ติด ‘EM’ ไว้กับตัวผู้ต้องหา ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิประกันตัว ?

แม้ว่ากระทรวงยุติธรรมจะนำอุปกรณ์ติดตามตัวผู้ต้องหา หรือ “EM” (Electronic Monitoring Center) มาใช้แทนหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเวลากว่า 9 เดือนแล้ว โดยเริ่มใช้เครื่องติดตามตัวนี้กับจำเลยคดีลักทรัพย์และคดียาเสพติดเป็นคดีแรก เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 61 (อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมใน: ศาลอาญาเริ่มใช้กำไล EM 2 ผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์-ครอบครองไอซ์) แต่การประเมินผลการใช้ยังไม่ถูกเปิดเผยออกมาในทางสาธารณะมากเท่าที่ควร

“หลักการจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ไปจนกว่าจะมีคำพิพากษาเป็นที่สิ้นสุด” ถือเป็นที่มาของแนวปฏิบัติแก่ผู้ต้องหาระหว่างการดำเนินคดี โดยหลักการนี้ส่งผลให้เป็นเกณฑ์ว่าจำเลยจะไม่ถูกควบคุมตัวไว้ เว้นแต่ว่ามีเหตุจำเป็น เช่น มีเหตุเชื่อได้ว่าจำเลยหลบหนี และเพื่อป้องกันมิให้จำเลยไปกระทำความผิดซ้ำ หรือจำเลยมีโอกาสเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานโดยมิชอบ

ถึงกระนั้น หลายกรณีผู้ต้องหาซึ่งถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองและมิได้มีความรุนแรงในแง่พฤติการณ์คดี ยังคงต้องเผชิญการใช้ดุลยพินิจนี้สำหรับการให้ปล่อยตัวหรือไม่ ที่ผ่านมาศาลมักพิจารณาจากจากอัตราโทษเป็นเหตุผลหลัก มากกว่านั้นผู้ต้องหาบางรายที่ไม่สามารถหาหลักทรัพย์ที่มีวงเงินสูงลิบมาประกันตนได้ พวกเขาและเธอจำต้องเลือกติดตั้งเครื่องติดตามตัว หรือ EM แทน เพื่อที่จะสามารถมีโอกาสกลับไปประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวได้ แต่นั่นช่วยให้ผู้ต้องหาที่ยังไม่ถูกพิพากษาถูกมองว่าพวกเขายังบริสุทธิ์หรือไม่ อีกทั้งทำให้การดำเนินชีวิตเข้าใกล้กับความเป็นปกติมากเพียงใด

ลักษณะเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามว่า แนวทางดังกล่าวสามารถลดความแตกต่างในแง่ของฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ต้องหาตามวัตถุประสงค์แรกเริ่มของโครงการนำเครื่องอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่

.

ที่มาของการติดตั้งเครื่องติดตามตัว หรือ EM

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่าหลังการรัฐประหาร 2557 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 4 ครั้ง โดยหนึ่งในการแก้ไขที่สำคัญเกิดขึ้นในปี 2558 เมื่อมีการอนุญาตให้ใช้เครื่องอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ในกระบวนการยุติธรรม (อ่านรายงานชิ้นนี้เพิ่มเติมได้ที่: ยุค คสช. แก้ประมวล “วิ.อาญา” แล้ว 4 ครั้ง เพื่อความยุติธรรมหรือจำกัดอำนาจทางการเมือง?)

ผลประการหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2558 นำมาสู่การออกแบบโครงการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่มีโทษทางอาญาด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า “EM”

เป้าหมายหลักของโครงการนี้ อธิบายว่า ที่ผ่านมาการปล่อยชั่วคราวนำไปสู่ความไม่เสมอภาคในแง่ที่ว่าบุคคลที่มีฐานะทางการเศรษฐกิจดีย่อมมีโอกาสที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวดีกว่าบุคคลที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี เพราะตามหลักเกณฑ์ การปล่อยชั่วคราวตามกฎหมายไทยมีการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกัน หรือมีหลักประกัน

ดังนั้นกระทรวงยุติธรรม จึงเห็นชอบให้มีการนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์มาใช้ เพื่อให้คนที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจสามารถเข้าถึงความเท่าเทียมในการได้เข้าถึงการปล่อยตัวชั่วคราวด้วย

.

