เมื่อผมไปบันทึกสังเกตการณ์คดี #ม็อบ2สิงหา หน้า บก.ตชด.

พัชรพล กอบโกย
DayBreaker Network

 

วันที่ 23 เมษยายน 2567 เวลา 13.00 น. ศาลจังหวัดธัญบุรี ได้มีการนัดสืบพยานในคดีที่พนักงานอัยการสั่งฟ้อง “พริษฐ์ ชิวารักษ์” กับพวกรวม 12 คน ในห้องพิจารณาคดีมีทนายความ 2 คน, พนักงานอัยการ, พยานโจทก์ 3 คน, ผู้พิพากษา 2 คน และ หน้าบัลลังก์ที่อยู่ในห้อง 1 คน ทำให้บรรยาการศในห้องค่อนข้างเงียบ ผมจึงพยายามที่จะจดบันทึกการสืบพยานให้ได้มากที่สุด เพื่อรวบรวมว่าข้อเท็จจริงใดที่มีการสืบพยานแล้ว และ นำไปใช้ในการเทียบเคียงกับคำพิพากษาได้ในอนาคต 

ก่อนการพิจารณาในช่วงเช้า : ผมได้เดินสำรวจบริเวณศาลว่ามีการอำนวยความสะดวกหรือไม่อย่างไร แต่รอบๆบริเวณศาลนั้นเรียบร้อยปกติ มีการติดนัดหมายคดีที่มีการพิจารณาบริเวณด้านหน้าอาคาร ผมได้ไปถึงศาลก่อนเวลา 

ผมเข้าห้องพิจารณาคดีเวลา 09.00 น. เจ้าหน้าที่และผู้พิพากษามิได้คัดค้านหรือห้ามการเข้าสู่ห้องพิจารณาคดีอย่างไร ในช่วงเช้ามีการนัดความคดีอื่นๆ 3 คดี เมื่อนัดคดีอื่นๆเสร็จสิ้นแล้ว ทนายความในคดีที่มาสังเกตการณ์ก็ได้ขอเลื่อนการสืบพยานเป็นช่วงบ่าย  โดยศาลได้อนุญาตและก็เดินออกจากห้องพิจารณาคดีไป

ก่อนการสืบพยานในช่วงบ่าย  ผมได้เข้าห้องพิจารณาคดี เวลา12.55 น. ก่อนที่ทนายความจะเข้ามา และ พนักงานอัยการได้พาพยานโจกท์ทั้ง 3 ปาก เป็นนายตำรวจยศ พันตำรวจโท 1 นาย และ ยศร้อยตำรวจโท กับ สิบตำรวจตรี อีกอย่างละ 1 นาย  รวม 3 นาย เข้ามาในห้องภายหลัง โดยอัยการกับพยานทั้งหมดได้มีการพูดคุยกันและบอกให้พูดตามที่ได้เตรียมตัวไว้ก่อนหน้าในตอนที่ทั้งสามต้องขึ้นเบิกความ

ระหว่างการพิจารณาคดี : ในการพิจารณาคดีแบ่งออกเป็นพยานโจทก์ 3 ปาก ดังนี้

การสืบพยานได้เริ่มต้นด้วยการสาบานตน ปัจจุบันพยานเป็นผู้กำกับการสืบสวน สภ.เมืองปทุมธานี แต่ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุได้ดำรงตำแหน่งยศพันตำรวจตรี ที่ สภ.คลอง 5  ในตำแหน่งสารวัตรสืบสวน พยานเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ในตอนที่มีการชุมนุม และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดกำลังชุดสืบแฝงตัวไปในกลุ่มของผู้ชุมนุม

พยานให้การว่า ในวันที่ 2 สิงหาคม 2564 มีการแจ้งว่าจะมีผู้ต้องหามาถูกควบคุมตัวมาที่ ตชด. หลายสิบคน จากนั้นกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี ได้มีการจัดตั้งกองอำนวยการร่วมระหว่าง ตำรวจควบคุมฝูงชน  โดยเจ้าหน้าที่สืบสวนจังหวัดปทุมฯ และ สถานีตำรวจภูธรคลอง 5 เป็นกองอำนวยการร่วมในเวลาประมาณ 13.00 น.

หลังจากนั้น ตำรวจกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้นำผู้ต้องหามาไว้ที่กองบัญชาการ ตชด. ภาค 1 และ ช่วงเวลาประมาณ 14.30 น. – 14.40 น. ได้มีกลุ่มนักกิจกรรมแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำโดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ มาที่หน้า ตชด.ภาค 1

พยานจึงได้รับคำสั่งให้อยู่ในที่พื้นที่ชุมนุม จัดหาชุดสืบสวนแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุม และพยานได้เห็นจำเลยหลายคนในช่วงเวลานั้น ได้แก่ รุ้ง ปนัสยา, เบนจา, ชลธิศ, ชนินทร์, ณัฐชนน และ จำเลยอีกหลายคน (เป็นที่น่าสังเกตว่า พยานสามารถจำชื่อและคนที่อยู่ในเหตุการณ์ได้อย่างแม่นยำ แต่รายละเอียดอื่นๆ พยานกลับจำไม่ได้ละเอียดเท่านี้) 

ในเวลาประมาณ 14.40 น. ภายหลังการชุมนุมเริ่มขึ้นที่หน้า ตชด. ภาค 1 ก็ได้มีผู้ชุมนุมมาสบทบเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ห้องหาที่อยู่ใน ตชด. ภาค 1 อันได้แก่ ไผ่ ดาวดิน และพวกรวมกว่า 10 คน 

พยานเล่าต่อว่า เวลา 14.40 น. ตำรวจได้ขอให้มีการยกเลิกการชุมนุม โดยแจ้งว่าเป็นการ ขัดต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ  และ เวลาประมาณ 14.50 น. ตำรวจของนครบาลจะออกมา แต่ผู้ชุมนุมไม่ให้ออกมา มีการขว้างปาสิ่งของใส่ และ ได้มีการจับกลุ่มผู้ชุมนุม Wevo 

*ศาลบอกให้พยานลำดับเหตุการณ์ดี ๆ ให้เล่าสิ่งที่พยานพบเห็นมา ไม่ใช่การเล่าภาพรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ศาลค่อนข้างมีท่าทางที่ไม่ค่อยพอใจในการเบิกความของพยานที่ให้การวกไปวนมา*

พยานเล่าต่อว่า เวลา 16.20 ผู้ชุมนุมได้มาสมทบกันกว่า 300 คน อัยการจึงถามว่ามีการทำอะไรบ้างในพื้นที่ตรงนั้น พยานตอบว่า มีการปราศรัยโจมตีรัฐบาล และ เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง รวมทั้งมีการสาดสี (ในตรงนี้มีข้อสังเกตว่าพยานให้การว่า “ได้มีการสาดสี” แต่ผู้พิพากษาได้มีการเติมว่า “สาดสีใส่ตำรวจ”) ภายหลังเวลา 17.37 เพนกวิน ได้มีการประกาศให้ยุติการชุมนุม 

หลังจบการสืบพยานโจทก์คนที่ 1 ได้มีการนำเอกสารหมาย จ.1 รายงานสืบสวนการชุมนุม และ เอกสารหมาย จ.7-8 ที่ภาพถ่ายเหตุการณ์ ให้ศาลดูอีกครั้ง พยานบอกว่าภาพถ่ายเป็นภาพที่ลูกน้องเป็นคนถ่าย ไม่ใช่ตัวพยานเอง แต่พยานเป็นผู้ทำรายงานการสืบสวน และคนที่ลงชื่อในรายงานการสืบสวนคือ ผู้บังคับบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นผู้ลงชื่อในรายงาน

ทนายจำเลยถามค้าน

ทนายความ ได้เริ่มต้นการสืบพยานโดยการให้ดูแผนที่รอบๆ ตชด. แสดงให้เห็นว่ามีทางออก 2 ทาง พยานบอกว่าด้านหลังไม่สามารถออกได้เนื่องจากมีลวดหนามกั้นวางไว้อยู่

ทนายความถามต่อว่า หน่วยที่จัดกำลังไปควบคุมฝูงชนมีกี่นาย พยานได้ตอบว่ามีทั้งหมด 3 นาย โดยพยานอยู่ในที่ฝั่งสะพานลอย หน้า ตชด. มีการจัดชุดนอกเครื่องแบบแฝงตัว เมื่อมองไปฝั่งตรงข้ามมีผู้ชุมนุมหลายคนที่ถ่ายทอดสดเหตุการณ์อยู่ แต่ไม่รู้ว่าเป็นนักข่าวหรือไม่อย่างไร

ทนายถามต่อว่า ถนนที่หน้า ตชด. ก่อนข้ามไปคลอง 5 มีการใช้งานได้หรือไม่ พยานตอบว่า มีรถสัญจรอยู่บ้างแต่น้อยมาก อีกทั้งถนนยังขรุขระ ไม่สามารถใช้งานได้ (ข้อสังเกต ศาลเหมือนจะไม่ได้บันทึกข้อเท็จจริงส่วนนี้ว่าวิ่งแต่น้อยมาก)

ทนายถามว่า เห็นเบนจาและปนัสยาทำอะไรอยู่ พยานตอบว่า เปิดกระจกแล้วตะโกนออกมาจากรถยนต์

พยานตอบทนายในคำถามต่อ ๆ มาว่าในพื้นที่การชุมนุม พยานไม่เห็นสิ่งที่เป็นอาวุธทำร้ายคนได้  ไม่มีการพูดให้ร้ายเจ้าหน้าที่ และส่วนใหญ่ผู้ชุมนุมที่เข้าร่วมมีการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา มีบางช่วงเท่านั้นที่ปนัดดา ซึ่งเป็นหนึ่งในจำเลย ไม่ได้ใส่หน้ากาก

พยานมียศปัจจุบันคือ จ่าสิบตรี อายุ 32 ปี เป็นข้าราชการอยู่ที่ สภ.คลอง 5 โดยประจำการที่ สน.ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2560 ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน

พยานเล่าว่าในวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปบันทึกภาพและวิดีโอในพื้นที่ชุมนุม โดยพยานได้ใช้มือถือส่วนตัวถ่ายผู้ชุมนุม พยานเล่าว่า ช่วงเวลาประมาณบ่ายโมง ได้รับแจ้งจากผู้บัญชาการให้ลงพื้นที่เวลาประมาณ 13.00- 18.00 พยานให้การว่าเห็นผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัยเป็นส่วนใหญ่ และ พยานไม่เคยมีเรื่องติดใจกับจำเลยหรือรู้จักกันมาก่อน

ทนายความถามค้าน

ทนายความถามว่า ร้านขายของหน้าพื้นที่ชุมนุมไม่มีความเสียหายจากการชุมนุมใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นแต่อย่างใด เมื่อทนายถามต่อว่ามีผู้ชุมนุมห้ามการปาสีหรือทำร้ายตำรวจบ้างหรือไม่ พยานตอบว่ามีผู้ชุมนุมบางส่วนที่ห้ามไม่ให้มีการปาสีใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่จำไม่ได้ว่ามีการห้ามทำร้ายตำรวจด้วยหรือไม่ 

ปัจจุบัน พยานเป็นข้าราชการที่ กองบังคับการตำรวจภูธรภาค 1 และ ขณะที่เกิดเหตุพยานรับราชการอยู่ที่ สภ.คลองห้า ในวันที่เกิดเหตุ วันที่ 2 สิงหาคม 2564 เวลา 14.00 น. มีการพาตัวผู้ต้องหาจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล มาควบคุมตัวที่ ตชด.ภาค1 ซึ่งอยู่ในท้องที่ของ สภ.คลอง 5  ผู้ต้องหานำโดยเพนกวิน มีผู้ชุมนุมติดตามมาจำนวนหนึ่ง จนเกิดการกระทบกระทั่งกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยรถที่มีการควบคุมตัวผู้ต้องหา ถูกพวกของเพนกวินปาแผงเหล็กใส่ *ศาลเตือนพยานว่าหากไม่รู้ชื่อผู้ชุมนุม ก็บอกว่าไม่รู้ ให้ใช้คำว่าผู้ชุมุนุมแทน*

พยานเล่าต่อว่า รองผู้กำกับการป้องกันและปราบปราม เข้าไปเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม ว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ แต่ฝ่ายผู้ชุมนุมก็ไม่ได้ยุติการชุมนุมแต่อย่างใด

ทนายความถามค้าน

ทนายได้เริ่มถามว่า ในขณะเกิดเหตุของคดีนี้พยานอยู่ที่ไหน พยานตอบว่า พยานได้เคลื่อนตัวไปเรื่อยๆ ตามผู้ชุมนุม และ ทนายได้มีการถามเรื่องประตูด้านหลังที่ไม่มีการเปิดใช้ พยานจึงตอบว่า ประตูได้มีการทำเอาไว้ แต่ไม่มีคนใช้ เป็นถนนแดง เหตุการณ์ยกแผงเหล็กที่เกิดขึ้นหลังจากที่เจ้าหน้าที่ขอคืนพื้นที่ เพนกวิ้นเป็นคนทุ่มแผงเหล็กก่อนมีการขอคืนพื้นที่ เหตุการณ์ความวุ่นวายจึงเกิดขึ้นภายหลังที่มีการทุ่มแผงเหล็ก 

นอกจากนี้ จากการนำสืบพยานยังเล่าว่า การที่ผู้ชุมนุมใช้เครื่องขยายเสียง เป็นการใช้เพื่อด่าทอตำรวจ และเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัว (ไม่มีการบอกให้ทำร้ายเจ้าหน้าที่) 

ภายหลักการสืบพยาน : ผู้พิพากษาได้มีการนำคำเบิกความของพยานมาอ่านให้พยานโจทก์ทั้งหมดในวันนี้ฟังและตรวจสอบอีกครั้ง เมื่อพยานรับฟังได้มีการลงลายมือชื่อรับรอง

โดยรวมการพิจารณาและการสืบพยานวันนี้ค่อนข้างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ก็จะมีเพียงข้อสังเกตบางจุดที่เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งคดีเท่านั้น ที่ศาลไม่ได้มีการบันทึกเสียงไว้

__________________________________________________________________

บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจค Day Breaker Network ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ร่วมมือเพื่อสร้างพื้นที่ของคนที่สนใจการเริ่มต้นเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defenders) ผ่าน #หลักสูตรการสังเกตการณ์คดี (Trial Observation) ตลอดเดือนเมษายน พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา เพื่อยืนหยัดความถูกต้องและตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมไปพร้อม ๆ กับผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง และเสริมสร้างประสบการณ์เขียนบันทึกเรื่องราวจากเหตุการณ์ละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมไทย
.

X