16 ม.ค. 2567 ศาลจังหวัดพัทยานัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีของ “สนธยา” (สงวนนามสกุล) ประชาชนผู้มีความหลากหลายทางเพศวัย 28 ปี ซึ่งถูกกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการทวีตภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ที่ถูกพ่นสีสเปรย์เป็นข้อความ “กษัตริย์[…]” บริเวณใต้ภาพ พร้อมข้อความประกอบว่า “พัทยากลางค่ะ” เมื่อปี 2563
หลังจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรฐานใด แต่โจทก์ได้อุทธรณ์คดี และในวันนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ เนื่องจากเห็นว่าการโพสต์ดังกล่าวเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ถึงแม้ว่าโจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเป็นความผิดในมาตราใดตามประมวลกฎหมายอาญา
ส่วนประชาชนอีกคนที่ถูกฟ้องในทำนองเดียวกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นจากยกฟ้องเป็นมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พิพากษาจำคุก 1 ปี ปรับ 10,000 บาท แต่ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี
.
ย้อนทบทวนคดี: ตั้งแต่ถูกจับกุมจนกระทั่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าโจทก์ไม่บรรยายว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องอย่างไร
คดีนี้ มี พ.ต.ต.สุชาติ มานะการ เป็นผู้กล่าวหา โดยสนธยาถูกตำรวจเข้าตรวจค้นที่พักและจับกุมเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2563 โดยในตอนแรกไม่มีทั้งหมายค้นและหมายจับ ทั้งยังมีการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของเขาไว้ ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองพัทยา จะไปขอออกหมายจับจากศาลจังหวัดพัทยามาในภายหลัง และมีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อสนธยา โดยไม่มีทนายความเข้าร่วมกระบวนการ
ต่อมาตำรวจมีการยื่นขอฝากขังและศาลจังหวัดพัทยาไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้สนธยาถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษพัทยาเป็นเวลา 5 วัน ก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว และได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2563
8 ธ.ค. 2563 พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีนี้ ในข้อหานำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นข้อมูลอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) โดยสนธยาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาและยืนยันสู้คดี
21 ก.ค. และ 8 พ.ย. 2565 คดีเข้าสู่ขั้นตอนการสืบพยาน โดยสืบพยานทั้งสิ้น 4 ปาก แบ่งเป็นพยานโจทก์ 3 ปาก และพยานจำเลย 1 ปาก ด้านจำเลยมีข้อต่อสู้คือยอมรับว่าเป็นผู้ทวีตภาพและข้อความตามฟ้องจริง แต่ทำไปเพื่อแจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งจำเลยผ่านไปพบเห็นว่าเกิดขึ้นจริงและแจ้งสถานที่เกิดเหตุเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาตามที่ถูกกล่าวหา
ย้อนอ่านบันทึกการสืบพยาน >> จับตา ฟังคำพิพากษาคดี “สนธยา” พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทวีตข้อความรูป ร.10 ถูกพ่นสี จำเลยยันเพียงทวีตแจ้งเหตุการณ์
25 ม.ค. 2566 ศาลจังหวัดพัทยาพิพากษายกฟ้องสนธยา เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา แต่คำฟ้องของโจทก์ไม่บรรยายให้เข้าใจเพียงพอว่าจำเลยนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรในฐานใด เนื่องจากความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์มีตั้งแต่ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 107 ถึงมาตรา 112
ศาลจึงเห็นว่าฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 158 (5) ศาลพิพากษายกฟ้อง ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง และให้คืนโทรศัพท์มือถือ ของกลางให้จำเลย
ในวันเดียวกัน ศาลได้ยกฟ้องประชาชนอีกหนึ่งรายที่ถูกฟ้องในลักษณะเดียวกันกับสนธยา แต่เป็นเหตุจากการเผยแพร่ภาพถ่ายบนเฟซบุ๊ก พร้อมข้อความประกอบว่า “แยกพัทยาใต้” (คดีนี้จำเลยมีทนายความของตนเองในการต่อสู้คดี) โดยมีคำพิพากษาทำนองเดียวกันกับสนธยาอีกด้วย และชี้เพิ่มเติมว่าไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ตัดต่อรูปภาพ จึงไม่เป็นการนำเข้าข้อความอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ตามคำฟ้องของโจทก์
.
ศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีของ “สนธยา” ใหม่ ชี้การทวีตภาพเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแล้ว ถึงแม้ว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเป็นความผิดมาตราใดของป.อาญา
วันนี้ (16 ม.ค. 2567) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 7 มีนัดฟังคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ในคดีของ “สนธยา” รวมถึงประชาชนอีกรายที่ถูกฟ้องคดีในลักษณะเดียวกัน หลังจากทั้งสองคนเดินทางมาถึงศาล
เวลา 09.40 น. ศาลจึงออกนั่งบัลลังก์ เจ้าหน้าที่ศาลได้นำกุญแจมือมาใส่ที่ข้อมือสนธยาเช่นเดียวกับวันฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น หลังจากนั้นศาลจึงเริ่มอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยอ่านโดยสรุป เริ่มจากคดีของสนธยาก่อน
คำพิพากษามีใจความโดยสรุป เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยการที่จำเลยโพสต์ภาพถ่ายดังกล่าว เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ถึงแม้ว่าโจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเป็นความผิดในมาตราใดตามประมวลกฎหมายอาญา
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่เห็นชอบด้วยกับศาลชั้นต้น เห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาใหม่ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 208 อนุ 2 (ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นเป็นการจําเป็น เนื่องจากศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา ก็ให้พิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทําการพิจารณาและพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี)
ศาลชั้นต้นจึงได้กำหนดนัดฟังคำพิพากษาใหม่เป็นวันที่ 21 มี.ค. 2567 เวลา 09.30 น.
หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จ ‘สนธยา’ ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวลงไปรอที่ห้องชั้นล่าง และเมื่อเวลา 16.00 น. ศาลอนุญาตให้ประกันตัวสนธยาพร้อมให้วางเงินประกัน 50,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนนิรนาม ซึ่งช่วยเหลือการประกันตัวคดีนี้มาตั้งแต่ชั้นสอบสวน โดยศาลได้กำหนดเงื่อนไขให้มาศาลตามนัดหมาย
.
ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของประชาชนอีกราย เห็นว่าผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โพสต์ของจำเลยเป็นการดูหมิ่นฯ ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง จำคุก 1 ปี ปรับ 1 หมื่น แต่ให้รอการลงโทษ
หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาของสนธยาเสร็จสิ้น ศาลจึงเริ่มอ่านคำพิพากษาในคดีของประชาชนอีกหนึ่งราย ที่เผยแพร่ภาพผ่านเฟซบุ๊ก โดยสรุปใจความได้ว่า
มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าคำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยมาตรา 158 หรือไม่ โดยโจทก์ฟ้องว่าจำเลยนำเข้าข้อมูลในเพจ “พัทยาทอล์ค” อันเป็นข้อมูลที่เป็นความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ถือเป็นความผิดตามมาตรา 112 ถึงแม้โจทก์จะไม่บรรยายฟ้องให้จำเลยได้รับโทษก็ตาม ไม่ได้ทำให้คำฟ้องของโจทก์ไม่ชัดแจ้ง อีกทั้งจำเลยยังเข้าใจข้อหา โจทก์จึงบรรยายฟ้องครบถ้วนตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 158
ประเด็นต้องวินิจฉัยต่อไปในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เห็นว่าจำเลยโพสต์ลงเฟซบุ๊กเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ถือว่าจำเลยนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรแล้ว
พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ 19 ปีเศษ มีเหตุให้ลดโทษ 1 ใน 3 คงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี
หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น จำเลยในคดีนี้ ได้ชำระค่าปรับเป็นเงิน 4,500 บาท โดยค่าปรับได้ลดลง 5,500 บาท เนื่องจากการถูกคุมขังระหว่างการถูกจับกุม 11 วัน
.
นอกจากทั้งสองคนที่มีคำพิพากษาในวันนี้แล้ว ที่ศาลจังหวัดพัทยายังมีคดีของ “พนิดา” ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้พ่นสีข้อความดังกล่าวที่ฐานพระบรมฉายาลักษณ์ทั้งสองจุดในเมืองพัทยา ทำให้ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 และข้อหาทำให้ทรัพย์สาธารณประโยชน์เสียหายหรือเสื่อมค่าฯ ตามมาตรา 360 ด้วย
เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2565 ศาลจังหวัดพัทยาพิพากษาว่าพนิดามีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษจำคุก 2 กระทง กระทงละ 3 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุให้ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวมโทษจำคุก 2 ปี 12 เดือน โดยให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี