อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ได้ส่งหนังสือลงวันที่ 27 ก.ย. 2567 แจ้งคำสั่งไม่ฟ้องแก่ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลดินแดง ในคดีของสามารถ เตชะธีรรัตน์ อายุ 33 ปี ในความผิดข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, มาตรา 85 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยเห็นว่าหลักฐานไม่เพียงพอ เป็นเพียงการโพสต์เพื่อประสงค์ให้มีพื้นที่ในสื่อสังคมออนไลน์ด้วยข้อความที่ไม่สร้างสรรค์เท่านั้น
.
สำหรับคดีนี้ เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2564 เวลาประมาณ 21.30 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า สามารถ เตชะธีรรัตน์ ประชาชนทั่วไปที่ขณะนั้นอายุ 29 ปี ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมตามหมายจับ และถูกนำตัวไปยัง สน.ดินแดง ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการโพสต์ข้อความทางการเมือง
ก่อนพบว่าคดีนี้มี พ.ต.ท.นพโรจน์ พัชราจีระศักดิ์ เป็นผู้กล่าวหา กล่าวหาว่าในวันที่ 12 ก.ค. 2564 สามารถได้โพสต์เฟซบุ๊กซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะ โพสต์ข้อความและภาพถ่ายลงในกลุ่ม “#ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” มีข้อความว่า “อารยะขัดขืน จอดรถสนิทพร้อมกับทุกทางเข้าออก ถนนทหารราบที่ 1 ถนนวิภาวดีรังสิต 1 เดือน เพื่อไม่ให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากบ้านกรมทหารราบที่ 1 ถนนวิภาวดีรังสิต ไปทำเนียบรัฐบาลได้อีกต่อไป”
สามารถได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน
ต่อมาหลังคดีอยู่ในชั้นตำรวจกว่า 3 ปี เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2567 พนักงานสอบสวนได้นัดหมายส่งสำนวนคดีนี้ให้กับอัยการ และหลังพิจารณาราว 1 เดือนเศษ ในการนัดหมายฟังคำสั่งเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2567 อัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ในที่สุด
.
เทียบกับ “ทะลุฟ้า” โพสต์ของสามารถไม่มีรายละเอียดวิธีการทำกิจกรรม พิสูจน์ไม่ได้ว่ามีเจตนาให้ไปทำกิจกรรม เป็นเพียงโพสต์ที่ไม่สร้างสรรค์และผู้โพสต์ไม่ใช่คนที่สังคมสนใจ
สำหรับหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องลงวันที่ 27 ก.ย. 2567 ของอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 สามารถสรุปคำวินิจฉัยในการสั่งไม่ฟ้องคดี
อัยการเห็นว่าข้อความที่ผู้ต้องหาโพสต์พร้อมภาพนั้น มิได้มีการประกาศนัดหมายว่าจะไปกระทำการกันในวันเวลาใด จะก่อเหตุร้ายอย่างไรกันอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรอย่างไร แตกต่างจากกรณีของการโพสต์ของกลุ่ม “ทะลุฟ้า – thalufah” ซึ่งมีภาพและข้อความนัด
“#ม็อบ 11 สิงหา ไล่ล่าทรราช 15.30 น. เป็นต้นไป เจอกันอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เกาะพญาไท ประกาศเดินไปบ้านประยุทธ์ #ทะลุฟ้า #ม็อบ 11 สิงหา #ประยุทธ์ออกไป #ปฏิวัติประชาชน” และใต้ข้อความปรากฏภาพบุคคลยืนคล้องแขนภายในภาพมีข้อความว่า “11 สิงหา ไล่ล่าทรราช 15.00 น. เป็นต้นไป เจอกันอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เกาะพญาไท เดินไปบ้านประยุทธ์”
“รวมพล ! ศุกร์ 13 ไล่ล่าทรราช # ม็อบ 13 สิงหา อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ฝั่งเกาะพญาไท 15.00 น. เป็นต้นไป เราจะเดินคล้องแขนไปบ้านประยุทธ์ พบการต่อสู้ทุกรูปแบบจากประชาชน แม้การต่อสู้ครั้งที่ผ่านมาคนเราจะน้อยและพวกเราทะลุฟ้าจะยังอยู่แค่จุดเริ่มต้นเพราะตำรวจควบคุมฝูงชนเข้ามาสลายการชุมนุมอย่างป่าเถื่อนเยี่ยงอสูรร้ายในกายคนเพื่อปกป้องพวกทรราช ขอพี่น้องประชาชนจงออกมาเพิ่มกำลังคน ร่วมกันและต่อสู้อย่างสันติอหิงสา เพื่อประจันหน้ากับพวกทรราชและทวงถามถึงประชาธิปไตย ! #ทะลุฟ้า# ประยุทธ์ออกไป #ปฏิวัติประชาชน”
ใต้ข้อความปรากฏภาพบุคคลยืนเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภายในภาพมีข้อความว่า “ศุกร์ 13 ไล่ล่าทรราช ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เกาะพญาไท 15.00 น. เป็นต้นไป เราจะเดินไปหน้าบ้านประยุทธ์พบการต่อสู้ทุกรูปแบบจากประชาชน # ม็อบ 13 สิงหา”
สื่อสังคมออนไลน์รู้กันอยู่ทั่วไปว่า กลุ่มนี้โพสต์ข้อความนัดหมายการรวมตัวกันในวันที่ 11 และ 13 สิงหาเวลา 15.00 น. นั้น การนัดหมายของกลุ่มนักจัดกิจกรรมเพื่อจะไปทำกิจกรรมอะไรที่ไหน ใช้วิธีการอย่างไร ซึ่งมีลักษณะของข้อความที่ฮึกเหิมอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐได้
ส่วนข้อความที่ผู้ต้องหาโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าวนั้น มิได้มีการนัดหมายว่าจะไปทำกิจกรรมกันในวันเวลาใด ประกอบกับผู้ต้องหามิใช่บุคคลที่สังคมให้ความสนใจติดตามกิจกรรมของผู้ต้องหา อีกทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาไปทำกิจกรรมตามที่โพสต์
พฤติการณ์แห่งคดีรับฟังได้ว่าผู้ต้องหามิได้มีเจตนาโพสต์ข้อความเพื่อนัดหมายให้ประชาชนไปทำกิจกรรมตามที่โพสต์แต่อย่างใด หากแต่เป็นเพียงการโพสต์ข้อความเพื่อประสงค์ให้มีพื้นที่ในสื่อสังคมออนไลน์ด้วยข้อความที่ไม่สร้างสรรค์เท่านั้น พยานหลักฐานไม่พอพิสูจน์ความผิด จึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง
อัยการผู้ทำคำสั่งไม่ฟ้อง ได้แก่ พงษ์เทพ แซ่ลิ้ว พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4
.
สำหรับสามารถเป็นผู้มีอาการออทิสติก เขาทำงานด้านธุรการในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สามารถถูกดำเนินคดีทางการเมืองอย่างน้อย 2 คดี และอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องทั้งสองคดี คือคดี MBK39และคดีนี้
เท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบข้อมูล ในยุคหลังการชุมนุมเยาวชนปลดแอกปี 2563 เป็นต้นมามีการกล่าวหาด้วยข้อหามาตรา 116 หรือ “ยุยงปลุกปั่นฯ” นี้ ไม่น้อยกว่า 53 คดี คดีของสามารถนับเป็นคดีที่ 4 ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีข้อหานี้ ก่อนหน้านี้มีคดีของ “นายพล” ถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจ “กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย” โพสต์เชิญชวนให้ประชาชนไปร่วมชุมนุม, คดีนักกิจกรรมชูป้ายไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ระยอง และคดีชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน
ข้อหามาตรานี้ยังถูกนำใช้เป็นเครื่องมือกล่าวหาประชาชนจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคหลังรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยพบว่าแนวโน้มคดีส่วนใหญ่ ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องหรืออัยการสั่งไม่ฟ้องหลังคดีดำเนินไปอย่างยาวนานในที่สุด
.