มีหน้าที่เป็นหัวหน้างานสอบสวนและดูแลพนักงานสอบสวนใต้บังคับบัญชา

พยานเป็นผู้รับแจ้งความจาก อภิวัฒน์ ขันทอง ซึ่งถือเอกสารคำสั่งนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ และคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 21 ก.ย. 2563 และเอกสารหลักฐานการหมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งปรากฎว่ามีชื่อผู้กระทำความผิดหลายราย รวมถึงจำเลยในคดีนี้ด้วย

เมื่อได้แจ้งความ พยานก็ทำเอกสารส่งเรื่องต่อไปยัง บก.ปอท. เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กและยืนยันตัวตนผู้กระทำความผิด ซึ่งพยานได้รับหนังสือตอบกลับจาก บก.ปอท. ระบุว่าจากการตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์ที่ผูกไว้กับบัญชีเฟซบุ๊กเทียบกับหมายเลขบัตรประชาชนแล้ว พบว่าบัญชีชื่อ “สมบัติ ทองย้อย” เป็นของจำเลยจริง 

ทั้งนี้ พยานให้ความเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้ง 2 โพสต์ นับเป็นการกระทำความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน เพราะทั้ง 2 โพสต์ เป็นความเท็จทั้งหมด ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้รับความเสียหาย 

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

พยานตอบคำถามค้านว่า อภิวัฒน์ ขันทอง เข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ในหลายคดี แต่จำไม่ได้ว่ามีจำนวนเท่าไร และเหตุที่เข้ามาแจ้งความกับพยานโดยตรงเป็นเพราะพนักงานสอบสวนมีน้อย พยานในฐานะหัวหน้างานสอบสวนจึงเข้ามาทำหน้าที่ 

สำหรับหนึ่งในคณะกรรมการฯ ที่มีนามสกุลเดียวกับพยานนั้น พยานยืนยันว่าไม่ได้เป็นลูกชายหรือญาติพี่น้องของพยานแต่อย่างใด เป็นเพียงผู้ที่มีนามสกุลเดียวกันแค่นั้น

อย่างไรก็ดี พยานยอมรับว่าไม่ได้มีการตรวจสอบข้อกฎหมายก่อนว่าเอกสารคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ อภิวัฒน์ ขันทอง ถือมาอ้างในการเข้าแจ้งความร้องทุกข์นั้นมีความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะพยานเห็นว่า อภิวัฒน์ ขันทอง เป็นทนายความ จึงเข้าใจไปว่าเอกสารดังกล่าวมีความชอบตามกฎหมายแล้ว

พยานเบิกความอีกว่าไม่ได้มีการเรียกสมาชิกคนอื่นๆ ที่มีรายชื่ออยู่ในคณะกรรมการฯ เดียวกันกับ อภิวัฒน์ ขันทอง มาให้การ เพราะเชื่อตามเอกสารคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ระบุชื่อ อภิวัฒน์ ขันทอง ว่าเป็นคนดำเนินการ แต่พยานก็ไม่ทราบว่าคณะกรรมการคนอื่นๆ จะเห็นเอกสารข้อความที่ อภิวฒน์ ขันทอง นำมาแจ้งความหรือไม่

สำหรับประเด็นที่ทนายจำเลยถามว่าเหตุใดในเอกสารสำนวนคดีในชั้นตำรวจจึงมีลายมือชื่อของทนายความไม่ครบ พยานเบิกความตอบว่าอาจเป็นความหลงลืมของตนเอง ทนายความ และจำเลย พร้อมยืนยันว่าในเวลานั้นจำเลยมีทนายความอยู่ด้วยโดยตลอดกระบวนการ

ตอบพนักงานอัยการถามติง

พยานเบิกความว่าเหตุที่ไม่ได้เชิญสมาชิกคณะกรรมการคนอื่นๆ มาให้การ และเรื่องที่ไม่มีเอกสารมติคณะกรรมการฯ เห็นชอบให้ดำเนินคดีกับจำเลย เพราะในคำสั่งนายกรัฐมนตรีระบุไว้แล้วว่า อภิวัฒน์ ขันทอง มีอำนาจเต็มในการดำเนินการตรวจสอบและดำเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ และคณะรัฐมนตรี และตอบด้วยว่าในการเลือกบุคคลมาให้การนั้น พิจารณาเพียงว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ และหากมาให้การแล้ว สำนวนจะมีความรัดกุมหรือไม่

.

