ถึงพี่วุฒิ : รักแท้ น้ำตา และเวลาที่เสียให้มาตรา 112 

“ตู้ด..ตู้ด..ตู้ด..ตู้ดๆๆๆๆ”

น่าจะโดนตัดสาย ดูท่าปลายทางจะไม่ว่าง 

วันต่อมา ช่วงเย็นเราลองโทรอีกครั้ง แต่ปลายสายก็ไม่ตอบรับสักทีเช่นกัน

5 โมงเย็น – “ตู้ด..ตู้ด..ตู้ด..ตู้ดๆๆๆๆ”

6 โมงเย็น – “ตู้ด..ตู้ด..ตู้ด..ตู้ดๆๆๆๆ”

เป็นอย่างนี้อยู่หลายวัน จนเมื่อวาน (5 ก.ค. 2566) หลังเวลา 1 ทุ่ม เราลองโทรหาแกอีกหลายสาย จนในที่สุดเราก็ได้ยินเสียง “พี่แวว” (นามสมมติ) คนรักของ “พี่วุฒิ” พูดทักทายที่ปลายสาย 


1

“สวัสดีค่ะ พี่กำลังเลิกงาน กำลังตอกบัตรกลับบ้านเลยค่ะ…”

ไม่ใช่ว่าแกไม่รับเบอร์แปลกหรืออะไร แต่เพราะพี่แววต้องทำงานตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ ระหว่างนั้นจะปิดมือถือไว้ จนกว่าจะกลับถึงบ้าน โดยเฉพาะ 2-3 เดือนที่ผ่านมาที่พี่วุฒิไม่อยู่ เพราะถูกขังในคดี ม.112 อยู่ที่เรือนจำพิเศษมีนบุรี ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. 2566 หลังถูกสั่งฟ้องคดี แม้ศาลจะยังไม่มีคำพิพากษาและเขายืนยันต่อสู้คดี  แต่จนถึงปัจจุบันศาลก็ยังไม่ให้ประกันตัว สถานการณ์ความลำบากนี้ทำให้พี่แววอิดโรยกว่าเดิม บางทีกลับมาถึงบ้านแล้วยังไม่ทันเปิดมือถือด้วยซ้ำ ก็ผล็อยหลับไปก่อนจากความอ่อนล้า

ถึงจะทำงานหนักแทบทุกวัน แต่เงินค่าแรงรายวัน วันละ 300 กว่าบาทก็ไม่พอใช้จ่ายอยู่ดี ทั้งหนี้กู้บ้าน หนี้รถมอเตอร์ไซค์ ค่าเทอมลูก ฯลฯ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ทั้งสองคนคิดฝันเริ่มสร้างชีวิตด้วยกัน และจากเดิมที่มีรายได้จาก 2 ทางช่วยกัน ตอนนี้เหลือแค่พี่แววตัวคนเดียวแล้ว แต่ภาระยังคงมีอยู่เท่าเดิม 

ค่าผ่อนจ่ายเงินกู้บ้าน เดือนละ 10,000 บาท

ค่าผ่อนรถมอเตอร์ไซค์ เดือนละ 2,000 บาท

ค่าเช่าห้อง เดือนละ 2,355 บาท

ค่าใช้จ่ายลูกชาย ส่งให้พ่อแม่ ฯลฯ

ตอนที่พี่วุฒิยังอยู่ด้วย ทั้งสองคนช่วยกันทำงาน ตั้งใจเก็บเงินไว้ใช้จ่ายอย่างขยันขันแข็ง รายได้จากการทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ของวุฒิ เดือนละเกือบ 30,000 บาท เป็นแหล่งรายได้หลักของครอบครัวก็ว่าได้ 

แต่เมื่อวุฒิถูกคุมขัง พี่แววกลายเป็นผู้ที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินทั้งหมดเพียงคนเดียว ลำพังรายได้ของพี่แววเฉลี่ยเดือนละ ‘หมื่นกว่าบาท’ ทำอะไรได้ไม่มาก แค่ผ่อนจ่ายหนี้บ้านก็ยังแทบไม่พอด้วยซ้ำไป วันนี้พี่แววเองก็เพิ่งไปธนาคารมา ไปทำเรื่องขอลดหย่อนหนี้ เพราะผู้กู้ร่วมอย่างพี่วุฒิไม่มีรายได้ตลอดการถูกขังในช่วงนี้ ซึ่งธนาคารก็ได้รับเรื่องไว้

ตอนนี้มองไปทางไหนสำหรับพี่แววก็ดูเหมือนจะมืดแปดด้านไปหมด ยิ่งช่วงนี้ลูกชาย วัย 18 ปี ของพี่แววกำลังเริ่มเข้าเรียนมหาลัยพอดิบพอดี ทั้งค่าเช่าหอพัก ค่าเทอม ค่าใช้จ่ายจิปาถะ เป็นเงินก้อนอย่างน้อย 30,000 บาทที่ต้องควักจ่ายก็ประเดประดังเข้ามาพร้อมกันหมด

“ถ้าพี่วุฒิยังอยู่เขาช่วยไปแล้ว เขาช่วยได้มากเลย เราคงไม่ต้องลำบากกันแบบนี้ แกช่วย แกช่วยได้มากเลย” พี่แววบอก


2

แม้ทั้งสองคนจะพบรักกันมาเพียงปีเศษ แต่ทั้งพี่วุฒิและพี่แววรักกันอย่างซาบซึ้ง คอยช่วยเหลือกันและกันในทุกเรื่อง อยู่เป็นกำลังใจสำคัญของอีกคน พี่แววเล่าถึงพี่วุฒิว่า เป็นคนนิสัยห้าวๆ หน่อย แต่แกมีความรับผิดชอบในการงานดีมาก รับปากอะไรก็ทำได้อย่างที่พูด เป็นคนที่ร่าเริง อยู่ด้วยแล้วสบายใจ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ชายที่อบอุ่นมากๆ

พี่วุฒิเป็นคนอยู่ง่ายกินง่าย ติดดิน แล้วก็ประหยัด แกไม่ชอบกินอาหารจำพวกแกงหรือเนื้อสัตว์เท่าไหร่ ชอบกินแต่น้ำพริกกับผักลวก โดยเฉพาะเมนูน้ำพริกปลาทูกับน้ำพริกปลาร้า จะวานให้พี่แววทำให้ทานเป็นประจำ 

จริงๆ แล้วพี่วุฒิมีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.เพชรบูรณ์ ส่วนพี่แววพื้นเพเป็นคน จ.อุดรธานี ทั้งสองคนรู้จักกันผ่านเฟซบุ๊ก หลังพูดคุยกันถูกคอก็มีโอกาสได้มาเจอกันที่กรุงเทพฯ และตกลงรักกัน สัญญากันว่าจะช่วยกันทำงานหาเงิน สร้างครอบครัวใหม่ในวัยที่ต่างคนก็อายุ 50 ปีแล้ว 

ก่อนตกลงคบหากันอยู่กินฉันสามีภรรยา พี่วุฒิบอกพี่แววตั้งแต่ต้นแล้วว่าตัวเองโดนคดี ม.112 อยู่ ซึ่งพี่แววก็ไม่รู้จักหรอกว่าข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” นี้เกี่ยวกับอะไร คิดแค่ว่าคงไม่ได้มีความร้ายแรงอะไรมากมาย ก่อนจะตอบกลับพี่วุฒิไปอย่างใจเย็นว่า “อะไรที่ยังไม่เกิดก็ช่างมัน ขอแค่ให้เราอยู่ด้วยกัน ทำงานหาเงิน ดูแลกันแบบนี้ไปก็พอนะพี่”

“แกเป็นคนธรรมดาเลยค่ะ แต่บอกว่าเคยไปม็อบมา นานแล้ว แกเห็นคนที่ลำบาก คนที่โดนคดี โดนตำรวจจับ แกก็สงสาร พี่วุฒิอยากเห็นความเป็นธรรม แกพูดประมาณนี้แหละ”

“เราก็บอกว่า ‘เป็นยังไงก็เรื่องของเขา เราเป็นแค่คนธรรมดา เราทำอะไรไม่ได้หรอก’, แกก็ตอบว่า ‘เราเป็นคนไทยด้วยกัน มันก็อดไม่ได้แหละ อดที่จะคิดไม่ได้ อยากเห็นบ้านเมืองมีความยุติธรรมอะไรแบบนี้’… ”


3

ตั้งแต่คบหากันมา ทุกครั้งที่พี่วุฒิมีนัดหมายเกี่ยวกับคดีจะต้องเดินทางไปศาลหรือสถานีตำรวจ พี่แววจะคอยเดินทางไปเป็นเพื่อนด้วยทุกครั้ง เช่นเดียวกับเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2566 วันที่อัยการนัดยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญามีนบุรี ซึ่งทำให้วุฒิต้องเดินเข้าเรือนจำเป็นครั้งแรกในชีวิต 

ย้อนกลับไปในวันก่อนหน้านั้น ทั้งสองได้รับสายจากทนายความบอกให้พี่วุฒิ พี่แววเตรียมตัวและ ‘เตรียมใจ’ เพราะอะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอในคดีลักษณะนี้ 

“แกก็เตรียมใจไว้ 50/50 แต่ก็ยังทำใจไม่ได้เหมือนกัน” 

“วันนั้นพอไปถึงศาลปุ๊บเขาก็จับเราแยกกันเลย เจ้าหน้าที่พาพี่วุฒิไปขังไว้ใต้ถุนศาล ส่วนเราก็นั่งรออยู่ข้างบน พออยู่ถึง 5 โมงเย็น เราก็รู้ว่าศาลไม่ให้ประกันตัวพี่วุฒิ ขนาดแกโดนขัง แกก็ยังบอกทนายให้มาส่งเรากลับบ้าน เพราะว่าเป็นห่วงเรามาก”

“พอรู้ว่าศาลไม่ให้ประกัน พี่ร้องเลย …” พี่แววตอบด้วยน้ำเสียงสั่นเครือและเริ่มร้องไห้ออกมา 

“เราไม่คิดว่ามันจะร้ายแรงขนาดนี้ เราพยายามเดินลงไปข้างล่าง (ใต้ถุนศาล) เพราะอยากเห็นหน้าพี่เขา แต่ก็ไม่เห็นหน้ากันเลยค่ะ … ” 


4

ตั้งแต่วันที่อัยการยื่นฟ้องวุฒิในคดี ม.112 จากการถูกกล่าวหาว่า โพสต์เฟซบุ๊กที่เป็นการหมิ่นฯ จำนวน 12 โพสต์ และศาลไม่ให้ประกันตัว วุฒิต้องถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำตลอดมา ซึ่งพี่แววมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมมาแล้ว 5-6 ครั้ง แต่แม้จะคิดถึงมากเท่าไหร่ก็ไปเยี่ยมบ่อยกว่านี้ไม่ได้ เพราะยังต้องทำงานหาเงิน วันที่หยุดทำงานไปเยี่ยมพี่วุฒิ เท่ากับว่ารายได้จะหายไป 1 วัน

 

“ช่วงนี้หยุดทำงานไม่ได้เลยน้อง เพราะว่ารายจ่ายมันเยอะ ไหนจะต้องส่งให้ลูกชาย ส่งให้ทางบ้านด้วย แต่ก่อนพี่วุฒิอยู่จะได้ส่งให้พ่อแม่ใช้เดือนละสองพัน แต่ตอนนี้เดือนละพันยังไม่พอส่งให้เลย …”

พี่แววทำงานรับจ้าง ‘รายวัน’ เป็นแม่บ้านอยู่ที่โรงงานแห่งเดียวกันกับที่วุฒิทำงานอยู่ ถ้าต้องไปเยี่ยมบ่อยๆ เดือนนั้นก็จะมีเงินไม่พอใช้ ไม่พอจ่ายหนี้ แกเลยบอกพี่วุฒิว่า ‘ถ้ามีตังค์ถึงจะค่อยได้ไปเยี่ยมนะพี่’

การเดินทางไปหากันแต่ละครั้งก็แสนจะลำบาก จากห้องเช่าที่โรงงานย่าน จ.ปทุมธานี พี่แววต้องโดยสารรถหลายต่อกว่าจะถึงจุดหมาย ‘เรือนจำพิเศษมีนบุรี’ ที่พี่วุฒิถูกคุมขังอยู่ โดยเริ่มแรกต้องนั่งรถตู้จากย่านนวนครไปรังสิต – ต่อรถตู้อีกหนจากรังสิตไปมีนบุรี – และนั่งรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปถึงเรือนจำ ทั้งขาไปและกลับต้องเสียค่าเดินทางเกือบ 200 บาท คิดเป็นเงิน 2 ใน 3 ส่วนของรายได้ 1 วันแล้ว 

