1 ปีที่ต้องอยู่ในเรือนจำ
1 ปีที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว
1 ปีที่หมดสิ้นอิสรภาพและอาจต้องถูกจองจำไปจนครบ 18 ปี
‘วุฒิ’ อดีตพนักงานรักษาความปลอดภัย วัย 48 ปี และผู้ต้องขังในคดี ม.112 ผู้ที่สาธารณชนไม่เคยเห็นใบหน้าจริงของเขามาก่อน จากประชาชนคนธรรมดา ทำงานหาเช้ากินค่ำ ใช้ชีวิตคู่กับคนรัก คอยช่วยเหลือดูแลกันและกัน ชีวิตเรียบง่ายอย่างปุถุชนทั่วไป วันนี้วุฒิกลายเป็นผู้ต้องขังคดี ม.112 ที่ถูกขัง ‘ระหว่างสู้คดี’ นานที่สุดในระลอกนี้ (2566 – 2567)
ย้อนกลับไปใน ‘วันนี้’ เมื่อปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2566 พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีของวุฒิต่อศาลอาญามีนบุรี จากการถูกกล่าวหาว่าโพสต์เฟซบุ๊ก 12 ข้อความ ในวันเดียวกันนั้นศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัววุฒิ แม้ว่าเขาจะลางานเพื่อเดินทางไปตามนัดหมายคดีความทุกนัด โดยศาลอ้างว่าการกระทำที่ถูกฟ้องนั้นเป็นการกระทำหลายครั้งต่อเนื่องกัน โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย คดีมีอัตราโทษสูง หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเกรงว่า ‘จำเลยจะหลบหนี’ ทำให้วุฒิต้องถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษมีนบุรีมาตั้งแต่วันนั้น
ระหว่างนั้นทนายความยื่นประกันตัวและอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัววุฒิไปหลายครั้ง ทว่าศาลยังคงยืนไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว แม้ว่าในช่วง 10 เดือนแรกนั้น ศาลจะยังไม่มีคำพิพากษาว่าวุฒิมีความผิดจริงตามที่ถูกฟ้องด้วยซ้ำไป
ในช่วงแรกวุฒิเป็นผู้ต้องขังคดีการเมืองเพียง ‘คนเดียว’ ที่ถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษมีนบุรี นั่นเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาถูกกลั่นแกล้งและคุกคามจากผู้ต้องขังร่วมเรือนจำ วุฒิถูกทำร้ายร่างกาย ถูกเรียกค่าคุ้มครองความปลอดภัยในรูปแบบของอาหารสำเร็จรูปและของใช้ เดือดร้อนไปถึง ‘พี่แวว’ ซึ่งเป็นคนรักต้องหยิบยืมเงินมาซื้อของใช้และฝากเงินเข้าไปให้ครั้งละ ‘หลายพันบาท’ เพียงเพื่อต้องการให้สามีปลอดภัย แม้ว่าพี่แววเองก็จะกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากในเรื่องการเงินอยู่ก็ตาม
พี่แววทำงานเป็นแม่บ้านอยู่โรงงานเดียวกันกับที่พี่วุฒิเคยเป็น รปภ. ก่อนหน้านี้ หลังสามีถูกคุมขังโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว รายได้ของครอบครัวหายไปเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินยังมีอยู่เท่าเดิม พี่แววรักพี่วุฒิสุดหัวใจ อยากอยู่รอ ณ ห้องเช่าที่เดิมที่กรุงเทพฯ แต่สุดท้ายเมื่อนานวันเข้า พี่แววไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องจำใจกลับไปอยู่บ้านของตัวเองที่ต่างจังหวัด เพราะทนแบกรับค่าเช่าห้อง ค่าใช้จ่ายในกรุงเทพฯ และหนี้สินอีกหลายอย่างไม่ไหวอีก
การตัดสินใจกลับบ้านเกิดของพี่แววครั้งนี้ไม่มีใครบรรยายความเจ็บปวดได้มากเท่ากับตัวของเธอเอง ระยะทางห่างไกลจากเรือนจำมากขึ้น โอกาสได้เจอกันตัวเป็น ๆ น้อยลง ห้องเช่าที่เก่าที่เคยอยู่คู่เคียงกันในบรรยากาศเดิมไม่มีอีกแล้ว
ส่วนวุฒิเอง หลังถูกขังมานานเกือบปี ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ศาลมีคำพิพากษาแล้ว โดยพิพากษาจำคุกรวม 36 ปี แต่ลดเหลือ 18 ปี เพราะให้การรับสารภาพ จากนั้นวุฒิถูกย้ายไปอยู่เรือนจำกลางคลองเปรม สถานที่คุมขังซึ่งมีไว้สำหรับผู้ต้องโทษจำคุกมากกว่า 15 ปีขึ้นไป
จนถึงตอนนี้คดีของวุฒิยังคงไม่สิ้นสุด โดยยังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำพิพากษา คดีของวุฒิจึงยังนับว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งยังหวังมีสิทธิได้รับการประกันตัวจากศาล
นอกจากวุฒิแล้ว ในเรือนจำตอนนี้ยังมีผู้ต้องขังการเมืองระหว่างสู้คดีอีกอย่างน้อย 27 คน เป็นผู้ต้องขังในคดี ม.112 จำนวน 17 คน ยังมีประชาชน ‘คนธรรมดา’ เช่นเดียวกับวุฒิอีกหลายคนถูกคุมขังอยู่เรือนจำ โดยที่พวกเขาไม่ได้มีสถานะเป็นแกนนำ นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และไม่ได้มีอำนาจต่อรองหรือกำหนดวาระต่อสังคม
มีทั้งผู้ที่ก่อนหน้านี้ประกอบอาชีพพนักงานรับจ้างรายวันในห้างสรรพสินค้า (แม็กกี้), พนักงานข้าราชการท้องถิ่น (กัลยา), พนักงานโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ (อุดม), ช่างตัดผม (ทีปกร), นักวาดการ์ตูน (จิรวัฒน์), นักศึกษา (อุกฤษฏ์) และศิลปิน (อัฐสิษฎ) พวกเขาต่างมีครอบครัวและคนรักของตัวเอง อีกบทบาทหนึ่งของพวกเขาบางคนเป็นพ่อ เป็นพี่สาว เป็นลูก เป็นสามี ทุกคนจึงต่างมีภาระและความรับผิดชอบ แต่วันนี้พวกเขาทุกคนไม่สามารถทำหน้าที่และบทบาทของตัวเองได้อย่างที่เคยเป็นมา เพราะยังไม่ได้รับ ‘สิทธิประกันตัว’ อย่างที่ควรจะได้รับ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
อย่าลืม “วุฒิ”: ถูกขังคดี ม.112 ทั้งที่ศาล ‘ยังไม่พิพากษา’ ว่าผิดจริงนานกว่าครึ่งปีแล้ว