(อุปกรณ์ติดตามตัวผู้ต้องหา หรือ “EM” (Electronic Monitoring Center) ภาพจาก: มติชนออนไลน์)

.

เมื่อประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ต้องสวม EM

ข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่เดือนม.ค.-พ.ย 61 มีการดำเนินคดี ข่มขู่ และคุกคามประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกเป็นจำนวนถึง 304 คน และบางกรณีเป็นการควบคุมตัวไปสอบสวนโดยไม่เปิดเผยสถานที่และระยะเวลา ซึ่งเจ้าหน้าที่มักอ้างเอาคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/58 เป็นอำนาจในการใช้ปฏิบัติการควบคุมตัวบุคคล

โดยทั่วไปการควบคุมตัวในลักษณะนี้สวนทางกับหลักการที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปในระดับสากล ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Universal Declaration of Human Rights) ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก แต่สิ่งนี้ยังคงพบเห็นได้บ่อยครั้งตลอด 4 ปีของการรัฐประหารเป็นต้นมา

เหตุการณ์ที่น่าจดจำในปี 2561 จากกรณีข้างต้น มี 2 เหตุการณ์ คือ 1. การกวาดจับผู้ครอบครองสัญลักษณ์สหพันธรัฐไทก่อนที่เจ้าหน้าที่ทหารจะนำตัวผู้ต้องหาไปที่กองปราบปรามและส่งตัวให้อัยการสั่งฟ้อง เมื่อถึงชั้นศาลผู้ต้องหาเกือบทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยวางหลักทรัพย์และติดตั้งเครื่องติดตามตัวในระยะเวลาที่แตกต่างกัน (อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมใน: ศาลให้ประกันตัว 2 ผู้ต้องหาคดีเสื้อสหพันธรัฐไท)

2. การออกหมายจับประชาชนจำนวนมากจากการแชร์ข้อความอันมีเนื้อหาวิจารณ์นโยบายรัฐบาลคสช. ของเพจ ‘กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ ๆ’ ซึ่งจำเลยหลายรายใช้เงื่อนไขติดตั้งเครื่องติดตามตัว (อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ที่: อีก 5 คน แชร์เพจ “กูต้องได้ 100 ล้านฯ” ได้ประกันตัว โดย 3 คน ต้องติด “EM” ติดตามตัว)

.

ถูกตัดสินว่าเป็นนักโทษไปแล้ว

หลักการ “สันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์” สำหรับจำเลยดูจะห่างไกลจากความเป็นจริงเมื่อจำเลยมิได้ถูกปฏิบัติเช่นนั้นในทางเป็นจริง

กรณีของเทอดศักดิ์ (สงวนนามสกุล) หนึ่งในผู้ต้องหาคดีสหพันธรัฐไท เขาถูกจับกุมจากการแจกใบปลิวที่มีเนื้อหาให้ความรู้เกี่ยวกับสหพันธรัฐไท ก่อนถูกควบคุมตัวในค่ายทหารอีก 7 วัน และถูกส่งตัวมาที่กองปราบปราม ถึงที่สุดเขาถูกอัยการสั่งฟ้องในเวลาต่อมา เทิดศักดิ์เปิดเผยว่า

“ตอนที่ถูกดำเนินคดี ผมตัดสินใจติด EM เนื่องจากเห็นว่าจำเลยก่อนหน้านี้ (หมายถึงจำเลยที่ 1) ได้ยื่นเงินประกันตัว 200,000 บาท แล้วไม่ได้ประกันตัว ผมจึงยื่นวงเงิน 40,000 บาท และขอติด EM ก่อนจะได้ประกันตัว” เทอดศักดิ์เชื่อว่าแนวดุลยพินิจของศาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับหลักทรัพย์มากเท่ากับรู้ว่าตัวของเขาอยู่ที่ใดและเมื่อไหร่ ในแต่ละวัน

เขาตั้งข้อสังเกตว่าจำเลยในชุดคดีเดียวกันที่มายื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวภายหลังในหลักทรัพย์ 80,000 บาท พร้อมกับติด EM และได้ประกันตัว ก็ด้วยศาลใช้แนวดุลยพินิจเช่นนี้

