เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2565 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ หลังทนายยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 3 นักกิจกรรมและประชาชนที่ถูกคุมขัง ได้แก่ ทวี เที่ยงวิเศษ, แซม สาแมท และจิตรกร ขณะเดียวกันยังได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว 2 ผู้ถูกคุมขังกรณีทะลุแก๊ซ ได้แก่ พิชัย และนฤเบศร์ ในคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ด้วย ก่อนศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องทุกฉบับ โดยระบุว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม”,
1. ทวี เที่ยงวิเศษ หรือ “อาทิตย์ ทะลุฟ้า” ทนายยื่นคำร้องในคดี 2 คดี ได้แก่ คดี #ม็อบ3กันยา กรณีถูกกล่าวหาว่าทำร้ายเจ้าพนักงานและหลบหนีการจับกุม และอีกคดี คือ สาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง กรณีถูกกล่าวหาว่าร่วมกันกับสมาชิกทะลุฟ้า 18 ราย สาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 64 หลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีชุมนุมหน้าสโมสรตำรวจ ปัจจุบันถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 128 วัน
ส่วนหนึ่งของคำร้องได้ระบุถึงเหตุการณ์ที่ถูกฟ้องเป็นคดีที่ถูกกล่าวหาว่าทำร้ายเจ้าหน้าที่ อันเป็นเหตุผลที่ศาลใช้ในการไม่อนุญาตให้ประกันนั้นโดยสรุปว่า ในวันดังกล่าว ทวีได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองอันเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมาย ภายหลังยุติการชุมนุม เขาได้เดินทางกลับพร้อมเพื่อน ระหว่างเดินกลับนั้นถูกรถยนต์ ซึ่งไม่ใช่รถยนต์ที่ใช้ในราชการตำรวจขับปาดจนต้องหยุดรถ
หลังจากนั้นมีบุคคลซึ่งจำเลยไม่ทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่ เนื่องจากไม่ได้แต่งเครื่องแบบหรือแสดงบัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจ ทั้งยังไม่แจ้งชื่อ ยศ ตำแหน่ง หรือสังกัด และไม่แสดงหมายจับหรือ แจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบ ได้พยายามฉุกกระชากเขาลงจากรถและไม่ได้แจ้งว่าจะนำตัวไปที่ใด ทำให้เขาต้องปัดป้องไม่ยอมให้ควบคุมตัว และกรณีที่มีกลุ่มบุคคลเข้าร่วมรุมทำร้ายร่างกาย ไม่ได้เป็นการกระทำของจำเลยแต่อย่างใด
ภายหลังหลุดพ้นจากการควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว เขาได้เดินทางกลับที่พักอาศัย และต่อมาได้ถูกจับกุมตามหมายจับซึ่งออกหลังจากวันที่มีบุคคลพยายามควบคุมตัวจำเลยไว้ ซึ่งขณะถูกจับกุมตามหมายจับเขาไม่ได้ต่อสู้ขัดขืน และให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนด้วยดีมาโดยตลอด ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี หรือไม่ให้ความร่วมมือใดๆ
ทั้งนี้ เพื่อประกอบการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจำเลยในประเด็นดังกล่าว ทนายจึงขอให้ศาลออกหมายเรียกพนักงานสอบสวนและออกหมายเบิกตัวจำเลยมาไต่สวนเพื่อรับฟังข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจำเลยด้วย
2. จิตรกร ทนายยื่นคำร้องในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าครอบครองวัตถุคล้ายระเบิด และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากเหตุ #ม็อบ6ตุลา ปัจจุบันถูกควบคุมตัวมาแล้ว 106 วัน ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
3. แซม สาแมท ทนายยื่นคำร้องในคดีที่ถูกกล่าวหาทำลายทรัพย์สินจากการใช้เท้าถีบรถควบคุมผู้ต้องขัง ระหว่างถูกจับกุมควบคุมตัวหลัง #ม็อบ29ตุลา64 หน้า สน.ดินแดง และยังถูกแจ้งข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายเพิ่มเติมอีกคดีหนึ่ง ปัจจุบัน แซมถูกควบคุมตัวมาแล้ว 83 วัน ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
4-5. พิชัย และนฤเบศร์ ทนายยื่นคำร้องที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ในคดีที่ทั้งสองคนถูกกล่าวหาว่าขว้างวัตถุคล้ายระเบิด ใส่รถยนต์สายตรวจ สน.ลุมพินี เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 64 ทั้งสองคนถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 108 วัน
อนึ่ง ในคำร้องทุกฉบับได้มีการหยิบยกเอากติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ว่า “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทําผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด” เพื่อให้ศาลใช้ประกอบการพิจารณาให้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
นอกจากนี้ในคำร้องทุกฉบับยังระบุอีกว่า ประเด็นที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ด้วยเหตุผล เกรงว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นนั้น เป็นเพียงการคาดเดาเหตุการณ์ในอนาคตโดยไม่ได้มีข้อบ่งชี้หรือยืนยันได้ว่าจำเลยจะไปก่อเหตุร้ายบางประการอื่น ประกอบกับตั้งแต่จำเลยถูกคุมขังมาไม่ได้มีการชุมนุมใดๆ ที่มีลักษณะก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองมาเป็นระยะเวลาหลายเดือนแล้ว
อีกทั้ง การที่จำเลยถูกคุมขังระยะเวลายาวนานทำให้ตระหนักและระมัดระวังว่าจะไม่ได้กระทำการใดๆ ที่อาจทำให้ถูกดำเนินคดีได้อีก เนื่องจากจำเลยได้รับความยากลำบากจากการถูกคุมขังเป็นอย่างยิ่งรวมไปถึงการคุมขังในระหว่างพิจารณาคดีทำให้จำเลยไม่สามารถแสวงหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยได้ อันเป็นการเสื่อมเสียสิทธิของจำเลยและทำให้จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่
พร้อมทั้งยังระบุว่า หากศาลเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี พวกเขา “ยินดี” ที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของศาลทุกประการ โดยจะเสนอคำมั่นสัญญาว่าจะไม่กระทำการใดอันก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และเพื่อให้คำมั่นสัญญาว่าจำเลยจะไม่หลบหนีอย่างแน่นอน พวกเขายินยอมที่จะติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) เพื่อให้ศาลสามารถตรวจสอบถิ่นที่อยู่ของพวกเขาได้ทุกเวลา หรือหากศาลจะตั้งผู้กำกับดูแลพวกเขา พวกเขาก็พร้อมจะปฏิบัติตามคำสั่งของศาลเช่นกัน
อย่างไรก็ตามเวลา 16.50 น. ทั้งศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ทยอยมีคำสั่งยกคำร้องทุกฉบับ ระบุว่าศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
อนึ่ง จนถึงวันที่ 20 ม.ค. 2565 มีผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างการต่อสู้คดี ในคดีที่มีเหตุจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง จำนวนอย่างน้อย 15 คน
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
สถิติผู้ถูกคุมขังคดีทางการเมืองในระหว่างต่อสู้คดี
บันทึกโควิดในเรือนจำ: พบ 30 ผู้ต้องขังคดีการเมืองติดเชื้อท่ามกลางการรักษาอันยากลำบาก