ต้นปี 2566 ศาลให้ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองปลดกำไล EM ไปแล้ว 34 คน ยังต้องติดอีกอย่างน้อย 19 คน

เมื่อเดือนเมษายน 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้สรุปสถิติเกี่ยวกับนักกิจกรรมและประชาชนที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีความจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองรูปแบบต่างๆ ที่ถูกศาลสั่งให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ หรือกำไล EM ในฐานะเงื่อนไขการประกันตัว โดยขณะนั้นพบว่ามีผู้ถูกศาลสั่งติดกำไล EM ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม 2564-2565 อย่างน้อย 61 คน โดยมี 7 คนในจำนวนดังกล่าวถูกศาลสั่งติด EM มาตั้งแต่ปี 2561

ขณะที่จนถึงในเดือนตุลาคม 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า จำนวนรวมของผู้ที่ถูกสั่งติดกำไล EM ระหว่างการต่อสู้คดี เพิ่มขึ้นอีก 19 คน ทำให้มียอดรวมอยู่ที่ 80 คน โดยในระหว่างนี้จะมีผู้ยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอถอดกำไล EM และได้รับการอนุญาตให้ถอดอย่างน้อย 24 คน 

จนถึงวันที่ 10 ต.ค. 2565 ทำให้ยังมีผู้ที่ยังติดกำไล EM จำนวนอย่างน้อย 56 คน เพิ่มขึ้นจากรายงานเมื่อเดือน เม.ย. 2565 อยู่ที่ 38 คน หากดูจากสถิติดังกล่าวจึงพบว่าประชาชนและนักกิจกรรมที่ถูกกล่าวหาจากการแสดงออกทางการเมือง มีแนวโน้มที่จะถูกศาลสั่งติดกำไล EM เพิ่มมากขึ้น โดยขณะนั้นมีผู้ที่ถูกศาลกำหนดเงื่อนไขจำกัดเวลาเข้า-ออกจากเคหสถานอยู่ถึง 17 คน โดยเป็นผู้ที่ต้องอยู่ในบ้าน 24 ชั่วโมง จำนวน 2 คน

การติดกำไล EM นำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพส่วนที่ถูกกำไลเสียดสีตลอดเวลา เช่น ในกรณีของ “บิ๊ก” เกียรติชัย, ปัญหาการเดินทาง ที่ไม่สามารถเดินทางโดยเครื่องบินได้ หลายคนต้องเดินทางไปต่อสู้คดีในต่างจังหวัด, ผลกระทบต่ออาชีพและความรู้สึกที่สังคมมองมา เช่น กรณีของแบม รวมทั้งผลกระทบต่อสภาวะจิตใจที่เกิดขึ้นจากการถูกให้ใช้ชีวิตอยู่กับเครื่องมือนี้ 

ย้อนอ่านรายงาน 9 ปัญหาที่ผู้ถูกสั่งติด EM เผชิญ >> https://tlhr2014.com/archives/42398

.

ระหว่างการเรียกร้องของ “แบม-ตะวัน” มีผู้ได้ปลด EM 34 ราย  

.

เดือน มี.ค. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนสำรวจจำนวนประชาชนและนักกิจกรรมที่เคยถูกสั่งติดกำไล EM อีกครั้ง โดยพบว่าตั้งแต่เดือนมี.ค. 2564-2566 มีผู้ที่เคยถูกสั่งติดกำไล EM อย่างน้อย 94 คน ในจำนวนดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน (7 มี.ค. 2566) มีผู้ที่ได้รับการปลดกำไล EM แล้ว 75 คน โดยเป็นกรณีที่ศาลอนุญาตปลด EM ระหว่างการพิจารณาคดีอย่างน้อย 53 คน, คดีสิ้นสุดแล้ว 7 คน, ครบกำหนดเวลาที่ศาลสั่งให้ติดกำไล 7 คน, ศาลตัดสินจำคุกและไม่ได้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ 2 คน, มีการถอนประกันตนเองหรือถูกศาลถอนประกัน 3 คน 

แม้จะยังคงมีผู้ถูกสั่งติดกำไล EM อยู่อีกอย่างน้อย 19 คน แต่จำนวนดังกล่าวลดลงจากการสำรวจในรายงานเดือนต.ค. 2565 ซึ่งขณะนั้นมีผู้ที่ยังติดกำไล EM สูงถึง 56 คน 