  • ภาพรวมคำให้การพยานฝ่ายจำเลย

พยานจำเลยปากที่ 1: สมบัติ ทองย้อย 

พยานเบิกความว่าภาพที่นำมาโพสต์นั้นนำมาจากเพื่อนในเฟซบุ๊ก โดยเอามาทั้งรูปเพราะดูแล้วรู้สึกว่าตลกและน่ารักดี ทั้งในวันที่โพสต์นั้น ถ้าจำไม่ผิดจะเป็นวันโหวตเลือกนายกฯ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในภาพ ก็เป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ตามที่สื่อต่างๆ เผยแพร่

เกี่ยวกับบุคคลในภาพ (พล.อ.ประยุทธ์) พยานเบิกความว่าเป็นอดีต ผบ.ทบ. เคยเป็นลูกน้องของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และได้ทำการรัฐประหาร-ยึดอำนาจในปี 2557 โดยได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อให้ตนเองพ้นจากความผิดฐานกบฏ  หลังจากนั้นก็อำนาจตามใช้มาตรา 44 ซึ่งเปรียบได้กับยักษ์ที่มีกระบอง สามารถกวาดล้างผู้คนเห็นต่างทางการเมือง 

พยานเบิกความต่อไปว่าบุคคลในภาพได้แต่งตั้งวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน/เสียง ซึ่งเมื่อรวมกับ ส.ส. ทำให้ในการโหวตนายกฯ ย่อมมีเสียงโหวตมากกว่ากึ่งหนึ่งของเสียงทั้งหมด ในขณะนั้นบุคคลในภาพ มีฐานเสียงคือ ส.ว. รอไว้แล้วกว่า 250 เสียง เพราะ ส.ว. นี้แต่งตั้งโดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พยานเบิกความว่าในช่วงเวลาก่อนเกิดเหตุ มีการตั้งข้อสงสัย วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. กันอยู่แล้ว ทั้งในสังคมโดยทั่วไปและในหมู่นักวิชาการ โดยเฉพาะเมื่อผู้แต่งตั้ง ส.ว. คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งมาจาก คสช. 

สำหรับประเด็นข้อความในโพสต์ที่ 1 ตามที่โจทก์ฟ้อง พยานเบิกความว่าคำว่า อีฉ้อ (ฉ้อฉลในทุปรูปแบบ) หมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาเป็นนายกฯ ได้ด้วยการฉ้อฉลประชาชน ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนให้ใช้บัตรเลือกตั้งเพียง 1 ใบ จากเดิมที่ในการเลือกตั้งจะใช้บัตร 2 ใบ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงกฏ กติกาในการเข้ามาเป็นนายกฯ นี้ พยานมีความเห็นว่าไม่เป็นธรรม จึงใช้คำว่าฉ้อฉล 

พยานกล่าวว่าการใช้คำว่า ฉ้อฉลทุกรูปแบบ เพราะต้องการสื่อให้สังคมเห็นว่ารัฐบาลในสมัย คสช. ฉ้อฉลประชาชนในทุกรูปแบบ ส่วนคำว่า มีตบไหม พยานระบุว่าเพราะภาพที่นำมาโพสต์คือภาพนายกฯ ที่ถูกตัดต่อเป็นผู้หญิง จึงหยอกล้อว่าด้วยคำว่า ตบกันไหม ตามที่เคยได้ยิน ได้เห็นสาวประเภทสองพูด ซึ่งเป็นไปในเชิงกระเซ้า

ทั้งนี้ ในประเด็นเรื่องการตัดต่อภาพนายกฯ พยานเบิกความว่า ในทุกๆ ประเทศ ผู้นำมักถูกนำภาพไปตัดแต่ง/ตัดต่อ ในเชิงหยอกล้อ ในเชิงสร้างสรรค์อยู่แล้ว โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย

สำหรับโพสต์ที่ 2 ซึ่งโจกท์นำมาฟ้องนั้น พยานเบิกความว่าได้นำภาพดังกล่าวมาจากเพื่อนในเฟซบุ๊ก โดยเป็นคัดลอก (Copy) มาทั้งหมด ส่วนเนื้อหาของโพสต์นั้นเกิดจากความรู้สึกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สื่อสารผิดในการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องสกุลเงินของประเทศอังกฤษ ซึ่งในความเห็นของพยานนั้นมองว่าต่อให้เป็นเด็กที่อยู่ในชั้นประถมศึกษาก็รู้ได้ว่าประเทศอังกฤษใช้สกุลเงินปอนด์ ซึ่งพยานมองว่าผู้เป็นนายกฯ จำเป็นต้องสื่อสารต่อสังคมอย่างถูกต้อง ต้องรักษาหน้าตาประเทศ การพูดและไม่รับผิดชอบคำพูดนั้นไม่ใช่สิ่งที่นายกฯ ควรทำ และพยานยังคิดว่าเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ที่ไม่มีความรับผิดชอบ

อย่างไรก็ดี พยานเบิกความว่าสำหรับคำผรุสวาทนั้นเกิดจากอารมณ์โกรธ โมโห ไม่พอใจเมื่อได้ฟังการให้สัมภาษณ์ของนายกฯ แล้วเผลอพิมพ์ออกไปในโพสต์ดังกล่าว โดยพยานยอมรับว่าเวลาที่โมโหหรือไม่พอใจก็จะใช้คำหยาบ เช่นคำว่า ควายจริงๆ อย่างไรก็ตาม พยานมีความเห็นว่าการใช้คำหยาบต่อนายกฯ นั้นก็เพราะนายกฯ เป็นบุคคลสาธารณะ และเท่าที่รับรู้มานายกฯ ของประเทศไทยก็ล้วนโดนด่ากันมาทุกคน แต่ไม่เคยพบว่ามีนายกฯ คนใดมาไล่ฟ้องประชาชนเช่นนี้

พยานเบิกความยืนยันเจตนาว่า ตนเองมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กระทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งในฐานะนายกฯ และข้อความทั้ง 2 โพสต์นั้นก็ต้องการพูดถึงการทำหน้าที่ ของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะคิดว่านายกฯ ไม่ควรที่จะทำแบบนั้นต่อหน้าสื่อ เนื่องจากนายกฯ เท่ากับหน้าตาของประเทศ

ตอบพนักงานอัยการถามค้าน

พยานเบิกความตอบพนักงานอัยการว่าสำหรับคดีนี้ ตนได้เข้าไปให้การกับตำรวจที่ สน.นางเลิ้ง หลายครั้ง และได้ให้การปฏิเสธมาโดยตลอด ซึ่งแต่ละครั้งก็จะได้ลงชื่อในเอกสารบ้าง ไม่ลงบ้าง แตกต่างกันไป แต่กระนั้นก็มีทนายความอยู่ด้วยโดยตลอด

จากนั้นพนักงานอัยการก็ถามในประเด็นบทบาททางการเมืองของพยานที่ว่าเป็นอดีตหัวหน้าการ์ดคนเสื้อแดงนั้น จริงเท็จอย่างไร ซึ่งพยานก็เบิกความว่าตำแหน่งดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผู้อื่นเรียก แต่สำหรับตนเองมองว่าเป็นเพียงประชาชนคนหนึ่งที่เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองมาตั้งแต่ช่วงปี 2553 – 2554 และช่วงปี 2557 

พนักงานอัยการถามต่อไปว่าพยานได้เข้าร่วมการชุมนุมมากกว่า 10 ครั้งหรือไม่ และการเข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมากทำให้พยานมีแฟนคลับ หรือ FC ผู้ติดตามในเฟซบุ๊กเป็นจำนวนมาก ซึ่งพยานเบิกความตอบว่าในบรรดาจำนวนผู้ติดตามทั้งหมด อาจมีบุคคลที่เป็นเพื่อนของพยานจริงๆ ไม่ถึง 100 คน และที่เหลืออาจจะเป็นคนจากหน่วยงานความมั่นคงที่เฝ้าติดตามโลกออนไลน์ของตนเอง

อัยการได้ให้พยานขยายความคำว่า “ฉ้อฉลมันทุกรูปแบบ” พยานตอบว่าเนื่องจากการที่พยานมองว่านายกฯ ทำหน้าที่โดยมิชอบ และยืนยันเจตนาของแต่ละโพสต์ว่าโพสต์แรกมีเจตนาเย้าแหย่ แต่อีกโพสต์หนึ่งมองว่าเป็นสิ่งที่นายกฯ ทำไม่ถูกต้อง โดยบอกด้วยว่ารูปภาพนายกฯ ที่มีการตัดต่อนั้น ตนเองไม่ได้เป็นคนทำเพียงแต่นำภาพจากผู้อื่นมาใช้อีกต่อหนึ่ง ซึ่งตนเองก็ไม่ทราบด้วยว่าใครคือผู้ตัดต่อและผู้ตัดต่อมีเจตนาอย่างไร 

ในตอนท้าย อัยการถามพยานว่าได้ตรวจเรื่องสกุลเงินของประเทศอังกฤษกับนายกฯ หรือไม่ ซึ่งพยานก็เบิกความตอบว่าตนจะสามารถไปตรวจสอบหรือสอบถามกับตัวนายกฯ เองได้อย่างไร

.

พยานจำเลยปากที่ 2: ชำนาญ จันทร์เรือง

พยานเบิกความ ตนเองเคยทำงานที่สำนักงานศาลปกครอง และเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย โดยสอนที่คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์, เคยเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำประเทศไทยของมหาวิทยาลัยกูร์เตนเบิร์ก ประเทศสวีเดน ทั้งยังเคยเป็นประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศไทย

เกี่ยวกับคดีนี้ พยานเบิกความว่า ถึงที่มาของวุฒิสภาชุดปัจจุบัน ที่มาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เอง ทั้งกติกาการออกเสียงในสภา ยังทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจครอบงำ ทำให้ได้เป็นนายกฯ และได้เป็นเสียงข้างมากในสภา

พยานเบิกความต่อไปว่า การออกนโยบายหรือการวางแนวนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. นั้น คือการถ่ายทอดอำนาจ/สืบทอดอำนาจของตนเองมาสู่ตนเอง ซึ่งประชาชนทั่วไปตลอดจนนานาประเทศสามารถตั้งข้อวิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งหัวหน้า คสช. หรือตำแหน่งนายกฯ เพราะต่างเป็นตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งถือว่าผู้ดำรงตำแหน่งเป็นบุคคลาสาธารณะ ดังนั้นจึงสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ และในกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ได้รับรองไว้ด้วย

เกี่ยวกับการตัดต่อภาพนายกฯ นั้น พยานเบิกความว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการล้อเลียนบุคคลสาธารณะซึ่งสามารถกระทำได้ นายกฯ ในสมัยอื่นๆ ต่างก็ถูกนำภาพไปตัดต่อในลักษณะล้อเลียน ไม่เว้นแม้แต่ในยุคเผด็จการ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วพยานมองว่าภาพ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถูกตัดต่อนั้นเป็นงานศิลปะ

พยานเบิกความถึงเรื่องคำสั่งนายกฯ โดยระบุว่าในการออกคำสั่งจะต้องอาศัยฐานอำนาจในการออกคำสั่ง แต่เอกสารที่ถูกนำมาอ้างในคดีนี้ ไม่มีการอ้างฐานอำนาจ นอกจากนี้ยังไม่มีบันทึกและมติการประชุม ซึ่งจำเป็นต้องมีในฐานะเป็นคณะกรรมการตรวจสอบฯ ทำให้ผลลัพธ์ออกมาในลักษณะว่าเป็นการกระทำของตัวประธานคณะกรรมการตรวจสอบฯ มากกว่า และอันที่จริงในตอนท้ายของคำสั่ง ในข้อ 2 ก็ระบุว่าจะต้องมีการประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบฯ ซึ่งก็คือคณะกรรมการทั้งหมด ไม่ใช่ประธานคนเดียว

