บันทึกเยี่ยม 6 ผู้ต้องขังคดี ‘112’: ขอเเสดงความเสียใจไปยังครอบครัวบุ้ง ไม่ควรมีใครเสียชีวิตด้วย ม.112 วิงวอนศาลคืนสิทธิประกันตัวโดยเร็ว

สัปดาห์ที่ผ่านมาทนายความเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังคดี ‘112’ อีก 6 ราย ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้แก่ ‘โย่ง’ ผู้ต้องขังวัย 52 ปี ที่กำลังจะได้รับอิสรภาพในเดือนมิถุนายน 2567 หลังถูกคุมขังมา 3 ปีครึ่ง และ ‘ไบรท์’ ชินวัตร ซึ่งระบายถึงเรื่องการพบหมอในเรือนจำ ที่ผู้ต้องขังอย่างพวกเขาสมควรจะได้รับการดูแลอย่างเป็นปกติ, ส่วน ‘ภูมิ’ ยังต้องประคองอาการบาดเจ็บหัวไหล่อยู่ในบ้านเมตตา ทั้งรอคอยการผ่าตัดใหญ่อีกครั้ง 

ด้าน ‘แม็กกี้’ ที่เรือนจำกลางคลองเปรม รวมทั้ง ‘กัลยา’ และ ‘อุดม’ ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส เมื่อทราบข่าวร้ายของ ‘บุ้ง’ เนติพร นักกิจกรรมทางการเมือง ที่เสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมตัวของกรมราชทัณฑ์ ต่างสะเทือนใจ และส่งเสียงสะท้อนความเสียใจออกมาจากด้านในเรือนจำ ว่าไม่ควรเกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น และไม่ควรมีใครต้องเสียชีวิตเพราะมาตรา 112 

.

โย่ง: รอวันได้รับอิสรภาพในเดือนหน้า

วันที่ 14 พ.ค. 2567 ลุงโย่งออกมาในชุดผู้ต้องขังสีฟ้า ใส่แมสก์สีเดียวกัน เขาดูทั้งแปลกใจและดีใจที่มีคนมาเยี่ยม ทนายโบกมือให้เป็นเชิงทักทาย ก่อนที่ลุงจะยกหูโทรศัพท์ขึ้น อย่างแรกที่ถามคือ “ข้างนอกเป็นยังไงบ้าง” ทนายเล่าสถานการณ์การเมืองและข่าวที่เป็นกระแสขณะนั้นให้ฟัง ทนายเล่าให้ฟังว่ามีผู้ต้องขังที่อดอาหารกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ต้องส่งไปโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ (ขณะนั้นยังไม่มีการยืนยันว่าบุ้งเสียชีวิตแล้ว) โย่งดูเครียดขึ้นทันที

เนื่องจากเวลาเยี่ยมน้อย ทนายจึงถามลุงเรื่องกำหนดการปล่อยตัว เมื่อพูดถึงเรื่องพ้นโทษ ลุงมีท่าทีสดใสขึ้น กลับมายิ้มแย้มและหัวเราะเหมือนเดิม วันปล่อยตัวตามกำหนดคือ วันที่ 15 มิ.ย. 2567 “ก็รู้สึกตื่นเต้นว่าการทำมาหากินข้างนอกจะเป็นยังไง แต่ผมมีที่ทำกินอยู่สุรินทร์ กลับบ้านไปก็จะทำไร่ทำนา เลี้ยงวัวพันธุ์บราห์มัน 4-5 ตัวพอ เลี้ยงเยอะก็เหนื่อย (หัวเราะ) ที่บ้านมีน้ำอยู่ เขาขุดบ่อกันร้อยกว่าไร่ เสียค่าน้ำไร่ละ 50 บาท น่าจะทำนาได้” 

