ฟ้อง “จตุพร” นักกิจกรรมบุรีรัมย์ ฐาน “หมิ่นประมาทฯ” เนวิน ทำให้ ปชช.เข้าใจว่าเป็นคนโกง เหตุแชร์โพสต์วิจารณ์การจัดหาไฟเซอร์เข้าบุรีรัมย์  

16 ธ.ค. 2564 “นิว” จตุพร แซ่อึง นักกิจกรรมกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก มีนัดฟังคำสั่งอัยการในคดีที่ถูก เนวิน ชิดชอบ อดีต ส.ส.จ.บุรีรัมย์ และรัฐมนตรีหลายสมัย แจ้งความฐาน “หมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา” จากการโพสต์ข้อความและแชร์โพสต์จากเพจ KTUK-คนไทยยูเค วิจารณ์การบริหารจัดการวัคซีนในจังหวัดบุรีรัมย์ 

ราว 10.00 น. หลังจตุพรทราบว่าพนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์มีคำสั่งฟ้องคดีแล้ว ได้เดินทางพร้อมทนายความไปที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ เมื่ออัยการยื่นฟ้องต่อศาล ตำรวจได้นำตัวจตุพรไปควบคุมที่ห้องขังด้านหลังศาล ขณะทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่มีหลักประกัน

ล่วงเลยไปจนถึงเที่ยง หลังศาลสอบถามคำให้การเบื้องต้นผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ โดยจตุพรให้การปฏิเสธ ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน แต่ให้สาบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าจะมาศาลตามนัด โดยศาลนัดคุ้มครองสิทธิและสืบพยานในวันที่ 24 ม.ค. และ 3 ก.พ. 2565 ตามลำดับ 

ภายหลังจตุพรก็ได้รับการปล่อยตัว หลังถูกคุมขังกว่า 2 ชม. ได้เปิดเผยว่า ตอนที่ถูกฟ้องที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ในคดีแต่งชุดไทยร่วมม็อบแฟชั่นโชว์ ระหว่างที่รอศาลให้ประกันยังไม่ถูกควบคุมตัวในห้องขังเหมือนครั้งนี้ แต่คดีนี้ซึ่งไม่มีดูไม่มีอะไร กลับถูกขังเหมือนตนเองเป็นอาชญากร 

นอกจากนี้จตุพรยังได้โพสต์เฟซบุ๊กยืนยันถึงเหตุผลในการแชร์โพสต์เพื่อแสดงความเห็นในกรณีดังกล่าวจนเป็นเหตุให้ถูกฟ้องเป็นคดีครั้งนี้ว่า 

“ทำไมต้องออกมาวิจารณ์เรื่องวัคซีนในจังหวัดตัวเอง เพราะตัวเองก็พลอยได้ผลประโยชน์อยู่แล้ว (ฉีดก่อน มีสิทธิ์เลือก) คือเรามองว่าที่เราวิจารณ์คือการจัดการนั้นมีหลายอย่างที่เรารู้สึกสงสัย และเราเห็นตามสื่อโซเชียลประณามจังหวัดเราเรื่องนี้ และการที่เราเรียกร้องให้มีการเปิดเผยว่าวัคซีนที่ได้มาตอนนั้นฉีดให้ใครบ้าง ถ้ามองในด้านความจริงคือการให้จังหวัดเราได้ปกป้องตัวเอง และออกมาพูดและอธิบายในสิ่งที่หลายคนสงสัย สำหรับเรามองว่าถ้ามันไม่ถูกต้องก็ต้องพูด ไม่ใช่ปล่อยเลยตามเลย หรือนิ่งเฉยขนาดนี้”

ก่อนหน้านี้ หลังเข้ารับทราบข้อกล่าว จตุพรได้สะท้อนความรู้สึกที่ถูกดำเนินคดีเพียงคนเดียวโดยคนมีชื่อเสียงซึ่งเป็นคนจังหวัดเดียวกัน ขณะที่โพสต์ดังกล่าวของเพจคนไทยยูเคมีคนแชร์ในหลักหมื่นคน “อดตั้งคำถามว่าไม่ได้ว่าทำไมคนที่เรามองว่าเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งในจังหวัดถึงเลือกใช้วิธีแจ้งข้อกล่าวหา โดยไม่มีการมาเจรจาหรือชี้แจงว่าสิ่งที่เราโพสต์นั้นไม่ใช่เรื่องจริง”

.