“ถ้าไปเยี่ยมแก ก็ต้องฝากเงินเข้าให้แกด้วยครั้งละพันแล้ว อย่างล่าสุดไปเยี่ยมแกมา เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พี่ก็ฝากเงินให้พันหนึ่ง”

การเข้าเยี่ยมครั้งหนึ่งพี่แววต้องควักเงินในกระเป๋าของตัวเอง อย่างน้อย 1,200 บาท ยิ่งครั้งไหนพี่วุฒิไหว้วานให้ซื้อของเข้าไปเป็น ‘ค่าคุ้มครอง’ พี่แววก็ต้องหาหยิบยืมเงินอีกหลายบาทอย่างร้อนรนใจ อย่างครั้งล่าสุดพี่วุฒิขอให้ซื้อ ‘กาแฟซองกึ่งสำเร็จรูป’ เข้าไปเป็นค่าคุ้มครอง พี่แววต้องจำใจซื้อฝากเข้าไปในราคาที่แพงหูฉี่กว่า 3,600 บาท


5

3 เดือนกว่าแล้วที่พี่วุฒิถูกขังอยู่ในเรือนจำ

“คิดถึงค่ะ …” พี่แววตอบด้วยเสียงสั่นเครือและเริ่มร้องไห้อีกครั้ง จากนั้นก็บิดหน้าหนีไปร้องไห้ครู่หนึ่ง 

“เวลาไปเยี่ยมแก พี่ก็จะบอกแกตลอดว่า ‘รักพี่ รอพี่อยู่นะ’ … พอไม่มีพี่วุฒิอยู่แล้วชีวิตพี่ลำบากมากค่ะ ครอบครัวพี่ก็ไม่รู้ด้วย ไม่กล้าบอกใครเลยกระทั่งลูกตัวเอง พี่กลัวถ้าบอกแล้วพ่อกับแม่จะให้กลับบ้าน”

“พี่กลัวจะไม่ได้เห็นหน้าแกอีก …” เธอตอบพลางร้องไห้สะอื้นไป บางทีก็ยกมือขึ้นปาดน้ำตาเป็นระยะๆ 

“พี่อยากอยู่รอพี่วุฒิที่นี่จนสุดความสามารถเท่าที่คนคนหนึ่งจะทำได้ พยายามจนสุดๆ จนอยู่ไม่ได้นั่นแหละ  ถ้ามันไม่ไหวแล้วจริงๆ พี่ก็คงต้องจำใจกลับบ้านที่อุดรฯ” 

“ทุกครั้งที่ไปหาแก พี่วุฒิก็จะพูดแต่ว่าเป็นห่วงเรื่องหนี้สิน แกบอกว่า ‘รอก่อนนะ เดี๋ยวออกไปแล้วจะไปช่วยหาเงิน’ แกบอกแบบนี้”

“ล่าสุดแกก็ยิ้มให้เห็นอยู่ พี่ก็สบายใจขึ้นมาหน่อย เมื่อก่อนแกจะเครียด ไม่ค่อยพูดค่อยจาอะไรเลย แต่ตอนนี้เหมือนกับใจแกมีความหวังขึ้นมาอีกทีว่าจะได้ประกันตัว แกบอกว่าอีกไม่นานน่าจะได้ประกันตัวแล้วนะน้อง” 

“พี่ก็บอกแกว่า ‘ตั้งแต่พี่วุฒิโดนขัง นี่เราก็เป็นหนี้เพิ่มอีกเป็นหมื่นแล้วนะ’ … แต่แกก็พูดย้ำกับพี่ตลอดว่า ‘ให้ทำงานอยู่ที่นี่นะ อย่าไปไหนนะ ให้รอแก ถ้าพี่ออกไปได้ จะไปหาเงินช่วยเหมือนเดิมนั่นแหละ’…” 

“ตอนไปเจอหน้าแกที่เรือนจำพี่ก็ร้องไห้ครั้งหนึ่ง แต่ก็ไม่อยากแกเห็นน้ำตา กลัวแกจะห่วง (ร้องไห้) แกไม่เคยร้องไห้ต่อหน้าพี่เลยสักครั้ง ยกเว้นตอนที่แกถูกขังอยู่แล้วโดนคนในห้องขังทำร้าย ตอนนั้นแกเจ็บจนลุกยืนไม่ได้เป็นอาทิตย์เลย ถึงตรงนี้พี่แววร้องไห้โฮหนักขึ้นอีก”

“ครั้งนั้นแหละที่พี่ต้องซื้อกาแฟเข้าไปให้แกเป็นค่าคุ้มครอง แค่ค่ากาแฟซองอย่างเดียว 3,600 เขาเรียก ‘30 ซอย’ มั้งนะ ถ้าไม่ซื้อเขาก็จะทำอีกไง ก็เลยต้องซื้อให้”

“พี่ก็บอกว่าพี่ไม่ตังค์, แกก็บอกว่าหายืมจากที่ไหนมาก่อนได้ไหม พี่ก็เลยวุ่นโทรหายืมให้แก เพราะถ้าไม่ได้วันนั้นเลยเขาก็จะทำแกอีก พี่ก็เป็นห่วงแกมาก เลยต้องไปหาหยิบยืมมาให้”

“ของอย่างอื่นพี่วุฒิก็ไม่ได้ต้องการอะไร เพราะรู้ว่าพี่ภาระเยอะ แกก็ว่า ‘ไม่เป็นไร กินของในนั้นก็ได้’ ครั้งล่าสุดแกก็บอกว่า นานๆ มาเยี่ยมทีก็ได้ ขอแค่ได้เห็นหน้าเมียก็ดีใจแล้ว” พี่แววพูดเสร็จก็เบือนหน้าหนีไปร้องไห้และเงียบไปสักพัก


6

“เวลาทำงานมันก็ดี อยู่กับเพื่อน ก็อยู่ได้”

“แต่พอกลับห้อง …” เธอพูดเสร็จก็ร้องไห้สะอื้น

“พอกลับห้องก็เศร้า อดคิดถึงแกไม่ได้ ทีแรกพี่กลัวอยู่ไม่ได้ แต่พี่ก็ทำใจให้อยู่ให้ได้” 

“ช่วงแรกนอนไม่หลับเลยค่ะ ไปทำงานก็ไม่ได้ แต่สุดท้ายมันก็ต้องไปทำ ช่วงหลังๆ ก็พออยู่ได้ ชีวิตเรายังมีภาระ ต้องก้มหน้าก้มตาหาเงินต่อไป ดีกว่าอยู่ห้อง” 

“อยากขอให้ศาลเห็นใจเขาค่ะ ให้เขาได้ประกันตัวออกมา ให้แกได้ทำใจหน่อย จะผิดจะถูกยังไงก็เมตตาให้ประกันตัวออกมาสักครั้งก็ยังดี คนไม่เคยทำความผิดมาถูกขังแบบนี้ เขาก็ทำใจลำบากเหมือนกันค่ะ เขาอยู่ในนั้นเขาทำอะไรไม่ได้เลย”

จนถึงตอนนี้วุฒิถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาเป็นเกิน 100 วันแล้ว ทั้งที่ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษา เท่าที่ทราบข้อมูล ขณะนี้วุฒิเป็นผู้ต้องขังในคดีการเมืองเพียง ‘คนเดียว’ ที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษมีนบุรี

นอกจากวุฒิแล้ว ขณะนี้ (6 ก.ค. 2566) มีผู้ต้องขังการเมืองระหว่างต่อสู้คดีอีก อย่างน้อย 7 คน เป็นคดีที่มีข้อหาหลักเป็นมาตรา 112 อย่างน้อย 4 คน ได้แก่ วุฒิ, เวหา, ทีปกร และวารุณี  

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ศาลอาญามีนบุรีไม่ให้ประกันตัว “วุฒิ” อดีตช่างเชื่อม หลังถูกฟ้องคดี ม.112 โพสต์เฟซบุ๊ก 12 ข้อความ

รายชื่อผู้ต้องขังทางการเมือง 2566

X