“ถ้าผมกลับบ้าน เพื่อน ๆ คนข้างบ้านก็คงมีความสุข หายไป 3 ปี เขาคงคิดถึงกันอยู่ (หัวเราะ) ผมนี่เป็นคนของสังคมเลยนะ คนตายก็เอารถกระบะไปรับส่งศพตลอด มีอะไรก็หยิบยืมกัน จนคนแถวบ้านแซวว่า ทำไมมึงไม่สมัครผู้ใหญ่บ้านไปเลย”  ลุงโย่งเล่าอีกว่า “เพื่อนที่ออกไปจากเรือนจำเขียนจดหมายมาเล่าให้ฟังว่าหางานยากมาก อย่างปกติญาติผมจะส่งเงินมาให้ใช้ทุกเดือน เดือนละ 1,500 บาท แต่เมื่อวานเงินเข้ามา 1,000 บาท แต่ก็ไม่ได้ลำบากอะไร อยู่นานจนชินแล้ว ทำงานโรงเลี้ยงก็เลยมีคนรู้จักเยอะ หยิบยืมกันได้”

ทนายสอบถามว่า วันปล่อยตัวต้องการให้มีคนมารอรับมาพูดคุยด้วยไหม “มาคุย มาต้อนรับกันได้ แต่ผมไม่อยากออกสื่อ ไม่อยากเปิดเผยหน้า เราอยู่ในมุมมืดมาตลอด ไม่รู้ว่าถ้าเปิดหน้าออกสื่อแล้วจะส่งผลร้ายต่อตัวเราไหม เพราะผมก็เคยโดนจับไปอยู่ค่ายทหารมาก่อนนะ”    

ส่วนความช่วยเหลือ  “ไม่ต้องการอะไรครับ แค่มาเป็นกำลังใจให้กันก็พอแล้ว พี่สาวผมก็น่าจะมา ส่วนลูก เดี๋ยวก็มา เพราะเขาอยู่พระประแดง ไม่ต้องติดต่อใครให้ครับ เดี๋ยวทางเรือนจำน่าจะโทรไปเอง”

ช่วงนี้แม้จะเข้าใกล้ฤดูฝนแต่อากาศยังร้อนมาก ทนายถามว่าลุงโย่งใช้ชีวิตประจำวันอย่างไร ลุงตอบทั้งรอยยิ้มว่า “ตอนนี้ห้องหนึ่งนอนกัน 42 คนเลย เบียดกันมาก พอร้อนมาก ๆ ก็ลุกไปเอาน้ำราดตัวให้มันเย็น คนละขันสองขันสลับกันไป คนมาใหม่ก็นอนน้ำตาไหล เราก็ปลอบใจไปตามเรื่อง บอกเขาว่าคนที่แย่กว่าเราก็มี อย่าไปคิดมาก มีคนติดคุกเพราะลูกให้เปิดบัญชีม้า ได้เงิน 1,000-1,500 บาท แต่ติดคุก 1-2 ปี 

“อาหารโรงเลี้ยงก็รู้ ๆ กันว่ามันไม่ได้ดีอยู่แล้ว เราก็ปลอบเขาว่าเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ผัก 1 ไร่ ไก่ 1 ตัว (หัวเราะ) แต่ว่านะ ถึงสภาพแวดล้อมมันจะไม่ดี เราเข้ามาแล้วมันทำอะไรไม่ได้ ก็คิดซะว่าเราอยู่วันนึงโทษก็ลดวันนึง ไม่มีเพิ่ม เขาก็บอกว่า นายพูดดีนะ บางทีพูดแล้วเขาก็ขำ (หัวเราะ)”

ก่อนลุงโย่งทิ้งท้ายอย่างมีพลังใจว่า “ยังออกกำลังกายทุกวัน มีห้องฟิตเนสอยู่ ก็ไปยกลูกเหล็กให้เหงื่อออก จะได้กินข้าวได้ นอนหลับได้ มันก็จะไม่ป่วย มาอยู่ที่นี่ 3 ปี ป่วยไป 6 ครั้ง หมอยังบอกว่าแข็งแรงมาก ลุงไม่เป็นอะไรเลยเหรอ (หัวเราะ)”

จนถึงปัจจุบัน (23 พ.ค. 2567) โย่งถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้วราว 3 ปี 6 เดือน เขาจะได้รับอิสรภาพในวันที่ 15 มิ.ย. 2567 

.

ภูมิ: ยังอาบน้ำ-ใช้แขนขวาไม่ได้ รอนัดผ่าตัดใหญ่อีกครั้ง

วันที่ 14 พ.ค. 2567 ภูมิมีนัดที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ที่ปรึกษากฎหมายจึงมีโอกาสพูดคุยกับภูมิที่ศาล หลังจากที่พูดคุยแบบเจอหน้ากันครั้งสุดท้ายเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากระบบเยี่ยมออนไลน์เต็มตลอดเวลา และภูมิต้องกักตัวหลังจากออกไปศาลหรือโรงพยาบาล 

หลังรอคิวคดีนานกว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง ภูมิถูกเบิกตัวขึ้นมาในห้องพิจารณาคดี อยู่ในเสื้อสีเหลืองอ่อนแขนสั้น กางเกงขาสั้นสีดำแบบกางเกงนักเรียนมัธยมปลาย สวมรองเท้าผ้าใบสีดำถุงเท้าสีขาว ทรงผมสั้นแบบสกิลเฮด แขนด้านขวาของภูมิอยู่ด้านในตัวเสื้อ ภูมิบอกว่าแขนข้างนี้กางไม่ได้เลยเพราะหมอสอดเหล็กไว้แล้ว

นับตั้งแต่ผ่าตัดหัวไหล่เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2567 ภูมิไม่สามารถอาบน้ำได้ ต้องใช้วิธีเช็ดตัว ทำให้ใบหน้าภูมิเริ่มมีตุ่มแดงตามคิ้ว อาจจะเพราะไม่ได้อาบน้ำ ประกอบกับอากาศร้อนเหงื่อออกมาก และที่สำคัญการขยับตัวเพื่อเช็ดตัวในสภาพร่างกายเช่นนี้ดูจะเป็นเรื่องยากลำบาก ภูมิบอกกับทนายด้วยสีหน้าเศร้า ๆ ว่า “แค่เดินขึ้นมาช้า ๆ ผมก็ปวดไหล่แล้วพี่”

ที่ปรึกษาฯ สังเกตดูบาดแผลของภูมิ มีผ้าปิดแผลตั้งแต่ไหล่ขวาเป็นแนวยาวลงมาจนถึงต้นแขนขวา และมีเหล็กสีเงินขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 0.2-0.3 ซม. โผล่ออกมา ภูมิบอกว่า เหล็กนี้เสียบบริเวณไหล่ขวาทะลุไปยังต้นแขนเพื่อยึดและล็อคไม่ให้แขนและไหล่ขยับเขยื้อนได้ เพื่อเตรียมผ่าตัดใหญ่เย็บเอ็นหัวไหล่จากหมอ รพ.จุฬาฯ อีกครั้ง ทำให้เวลานอนต้องนอนตะแคงซ้ายเท่านั้น ไม่สามารถนอนหงายหรือตะแคงขวาได้ เพราะเหล็กที่ยึดเสียบทะลุไปด้านหลังด้วย โดยวันที่ 23 พ.ค. 2567 ภูมิมีนัดพบหมอที่ ร.พ.สิรินธร อีกครั้ง เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับวันนัดผ่าตัดกับ รพ.จุฬาฯ 

ภูมิยังเล่าเกี่ยวกับยาที่ต้องกินในตอนนี้ว่า มียาคลายเครียด ยานอนหลับ ยาแก้ปวดไหล่ แต่มีปัญหาว่า พยาบาลมักลืมให้กินยาตามเวลา มีครั้งหนึ่งพยาบาลลืมเอายาแก้ปวดให้กิน ทำให้คืนวันนั้นภูมินอนแทบไม่ได้ เพราะเจ็บปวดมาก เมื่อภูมิตั้งคำถามไปก็มักจะได้คำตอบว่าพยาบาลมีคนเดียวต้องดูแลเด็กหลายคน “ผมก็ไม่สามารถทำอะไรได้” ภูมิพูดด้วยสีหน้าเศร้าอีกครั้ง 

