28 ส.ค. 2567 เวลา 16.00 น. ที่ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับ Day Breaker Network จัดงานเสวนา “ให้คดีการเมือง เป็นเรื่องที่ใครก็ตรวจสอบได้” โดยมีกิจกรรมสนทนาภายใต้ประเด็น “สถานการณ์คดีการเมืองในปัจจุบัน และสิ่งที่เราทำได้ในกระบวนการยุติธรรม” โดยงานเสวนาในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์การอบรมหลักสูตรการสังเกตการณ์คดีที่ศูนย์ทนายฯ ร่วมมือกับเครือข่าย Day Breaker Network ในการจัดทำหลักสูตรขึ้นมา สำหรับนักศึกษา – ประชาชนที่สนใจในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการยุติธรรม
.
เป็นยุคที่มีการดำเนินคดีการเมืองสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
นพพล อาชามาส ฝ่ายข้อมูล ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เริ่มพูดคุยถึงแนวโน้มการดำเนินคดีทางการเมืองกับประชาชน โดยปัจจุบันศูนย์ทนายฯ มีความท้าทายในการต่อสู้คดีเพิ่มมากขึ้น โดยตั้งแต่สถานการณ์การชุมนุมใหญ่ในปี 2563 เป็นต้นมา เห็นว่าเป็นยุคที่มีการดำเนินคดีกับประชาชนจากสถานการณ์ทางการเมืองเป็นจำนวนมากที่สุดน่าจะในประวัติศาสตร์ไทย จากการรวบรวมของศูนย์ทนายฯ มีจำนวนคดีพุ่งสูงเป็นจำนวนอย่างน้อย 1,300 คดี มีคนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนเกือบ 2,000 ราย
ในจำนวนคดีเหล่านี้ ก็เป็นคดีที่มีลักษณะกระจายตัวไปในภูมิภาค ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เกิดขึ้นทุกภูมิภาคในประเทศไทย แต่ว่าคดีจะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ถึง 80 % แต่คดีที่เราติดตามได้ก็มีลักษณะกระจายตัวไปในภูมิภาคต่าง ๆ โดยกระจายตัวไปมากกว่า 57 จังหวัด จาก 77 จังหวัดในประเทศไทย ซึ่งกล่าวได้ว่าเรามีคดีการเมืองเกิดขึ้นในจังหวัดจำนวน 2 ใน 3 ของประเทศ
นอกจากนี้ ตัวเลขคดีดังกล่าวยังมีลักษณะเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมทางการเมือง หรือประชาชนทั่วไปด้วย ไม่ใช่แค่กับกลุ่มของแกนนำที่จัดการชุมนุม และพบว่ายุคนี้เอง ยังเป็นยุคที่มีการดำเนินคดีกับกลุ่มของเด็กและเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวแสดงออกทางการเมืองมากที่สุดเช่นเดียวกัน โดยมีจำนวน 200 กว่าคน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
ตัวอย่างคดีที่เชียงใหม่ มีคดีที่มีผู้กล่าวหาในข้อหา ม.116 – พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ กว่า 38 คน จากการชุมนุมที่ลานประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2563 ซึ่งผู้ถูกกล่าวหามีหลากหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มนักศึกษา คนรุ่นป้า ๆ ลุง ๆ คนเสื้อแดง คนทำงานประชาสังคม หรืออาจารย์ที่ผ่านไปสังเกตการณ์ก็โดนดำเนินคดีไปด้วยหมด คดีนี้ปัจจุบันก็ยังไม่สิ้นสุด แต่ยังอยู่ในชั้นอัยการอยู่
นพพล ได้กล่าวถึงสถิติคดีภาคเหนือ ซึ่งในปัจจุบัน จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ 2563 พบว่ามีคดีการเมืองเกิดขึ้นอย่างน้อย 94 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 145 ราย เมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ ก็จะมีจำนวนมากกว่า ภาคอีสานคดีน้อยกว่าเล็กน้อย โดยปัจจุบันภาคใต้ก็มีจำนวนคดีเพิ่มขึ้นไปราว 50 คดี โดยเฉพาะคดีมาตรา 112 แต่ภาคเหนือกับภาคอีสานชะลอตัวลงในช่วงสองปีหลังนี้
สำหรับในปัจจุบัน พบว่ายังมีคดีในภาคเหนือที่ไม่สิ้นสุดกว่า 37 คดี จากจำนวน 94 คดี ส่วนใหญ่อยู่ในชั้นศาล 23 คดี และในชั้นสอบสวนอีก 14 คดี ในชั้นศาล คดีได้ขึ้นไปสู่ศาลอุทธรณ์หรือฎีกาแทบทั้งหมดแล้ว ยังเหลือคดีที่อยู่ในศาลชั้นต้นไม่มากนัก เช่น คดีของอานนท์ นำภา ที่รอการสืบพยานที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2567 นี้