พยานเบิกความต่อว่าตามเอกสารคำสั่งในคดีนี้ เป็นประโยชน์ในลักษณะผลประโยชน์ส่วนตัวของนายกฯ และเอาเข้าจริงแล้วเอกสารฉบับนี้ไม่สามารถนำมาใช้อ้างเพื่อเข้าแจ้งความร้องทุกข์ เพราะไม่ได้เป็นการมอบอำนาจให้นิติกร ทั้งนี้ พยานระบุว่าการออกคำสั่งของนายกฯ ต้องออกเพื่องานราชการทั้งภูมิภาค ส่วนกลาง และท้องถิ่น แต่คำสั่งตามเอกสารในคดีนี้ไม่ใช่ และมองได้ว่าการใช้อำนาจมาฟ้องจำเลยในคดีนี้เป็นการฟ้องปิดปาก (SLAPP) 

พยานยังเบิกความด้วยว่าการนำเอาบทสัมภาษณ์ส่วนใดส่วนหนึ่งของนายกฯ มาวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพราะการดำรงตำแหน่งนายกฯ เกี่ยวพันกับคนทั้งประเทศ

ตอบอัยการถามค้าน

พยานเบิกความตอบอัยการว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ และได้เป็น ส.ส. ภายใค้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นฉบับเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกฯ และตอบด้วยว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าว แม้จะได้รับผ่านการทำประชามติ แต่ก็เป็นประชามติที่ไม่เป็นธรรม ทั้งมีการแก้ไขร่างหลังจากลงประชามติแล้ว 

พยานยังตอบคำถามถึง การออกคำสั่งของนายกฯ ว่าจำเป็นต้องพิจารณาถึงที่มาของอำนาจ และการใช้อำนาจ ซึ่งสำหรับคดีนี้จำเป็นต้องดูว่า อภิวัฒน์ ขันทอง ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจตามคำสั่งนั้นใช้อำนาจอย่างไร เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่

ตอบทนายจำเลยถามติง

พยานเบิกความว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ไม่มีเรื่องการทำประชามติตั้งแต่ต้น เพราะถูกเพิ่มเข้ามาโดยการใช้อำนาจของคณะ คสช. และการแทรกแซงของคณะ คสช. ต่อรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ยังมีเกิดขึ้นในอีกหลายระลอก

พยานระบุว่าในรัฐธรรมนูญใช้คำว่า ให้รัฐสภาเป็นผู้เลือกนายกฯ ซึ่งเท่ากับเป็นคำถามลวง เพราะตามหลักการแล้ว ส.ว. ไม่มีสิทธิเลือกนายกฯ แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาได้เพราะเสียง ส.ว. 250 เสียง ดังนั้นแล้วพยานจึงยืนยันว่าการที่จำเลยในคดีนี้ใช้คำว่า “ฉ้อฉล” นั้นไม่ผิด เพราะพฤติการณ์เป็นเช่นนั้นจริงๆ

นอกเหนือจากนี้ พยานยังเบิกความด้วย ตามเอกสารคำสั่งที่ อภิวัฒน์ ขันทอง นำมาอ้างเพื่อแจ้งความดำเนินคดีนั้น มีระบุไว้อย่างชัดเจนว่าคณะกรรมการตรวจสอบฯ มีหน้าที่ ซึ่งไม่เท่ากับมีอำนาจ ในการดำเนินการ ดังนั้นแล้วการดำเนินการต่างๆ ตามเอกสารดังกล่าวจำเป็นต้องกระทำในนามของคณะกรรมการตรวจสอบฯ ไม่ใช่กระทำในนามของ อภิวัฒน์ ขันทอง แต่เพียงผู้เดียว

.

พยานจำเลยปากที่ 3: สฤณี อาชวานันทกุล

พยานเบิกความว่า ประกาศคณะ คสช. หลายฉบับยกเลิกแล้ว แต่หลายฉบับก็ยังคงอยู่ในกฎหมาย ซึ่งประกาศของ คสช. นี้ ไม่ต้องมีการรับผิดชอบ (หมายถึง ผู้สั่งไม่ต้องรับผิดชอบ) คำสั่งที่ออกมามีหัวหน้าคณะ คสช. เป็นผู้ออกและโดยกลไก เมื่อออกคำสั่งแล้วก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ซึ่งสำหรับประเด็นนี้พยานมองว่าเป็นการใช้ฉ้อฉลโดยใช้อำนาจ

พยานเบิกความต่อไปว่าการฉ้อฉลโดยใช้อำนาจนี้มีผลเสีย เช่น การก่อตั้งโรงงานเผาขยะโดยไม่มีการตรวจสอบคุณภาพ ทั้งนี้ การฉ้อฉลโดยอำนาจในช่วงก่อนการเลือกตั้งนั้น พยานมองว่าการเข้าสู่อำนาจของนายกฯ นั้นมิชอบ เพราะใช้อำนาจ ส.ว. มาช่วยทำให้ตนเองได้เป็นนายกฯ กลไกนี้ถือว่าไม่ชอบด้วยธรรมาภิบาลและกฎหมาย เพราะถือเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

ทั้งนี้ พยานยังเบิกความด้วยว่าประชาชนมิใช่แค่มีสิทธิ แต่ควรสามารถวิพากษ์วิจารณ์ และระบุว่าพฤติกรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นการฉ้อฉลเชิงอำนาจ ซึ่งมีความหมายไม่ต่างจากคำว่าคอรัปชั่น 

สำหรับประเด็นเรื่องเอกสารคำสั่งนายกฯ และเอกสารคำสั่งสำนักนายกฯ มีความแตกต่างกัน ในแง่ของอำนาจ ซึ่งเอกสารคำสั่งนายกฯ ที่ อภิวัตน์ ขันทอง ใช้อ้างอำนาจในการดำเนินคดีแก่จำเลยในคดีนี้นั้น ไม่มีการระบุว่าใช้อำนาจตามข้อกฎหมายใด ทั้งยังมีการระบุชื่อบุคคลในการดำเนินงานอย่างชัดเจนคล้ายกับมีการเลือกมาแล้ว 

นอกจากนี้พยานยังระบุด้วยว่าเอกสารดังกล่าวนี้มีข้อสงสัยในเรื่องของอำนาจว่าใช้อำนาจตามกฎหมายใด และเหตุใดจึงได้เอาเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเป็นคณะกรรมการตรวจสอบฯ มากถึง 3 คน 

พยานเบิกความด้วยว่าในโลกปัจจุบัน การตัดต่อภาพ การตกแต่งภาพ เป็นวิธีการหนึ่งในการแสดงออกของคนในยุคอินเทอร์เน็ต และการนำถ้อยสัมภาษณ์ของผู้นำประเทศมาลงในช่องทางออนไลน์เป็นเรื่องปกติ

ตอบอัยการถามค้าน

พยานเบิกความตอบพนักงานอัยการว่าขอบเขตอำนาจ หน้าที่ของกรรมการที่ อภิวัฒน์ ขันทอง ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบฯ ตามที่ระบุไว้ในเอกสารคำสั่งนั้น คือการตรวจสอบและดำเนินการแจ้งความ

ตอบทนายจำเลยถามติง

พยานเบิกความว่าเสียงที่ชี้ขาดที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกฯ คือเสียงของ ส.ว. ซึ่งถ้าอิงตามเสียงประชาชนเลือกตั้งแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ได้เป็นนายกฯ กล่าวคือ ส.ว. คือแต้มต่อของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงของ ส.ว. ซึ่ง 1 เสียง ของ ส.ว. มีค่าเท่ากับหนึ่งแสนเสียงของประชาชน

.

__________________________________________________________________________________________________________

ข้อกฎหมายน่ารู้ว่าด้วยการออกคำสั่งของนายกรัฐมนตรี 

คดีนี้มีเอกสารสำคัญคือ คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 32/2563 เรื่อง “แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี และการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค” ซึ่งถูกนำมาใช้อ้างเป็นฐานอำนาจให้ อภิวัฒน์ ขันทอง และตัวแทน มีอำนาจในการแจ้งความร้องทุกข์และดำเนินคดีอาญากับประชาชนที่ดูหมิ่น หมิ่นประมาทการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค แทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้เสียหาย

