พลอยชมพู พัดศรี
Day Breaker Network
ในวันที่ 25 เม.ย. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลแขวงเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาคดีของ 3 นักศึกษา มช. ได้แก่ ธนาธร วิทยเบญจางค์, วัชรภัทร ธรรมจักร และ ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ (รามิล) เหตุมาจากกรณีการชุมนุมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหยุดกระทำความรุนแรงกับประชาชน เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะร่วมกันเดินขบวนไปยังสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ เพื่อดำเนินการแจ้งความเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่สลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงที่แยกเกียกกาย หน้ารัฐสภาที่กรุงเทพฯ
คดีนี้มี พ.ต.อ.มนัสชัย อินทร์เถื่อน อดีตรองผู้กำกับสืบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ เป็นผู้กล่าวหา ซึ่งมี พ.ต.ท.สมคิด ภูสด เป็นพนักงานสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาแก่นักศึกษาทั้ง 3 คน เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2564 รวม 5 ข้อหา ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6), ใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และเดินขบวนกีดขวางการจราจร (แต่ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพียงข้อหาเดียวเท่านั้น เนื่องจากข้อหาอื่น ๆ ขาดอายุความไปแล้ว)
จากการนัดสืบพยานไปเมื่อวันที่ 24, 25 ม.ค. และ 1 ก.พ. 2567 โดยภาพรวม โจทก์กล่าวหาจำเลยว่าไม่แจ้งการชุมนุม ทำกิจกรรมที่เกิดความแออัด เสี่ยงต่อโรค จึงได้ฟ้องจำเลยในข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้านจำเลยโต้ไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม เป็นเพียงผู้เข้าร่วมเท่านั้น
อนึ่ง ในช่วงเวลานั้นบริเวณพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ไม่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว รวมทั้งการชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยตามสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญฯ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (ICCPR) (อ้างอิงจาก : ประมวลการต่อสู้ก่อนพิพากษาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 3 นักศึกษา มช. ชุมนุมสามกษัตริย์ ก่อนเดินทางไปแจ้งความเจ้าหน้าที่เหตุสลายการชุมนุมหน้าสภา ปี 2563)
- บรรยากาศก่อนเข้าไปยังห้องพิจารณาคดี
ดิฉันได้เดินทางไปยังศาลโดยใช้บริการ Grab Car ในระหว่างสัญจรบนถนนได้ใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเข้าทำงานของบุคลากรหลายท่าน จึงทำให้ดิฉันไปถึงศาลแขวงเชียงใหม่ในเวลาประมาณ 08.30 น.
เมื่อถึงศาลแขวงเชียงใหม่ ดิฉันได้เข้าไปในอาคารศาล จากนั้นพนักงานด้านหน้าประตูทางเข้าได้ทำการแลกบัตรประจำตัวประชาชนและตรวจกระเป๋าของดิฉัน โดยดิฉันสอบถามต่อท่านนั้นว่าหากต้องการสังเกตการณ์คดีจะต้องไปติดต่อที่ใด พนักงานด้านหน้าประตูจึงบอกให้ดิฉันไปสอบถามกับพนักงานประชาสัมพันธ์ที่อยู่ในบริเวณนั้น
จากนั้นดิฉันก็ได้ไปสอบถามต่อพนักงานประชาสัมพันธ์และได้แสดงตนว่าเป็นผู้สังเกตการณ์คดี ทางด้านพนักงานได้แจ้งต่อดิฉันโดยสรุปว่าให้ไปยังชั้น 2 เพื่อสอบถามว่าดิฉันสามารถเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีในครั้งนี้ได้หรือไม่ (ทั้งนี้ดิฉันจำชื่อห้องที่ตนเองไปสอบถามไม่ได้)
เมื่อไปยังชั้น 2 มีพนักงานอยู่ในห้องประมาณ 2 ท่าน โดยท่านที่นั่งด้านหน้าสุดได้สอบถามว่าดิฉันต้องการมาสังเกตการณ์ในคดีอะไร พร้อมกับให้ดิฉันบอกเลขคดีที่ต้องการ เมื่อดิฉันได้บอกเลขคดีพนักงานและก็ได้อธิบายถึงเส้นทางไปยังห้องพิจารณาคดีที่ดิฉันต้องการมาสังเกตการณ์ ซึ่งในความคิดเห็นของดิฉันเอง ดิฉันรู้สึกว่าพนักงานทุกท่านในบริเวณนั้นต่างก็อำนวยความสะดวกแก่ตัวดิฉันซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้เป็นอย่างดี ไม่ได้มีการกีดกันหรือห้ามไม่ให้ดิฉันเข้าไปสังเกตการณ์ในคดีดังกล่าว