ส่วนคดีในชั้นสอบสวน ก็ยังมีคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เกือบ 10 คดี ยังอยู่ในชั้นตำรวจหรืออัยการ อาทิ คดีคาร์ม็อบในจังหวัดเชียงใหม่ หรือเชียงราย ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะมีการนำมาฟ้องอีกหรือไม่
นอกจากนี้ ยังมีสถานการณ์ที่อยากอัปเดตคือ ในภาคเหนือเองมีประชาชนที่ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 เป็นจำนวน 2 คน คือ “พรชัย” ชาวปกากะญอ ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำเชียงใหม่ และ “บัสบาส” ซึ่งถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่มีการพิพากษาโทษจำคุกในคดีมาตรา 112 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ คือจำคุก 50 ปี เขาถูกคุมขังและไม่ได้ประกันตัวในชั้นฎีกาอยู่ที่จังหวัดเชียงราย รวมทั้งยังมีสถานการณ์ที่น่ากังวลในคดีมาตรา 112 ในหลายคดีที่กำลังทยอยขึ้นไปสู่ศาลชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา ที่อาจนำไปสู่การคุมขังผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นได้อีก
นพพล ยังได้ให้ความเห็นเรื่องสังเกตการณ์คดีเพิ่มเติมว่า การเข้าไปสังเกตการณ์คดี ไม่ใช่การเข้าไปจับผิดกระบวนการยุติธรรม แต่การสังเกตการณ์เกี่ยวข้องกับหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นหลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน โดยมีองค์ประกอบต่าง ๆ ที่สำคัญในการพิจารณาคดี เช่น การพิจารณาคดีจะต้องทำโดยการเปิดเผยและโปร่งใส ศาลต้องมีความเป็นกลางและมีอิสระ ซึ่งเป็นหลักการที่ต้องคุ้มครองคู่ความทุกฝ่าย พลเมืองทุกคนไม่ว่าเขาจะถูกดำเนินคดีอะไรก็ตาม
.
การสังเกตการณ์คดีมีความสำคัญ เพื่อรักษาสิทธิของจำเลยที่อยู่ในระหว่างต่อสู้คดี
“ทนายเมย์” ดรุเณศ เฌอหมื่อ ทนายความอาสาของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เริ่มต้นเล่าว่า ได้มีส่วนเข้าไปต่อสู้คดีให้กับนักกิจกรรมที่ถูกฟ้องในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม ในส่วนของภาคเหนือเองก็มีเป็นจำนวนมาก แต่ความตึงเครียดน้อยลงจากปี 2563 – 2564 กล่าวคือในทางการว่าความ หรือการพิจารณาคดี ก็ยังคงเป็นการต่อสู้กันด้วยข้อเท็จจริงทางพยานหลักฐานที่นำเสนอกันในชั้นศาล อาจจะไม่ค่อยพบการต่อรองนอกกระบวนการมากเท่าไหร่
ทนายเมย์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้เนื่องจากคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีเป็นจำนวนมาก นักกิจกรรมบางคนก็ถูกดำเนินคดีหลายคดี พอเวลาผ่านไป ต้องสืบพยานในคดี ก็พบว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นนานแล้ว บางทีในการประชุมคดีกับทนายความก็มีปัญหาเกิดขึ้นจากการที่จำเลยก็ไม่สามารถจำรายละเอียดของเหตุการณ์ที่นำมาสู่คดีได้ หรือแม้แต่พยานโจทก์เองก็ตาม ในการถามความก็แทบจำเหตุการณ์ไม่ได้ กลายเป็นปัญหาในการต่อสู้ให้เห็นข้อเท็จจริงทางคดี
ทนายเมย์กล่าวต่อไปว่า พอสถานการณ์ที่มันมีข้อสังเกตเยอะ ๆ ในกระบวนการชั้นศาลหรือชั้นใดก็ตาม การสังเกตการณ์คดีเองจึงมีความสำคัญมาก ที่จะต้องมีคนคอยติดตาม ตรวจสอบไปพร้อมกับทนายความ ซึ่งจริง ๆ การสังเกตการณ์คดี มันเป็นการรักษาสิทธิในกระบวนการยุติธรรมรูปแบบหนึ่ง ผู้สังเกตการณ์ไปดูเพื่อให้เห็นว่าคู่ความได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างที่ควรจะมีในกระบวนการยุติธรรมหรือเปล่า ซึ่งจริง ๆ ทักษะนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องไปทำกับคดีการเมืองแแต่คดีอื่น ๆ ก็ปรับเอาไปใช้ได้เหมือนกัน
ในส่วนของทนายเมย์เอง ก่อนที่จะเข้ามาทำอาชีพทนายความเต็มตัว ก็ได้มีประสบการณ์ในการเป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์คดี เธอเห็นว่าในตำแหน่งของการนั่งเป็นผู้สังเกตการณ์ ทำให้เราเห็นภาพกว้างว่ามีใครกำลังทำอะไรอยู่บ้าง เช่น จำเลยไม่อยู่ในห้องพิจารณาคดีในระหว่างที่ศาลสืบพยาน หรือมีพยานโจทก์ที่ยังรอการขึ้นเบิกความอยู่ในห้องเดียวกันกับพยานโจทก์ที่กำลังขึ้นเบิกความอยู่ แล้วศาลไม่ทักท้วงให้พยานออกจากห้องพิจารณาคดีไป เราก็ควรจดไว้เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของจำเลยเอง และการจดบันทึกสังเกตการณ์เหล่านี้ มันก็สามารถเอาไปเผยแพร่ตั้งข้อสังเกตทางคดีนั้น ๆ ได้ ว่าศาลได้อำนวยความยุติธรรมไปอย่างที่มันควรจะเป็นหรือไม่
ทนายเมย์ยังได้กล่าวถึงประโยชน์ของการเข้าสังเกตการณ์คดีว่า นอกจากการติดตามกระบวนการแล้ว การสื่อสารเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากพื้นที่อย่างศาล หรือแม้แต่ในเรือนจำ สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผู้สังเกตการณ์เห็นความผิดปกติหรือตั้งข้อสังเกตได้ ก็มีประโยชน์อย่างมากที่จะกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่รัฐอำนวยความยุติธรรมอย่างถูกต้องและโปร่งใส เพราะมีประชาชนอย่างเราตรวจสอบและจับตาพวกเขาอยู่ หรือสังคมเองก็จะได้ทราบปัญหาที่เกิดขึ้น
เธอได้ยกตัวอย่างการที่ตัวเองไปเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังทางการเมืองในเรือนจำ ที่บางกรณีมีการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และเมื่อเธอได้สื่อสารออกมามันก็สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับผู้ต้องขังในเรือนจำได้
.
ประชาชนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบกระบวนการยุติธรรม การสังเกตการณ์คดีจึงเป็นเรื่องแปลกสำหรับศาล
ณัฐฐา อัชฌานุเคราะห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสังเกตการณ์คดี Day Breaker network กล่าวถึงสถานการณ์คดีการเมืองในส่วนกลาง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑลว่าอาจจะค่อนข้างแตกต่างจากในส่วนภูมิภาค สถานการณ์มีความตึงเครียดสูงขึ้น แนวโน้มของคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 เองก็มีท่าทีจะแย่ลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคดีโพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นจำนวนคดีที่มีมากที่สุดในกลุ่มคดี ม.112 ที่ศูนย์ทนายฯ ติดตามได้
การดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีกับประชาชนในคดีมาตรา 112 เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยแนวโน้มของอัยการก็พบว่าแทบจะสั่งฟ้องคดีทั้งหมด (ในคดีที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหาไปแล้ว) ยิ่งไปกว่านั้นคือในการฟ้องดำเนินคดี ม.112 ที่เกิดขึ้นคือการฟ้องแยกกรรม ซึ่งเฉลี่ยของการพิพากษาลงโทษจำคุกในคดีดังกล่าวอยู่ที่กรรมละ 3 ปี หากว่าจำเลยโดนฟ้องหลายกรรม โทษจากคำพิพากษาก็มีแนวโน้มที่จะทวีคูณตามจำนวนกรรมที่เกิดขึ้นไปด้วย และยิ่งมีจำนวนโทษสูงเท่าไหร่ แนวโน้มในการได้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาก็น้อยลงเท่านั้นในสถานการณ์ช่วงนี้
ด้วยแนวโน้มทางคดีที่เกิดขึ้น และสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ทำให้การเคลื่อนไหวบนท้องถนนของนักกิจกรรมหรือประชาชนที่ต้องการเรียกร้องความยุติธรรมก็เบาบางลง อาจเพราะเครื่องมือที่มีอยู่จำกัด หรือการที่เราไม่รู้ว่าตัวเองจะมีส่วนร่วมในการตรวจสอบหรือผลักดันการเปลี่ยนแปลงอย่างไรได้บ้าง
ณัฐฐา ได้ยกตัวอย่างของความสำคัญในการไปสังเกตการณ์คดีในชั้นศาล โดยเธอกล่าวว่า ปัจจุบันคนให้ความสนใจกับคดีการเมืองที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมในปี 2563 น้อยลง แต่มันมีคนจำนวนหนึ่งที่ยังต้องเผชิญหน้าอยู่ในกระบวนการพิจารณาคดีทั้งชั้นตำรวจ อัยการ และศาล ซึ่งมีความน่ากังวลที่แทบไม่มีใครเข้าร่วมตรวจสอบในกระบวนการเหล่านั้นเท่าไร
สิ่งที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในคดี ม.112 ของลูกเกด ชลธิชา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากอดีตพรรคก้าวไกล จากกรณีโพสต์ข้อความถึงสถาบันกษัตริย์ในการเคลื่อนไหว “ราษฎรสาส์น” เมื่อช่วงปี 2563 สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องพิจารณาคือการที่ศาลสั่งให้สืบพยานต่อแม้ทนายจำเลยไม่ได้เข้าร่วมการพิจารณาคดี ทำให้ลูกเกดยืนยันขอปฏิเสธกระบวนการที่เกิดขึ้น ณัฐฐากล่าวว่าสิ่งเหล่านี้แทบจะไม่ถูกสื่อสารออกมาเลย หากเราไม่มีผู้สังเกตการณ์คดีไปอยู่ร่วมด้วยในวันนั้น
อย่างไรก็ตาม ณัฐฐาได้ตั้งข้อสังเกตว่าแม้การสังเกตการณ์จะอยู่บนพื้นฐานของหลักการของการพิจารณาคดีโดยเป็นธรรมที่บุคคลทุกคนจะต้องได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย และทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาล แต่ก็มีกรณีของศาลที่ห้ามบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องในคู่ความเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีอยู่ด้วยเช่นกัน หรือปัญหาการห้ามจดบันทึกในห้องพิจารณา
ปัญหาในห้องพิจารณา จึงทำให้ทราบว่าศาลไม่ได้มีกฎระเบียบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน แม้อยู่ภายใต้กระบวนการยุติธรรมและกฎหมายเดียวกันก็ตาม ในเรื่องการสังเกตการณ์โดยประชาชนยังเป็นเรื่องที่ศาลเองก็มีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน และใช้ดุลยพินิจของแต่ละคนในการกำหนดว่าใครสามารถอยู่ในห้องพิจารณาคดีได้บ้าง อาจเพราะนโยบายหรือกฎระเบียบของศาลยุติธรรม ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการร่างมันขึ้นมา นโยบายต่าง ๆ ถูกกำหนดโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือตัวของผู้ที่มีอำนาจในการอำนวยความยุติธรรม การที่มีประชาชนธรรมดา ๆ ไปอยู่ในห้องพิจารณาจึงเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับเขา
ณัฐฐากล่าวว่าสิ่งที่คนทั่วไปจะทำได้ในตอนนี้คือการติดเครื่องมือให้ตัวเอง การสังเกตการณ์คดีจึงเป็นสิ่งที่เราสามารถเริ่มต้นทำด้วยกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีทักษะเชี่ยวชาญ หรือเรียนจบนิติศาสตร์ ปัจจุบันมีชุมชน Day Breaker Network กว่า 200 คนที่ร่วมเป็นเครือข่ายในการสร้างและขับเคลื่อนประชาธิปไตยต่อในหลายรูปแบบ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ ‘คู่มือสังเกตการณ์คดีอาญา’ และหลักสูตรสังเกตการณ์คดี เพื่อให้ประชาชนยังสามารถขับเคลื่อนประชาธิปไตยด้วยตัวเองต่อไปได้ ในวันที่การเคลื่อนไหวบนท้องถนนหดแคบลง
.
_______________________________________________________________________
หลักสูตรสังเกตการณ์คดี ของ Day Breaker network เป็นหลักสูตรการเรียนออนไลน์กับผู้เชี่ยวชาญด้านการขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรม โดยจะมีแบบฝึกหัดให้ทำตลอด 4 สัปดาห์ ซึ่งถูกส่งแบบออนไลน์ พร้อมกับทดลองลงพื้นที่สังเกตการณ์คดีจริงที่ศาลใกล้บ้านในสัปดาห์สุดท้าย คุณสมบัติผู้สมัครคัดเลือก เป็นนักศึกษาหรือประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่จำกัดอาชีพและอายุสุดท้าย
หลักสูตรจะเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 25 ก.ย. 2567 และประกาศผลผู้ได้รับคัดเลือกภายในวันที่ 28 ก.ย. 2567 ผ่านทางอีเมลหรือช่องทางการติดต่อที่ให้ไว้ กรอกใบสมัครที่นี่ : สมัครเข้าร่วมอบรมหลักสูตรสังเกตการณ์คดี Trial observation