หลังจากได้รับการปล่อยตัวด้วยการติด EM ปัจจุบันเทอดศักดิ์ทำงานเป็นพนักงานขับรถขนส่งอีกครั้ง ทว่าไม่ใช่บริษัทเดิมที่เคยได้รับจ้างงาน เนื่องจากเขาถูกไล่ออกจากเหตุที่เขาถูกดำเนินคดี แม้ว่าสภาพการทำงานแห่งใหม่จะคล้ายคลึงกับสภาพก่อนถูกดำเนินคดีก็ตาม แต่สิ่งที่ติดตัวมาด้วยระหว่างการทำงานคือ เครื่อง EM ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นอุปสรรคระหว่างการทำงาน เพราะโดยสภาพแม้ว่าแบตเตอรรี่จะใช้ได้ยาวนานครั้งละ 12 ชั่วโมง จริง แต่ก็ยังเป็นปัญหาเนื่องจากจะมีเสียงรบกวนอยู่เสมอ เพราะการเดินทางบางครั้งทำให้เขาต้องไปอยู่ในที่อับสัญญาณด้วย เช่น อุโมงค์ ถ้ำ หรือใต้ตึกสูง

ความกังวลนี้เกี่ยวเนื่องจากบทบัญญัติของ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2558 ระบุไว้ว่า “หากอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลที่ได้รับการปล่อยตัวตามมาตรา 108 วรรค 3 ถูกทำลายหรือทำให้ใช้การไม่ได้ ให้สันนิษฐานว่าผู้ได้รับการปล่อยตัวจะหนีหรือหลบหนี” ซึ่งเทอดศักดิ์เห็นว่าอาจจะเป็นเหตุให้เขาถูกถอนหลักประกันได้

ทุก ๆ วัน เทอดศักดิ์ยังต้องสวมกางเกงขายาวเพื่อเดินทางออกจากบ้านตลอดเวลา ขณะที่สภาพการทำงานก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องพบปะผู้คน บางครั้งเขารู้สึกกว่าตัวเขาถูกคนอื่นตัดสินไปทั้ง ๆ ที่เขายังไม่มีความผิดอย่างเด็ดขาด

“คนอื่นมองว่าเราเป็นนักโทษไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้มีคำพิพากษาว่าเราผิดจริง” เทอดศักดิ์กล่าว

.

ทัศนคติต่อผู้ต้องหาที่กระทำความผิดอาญา

หากพิจารณาเหตุผลในการให้ประกันตัวหรือให้ประกันตัวผู้ต้องหา เราจะพบว่าการติด EM มีแนวโน้มสัมพันธ์ไปกับอัตราโทษที่สูงด้วย อัตราโทษจะถูกหยิบมาเป็นหลักนำในการพิจารณามากกว่าพฤติการณ์การทำผิดหรือการหลบหนี ซึ่งจำเลยส่วนใหญ่ที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกล้วนเป็นจำเลยที่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง สามารถทำมาหากิน มีภาระผูกพันดูแลครอบครัว ด้วยรายได้ที่หามาได้แบบวันต่อวัน

ดังกรณีของคนึงนิตย์ (สงวนนามสกุล) (อ่านเรื่องราวของเธอได้ที่ 2 จำเลยคดีแชร์เพจ “กูต้องได้ 100 ล้านฯ” ยืนยันปฏิเสธข้อหา ศาลสั่งแยกฟ้องเป็นครั้งที่สาม) เธอต้องสวม EM เป็นเวลา 5-6 วัน ก่อนที่ภายหลังจะสามารถนำหลักทรัพย์เป็นจำนวน 100,000 มาขอถอด EM จากร่างกายของเธอได้

“มันก็จะรำคาญ จะคอยกังวลว่าต้องชาร์ตแบต เพราะถ้าเครื่องดับจะผิดสัญญาประกัน เพราะจริง ๆ มันใช้ไม่ได้ถึง 12 ชั่วโมง เราก็ต้องชาร์ตแล้ว มันเพิ่มภาระเรา และตอนติด EM เราก็ต้องไปทำมาค้าขาย แม้ว่าไม่ได้รู้สึกว่าเรากระทำความผิดก็ตาม แต่เราก็กลัวแม่เห็น ไม่อยากให้คนแก่ต้องกังวล เราจึงต้องใส่กางเกงขายาวตลอด และเวลาไปศาลก็จะไม่ให้แม่รู้” คนึงนิตย์เปิดเผยกับศูนย์ทนายความฯ ว่าถึงที่สุดแล้ว EM อาจจะไม่ได้ช่วยในเรื่องการเข้าถึงสิทธิประกันตัว

