ศาลอาญาเห็นว่า “ณัฐชนน-เบนจา-สมยศ” ผิดดูหมิ่นศาล แม้ปราศรัยไม่ได้เจาะจงผู้พิพากษาคนใด แต่กดดันการใช้ดุลพินิจศาล

ศาลอาญาเห็นว่าณัฐชนน เบนจา และสมยศ ผิดข้อหาดูหมิ่นศาล จากการชุมนุมให้กำลังใจ ‘แม่เพนกวิน‘ หน้าศาลอาญา ช่วงที่ ’เพนกวิน’ อดอาหารประท้วง และสองรายแรกยังเห็นว่าผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-ใช้เครื่องขยายเสียง รวมโทษจำคุก 1 ปี 8 เดือน ปรับ 30,100 บาท แต่ศาลให้รอการลงโทษ 2 ปี ขณะที่สมยศมีโทษจำคุก 1 ปี 8 เดือน 40 วัน  ก่อนศาลให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

17 ต.ค. 2566 ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาคดีที่ณัฐชนน ไพโรจน์, เบนจา อะปัญ, และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 1-3 ตามลำดับ ฐานดูหมิ่นศาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198, ชุมนุมมั่วสุมให้เกิดความวุ่นวายและไม่เลิกชุมนุมตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215-216, ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จากการชุมนุมเมื่อ 30 เม.ย. 2564 เพื่อให้กำลังใจมารดาของ ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ในการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์ที่ศาลอาญา ซึ่งขณะนั้นพริษฐ์อดอาหารประท้วงในเรือนจำเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

ย้อนอ่าน จับตาศาลอาญาพิพากษาคดี “ดูหมิ่นศาล” หลัง “เบนจา-ณัฐชนน-สมยศ” ยืนยัน ชุมนุม 30 เม.ย. 64 วิจารณ์กระบวนการยุติธรรม ไม่ได้เจาะจงผู้พิพากษาคนใด

เวลาประมาณ 09.30 น. ห้องพิจารณาคดีที่ 701 ศาลออกนั่งพิจารณาคดี ณัฐชนน และสมยศขออนุญาตนั่งฟังคำพิพากษา เนื่องจากณัฐชนนใส่ขาเทียม ส่วนสมยศมีอาการข้อเข่าเสื่อม แต่ศาลสั่งให้ยืนฟังคำพิพากษาอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะอนุญาตให้จำเลยทั้งหมดนั่งภายหลัง

คำพิพากษาโดยสรุป ระบุว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2564 มีการรวมตัวที่หน้าศาลอาญาโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เพื่อให้กำลังใจมารดาของพริษฐ์ ตั้งแต่เวลา 14.00-20.30 น. มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200-300 คน มีการจัดกิจกรรมอ่านหนังสือเปิดผนึกถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ปราศรัย เผาดอกไม้จันทน์ และเผารูปผู้พิพากษา-ตำรากฎหมาย

โจทก์มี พ.ต.ท.รัฐฉัตร์ อัศวเลิศหิรัญ จาก สน.พหลโยธิน ผู้กล่าวหา ให้การว่าได้รับมอบหมายให้รวบรวมพยานหลักฐานพบว่ามีผู้มาร่วมชุมนุมตั้งแต่เวลาประมาณ 14.00 น. บริเวณบริเวณหน้าประตู 8 ศาลอาญา จนถึงลานจอดรถของศาล ผู้ชุมนุมประมาณ 200-300 คน

ผู้กล่าวหาให้การว่า ณัฐชนน จำเลยที่ 1 ปราศรัยมีข้อความว่า “ตอนนี้เรามองว่าระบบความยุติธรรมของไทยเป็นระบอบยุติธรรมที่มีความด่างพร้อย สมควรแก่การตั้งคำถามแก่สมควรแก่การตั้งคำถามแก่สังคมเป็นอย่างยิ่ง” และ “พวกเราต่อสู้กับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม สู้คนมีอำนาจ ความเหลื่อมล้ำในสังคมและระบอบเฮงซวยในประเทศนี้ พวกเราทุกคนในที่นี้เป็นประจักษ์พยานและเห็นได้ชัดว่า ณ ศาลอาญารัชดาแห่งนี้หมดความชอบธรรมที่จะตัดสินคดีใด ๆ และหมดความชอบธรรมไร้ซึ่งความยุติธรรมไปแล้ว”

พ.ต.ท.รัฐฉัตร์ ให้การอีกว่า เบนจา จำเลยที่ 2 ปราศรัยมีข้อความว่า “พวกเขาทั้งหมดยังถูกปฏิเสธสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหาในระหว่างการดำเนินคดี และถูกฝากขังมาจนถึงวันนี้ ตอนนี้ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นคงอาจกล่าวได้ว่า นี่คืออยุติธรรมและจุดต่ำตมที่สุดของการใช้กฎหมาย เพราะกลายเป็น ว่ากฎหมายเหล่านี้ที่ควรจะมีบรรทัดฐานในการใช้ไม่ว่ามาตราใด กลับกลายเป็นเครื่องมือในการปิดปากของผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด“

ส่วนสมยศ จำเลยที่ 3 พ.ต.ท.รัฐฉัตร์ ให้การว่าได้ยินข้อความปราศรัยว่า ”ผมอยากให้น้ำตาของแม่เพนกวินกลายเป็นน้ำกรด ไปลดหัวใจผู้พิพากษาทั้งหมด ให้รับรู้ถึงความยุติธรรมมันหมายถึงอะไร“

พยานผู้กล่าวหาเห็นว่า การปราศรัยของจำเลยทั้งสามไม่ใช่การติชมโดยสุจริต และในการจัดกิจกรรมไม่ได้เว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19

นอกจากนี้ พ.ต.อ.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย ให้การว่า ผู้ชุมนุมมีการใช้เครื่องขยายเสียง ขณะนั้นมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และพยานแจ้งว่าการชุมนุมของผู้ชุมนุมเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ผู้ชุมนุมก็ยังไม่เลิกชุมนุม

ขณะที่ ปรัชญา ใจภักดี อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ให้การว่า ได้รับการประสานมาให้ความเห็นต่อคำปราศรัยของจำเลยทั้งสาม โดยพยานมีความเห็นว่า คำปราศรัยของจำเลยที่ 1 มีความหมายว่าศาลหมดความชอบธรรม ไร้ความชอบธรรม ระบบยุติธรรมด่างพร้อย เป็นคำที่มีความหมายเชิงลบต่อศาล ส่วนคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 เป็นถ้อยคำที่แสดงความเห็นในด้านลบต่อผู้พิพากษาหรือศาล คำปราศรัยของจำเลยที่ 3 แสดงความรู้สึกเศร้าของผู้พูดที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจากผู้พิพากษา

ในส่วนที่เกี่ยวกับการชุมนุม โจทก์มีเจ้าหน้าที่จากเขตจตุจักร ในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ให้การว่า ขณะนั้นกรุงเทพมหานครมีประกาศปิดสถานที่ชั่วคราว กลุ่มบุคคลห้ามจัดกิจกรรมรวมตัวกันเกิน 20 คน ถ้าเกินต้องขออนุญาต และ ผอ.เขตจตุจักร ให้การว่า วันที่ 30 เม.ย. 2564 ไม่พบข้อมูลการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง

ด้าน พ.ต.ท.ศักดินาถ หนูฉ้ง พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ให้การว่า พ.ต.ท.รัฐฉัตร์ มากล่าวโทษให้ดำเนินคดี พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานแล้วมีความเห็นควรสั่งฟ้อง ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ

ศาลเห็นว่า มีปัญหาต้องพิเคราะห์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และ 216 หรือไม่ ได้ความว่า การจัดกิจกรรมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมไม่ปรากฏว่ามีเหตุการณ์ก่อความวุ่นวาย หรือใช้อาวุธก่อความรุนแรงถึงขั้นที่จะเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย เมื่อถึงเวลา 20.30 น. ผู้ชุมนุมก็แยกย้ายเดินทางกลับ จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 แม้มีประกาศให้เลิกชุมนุมแล้วไม่เลิก ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 216 ด้วย

ความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลเห็นว่า ณัฐชนนและเบนจา เป็นสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจริง รวมถึงเป็นเพื่อนกับพริษฐ์ และเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เชื่อว่าจำเลยที่ 1-2 สมัครใจเข้าร่วมกิจกรรมและปราศรัย รวมถึงทั้งสองไม่ปฏิเสธว่าได้ปราศรัยตามหลักฐานการถอดเทปคำปราศรัย จำเลยทั้งสองเป็นสมาชิกคนสำคัญของกลุ่ม จึงต้องรับฟังตามพยานโจทก์ว่า จำเลยที่ 1-2 ในฐานะแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดให้มีการรวมกลุ่มประมาณ 200-300 คน ในลักษณะแออัด แม้จะมีการสวมหน้ากากอนามัยก็ยังเสี่ยงต่อการแพร่โรคโควิด-19 โดยไม่ได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรมและใช้เครื่องขยายเสียง

ศาลเห็นว่า ที่จำเลยต่อสู้ว่า ใช้สิทธิพลเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 แต่ขณะเกิดเหตุรัฐบาลอาศัยอำนาจตามกฎหมาย เพื่อยับยั้งโรคระบาด จึงไม่อาจอ้างรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิเสธความรับผิดได้

ส่วนจำเลยที่ 3 ศาลเห็นว่าไม่ปรากฏว่ามีส่วนจัดการชุมนุมมาตั้งแต่ต้น เพียงแต่ได้รับการติดต่อให้มาร่วมกิจกรรมบริเวณหน้าศาลจึงไม่มีความผิดในส่วนนี้

ภาพกิจกรรมวันเกิดเหตุจาก Mob Data Thailand

สำหรับข้อหาดูหมิ่นศาล ศาลเห็นว่าโจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันจัดกิจกรรมเผารูปผู้พิพากษา เผาประมวลกฎหมาย เผาดอกไม้จันทน์เพื่อให้กำลังใจมารดาของพริษฐ์ เรียกร้องให้ศาลอาญาปล่อยตัวชั่วคราว ติดป้ายที่มีข้อความว่าปล่อยเพื่อนเรา เพื่อกดดันการใช้ดุลพินิจปล่อยชั่วคราวของศาล 

คำปราศรัยของจำเลยทั้งสามล้วนเป็นการตำหนิการใช้ดุลพินิจของศาลอาญา แม้ไม่เจาะจงผู้พิพากษาคนใด แต่ก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 ไม่ใช่การใช้สิทธิโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การติชมโดยสุจริต ปัญหาเรื่องสุขภาพของพริษฐ์ และความสงสารมารดาของพริษฐ์ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างได้

ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 เฉพาะจำเลยที่ 1-2 มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่รับอนุญาต

พิพากษาจำคุกณัฐชนนและเบนจา ฐานดูหมิ่นศาล คนละ 2 ปี ปรับ 30,000 บาท ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 6 เดือน ปรับ 15,000 บาท ฐานใช้เครื่องขยายเสียงฯ ปรับคนละ 100 บาท จำเลยทั้งสองให้การเป็นประโยชน์ต่อกาารพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงโทษจำคุก 1 ปี 8 เดือน ปรับ 30,100 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี ให้คุมประพฤติเป็นเวลา 1 ปี รายงานตัว 4 ครั้ง และทำงานบริการสังคมตามที่เจ้าพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร

ส่วนสมยศเพิ่มโทษจากคดีก่อนหน้าหนึ่งในสาม ลงโทษจำคุกเฉพาะข้อหาดูหมิ่นศาล 2 ปี 8 เดือน ลดโทษเนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาหนึ่งในสาม เหลือโทษจำคุก 1 ปี 8 เดือน 40 วัน โดยไม่รอลงอาญา

จากนั้น ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวสมยศระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา ต่อมาเวลา 16.45 น. ศาลมีคำสั่งให้ประกันสมยศ โดยเห็นว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับจำเลยที่ 3 ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวในชั้นพิจารณา ไม่ปรากฏพฤติการณ์หลบหนี ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยที่ 3 ชั่วคราว ในระหว่างอุทธรณ์”

ศาลให้วางหลักทรัพย์ประกันในชั้นอุทธรณ์จำนวน 100,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ สมยศจึงได้รับการปล่อยชั่วคราวเพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อไป

นอกจากคดีดูหมิ่นศาลคดีนี้แล้ว น่าสังเกตว่า เบนจาและณัฐชนนถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลจากเหตุการณ์การชุมนุมครั้งเดียวกันนี้ไปแล้ว โดยมีชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา เป็นผู้กล่าวหา ระบุว่า การกระทำของทั้งสองถือว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล และฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาลอาญา โดยทั้งศาลอาญาและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า ทั้งสองมีความผิด ลงโทษปรับเบนจา 500 บาท ในส่วนณัฐชนนศาลอุทธรณ์ให้จำคุก 15 วัน และแก้โทษจำคุกเป็นกักขังแทน อยู่ระหว่างฎีกา 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:

สถิติคดี “ละเมิดอำนาจศาล-ดูหมิ่นศาล” ปี 2564-66

X