อัยการสั่งฟ้องเพียงโพสต์ที่แชร์จากเพจ “คนไทยยูเค” จากที่พนักงานสอบสวนรับเป็นคดี 2 โพสต์

คำฟ้องของพนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์บรรยายว่า เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2564 เวลากลางวัน จําเลยได้แสดงข้อความหมิ่นประมาทใส่ความนายเนวิน ชิดชอบ ผู้เสียหาย โดยการแชร์โพสต์ข้อความของเพจ KTUK – คนไทยยูเค ในเฟซบุ๊กของตนเอง ซึ่งเปิดเป็นสาธารณะ  มีข้อความว่า 

“ประเทศบุรีรัมย์ของพ่อหลวงเนวินได้วัคซีนไฟเซอร์ไปเรียบร้อย ขโมยโควต้าไปไม่รู้เท่าไหร่ ข่าวไม่ได้ระบุจํานวน แต่ที่แน่ๆ บุรีรัมย์ไม่เคยพลาดเรื่องวัคซีน ทั้งการที่จังหวัดมีวัคซีนตลอดปีไม่เคยขาด ทั้งการได้ไฟเซอร์ไป พ่อหลวงเนวินบริหารประเทศบุรีรัมย์ได้เก่งจริงๆ 

สมแล้วที่เป็นนายทุนใหญ่แห่งพรรคภูมิใจไทย อนุทินทํางานรับใช้ให้อย่างสมพระเกียรติ สรุปแล้วผลงานของประเทศบุรีรัมย์ 1. ได้ฉีดแอสตร้าเข็มสามให้คนที่ไม่ใช่หมอ 2. ร่วมกับคมนาคม ให้น้องชาย ศักดิ์สยาม ชิดชอบ จัดรถไฟส่งผู้ป่วยกลับบ้าน 3. ได้เปิดโรงพยาบาลสนาม 4. ล่าสุดได้ไฟเซอร์ไปก่อนจังหวัดอื่นๆ ปังมากมึง 

ใครมันจะยังกระแดะเลือกพรรคนี้อีกในอนาคต ทั้งโกงกิน เล่นพรรคเล่นพวก คอร์รัปชั่นหน้าด้านๆ อนุทิน ศักดิ์สยาม เนวิน เล่นการเมืองบนชีวิตคนแบบไม่ปิดบัง เหี้ยที่สุด” 

โดยมีภาพของนายเนวิน ชิดชอบ และนายอนุทิน ชาญวีระกูล เป็นภาพประกอบโพสต์ข้อความดังกล่าว ซึ่งประชาชนทั่วไปอ่านแล้วย่อมเข้าใจว่า นายเนวิน ชิดชอบ ผู้เสียหาย เป็นคนคดโกง คอร์รัปชั่น ทุจริต เล่นพรรคเล่นพวกไม่ซื่อสัตย์ ซึ่งไม่เป็นความจริง การกระทําของจําเลยดังกล่าวจึงเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาทผู้เสียหายโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพหรือตัวอักษร โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง 

ทั้งนี้ ฐานความผิด หมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา บัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

เป็นที่สังเกตว่า ในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนได้แจ้งจตุพรถึงการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ภูวดิท ปิติภัทรชนากร (รอง ผกก.สส.ภ.จว.บุรีรัมย์) ผู้รับมอบอํานาจจากเนวิน ชิดชอบ ได้กล่าวหาจตุพรจากการแชร์โพสต์จากเพจ KTUK-คนไทยยูเค ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว 1 โพสต์ และจากการโพสต์ข้อความเองอีก 1 โพสต์ อย่างไรก็ตาม อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องจตุพรจากการแชร์โพสต์จากเพจ KTUK-คนไทยยูเค เพียงโพสต์เดียว

โดยโพสต์ของจตุพรที่อัยการไม่ฟ้องนั้น จตุพรเคยระบุว่า “ที่โพสต์ไม่ได้ระบุถึงเนวิน ชิดชอบ แต่พูดถึงคนทั้งจังหวัดว่าเราควรภูมิใจกับสิ่งที่ได้รับมาโดยไม่ชอบธรรมหรือไม่” 

ดูข้อความที่จตุพรถูกแจ้งความดำเนินคดี>> เนวิน ชิดชอบ แจ้งหมิ่นประมาทโดยโฆษณานักกิจกรรมบุรีรัมย์ปลดแอก หลังโพสต์วิจารณ์การจัดหาวัคซีนโควิดเข้าจังหวัด 

คดีนี้ยังมีข้อสังเกตว่า กรณี รอง ผกก.สส.ภ.จว.บุรีรัมย์ รับมอบอํานาจจากเนวิน ชิดชอบ เข้าแจ้งความจตุพร  นอกจากจะเป็นที่ตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการทำงานของข้าราชการตำรวจแล้ว ยังอาจส่งผลต่อความเป็นธรรมในการต่อสู้คดีของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งเป็นเพียงประชาชนธรรมดาเท่านั้น 

.