เมื่อไปถึงยังห้องพิจารณาคดีที่ 8 มีผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีนี้ชื่อ นางสาวกิตติมา โลหะวณิชย์ โดยดิฉันได้รออยู่บริเวณหน้าห้องพิจารณาคดีกับเพื่อนและพี่ที่มาสังเกตการณ์คดีร่วมกัน ขณะรอไปได้สักระยะหนึ่งเวลาประมาณ 09.02 น. จำเลยคนที่ 1 (ธนาธร วิทยเบญจางค์) ก็ได้เดินทางมายังหน้าห้องพิจารณาคดี เพื่อนของดิฉัน (บีบี) ได้ชวนจำเลยพูดคุยพบว่าขณะนี้จำเลยได้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้ว ขณะนี้กำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากนั้นไม่นาน ทนายความของจำเลย รวมทั้งจำเลยที่ 2 และ 3 ก็เดินทางมายังหน้าห้องพิจารณา ระหว่างรอเข้าห้องพิจารณาคดี ดิฉันสังเกตว่าทั้งทนายความและจำเลยสามารถพูดคุยกันได้อย่างเป็นปกติ โดยจากการสังเกตดิฉันไม่เห็นสื่อมวลชนขององค์กรใดเลยในบริเวณนั้น อีกทั้งดิฉันเองก็ไม่เห็นคนในครอบครัวของจำเลย
- สภาพแวดล้อมภายในห้องพิจารณาคดี
เวลาประมาณ 09.20 น. หลังเข้าไปในห้องพิจารณาคดี ผู้เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดี ได้แก่ จำเลยทั้งสาม, ทนายความของจำเลย โดยคนรู้จักของจำเลยคนที่ 1, เจ้าหน้าที่ศาลหน้าบัลลังก์ และผู้สังเกตการณ์คดีทั้งหมด 3 คน รวมถึงตัวดิฉัน
ดิฉันได้สังเกตว่าบุคคลที่ไว้วางใจของจำเลยทั้งสองสามารถพูดคุยกับจำเลยได้ตามปกติ อีกทั้งภายในห้องพิจารณาคดีก็มีที่นั่งเพียงพอสำหรับทุกคนที่สนใจเข้าชมการพิจารณาคดี และไม่ได้มีสิ่งใดที่ผิดปกติเกิดขึ้นภายในห้อง
- ระหว่างการพิจารณาคดี
หลังจากนั้นเวลาประมาณ 09.45 น. ผู้พิพากษาได้ประจำยังที่นั่ง (ลักษณะของผู้พิพากษา : เป็นผู้หญิง ดิฉันประมาณการว่าน่าจะอยู่ในช่วงวัยกลางคน ไม่ได้ดูมีอายุมากสักเท่าไหร่) และได้แจ้งต่อบุคคลในห้องพิจารณาคดีว่า การนัดฟังคำพิพากษาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ 3 นักศึกษา มช. ที่ได้ชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ก่อนเดินทางไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่เหตุสลายการชุมนุมหน้าสภา ในวันที่ 17 พ.ย. 2563 จากเดิมวันที่ 25 เม.ย. 2567 ได้เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 29 พ.ค. 2567 ท่านได้ให้เหตุผลโดยสรุปว่า เดิมทีมีคดีชุมนุมข้อหาคล้ายกันกับคดีนี้อยู่แล้ว และในเมื่อทั้งสองคดีต่างก็มีข้อหาลักษณะเดียวกัน จึงสมควรให้มีกระบวนการในชั้นพิจารณาคดีในลักษณะเดียวกัน จึงจำเป็นต้องมีการส่งร่างคำพิพากษาไปให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ตรวจก่อน
- ความรู้สึกและข้อแนะนำต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจากการสังเกตการณ์คดี
ก่อนไปศาลดิฉันเป็นกังวลว่าในกรณีนี้ซึ่งเป็นคดีที่เกี่ยวกับคดีทางการเมือง เจ้าหน้าที่ศาลในระดับต่าง ๆ จะปฏิบัติต่อดิฉัน จำเลย และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวแตกต่างจากบุคคลอื่นในคดีทั่วไป แต่เมื่อได้ไปศาลจริงดิฉันพบว่าเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ต่างก็ปฏิบัติต่อดิฉันและคนอื่นๆ อย่างเท่าเทียมและไม่ได้มีอคติใด ๆ อย่างเห็นได้ชัด
แต่สำหรับดิฉันแล้วสิ่งหนึ่งที่ทางศาลควรเปลี่ยนแปลง คือ การแจ้งว่ามีการเลื่อนการพิจารณาพิพากษาคดี ควรแจ้งให้ทั้งโจทก์ จำเลย และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีข้างต้นให้เร็วกว่าที่จะมาแจ้งในขณะที่ทุกคนเดินทางมายังห้องพิจารณาคดีเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากก่อนจะมาศาลทุกคนต่างก็ต้องเตรียมการวางแผนมาในระดับหนึ่งแล้ว เช่น ในกรณีของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยได้กล่าวว่าตนได้จองตั๋วเครื่องบินจากกรุงเทพฯ มาเชียงใหม่เพื่อฟังคำพิพากษาคดีนี้โดยเฉพาะ แต่เมื่อมาถึง ศาลกลับกล่าวว่าเลื่อนการพิจารณาคดีออกไป
ดิฉันคิดเห็นว่าเหตุการณ์นี้ย่อมเกิดผลกระทบทั้งทางด้านเวลา ด้านค่าใช้จ่ายและในอีกหลายด้าน หากจะเป็นการดีกว่าหรือไม่ถ้าศาลสามารถแจ้งว่ามีการเลื่อนการพิพากษาคดีต่อบุคคลทุกคนที่เกี่ยวข้องกับคดีได้เร็วกว่านี้
__________________________________________________________________
บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจค Day Breaker Network ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ร่วมมือเพื่อสร้างพื้นที่ของคนที่สนใจการเริ่มต้นเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defenders) ผ่าน #หลักสูตรการสังเกตการณ์คดี (Trial Observation) ตลอดเดือนเมษายน พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา เพื่อยืนหยัดความถูกต้องและตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมไปพร้อม ๆ กับผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง และเสริมสร้างประสบการณ์เขียนบันทึกเรื่องราวจากเหตุการณ์ละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมไทย