เมื่อวันที่ 12 และ 24 มิ.ย. 2567 ที่ สน.พระราชวัง ณัฐพล เมฆโสภณ หรือ “เป้” นักข่าวประชาไท อายุ 34 ปี, ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ หรือ “ยา” ช่างภาพอิสระ อายุ 34 ปี และ “สายน้ำ” นักกิจกรรมวัย 19 ปี ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ตามหมายเรียกในข้อหา “ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน และขูด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใด ๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใด ๆ ที่กำแพงที่ติดกับถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะ” จากกรณีลงพื้นที่รายงานและติดตามสถานการณ์การแสดงออกพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว ของ “บังเอิญ” เป็นสัญลักษณ์เลข 112 และมีเส้นขีดทับ รวมถึงเครื่องหมายสัญลักษณ์ “อนาคิสต์” เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566
อัยการส่งสำนวนกลับให้ ตร.แจ้งเพิ่ม “เป้-ยา” “ร่วมกัน” ทำลายโบราณสถาน จากการทำข่าวพ่นสีกำแพงพระบรมมหาราชวัง แม้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2567 เป้และยาถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญาและถูกนำตัวไป สน.พระราชวัง ภายหลังจากแจ้งข้อกล่าวหาว่า “เป็นผู้สนับสนุนทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน และขูด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใด ๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใด ๆ ที่กำแพงที่ติดกับถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะ” และสอบปากคำเสร็จสิ้น ตำรวจได้นำตัวเป้ไปคุมขังที่ สน. ฉลองกรุง และแยกยาไปขังที่ สน. ทุ่งสองห้อง เป็นเวลา 1 คืน ก่อนที่ทั้งสองจะถูกพาตัวไปขอฝากขังต่อศาลอาญาในวันรุ่งขึ้น โดยศาลอนุญาตฝากขัง และให้ประกันตัวทั้งสองคน ด้วยหลักทรัพย์คนละ 35,000 บาท พร้อมเงื่อนไขห้ามกระทำการใดในลักษณะเดียวกันนี้อีก
ต่อมา วันที่ 13 ก.พ. 2567 สายน้ำซึ่งทราบว่ามีหมายจับในคดีเดียวกันได้เดินทางไปให้กำลังใจเป้และยาที่ศาลอาญาฯ และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าเขาตั้งใจมาแสดงตัว ไม่ได้หลบหนี ก่อนถูกตำรวจเข้าจับกุมตามหมายจับในช่วงเย็น ทำให้สายน้ำกลายมาเป็นผู้ต้องหาที่ 3 ในคดีเดียวกันนี้ โดยถูกแจ้งข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับเป้และยา และได้รับการประกันตัวในชั้นฝากขังในวันต่อมา โดยวางหลักทรัพย์ประกัน และมีเงื่อนไขประกันเช่นเดียวกับเป้และยา
จากนั้นวันที่ 9 พ.ค. 2567 ทั้งสามได้เดินทางไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อรายงานตัวต่อพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 ในนัดส่งตัวให้อัยการ พร้อมกันนี้ 2 ผู้สื่อข่าว คือ เป้และยา ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ ขอให้สั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน เพราะในวันเกิดเหตุทั้งสองไปปฏิบัติหน้าที่ผู้สื่อข่าว จึงเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็น ตามที่รัฐธรรมนูญและกติกาสากลระหว่างประเทศให้การรับรอง
ก่อนที่ปลายเดือน พ.ค. 2567 พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกเป้, ยา และสายน้ำ เพื่อให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม เนื่องจากหลังจากตำรวจส่งสำนวนสอบสวนให้อัยการแล้ว พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 ได้ส่งสำนวนกลับให้ตำรวจทำการสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมทั้งเป้, ยา และสายน้ำ ฐาน “ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน และขูด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใด ๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใด ๆ ที่กำแพงที่ติดกับถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะ”
ทำให้วันที่ 12 มิ.ย. 2567 เวลา 10.00. น. เป้และยา 2 ผู้สื่อข่าว พร้อมทนายความ ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.ศิลปชัย ยมใหม่ สว. (สอบสวน) สน.พระราชวัง พนักงานสอบสวนที่ออกหมายเรียก
ตามบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา ระบุพฤติการณ์คดีเช่นเดียวกับที่เคยแจ้งในครั้งก่อนซ้ำอีกครั้งว่า เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 เวลาประมาณ 17.40 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบ “บังเอิญ” กำลังพ่นสีสเปรย์อยู่ที่บริเวณกำแพงรั้วพระบรมมหาราชวัง พร้อมกับพวก ทำหน้าที่ถ่ายภาพเคลื่อนไหวขณะที่บังเอิญกำลังพ่นสี เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าจับกุมบังเอิญได้เพียงคนเดียว ส่วนคนอื่นได้หลบหนีไป
ต่อมา พนักงานสอบสวนได้รวบรวมหลักฐานขออำนาจศาลอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาเพิ่มเติม เนื่องจากจากการตรวจสอบช้อมูลทางสื่อโซเชียลและกล้องวงจรปิดพบว่า วันก่อนเกิดเหตุ ยาได้เดินทางไปที่สนามหลวง พบปะพูดคุยกับบังเอิญ และไปนั่งรวมกลุ่มกันที่หน้าศาลฎีกา และในวันเกิดเหตุ ยาได้ขี่จักรยานยนต์มาจอดข้างศาลหลักเมือง ยืนอยู่สักพักเหมือนรอเวลานัดหมาย ก่อนไปยืนถ่ายภาพบังเอิญขณะพ่นสีกำแพงพระบรมมหาราชวัง และขณะตำรวจเข้าควบคุมตัวบังเอิญ
อีกทั้งพบว่า ก่อนเวลาเกิดเหตุเล็กน้อย เป้เดินไปเดินมาอยู่ในสนามหลวง เหมือนรอเวลานัดหมาย และไปยืนรอถ่ายภาพบริเวณมุมสนามหลวงขณะบังเอิญกำลังพ่นสีกำแพง
จากนั้น พ.ต.ท.ศิลปชัย จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมให้เป้และยาทราบ โดยกล่าวหาว่าทั้งสอง “ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน และขูด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใด ๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใด ๆ ที่กำแพงที่ติดกับถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะ”
ทั้งสองได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน หลังเสร็จสิ้นกระบวนการรับทราบข้อหา พนักงานสอบสวนปล่อยตัวทั้งสองไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ เนื่องจากมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ไม่มีเหตุให้ควบคุมตัวไว้
.
แจ้งเพิ่ม “สายน้ำ” เหตุเป็นตัวการทำลายโบราณสถาน ตำรวจเชื่อว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด
ต่อมา วันนี้ (24 มิ.ย. 2567) เวลาประมาณ 10.00 น. สายน้ำพร้อมทนายความ ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.ศิลปชัย เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมเช่นกัน
บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 เวลาประมาณ 17.40 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบ “บังเอิญ” กำลังพ่นสีสเปรย์อยู่ที่บริเวณกำแพงรั้วพระบรมมหาราชวัง พร้อมกับพวก ทำหน้าที่ถ่ายภาพเคลื่อนไหวขณะที่บังเอิญกำลังพ่นสี เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าจับกุมบังเอิญได้เพียงคนเดียว ส่วนคนอื่นได้หลบหนีไป
ต่อมาพนักงานสอบสวนจึงได้รวบรวมพยานหลักญาน ขออำนาจศาลอนุมัติหมายจับสายน้ำ โดยจากการตรวจสอบข้อมูลทางสื่อโซเชียลและภาพจากกล้องวงจรปิด ตรวจพบว่า วันเกิดเหตุสายน้ำได้เดินทางโดยรถยนต์มาที่สนามหลวง เดินมุ่งหน้าไปที่หน้าศาลหลักเมือง และไปยืนรอบริเวณสนามหลวงตรงข้ามป้อมเผด็จฯ เพื่อบันทึกภาพบังเอิญขณะพ่นสีกำแพงพระบรมมหาราชวัง ซึ่งลักษณะเป็นการมารอเวลานัดหมาย โดยสายน้ำวิ่งมาตั้งกล้องมือถือเพื่อถ่ายภาพ แสดงให้เห็นว่า สายน้ำรู้อยู่แล้วว่า บังเอิญจะมาก่อเหตุ จากนั้น สายน้ำและพวกได้วิ่งมาพยายามขัดขวางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าควบคุมตัวบังเอิญ
จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาสายน้ำเพิ่มเติมว่า กระทำผิดฐาน “ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน และขูด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใด ๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใด ๆ ที่กำแพงที่ติดกับถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะ” เช่นเดียวกับเป้และยา
สายน้ำได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน หลังเสร็จสิ้นกระบวนการรับทราบข้อหา พนักงานสอบสวนปล่อยตัวสายน้ำไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ เนื่องจากมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ไม่มีเหตุให้ควบคุมตัวไว้
ในคดีนี้ยาและสายน้ำยังถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในข้อหา “ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร” จากการปฏิเสธไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ
อนึ่ง นอกจากเป้, ยา และสายน้ำแล้ว “ตะวัน” ก็ถูกดำเนินคดีในคดีนี้ด้วยเช่นเดียวกัน โดยตำรวจ สน.พระราชวัง ได้เข้าอายัดตัวตะวันตามหมายจับของศาลอาญาในข้อหา “เป็นผู้สนับสนุนทำให้โบราณสถานเสียหาย ทำลาย หรือทำให้เสื่อมค่า และขีดเขียน พ่นสี ข้อความและภาพบนกำแพงที่ติดกับถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะ” จากเหตุการณ์เดียวกันกับทั้งสามคน ขณะที่ตะวันได้รับการปล่อยตัวหลังจากถูกคุมขังในเรือนจำมา 105 วัน จากคดีบีบแตรใส่ขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งต่อมา พนักงานสอบสวนได้อนุญาตให้ประกันตัวตะวันในชั้นสอบสวน โดยให้วางหลักทรัพย์ 20,000 บาท พร้อมกำหนดให้มาส่งตัวให้อัยการในวันที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา