บันทึกเยี่ยม 3 ผู้ต้องขังคดี 112: “แม็กกี้”เผย แม้ปรับตัวได้ แต่ยังเครียดว่าจะอยู่ในเรือนจำได้ยังไงถึง 25 ปี

อาทิตย์สุดท้ายของเดือนมีนาคม 2 ผู้ต้องขังคดีมาตรา ‘112’ “อุดม” และ “กัลยา”  ซึ่งถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกและถูกคุมขังระหว่างฎีกาอยู่ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ป่วยจากสภาพอากาศ โดยกัลยาเองยังมีอาการป่วยจากโรคลิ่มเลือดอุดตันที่เธอเป็นมาก่อนเข้าเรือนจำ สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตอย่างมาก 

ขณะที่ “แม็กกี้” ต้องปรับตัวกับสภาพความเป็นอยู่ใหม่อีกครั้ง หลังศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 50 ปี ก่อนลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 25 ปี ไม่รอลงอาญา จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าทวีต 18 ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ด้วยจำนวนโทษที่สูงกว่า 15 ปี ทำให้แม็กกี้ถูกย้ายมาคุมขังที่เรือนจำกลางคลองเปรมตั้งแต่วันเสาร์ที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา

.

25 มี.ค. 2567 ทนายความได้เข้าเยี่ยมอุดม และสังเกตเห็นว่าอุดมมีสีหน้าสดใส แต่มีอาการเป็นหวัด อุดมเล่าว่า พักหลังนี้เป็นหวัดบ่อยขึ้น อาจมาจากการย้ายมาอยู่แดนใหม่ (แดน 5) ซึ่งสภาพอากาศไม่ค่อยดี และในแดนไม่ค่อยมีพื้นที่ออกกำลังกาย

อุดมยังเล่าให้ทนายฟังว่า ในแดน 5 มีผู้ต้องขังทั้งหมดประมาณ 700 คน อยู่กันห้องละ 60 – 70 คน แทบจะต้องนอนตะแคง เขาเห็นว่าแดนนี้มีแต่คนเข้า ไม่มีคนออก และช่วงนี้ซึ่งเป็นเดือนบวช (ถือศีลอด) มีการแยกผู้ต้องขังระหว่างไทยพุทธกับมุสลิม โดยอุดมได้อยู่ห้องร่วมกันกับผู้ป่วยจิตเวชและผู้ติดเชื้อ HIV 2 คน 

อย่างไรก็ตาม อุดมบอกว่าเขาไม่มีปัญหาอะไรและปรับตัวได้ ผู้ต้องขังด้วยกันก็ไม่มีปัญหาอะไรกับเขาเช่นกันเพราะมีคนมาตีเยี่ยมเขาอยู่บ่อย ๆ อุดมรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ดีมากที่มีทนายเข้ามาเยี่ยม ถือว่าทนายเป็นเสมือนญาติกัน 

จนถึงปัจจุบัน (30 มี.ค. 2567) อุดมถูกคุมขังระหว่างฎีกามาแล้ว 214 วัน หรือกว่า 7 เดือน

.

ภายหลังจากเยี่ยมอุดมแล้ว ในวันเดียวกันทนายยังได้เข้าเยี่ยมกัลยา กัลยาบอกกับทนายว่า ตนเองป่วยตั้งแต่วันที่ 1 มีนาแล้ว มีอาการปวดหัว ไม่สบาย ผู้คุมแนะนำว่าให้กินน้ำเยอะ ๆ จนกระทั่งวันที่ 15 เธอมีอาการไอ ตัวร้อน จึงขอกักตัวเอง รวมเวลาที่กักตัว 5 วัน ระหว่างนั้นอาสาสมัครเรือนจำจ่ายทั้งยาแก้ไอ แก้ไข้ แก้แพ้ ให้เธอกิน แต่ไม่มีหมอมาดูอาการเลย 

กัลยาเล่าอีกว่า ช่วงที่เธอไม่สบายนั้นมีเพื่อนผู้ต้องขังไม่สบายประมาณ 20 กว่าคน แยกกักตัวห้องละ 4 คน โดยห้องที่กัลยาอยู่มีเธออาการหนักที่สุด ไม่มีแรง ลุกไม่ไหว เพื่อน ๆ ต้องช่วยเช็คตัวและซักผ้าให้ 

ทนายได้ถามถึงอาการของโรคลิ่มเลือดอุดตัน กัลยาจึงเล่าให้ทนายความฟังว่า เธอถูกพาออกไปรักษาที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์มาแล้ว 3 ครั้ง มีผู้ช่วยพยาบาลมาทำอัลตราซาวด์ให้ และเจาะเลือดไปตรวจ โดยหมอบอกว่า ผลเลือดปกติ ที่สำคัญหมอแนะนำให้หยุดทานยา และให้เอาแสตนที่ต้นขา (ตัวถังเส้นเลือด/บอลลูน) ออก แต่กัลยาแจ้งว่าได้ทำการผ่าตัดเพื่อรักษาหมดไปเป็นหลักแสน และหมอที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ แนะนำให้ใส่ตลอดชีวิต

กัลยายังเล่าด้วยว่า ขณะออกไปพบหมอที่ รพ.นราธิวาสฯ ผู้คุมจะเฝ้าอยู่ด้วยตลอดเวลาแม้กระทั่งในห้องอัลตราซาวด์ ทำให้เธอรู้สึกว่าไม่มีโอกาสได้คุยซักถามหมออย่างละเอียด และไม่ทราบว่าหมอนัดอีกเมื่อไร จะทราบก็ต่อเมื่อผู้คุมแจ้งล่วงหน้า 1 สัปดาห์ก่อนไปโรงพยาบาล

กัลยาบอกว่า สิ่งที่เป็นปัญหาคือ ที่ รพ.นราธิวาสฯ ไม่มีหมอเฉพาะทาง คนส่วนใหญ่จะไปรักษาที่ รพ.มอ.หาดใหญ่ และหมอที่นี่ไม่เคยให้เธอดูผลอัลตราซาวด์ ทำให้เธอไม่รู้เลยว่าปัจจุบันนี้บอลลูนยังอยู่ที่เดิมหรือว่ามีการเคลื่อนย้าย

อาการทุกวันนี้ขาข้างขวาของเธอจะใหญ่กว่าข้างซ้าย ไม่สามารถทนหนาวได้ ยิ่งอากาศหนาว ยิ่งเจ็บมาก จะยกหรือหิ้วของหนัก ๆ ไม่ได้ นั่งสมาธินาน ๆ ไม่ได้ บางครั้งต้องนั่งบนเก้าอี้ ห้อยขาลงมาเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด เธอบอกว่าเมื่อเปรียบเทียบแล้ว รพ.ธรรมศาสตร์ฯ รักษาและดูแลคนไข้เป็นอย่างดี มีหมอเฉพาะทาง และมีการแนะนำวิธีปฏิบัติตัวอย่างละเอียด  

นอกจากเล่าเรื่องอาการป่วยแล้ว กัลยาบอกว่า ตอนนี้ได้ช่วยเจ้าหน้าที่ทำประวัติของผู้ต้องขัง ตั้งแต่ผู้ต้องขังเข้ามาใหม่ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ คนท้อง เนื่องจากกัลยาเคยทำงานด้านนี้มาก่อน โดยปกติคนที่สามารถช่วยงานเจ้าหน้าที่ได้นั้นจะต้องเป็นนักโทษเด็ดขาด แต่กัลยามีความสามารถด้านนี้จึงอาสาทำ อีกอย่างการทำงานแบบนี้ทำให้เธอมีความสุขและอยู่ในเรือนจำได้โดยไม่ต้องคิดมาก

จนถึงปัจจุบัน (30 มี.ค. 2567) กัลยาถูกคุมขังระหว่างฎีกามาแล้ว 163 วัน

.

28 มี.ค. 2567 ทนายความเดินทางไปที่เรือนจำคลองกลางเปรมเพื่อรอเข้าเยี่ยมแม็กกี้ โดยต้องใช้เวลารอกว่า 1 ชั่วโมง แม็กกี้เดินเข้ามาที่ห้องเยี่ยมในชุดเสื้อแขนสั้นสีฟ้าเข้ม กางเกงขาสั้นสีน้ำเงิน ไม่ได้สวมแมสก์ ทำให้มองเห็นใบหน้าที่ทาปากด้วยลิปติกสีแดงมาแต่ไกล แม็กกี้ยิ้มกว้างก่อนกล่าวทักทายทนาย 

“แม่ ทางเดินออกมาไกลมาก แอบน่ากลัว” แม็กกี้เปิดบทสนทนาด้วยการบอกเล่าถึงบรรยากาศที่คลองเปรม 

“ระหว่างทางเดินจะเป็นกำแพงสูง ๆ แล้วมีช่องเฉพาะทางเดินที่แคบ ๆ เวลาผู้ต้องขังออกมา ก็จะต้องเดินสวนกับคนที่เดินกลับ ที่นี่ไม่มีผู้ช่วยมาอยู่ตรงประตูเข้าเยี่ยมเหมือนที่พิเศษกรุงเทพฯ มีผู้คุมอยู่ตรงประตูทางเข้ามาไกล ๆ จุดเดียวเลย เขาก็ให้หนูเดินมาเรื่อย ๆ เลยแม่ ไม่ได้มีใครพามาหรือดูแลแนะนำเหมือนที่พิเศษกรุงเทพฯ” 

แม็กกี้บอกว่าคิดถึงเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่อยู่มาราว 5 เดือน  

“หนูคิดถึงที่โน่นนะแม่ สภาพแวดล้อมที่โน่นจะดีกว่า เป็นอาคารมีใต้ถุน นักโทษก็อยู่ตามอาคารหรือร่มเงาของอาคาร แต่ที่นี่มันโล่ง เป็นลานปูนเก่า ๆ สุดลูกหูลูกตา มีช่องปลูกต้นไม้ น่าจะเป็นต้นตะขบ กับต้นไม้ที่เหมือนต้นที่ กทม. ไปตัดตามต่างจังหวัดมาปลูกอ่ะแม่ ร่มเงามันก็ไม่ค่อยมี มีเต็นท์กางเหมือนเต็นท์ตามงานบวช ผู้ต้องขังก็จับกลุ่มกันอยู่ เอาลังกระดาษมาปูรองนั่งคุยกัน ลังกระดาษก็เอามาจากพวกลังขนม ลังน้ำที่ได้จากร้านค้าข้างในนี่แหละ” แม็กกี้เล่าถึงความแตกต่างระหว่างเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กับคลองเปรม 

แม็กกี้บอกว่า สำหรับกิจวัตรประจำวันในเรือนจำคลองเปรมไม่ต่างกับที่พิเศษกรุงเทพฯ “ช่วงเช้านอกจากสวดมนต์ เคารพธงชาติแล้วก็มีการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีของกลุ่มผู้ต้องขังด้วย”

ที่อาบน้ำที่เรือนจำกลางคลองเปรมเป็นบ่อปูนก่อแนวยาวต้องใช้ถังตักอาบ ไม่มีหลังคามุง เป็นการอาบน้ำกลางแดด กลางฝน “ที่นี่จะเปิดน้ำให้เวลาเดียว มีบางวันที่หนูลงมาอาบน้ำช้า ก็จะได้อาบน้ำที่เป็นเหมือนตะกอนมีฝุ่นมีเศษใบไม้ หนูเลยเลือกที่จะอาบน้ำข้างบน ตรงที่เขาจัดให้ฉี่ให้ขี้ เอาน้ำเป็นขวดขึ้นไปอาบ”

แม็กกี้บอกว่า สิ่งที่ตัวเองไม่ทราบเกี่ยวกับเรือนจำคลองเปรมคือ “ที่นี่ไม่อนุญาตให้ใส่กางเกงใน”

“แล้วหนูไม่รู้ ตอนย้ายมาจากพิเศษกรุงเทพฯ พอมาถึงเขาให้หนูถอด แต่วันนั้นหนูใส่ตรวนถอดไม่ได้ เจ้าหน้าที่ก็เลยตัดเลยค่ะ หนูเสียดายมาก กางเกงในตัวนั้นเพิ่งใส่ได้ 3 ครั้งเอง 

“ถ้าตรวจเจอว่าใครใส่กางเกงในจะถูกสั่งให้ถอดตรงนั้นเลย แล้วถือขึ้นห้อง การเปลี่ยนเสื้อผ้าตอนเข้าครั้งแรก ที่พิเศษกรุงเทพฯ จะมีม่านรูดกันเป็นสัดส่วนให้ แต่ที่นี่เขาให้หนูไปเปลี่ยนชุดในสวน ประมาณโครงการโคกหนองนาอ่ะแม่ เขาบอก “เข้าไป ๆ” หนูก็แบบ เออ ก็ร่มรื่นอ่ะแม่” แม็กกี้หัวเราะร่วนเมื่อพูดถึงตรงนี้ 

สำหรับสภาพอากาศ แม็กกี้บอกว่า ที่นี่แดดร้อนมาก พร้อมถลกกางเกงถึงต้นขาให้ดูว่าผิวเธอมีรอยคล้ำจากแดดเผา “คือแต่ก่อนหนูตัวขาวนะ แต่พอมาที่นี่โดนไอแดดเผา แล้วที่นี่ไม่ให้ใช้ครีมโลชั่นกันแดด ก็ดำไปสิคะ” แม็กกี้พูดพร้อมทำหน้าเซ็ง ๆ

“แต่เรื่องแต่งหน้าค่อนข้างเสรีกว่าที่โน่น หนูก็เอาเครื่องแต่งหน้ามาจากที่โน่น ตอนตรวจของเขาก็ยึดแหนบไป แต่ไม่ได้ยึดเครื่องแต่งหน้า และที่แดน 1 นี่ก็ไว้ผมยาวได้ถึงบ่าเลยนะแม่ หนูเห็นกะเทยไว้ผมยาวแล้ว” แม็กกี้มีน้ำเสียงตื่นเต้น

“ร้านค้าที่นี่ก็ดีกว่า อาหารและน้ำมีให้เลือกเยอะกว่า ได้เยอะด้วย แต่ที่นี่ดูเงียบเหงา คนไม่พลุ่กพล่าน ดูร้าง ๆ กันดาร มองไปไหนก็ไม่ค่อยเห็นใคร ทั้งที่คนที่คลองเปรมมีเยอะกว่าที่พิเศษกรุงเทพฯ แต่ก็เหมือนแบบเราไม่ค่อยได้เจอใคร”

.

แม็กกี้ย้อนเล่าถึงตอนย้ายมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่า เธอถูกกักตัวประมาณ 4 วัน จากนั้นก็ย้ายเข้าแดน 6 ซึ่งเป็นแดนระหว่างจำแนก ต้องอยู่ที่นี่อีกประมาณอีก 1 เดือน จึงจะจำแนกไปแดนอื่น “หนูน่าจะได้ไปอยู่แดน 1 เป็นแดน LGBTQ คนที่นี่บอกว่าแดน 1 คือแดนศิวิไลซ์ของคลองเปรม

“ห้องที่นี่มีเยอะมาก หนูนอนห้องเลขที่ 51 มีคนประมาณ 11-12 คน เวลาขึ้นห้องนอนก็จับกลุ่มอยู่ใครอยู่มัน ที่นี่ไม่ห้ามเรื่องดูทีวี จะดูอะไรก็ได้ ดูข่าวดูซีรี่ย์ได้หมด  แต่ส่วนใหญ่ผู้ชายก็จะชอบดูมวย กะเทยก็งงไปเลยค่ะ” แม็กกี้หัวเราะสนุกสนานเมื่อพูดถึงบรรยากาศข้างใน

“อยู่ที่นี่กระเทยเป็นสิ่งมีค่านะแม่ ตั้งแต่หนูเข้ามามีแต่ผู้ชายเข้ามาหาหนู แต่หนูก็ยังรักแฟนหนูอยู่” เมื่อพูดถึงตรงนี้แม็กกี้แววตาเป็นประกาย 

“แม่รู้มั้ยวันที่หนูออกมา แฟนก็เดินออกมาส่งหนู ก็พากันหิ้วกระเป๋าคนละข้าง คือบรรยากาศแบบเศร้ามาก หนูก็น้ำตาคลอ แฟนหนูเขาเอารูปมาให้หนูด้วย น่าจะเป็นรูปที่เขาบอกให้ญาติส่งโดมิเมล์มาหา แล้วเขาก็เอามาตัดใส่พลาสติกแข็ง ๆ ข้างหลังเขียนว่า ‘รักและเป็นห่วง ดูแลตัวเองนะ’ “ 

เมื่อพูดถึงแฟน แม็กกี้จึงเล่าให้ทนายฟังว่าที่นี่มีคนแต่งงานกัน “มีการแต่งงานกันเลยนะแม่ แบบมีค่าสินสอดให้เลย พวกนักโทษที่โทษจำคุกตลอดชีวิต หรือโทษเยอะ ๆ บางคนได้สินสอดเป็นหมื่น บางคนได้เป็นแสน เขาก็ให้ญาติข้างนอกโอนเงินเข้ามา แล้วก็มีการจัดงาน ให้เจ้าหน้าที่ไปเป็นพยาน มีการเลี้ยงแขกด้วยนะแม่” 

.

แม็กกี้เล่าย้อนไปถึงความเครียดวันที่เธอต้องย้ายเรือนจำด้วยว่า

“ตอนแรกหนูกังวลมาก ยิ่งวันย้ายยิ่งเครียด ยิ่งกลัว ไม่รู้ว่าจะเจออะไรบ้าง มาวันแรกหนูเลยขอยาคลายเครียดจากเจ้าหน้าที่ เขาก็ให้กินช่วง 4 วันแรก ก่อนเข้าแดน แต่พอเข้ามาเริ่มรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ความเครียดก็ทุเลาลง มีเจ้าหน้าที่เข้ามาพูดคุยเพื่อประเมินว่าหนูจะเป็นซึมเศร้ามั้ยด้วย แต่ผลออกมาหนูยังไม่ถึงขนาดเป็นซึมเศร้า แต่เดี๋ยวจะมีนักจิตวิทยาเข้ามาคุยอีกรอบ”

แม็กกี้บอกว่า ความเครียดที่ว่า ย้ายเรือนจำแล้วจะอยู่ยังไง จะเป็นยังไง ทุเลาลงแล้ว แต่ที่เครียดคือจะอยู่ยังไงใน 25 ปี  

“พอได้คุยกับคนอื่น ๆ บางคนโทษ 40 ปี 50 ปี มันก็ทำให้เรามีกำลังใจว่า มีคนโดนเหมือนเรา หรือมากกว่าเรา มันก็ทำให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยว”

“อยู่ที่นี่หนูรู้สึกว่าก็ไม่ได้ลำบากอะไร กินอิ่ม นอนหลับ ตอนนี้ไม่ได้กินยาอะไรแล้ว มันเหมือนเราเคยอยู่พิเศษกรุงเทพฯ มาก่อน 5 เดือน ก็ค่อนข้างปรับตัวได้ระดับหนึ่ง ปรับตัวได้ง่ายได้เร็วขึ้น เพื่อนร่วมห้อง ร่วมแดนก็ยังไม่มีใครมายุ่งอะไร ผู้คุมก็ดูใจดี มีแต่คนหนุ่ม ๆ ไม่ใช่แก่ ๆ ดูบ้าอำนาจอะไรแบบนี้อ่ะแม่ จิตใจก็เข้มแข็งอยู่”

“ข้างในมีร้อนบ้าง แต่พอช่วงเย็นถึงค่ำก็จะมีลมพัดเข้ามา เพราะห้องนอนจะเป็นห้องสูง ๆ มีหน้าต่าง 2 ช่อง ประตู 2 ช่อง ช่องลมติดซี่กรงอยู่สูง ๆ 2 ช่อง อากาศก็เลยถ่ายเท บรรยากาศแม้จะเหงา ๆ วังเวง แต่ถ้ามองออกไปข้างนอกจะเห็นตึกสีม่วง น่าจะเป็นตึกการไฟฟ้า PEA ทำให้หนูรู้สึกโล่ง เหมือนกับเราได้เชื่อมโยงกับโลกภายนอก แม้จะไม่เห็นคนแต่ก็รู้สึกดี บางทีก็คิดว่า คนที่ตึกนั้นก็คงมองมาที่พวกเราบ้างแหละ” พูดถึงตรงนี้แม็กกี้ยิ้ม แววตาเป็นประกาย

นอกจากนี้แม็กกี้บอกว่าเมื่อวานได้ฟังพระที่เข้ามาเทศน์ในเรือนจำและได้ทำบุญได้ใส่บาตร ทำให้รู้สึกดีและอิ่มเอิบ

ทนายสังเกตว่า ตลอดการพูดคุยแม็กกี้มีอาการไอ เธอบอกว่า น่าจะเป็นเพราะฝุ่น ไม่ได้เป็นหวัดเป็นไข้อะไร  เวลานอนก็ไม่ได้ไอ 

แม็กกี้ยังพูดถึงระบบการแจ้งรายชื่อคนที่จะสามารถเข้าเยี่ยมได้ โดยบอกว่าถ้ายังไม่ได้แจ้งตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้ามา จะต้องรออีก 6 เดือน จึงจะแจ้งรายชื่อได้ ซึ่งแม็กกี้ดูสีหน้ามีความกังวลในเรื่องนี้ เธอย้ำว่าตอนนี้ไม่มีเงินติดตัว 

แม็กกี้ทิ้งท้ายก่อนจากกับทนายว่า ฝากให้กำลังใจขนุน และฝากบอกพี่น้ำ (วารุณี) ว่า 

“หนูอยู่คลองเปรมแล้ว อยู่แดน 6 กำลังจะเป็นดาว ให้กำลังใจ ขอให้พี่น้ำได้กลับบ้านเร็ว ๆ กลับบ้านแล้วมาเยี่ยมหนูด้วยนะ”

จนถึงปัจจุบัน (30 มี.ค. 2567) แม็กกี้ถูกคุมขังมาแล้ว 161 วัน ตั้งแต่ถูกจับกุม โดยศาลยังไม่เคยอนุญาตให้ประกันเลย

X