“คดีก็ไม่เป็นเหตุเป็นผลแบบนี้ และเราไม่เคยผิดนัดศาล มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มาตามเราเมื่อไหร่ก็เจอเราตลอด เราไม่ได้หนีไปไหน จำเป็นด้วยหรอที่ต้องติด EM” คนึงนิตย์กล่าว

(อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมที่ : อีก 5 คน แชร์เพจ “กูต้องได้ 100 ล้านฯ” ได้ประกันตัว โดย 3 คน ต้องติด “EM” ติดตามตัว)

สำหรับหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจที่ศาลจะใช้พิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราว พบว่ามี 7 ประการ  คือ

(1) ความหนักเบาแห่งข้อหา

(2) พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด

(3) พฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร

(4) เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด

(5) จำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่

(6) ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใดหรือไม่

(7) ในกรณีที่จำเลยต้องขังตามหมายศาล ถ้ามีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการโจทก์ หรือผู้เสียหาย แล้วแต่กรณีศาลพึงรับประกอบการวินิจฉัยได้

.

(สำหรับผู้สนใจอ่านเพิ่มเติมได้ที่: คู่มือการปฏิบัติงาน ตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2558 การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของบุคคลในการปล่อยชั่วคราว (Electronic Monitoring), 

กระนั้นแม้ว่าการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวนี้เป็นการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ตามกฎหมายฉบับดังกล่าวจริง แต่หากพิจารณาจากองค์ประกอบการพิจารณาที่กล่าวมาเพื่อเข้าใจกรณีของคนึงนิตย์แล้ว จะพบว่า ถึงที่สุดสิทธิในการเข้าถึงการประกันตัวยังคงเป็นเรื่องของหลักทรัพย์ เพราะคนที่มีโอกาสเข้าถึงการประกันตัวโดยปราศจากเครื่องติดตามตัวยังเป็นผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า

อีกทั้งจำนวนเงินที่สูงไม่ได้เป็นหลักประกันว่าผู้ต้องหาจะไม่หลบหนี คำถามคือแล้วกรณีของผู้ต้องหาที่มีฐานะยากจน ไม่มีเงินประกันตัวทางออกของเขาและเธอเหล่านั้นคืออะไร

.

เลือกติดเพราะไม่มีเงินมายื่นประกันและชีวิตประจำวันหลังติด EM

กรณีนี้เกิดขึ้นกับเปรวินทร์ (สงวนนามสกุล) ซึ่งหลังจากที่ถูกดำเนินคดีจากการแชร์ข้อความใน ‘เพจกูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณ แน่ ๆ’ เขาต้องออกจากงานที่โรงน้ำแข็ง ซึ่งให้ค่าจ้างเขา 350 บาทต่อวัน เพื่อออกมาต่อสู้คดี ขณะที่บริษัทต่าง ๆ ก็ไม่อยากรับเข้าทำงานเนื่องจากมีคดีติดตัว มีเพียงแฟนของเขาที่ยังคงทำงานในโรงน้ำแข็งเพียงคนเดียวที่มีรายได้มาใช้ในครอบครัว

“เหตุผลที่ผมติดเครื่อง EM ก็เนื่องจากผมไม่มีหลักทรัพย์มายื่น และต่อจากนี้คงต้องติดไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะต่อสู้คดีจบ” เปรวินทร์กล่าว

เราไม่ทราบว่าระยะเวลาในการต่อสู้คดีที่เขากดแชร์ข้อความวิจารณ์นโยบายรัฐบาลคสช. นั้นจะยาวนานไปอีกนานเพียงใด แต่ปัจจุบันเปรวินทร์ต้องขับรถมอเตอร์ไซด์จากจังหวัดอ่างทองเพื่อมาขึ้นศาลอาญาทุกนัดตามสัญญาประกันตัว สำหรับคดีของเขาถูกนัดฟ้องเป็นครั้งที่ 3 แล้ว เนื่องจากคดีนี้มีผู้ต้องหาทยอยให้การรับสารภาพ เปรวินทร์และจำเลยอีกคนซึ่งให้การปฏิเสธและยืนยันจะต่อสู้คดี ทำให้ศาลมีคำสั่งให้อัยการสั่งฟ้องคดีเข้ามาใหม่ (อ่านเพิ่มเติมได้ใน: 2 จำเลยคดีแชร์เพจ “กูต้องได้ 100 ล้านฯ” ยืนยันปฏิเสธข้อหา ศาลสั่งแยกฟ้องเป็นครั้งที่สาม) รวมถึงการเลือกที่จะต่อสู้คดีก็ต้องแลกกับวิถีชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไปด้วย

“ผมต้องคอยชาร์ตตลอด มันยุ่งยากเกี่ยวกับแบตเตอรี่ อีกทั้งตอนนี้ผมทำงานประจำไม่ได้เพราะต้องหยุดบ่อย และเปลี่ยนมาทำงานรับจ้างรายวัน ต้องชาร์ต ซึ่งบางทีเรากะเวลาไม่ถูก บางทีมีเสียบชาร์ตไม่เข้า ดังนั้นทุก ๆ เช้า ผมจะแก้ปัญหาด้วยการตื่นตั้งแต่ตีสี่-ตีห้า เพื่อชาร์ตแบต”

กรณีของเปรวินทร์ แสดงให้เห็นว่า คนยากจนยังคงถูกเลือกปฏิบัติ แม้ว่าการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือการจำกัดการเดินทางของผู้ถูกปล่อยชั่วคราวมาใช้ในการปล่อยชั่วคราวจะมีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิการประกันตัวก็ตามที

.

ผู้ต้องหาแสดงการทำงานของเครื่องติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์

.

ไม่ใช่ทุกกรณีจะมีมาตรฐานในการได้รับการประกันตัวเหมือนกัน กรณีการยื่นประกันตัวผู้ต้องหาในชุดคดีสหพันธรัฐไท เป็นตัวอย่างของการใช้ดุลยพินิจที่แตกต่างกัน

เมื่อผู้ต้องหาชุดแรกซึ่งถูกจับกุมมาในเวลาใกล้เคียงกัน 3 ราย คือ นายกฤษณะ (สงวนนามสกุล) นายเทอดศักดิ์ (สงวนนามสกุล) และนางประพันธ์ (สงวนนามสกุล) พบว่ากว่าที่จำเลยทั้ง 3 คน จะได้ยื่นประกันตัว เขาและเธอต้องถูกคุมตัวในค่ายทหาร 7 วัน และถูกคุมขังต่อในเรือนจำระหว่างการดำเนินคดี

การยื่นประกันตัวครั้งแรกเกิดขึ้น เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นหลักทรัพย์ 200,000 บาท ก่อนที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว เหตุผลคือเนื่องจากเป็นคดีร้ายแรง อัตราโทษสูง และเกรงว่าเขาจะหลบหนี ก่อนที่จะมีการยื่นหลักทรัพย์และเงื่อนไขติด EM อีกครั้งในภายหลัง กฤษณะจึงได้ประกันตัวออกมาต่อสู้คดี

ขณะที่เทอดศักดิ์ และประพันธ์ (เธอมีอาชีพเป็นหมอนวดแผนโบราณ) ซึ่งไม่มีเงินประกันมายื่นตั้งแต่แรก ได้ยื่นประกันตัวด้วยการยื่นคำร้องด้วยหลักทรัพย์ 40,000 บาท + EM ทั้งสองจึงได้รับการประกันตัว

สำหรับกรณีสหพันธรัฐไทจำเลยทุกคนได้รับการประกันตัวด้วยการติด EM ยกเว้นเพียงกรณีของนางวรรณภา (สงวนนามสกุล) เธอได้รับการประกันตัวด้วยการยื่นด้วยหลักทรัพย์ 200,000 บาท โดยไม่มีเงื่อนไขการประกัน

รวมถึงกรณีของนางจินดา เธอถูกจับกุมมาดำเนินคดีในภายหลัง และต้องอยู่ในเรือนจำนานกว่า 1 เดือน ก่อนจะได้ประกันตัวด้วยวงเงิน 80,000 บาท พร้อมเงื่อนไขในการติดตั้ง EM ก่อนที่เธอจะหาหยิบยืมเงินมาเปลี่ยนหลักประกันใหม่ เพื่อถอด EM เนื่องจากเธอทำอาชีพค้าขาย การมีอุปกรณ์เช่นนี้อยู่ไม่เอื้อต่อการทำงาน (อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมใน: ศาลให้ประกันตัว 2 ผู้ต้องหาคดีเสื้อสหพันธรัฐไท)

ความเห็นของกฤษณะ 1 ในจำเลยของชุดคดีนี้ สะท้อนความยุ่งยากนี้ระหว่างการต่อสู้คดี แม้ว่าเขาจะยืนยันว่าสิ่งที่ทำไม่ใช่ความผิดและพร้อมต่อสู้คดี แต่ก็เป็นเรื่องยากลำบากในชีวิตเมื่อต้องมีเครื่อง EM ติดอยู่ที่ข้อเท้าทุก ๆ วัน

“มันต้องชาร์ตแบตเรื่อย ๆ เพราะมันจะสีเหลือง ซึ่งเตือนบ่อย ๆ พอเตือนบ่อย ๆ ก็จะมีเสียง หรือถ้าไปใกล้ชายแดน ซึ่งห่างจากชายแดนถึง 10 กิโลเมตรเพื่อไปทำงานก็จะมีเสียงเตือนแล้ว”

ปัจจุบันกฤษณะไม่ได้ทำงานที่เดิม เนื่องจากเขาถูกไล่ออกเช่นเดียวกับเทอดศักดิ์ ขณะที่การติด EM ก็ไม่เป็นผลดีสำหรับการออกหางานใหม่ของเขา ดังนั้นจึงมีเพียงงานรับจ้างจากญาติเท่านั้น ในบางครั้งต้องเดินทางไปตามตลาดชายแดน แต่นั่นก็นำมาสู่ความเสี่ยงในการถูกถอนประกัน

“ตามความรู้สึก เราไม่ได้ฆ่าคนตาย เราแค่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ทำไมต้องติด EM  ระหว่างนอนช่วงแรก ๆ ก็อาจจะมีกังวลบ้าง หลับ ๆ ตื่น ๆ บ้าง บางครั้งไปโดนปุ่มค้างมันก็จะร้อง ผมก็จะสะดุ้งตื่นขึ้นมา” กฤษณะกล่าว

.

ความเหลื่อมล้ำที่ไม่ไปไหนมาไหน

จากการสังเกตการณ์คดีของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า มีความแตกต่างระหว่าง 2 คดีนี้ คือผู้ต้องหาในคดีแชร์เพจกูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณ กับผู้ต้องหาในคดีสหพันธรัฐไทอยู่บางประการเกี่ยวกับการประกันตัว โดยคดีแรกเจ้าหน้าที่มักจะแนะนำให้ผู้ต้องหานำหลักทรัพย์อื่น เช่น เงินสด โฉนดที่ดิน หรือสลากออมสิน เป็นต้น เพื่อเปลี่ยนหลักทรัพย์การประกันตัว ขณะที่คดีหลังเจ้าหน้าที่ไม่แนะนำให้นำหลักทรัพย์มายื่นประกันตัว กฤษณะมีความเห็นต่อเรื่องนี้ว่าอาจจะเป็นเพราะในทัศนะของผู้พิพากษาต่อคดีอาจจะเห็นจำเลยจะหลบหนี ดังนั้นการติด EM จึงเป็นทางออกหนึ่งในการควบคุมจำเลยจนกว่าจะพิพากษาคดีเสร็จ

การสร้างมาตรฐานการต่อสู้คดีที่เป็นธรรม ยังดูเหมือนจะเป็นหนทางที่ยาวไกลต่อไปไม่รู้จบ ดังเราจะเห็นได้ในความยากลำบากของผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดี อาทิ การถูกสังคมตีตรา อุปสรรคในการดำเนินชีวิต ภาระระหว่างการต่อสู้คดี เป็นต้น ตัวอย่างจากความเห็นกรณีการติด EM ของผู้ต้องหาที่กล่าวมา สะท้อนให้เห็นว่าการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว ยังคงมิได้แก้ปัญหาความแตกต่างทางเศรษฐกิจในการเข้าถึงสิทธิประกันตัวแต่อย่างใด

น่าสนใจว่าหากมีการศึกษาในภาพรวมอย่างละเอียดแล้ว เครื่องติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์นี้จะบรรลุวัตถุประสงค์ลดความเหลื่อมล้ำในภาพใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมไทยเพียงใด

.

X