จำนวนผู้ที่ยังคงติดกำไล EM ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. 2566 ซึ่ง “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ “แบม” อรวรรณ นักกิจกรรมอิสระ ได้ขอถอนประกันตนเองเพื่อประท้วงความอยุติธรรมของศาล และทวงคืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังในคดีจากแสดงออกทางการเมือง นอกจากนี้ตะวันและแบม ยังได้ยกระดับการเรียกร้องโดยเริ่มอดอาหารและน้ำขณะถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางอีกด้วย

ศูนย์ทนายฯพบว่า เฉพาะช่วงระหว่างวันที่ 18 ม.ค. ถึงต้นเดือน มี.ค. 2566 หรือในเวลาไม่ถึง 2 เดือนที่ผ่านมา มีนักกิจกรรมและประชาชนที่ยื่นคำร้อง และศาลอนุญาตให้ถอดกำไล EM ระหว่างพิจารณาคดี กว่า 34 คน 

แม้ในช่วงปี 2565 จะมีนักกิจกรรมหลายคนพยายามยื่นคำร้องขอปลดกำไล EM แต่ศาลมักยกคำร้องมาโดยตลอด อาทิ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว ซึ่งโพสต์เรื่องราวการยื่นคำร้องขอปลดกำไล EM อยู่หลายครั้งผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ทั้งด้วยความจำเป็นในการประกอบอาชีพ และผลกระทบจากเครื่องมือต่อสภาวะจิตใจของเธอ ก็เพิ่งได้รับการอนุญาตปลดกำไล EM ในช่วงเวลานี้ด้วยเช่นเดียวกัน 

ขณะเดียวกัน ยังมีผู้ยื่นขอถอดกำไล EM ในช่วงระยะสองเดือนที่ผ่านมา แต่ศาลยังคงไม่อนุญาต เช่น กรณีของ “จินนี่” จิรัชยา สกุลทอง ที่ถูกศาลให้ติด EM ในระหว่างประกันตัวในคดี “ดูหมิ่นศาล” ที่ได้พยายามยื่นขอถอด EM ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ศาลอาญากรุงเทพใต้ยังไม่อนุญาต  

นอกจากนั้น ยังมีกรณีของนักกิจกรรมที่ได้รับการประกันตัวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ศาลมีคำสั่งให้ติด EM เพิ่มเติมในฐานะเงื่อนไขการประกันตัว เพิ่มเติมอีก 7 ราย ได้แก่ สมบัติ ทองย้อย, “ก้อง” อุกฤษฏ์ สองผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112, คงเพชร และ 4 ผู้ชุมนุมทะลุแก๊ส 

การได้รับอนุญาตให้ถอดกำไล EM นับเป็นการคืน “ชีวิตปกติ” ส่วนหนึ่งให้แก่ประชาชนและนักกิจกรรม เนื่องจากหลายคนที่มีคดีซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาในต่างจังหวัดและต้องเดินทางไปขึ้นศาล การปลดกำไล EM ได้ช่วยให้พวกเขาสามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วขึ้น จากเดิมที่ต้องเดินทางโดยรถหรือรถไฟเพื่อไปขึ้นศาล นอกจากต้องใช้เวลาจำนวนมากไปกับการเดินทางแล้ว ยังต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องที่พักเพิ่มเติมอีกด้วย 

ขณะเดียวกันผู้ที่ถูกจำกัดระยะเวลาการเข้า-ออก เคหสถานก็สามารถกลับไปประกอบอาชีพได้ตามปกติ เนื่องจากคำสั่งอนุญาตปลดกำไล EM ในปี 2566 ที่ผ่านมาได้ยกเลิกเงื่อนไขดังกล่าวไปโดยปริยาย โดยมีผู้ต้องหาบางคนที่ศาลยังคงกำหนดเงื่อนไขแต่เป็นไปในลักษณะการมารายงานตัวต่อศาลทุกเดือนแทน

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสภาพชีวิตและจิตใจ ของผู้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นี้ในช่วงที่ผ่านมา บางรายนานนับปีนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและดูเหมือนไม่ได้มีกระบวนการชดเชยเยียวยาใดๆ ได้   

X