ปัจจุบันภูมิอยู่บนหอกักตัวเพียงคนเดียว ทางบ้านเมตตาไม่อนุญาตให้ลงมาข้างล่างเนื่องจากเกรงว่าแผลจะติดเชื้อ ภูมิเล่าว่า ดีที่เจ้าหน้าที่เอาทีวีขึ้นไปให้ดู ทำให้พอคลายเครียดได้บ้าง แต่เรื่องที่ยังเครียดเรื่องที่ไม่สามารถเข้าฝึกอบรมวิชาชีพได้เนื่องจากอาการบาดเจ็บ ในวันที่ 14 พ.ค. 2567 แม่จึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ภูมิฝึกอบรมวิชาชีพที่เหมาะสมกับสุขภาพร่างกาย คือ วิชาชีพศิลปะ ซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตตามที่ขอ และให้แจ้ง ผอ.บ้านเมตตาทราบ

วันที่ 20 พ.ค. 2567 ภูมิมีนัดออกศาลเยาวชนฯ เพื่อติดตามการปฏิบัติตามแผนบำบัดและฟื้นฟูของเยาวชนในอีกคดี เมื่อเจอกันที่ปรึกษาฯ ได้สอบถามเพื่ออัพเดตอาการบาดเจ็บและการใช้ชีวิตประจำวันของภูมิ ภูมิบอกว่า ตอนนี้พยายามใช้ชีวิตประจำวันให้ได้แม้จะลำบากเพราะต้องใช้แค่แขนซ้ายที่ไม่ถนัด “พยายามทำอะไรช้า ๆ เช็ดตัว ล้างหน้าแปรงฟัน ช่วงนี้อยู่คนเดียวบนห้องกักตัว บ้านเมตตาเอาทีวีขึ้นไปให้ดูก็ทำให้ติดตามข่าวสารได้ ตอนนี้บิดขี้เกียจยังไม่สามารถทำได้ คือแขนขวาต้องนิ่งที่สุด ปล่อยห้อยก็ไม่ได้ ต้องเกร็งแขนหรือหัวไหล่เหมือนเรายกแขนไว้ตลอดเวลา” 

ภูมิเล่าอีกว่า หลังศาลมีคำสั่งให้ปรับเรื่องการฝึกอบรมวิชาชีพ เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2567 ผอ.สถานพินิจฯ คนใหม่ ได้ขึ้นไปพูดคุยกับภูมิเกี่ยวกับเรื่องการฝึกอบรม และปัญหาที่เกิดขึ้น “ผมมองว่า ผอ. คนนี้ก็ตรงไปตรงมาดี รับผิดชอบดูใส่ใจความเป็นไปในนี้ แกมาเยี่ยมเด็กบ่อย ๆ” จากนั้นครูผู้สอนหลักสูตรวิชาชีพก็ขึ้นมาคุยกับภูมิว่า จะลงจากกักตัววันไหน ดูมีการขยับวันเวลาจากเดิมมากพอสมควร

ปัจจุบัน (23 พ.ค. 2567) ภูมิถูกคุมตัวตามคำสั่งของศาลเยาวชนฯ ที่สถานพินิจฯ บ้านเมตตามาแล้ว 219 วัน  

.

ไบรท์ ชินวัตร: สะเทือนใจเหตุการณ์ที่เกิดกับบุ้ง วิงวอนศาลคืนสิทธิประกันตัวให้กับผู้ถูกกล่าวหาคดีทางความคิดโดยเร็ว

วันที่ 15 พ.ค. 2567 ทันทีที่เจอหน้าทนาย ไบรท์เปิดการสนทนาด้วยประโยคคำถามว่า “ผมเห็นข่าวเรื่องบุ้ง เรื่องจริงใช่ไหมครับ ผมยังงง ๆ พอจะเล่าเรื่องราวให้ผมฟังได้ไหม” ระหว่างที่ทนายเล่าเหตุการณ์ยังไม่จบ ไบรท์ก็ก้มหน้าลงเเล้วเงียบไป หลังจากทนายเล่าเรื่องราวทั้งหมด ไบรท์ที่เงยหน้ามาเห็นตาแดง ๆ กล่าวกับทนายว่า “ผมสะเทือนใจ ไม่คิดว่ามันจะเกิดเหตุการณ์ขนาดนี้ขึ้น เรื่องสิทธิประกันตัว ไม่ใช่เเค่คดีการเมือง คนถูกกล่าวหาก็เอาตัวมาขังเเล้ว โดยที่ศาลยังไม่พิพากษาเลยว่าผิด มันพังไปหมดเเล้ว เห็นเเล้วรู้สีกว่ากระบวนการยุติธรรมไทยมันควรจะล่มสลายเเล้ว ผมรู้สึกเสียใจมาก เเละพูดไม่ออกจริง ๆ” 

ไบรท์ยังพูดต่อเรื่องสิทธิของคนที่ถูกกล่าวหา หรืออยู่ระหว่างต่อสู้คดี ควรจะได้รับสิทธิต่อสู้คดีมากกว่านี้ “ผมอยากเป็นกระบอกเสียงให้ผู้ต้องขังทุกคน เวลาเราถูกขังในระหว่างต่อสู้คดี มันลำบากมากในการหาพยานหลักฐาน หาอะไรหลาย ๆ อย่างมาต่อสู้คดี การปรึกษาหารือทนาย มันยากไปหมดทุกอย่าง มันพูดได้เต็มปากจริง ๆ หรอว่า ได้ให้สิทธิเเละความยุติธรรมกับเราเเล้ว”  

ไบรท์กล่าวอีกว่า “อยากขอให้เผยเเพร่เรื่องการเข้าพบเเพทย์ หรือสิทธิการรักษาขณะอยู่ในเรือนจำ ประสบการณ์ที่ผมเจออยู่ตลอด คือ เราไปพบเเพทย์ พยาบาล เเล้วพูดจากับเราไม่ดีมาก ๆ เช่น ไม่ได้มียาให้กินตลอดนะ ต้องมีอาการก่อนถึงจะขอได้”  

ก่อนพูดระบายต่อไปอีกว่า “คนที่ลงชื่อมาหาหมอ ก็เป็นคนที่มีอาการเเล้วทั้งนั้นเลยครับ เเล้วเขาก็ควรพูดจาดี ๆ กับเราบ้าง คนที่ป่วยทางกายอยู่เเล้ว มาเจอแบบนี้ก็ป่วยทางใจไปด้วย บางครั้งมันก็รู้สึกถึงการปฏิบัติกับเราแบบไม่ใช่คน เราเองก็ควรได้รับการรักษา การวินิจฉัยที่ดี เรื่องสิทธิของผู้ต้องขังในการพบแพทย์ ควรได้รับการเเก้ไขปรับปรุงอย่างเร่งด่วนมาก ๆ”  

ไบรท์กล่าวปิดบทสนทนาว่า “ผมขอเเสดงความเสียใจไปยังครอบครัวบุ้ง ผมยืนยันว่า ไม่ควรมีใครเสียชีวิตด้วยมาตรา 112 ขอวิงวอนไปยังกระบวนการยุติธรรม กระบวนการศาลไทย ขอให้คืนสิทธิในการประกันตัวให้กับผู้ถูกกล่าวหาคดีทางความคิดโดยเร็ว”

จนถึงปัจจุบัน (23 พ.ค. 2567) ไบรท์ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ในคดี ‘112’ มาแล้ว 85 วัน

.

แม็กกี้: ไม่มีทีวีหรือวิทยุใด ๆ ให้ฟังข่าว มีแต่รับรู้ข่าวจากคนข้างในด้วยกัน

วันที่ 17 พ.ค. 2567 ที่เรือนจำกลางคลองเปรม แม็กกี้สวมเสื้อสีฟ้าแขนสั้น กางเกงขาสั้นสีดำ ออกมาพบทนาย และถามถึงข่าวการเสียชีวิตของบุ้งในทันที ก่อนมีสีหน้าเศร้า ๆ แล้วเอ่ยถามว่า ข้างนอกมีกิจกรรมอะไรมั้ย ทนายเล่าถึงกิจกรรมของกลุ่มทะลุฟ้าและกลุ่มเพื่อนนักกิจกรรมที่ไปยื่นหนังสือถึงรัฐบาลให้เร่งรัดออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน แม็กกี้บอกว่า พี่วุฒิที่โดนคดี 112 ที่มาจากเรือนจำมีนบุรีฝากไว้อาลัยให้บุ้งด้วย

กับเรื่องตัวเอง แม็กกี้เล่าถึงชีวิตในเรือนจำว่า “หนูเพิ่งถูกจำแนกให้เข้ากองงาน 1 คือ ถ้าถูกจำแนกให้เข้ากองงานแสดงว่าจะได้อยู่ยาว ๆ ไปเลยค่ะ แต่ยังไม่ได้ทำอะไร เรื่องฝึกอาชีพพวกทำดอกไม้เหมือนจะมีแค่ที่แดน 1 ส่วนเรื่องข่าวสารยังไม่มีทีวีหรือวิทยุใด ๆ ให้ฟังข่าว มีแต่รับรู้ข่าวจากคนข้างในด้วยกัน” แล้วแม็กกี้ก็พูดหงอย ๆ ว่า “หนูอยากดูรายการชิงช้าสวรรค์มากแม่ หนูคิดถึงรายการนี้” 

สุดท้ายทนายแจ้งข่าวว่า เมื่อต้นสัปดาห์ทางศูนย์ทนายฯ เอาหนังสือมาบริจาคที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แม็กกี้ฟังแล้วถึงกับร้อง “โอ๊ยยย แม่ หนูอยากได้ ที่นี่หนูวนอ่านแต่เล่มเดิมจนจำบทพูดได้แล้ว วันพุธหน้าหนูว่าจะไปหาหนังสือที่แดนการศึกษามาอ่าน ถึงจะเป็นหนังสือเก่าก็ยังดีว่ามีอะไรให้บันเทิงได้บ้าง” 

จนถึงปัจจุบัน (23 พ.ค. 2567) แม็กกี้ถูกคุมขังทั้งที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเรือนจำกลางคลองเปรมมาแล้ว 215 วัน 

.

กัลยา: อยากให้ยื่นประกันอีกครั้ง ไม่ว่าผลจะเป็นแบบไหนก็พร้อมจะยอมรับ

วันที่ 20 พ.ค. 2567 หลังจากทักทายทนายที่เข้าเยี่ยม กัลยาแจ้งว่า ได้รับหนังสือเป็นรายชื่อผู้ต้องขังคดีการเมืองทั้งหมด 53 ราย มีชื่อกัลยาอยู่ลำดับที่ 52 และอุดมลำดับที่ 53 มีรายละเอียดว่า เป็นรายชื่อในเกณฑ์ที่จะได้พักโทษหรือได้ลดโทษ 

กัลยาเล่าว่า ในวันที่บุ้งเสียชีวิต เธอได้ดูข่าวผ่าน ๆ โดยจับใจความไม่ทัน ทำให้รู้สึกกังวล อยากให้ทนายมาเยี่ยมเร็ว ๆ จะได้ทราบข่าวอย่างละเอียด ในวันเดียวกัน ผู้คุมได้เรียกตัวเธอไปคุย ตอนแรกที่ถูกเรียกก็ตกใจมากเพราะเป็นคนที่ไม่เคยทำผิดวินัย ผู้คุมกล่าวว่า “มาให้กำลังใจ ให้รักตัวเองมาก ๆ รักพ่อแม่ นึกถึงพ่อแม่มาก ๆ  ถ้าคดีชนะมีหวังไปรับราชการได้อีก ให้กินข้าวอย่าอดอาหาร” 

ก่อนอัพเดตเรื่องสุขภาพว่า ช่วงนี้ปวดฟันมาก เนื่องจากว่าได้จัดฟันแบบใส่สปริงและใส่สกรู พอคุยเรื่องนี้กัลยาถอดหน้ากากอนามัยให้ดู ทนายสังเกตเห็นได้ชัดว่า ปากเบี้ยว ขากรรไกรล่างเบี้ยวเอียง เธอเล่าว่า ตั้งแต่เข้าเรือนจำมา 7 เดือนแล้ว ยังไม่มีโอกาสไปหาหมอหรือปรึกษาหมอเรื่องฟันเลย นอกจากปวดฟันก็มีอาการเจ็บหน้าอก น่าจะเป็นเพราะนอนตะแคงทั้งคืน 

กัลยากล่าวในตอนท้ายว่า ตอนนี้อยู่กับเพื่อนที่เป็นมุสลิม เธอขอให้เพื่อนละหมาดฮายัต (ขอพร) เป็นระยะเวลา 7 วัน ขอให้ได้ประกัน และขอให้ชนะคดี ก่อนบอกกับทนายว่า หากมีการยื่นประกันอยากให้ยื่นประกันเธออีกครั้ง ไม่ว่าผลจะออกมาแบบไหนเธอก็พร้อมที่จะยอมรับ

จนถึงปัจจุบัน (23 พ.ค. 2567) กัลยาถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาสมาแล้ว 217 วัน 

.

อุดม: ทำไมยอมให้สูญเสีย ยอมให้บุ้งตายต่อหน้าต่อตา

วันที่ 20 พ.ค. 2567 หลังทนายเล่าเรื่องการเสียชีวิตของบุ้ง อุดมบอกว่า “จุกอกบอกไม่ถูก เรื่องแค่นี้ทำไมยอมให้สูญเสีย ยอมให้ตายต่อหน้าต่อตา” อุดมเล่าว่า ในเรือนจำเงียบ ไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้เลย ไม่ค่อยมีใครสนใจข่าวข้างนอกสักเท่าไร ขนาดวันที่มีการฟ้องคดีตากใบที่ศาลจังหวัดนราธิวาสก็ไม่มีใครทราบข่าว 

อุดมยังเล่าถึงเหตุการณ์วุ่นวายในเรือนจำให้ทนายฟังว่า เมื่อประมาณสัปดาห์ที่แล้ว ที่แดน 5 เกือบมีจลาจล เนื่องจากมีเหตุขัดแย้งระหว่างผู้คุมกับผู้ต้องขัง เรื่องการจัดแถวกินข้าวเช้า มีการลงโทษให้นั่งตากแดดกินข้าว โต๊ะก็ไม่พอ รอบสุดท้ายต้องตากแดดเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง จนมีแกนนำผู้ต้องขังลุกมาเรียกร้องขอพบ ผบ.เรือนจำ ทำให้ผู้คุมไม่พอใจ ด่าผู้ต้องขังว่า แค่นี้ก็ทนไม่ได้ ทำกับนักโทษเหมือนไม่ใช่คน 

เช่นเดียวกับกัลยา อุดมพูดถึงหนังสือที่ได้รับเกี่ยวกับผู้ต้องขังทางการเมือง มีรายละเอียดว่า เป็นรายชื่อที่อยู่ในเกณฑ์จะได้พักโทษหรือได้ลดโทษ รวมทั้งพูดถึงเรื่องการยื่นประกันอีกครั้ง

จนถึงปัจจุบัน (23 พ.ค. 2567) อุดมถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาสมาแล้ว 268 วัน 

.

ย้อนอ่านบันทึกเยี่ยม

บันทึกเยี่ยมคดี 112 ‘ภูมิ’ ตั้งใจฝึกวิชาชีพให้ครบ แต่ขยับแขนไม่ได้ ด้าน ‘แม็กกี้’ ฝากปัญหาผู้ต้องขัง LGBTQ+ ถึงกระทรวงยุติธรรม

X