อย่างไรก็ตาม คำสั่งในข้างต้นและการทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบและดําเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค (คตส.) กลับมีความไม่โปร่งใส และถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการฟ้องปิดปากประชาชน (SLAPP) เพื่อปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของนายกฯ และครม. ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะและการปฏิบัติหน้าที่ก็ส่งผลต่อสาธารณะ

คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 32/2563 และการทำงานของ คตส. จึงมีข้อน่าพิจารณา 2 ประการ ได้แก่

1. คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 32/2563 ไม่ได้มีการระบุว่าฐานอำนาจในการออกคำสั่งฯ มาจากกฎหมายใด และไม่ถูกเผยแพร่ให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูและค้นคว้าได้

เมื่อพิจารณารูปแบบการทำคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา จะพบว่ามักมีการอ้างถึงกฎหมายลำดับศักดิ์สูงกว่าซึ่งให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการออกคำสั่ง เพื่อให้เป็นไปตามหลักการ “ไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ” กล่าวคือ ฝ่ายบริหารจะกระทำการใดได้ ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจและจะต้องใช้อำนาจภายในกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น แต่คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 32/2563 กลับไม่มีการอ้างถึงกฎหมายที่ให้อำนาจแต่อย่างใด

แม้อภิวัฒน์จะเบิกความต่อศาลว่าคำสั่งดังกล่าว ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ในการดำเนินงานของ คตส. ก็จำเป็นที่จะต้องมีการประชุมคณะกรรมการ มีการบันทึกรายงานการประชุม และมีมติที่ประชุม ซึ่งก็ระบุไว้ตอนท้ายของคำสั่ง ในข้อ 2 แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้

คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 32/2563 ยังไม่ถูกลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา หรือถูกเผยแพร่ให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูและค้นคว้าในเว็บไซต์ใดๆ ของหน่วยงานรัฐ ทั้งที่มีประชาชนผู้มีส่วนได้เสียหลายคนจากการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าว 
แม้จะมีประชาชนพยายามขอเอกสารและข้อมูลจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 แต่จากข้อมูลของสำนักข่าว The MATTER พบว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ทั้ง 2 หน่วยงานยืนยันว่า ไม่มีคำสั่งดังกล่าวอยู่ในสารบบ ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบความโปร่งใสของการออกคำสั่งและการดำเนินงานของ คตส. ได้

.

2. เจตนารมณ์ของการออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 32/2563 เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี

คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 32/2563 ระบุวัตถุประสงค์ในการแต่งตั้ง คตส. ว่า เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินคดีเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ดูหมิ่น และหมิ่นประมาทการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี และการเปิดให้เล่นพนันออนไลน์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค 

ในเรื่องของการเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จและพนันออนไลน์ การแต่งตั้ง คตส. มาตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินคดีย่อมเป็นประโยชน์สาธารณะ และเป็นภารกิจของรัฐ แต่ในการปราบปรามการดูหมิ่น และหมิ่นประมาทการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีนั้น ยังมีข้อน่าพิจารณาว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือไม่ โดยเฉพาะในความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว 

หากการออกคำสั่งดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตน ไม่ใช่ประโยชน์สาธารณะ ก็ไม่สามารถนำมาใช้เป็นเสมือนหนังสือมอบอำนาจในการร้องทุกข์กล่าวโทษและดำเนินคดีกับประชาชนได้
นอกจากนี้ บุคคลซึ่งถูกแต่งตั้งเป็น คตส. นั้น นอกจากจะมีตำแหน่งอยู่ในคณะกรรมการดังกล่าวแล้ว ยังมีบุคคลที่เป็นข้าราชการในหน่วยงานรัฐอื่นๆ และข้าราชการตำรวจอีกด้วย แม้อภิวัฒน์จะเบิกความต่อศาลว่า คตส. เป็นเหมือนจิตอาสา ไม่มีค่าตอบแทน แต่บุคคลซึ่งเป็นคณะกรรมการบางส่วนก็เป็นทรัพยากรของรัฐ และในการประชุมคณะกรรมการย่อมต้องมีเบี้ยประชุม ทรัพยากรของรัฐดังกล่าวย่อมไม่ควรถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว

__________________________________________________________________________________________________________

.

X