จังหวัดที่เสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองมีน้อยนิด

จตุพรเคยให้สัมภาษณ์ iLaw ระบุว่า หลังกลุ่ม ‘บุรีรัมย์ปลดแอก’ จัดกิจกรรมในเดือนสิงหาคม 2563 มีตำรวจในพื้นที่และนักการเมืองในจังหวัดพยายามเรียกนักกิจกรรมในกลุ่มรวมถึงตนเข้าไปพูดคุย หลังจากนั้นตำรวจ สันติบาล รวมถึงหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ ก็มักจะติดตามและสอบถามข้อมูลของจตุพรจากครอบครัวและคนรอบข้าง จนทำให้จตุพรตัดสินใจไม่กลับบ้านที่บุรีรัมย์ระยะหนึ่ง 

จตุพรให้ข้อมูลด้วยว่า ประชาชนทั่วไปก็พอจะทราบว่าจังหวัดนี้ขึ้นชื่อมากเรื่องไม่ต้องการให้จังหวัดมีภาพของม็อบและการชุมนุม 

ในช่วงเดือนเมษายน 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ก็ได้รับแจ้งว่า หลังจากกลุ่ม “บุรีรัมย์ Noเผด็จการ” ประกาศจัดกิจกรรม “ชาวบุรีรัมย์ทวงคืนประชาธิปไตย” ที่ศาลากลางเก่า เพื่อเรียกร้องบรรยากาศเสรีภาพทางการเมือง พร้อมกับแสดงจุดยืนปล่อยนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังในเรือนจำทั่วประเทศ นักกิจกรรมก็ถูกตำรวจติดตามจนรู้สึกไม่ปลอดภัย รวมถึงกดดันในช่วงทำกิจกรรม กระทั่งต้องเปลี่ยนรูปแบบเหลือเพียงชูป้ายบุคคลที่หายเเละผู้ต้องขังทางการเมืองเพียง 10 นาที

และเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2564 นักกิจกรรมในจังหวัดบุรีรัมย์ 3 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไปหาที่บ้านเพื่อสอบถามข้อมูลและปรามไม่ให้มีการเคลื่อนไหวในช่วงที่พระเทพฯ เสด็จจังหวัดสุรินทร์ 

สำหรับจตุพร นอกจากถูกเนวิน ชิดชอบ แจ้งความดำเนินคดีในคดีนี้ ที่บุรีรัมย์เขายังถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาอีกคดี โดยรักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ให้ตัวแทนเข้าแจ้งความ กล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจ “บุรีรัมย์ปลดแอก” โพสต์ภาพป้ายประท้วงค่าเทอมและเรียกร้องอธิการบดีที่โปร่งใสซึ่งถูกติดในมหาวิทยาลัยดังกล่าว เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2564 ซึ่งมีนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์อีก 4 ราย ถูกดำเนินคดีด้วย โดยอัยการฟ้องคดีไปก่อนหน้านี้แล้ว และมีนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 20 ธ.ค. 2564

นอกจากนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังมีคดีที่ประชาชนอย่างน้อย 4 ราย จำนวนหนึ่งถูก ศักดิ์สยาม ชิดชอบ นักการเมืองพรรคภูมิใจไทย ที่มีฐานเสียงหลักอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ แจ้งความดำเนินคดีจากการโพสต์หรือแสดงความเห็นในทำนองว่าศักดิ์สยามเกี่ยวโยงหรือเป็นต้นเหตุให้เกิดคลัสเตอร์แพร่ระบาดของโควิด -19 ในช่วงเดือนเมษายน 2564 

>> ฟ้อง! พนักงานบริษัทเอกชน ‘พ.ร.บ.คอมฯ’ กล่าวหาโพสต์ภาพชายเที่ยวสถานบันเทิงช่วงโควิด อ้าง ทำให้ ‘ศักดิ์สยาม’ เสียหาย

>> ฟ้องกราฟิกดีไซน์เนอร์ “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” เหตุแชร์โพสต์ “คนหน้าเหมือน” ช่วงโควิดระบาด อัยการบุรีรัมย์กล่าวหา ทำให้ “ศักดิ์สยาม” ได้รับความอับอาย 

>> ปรับ 5,000 บาท คดี ‘ศักดิ์สยาม’ แจ้งความ ‘พ่อค้าตลาดนัด’ ดูหมิ่นฯ หลังคอมเมนท์ด่าโยงคลัสเตอร์โควิด จำเลยรับเหตุเครียดค้าขายฝืด

>> ปรับ 8,000 บาท จำคุก 30 วัน ก่อนให้รอลงอาญา คดี ‘ศักดิ์สยาม’ แจ้งความ ‘ผู้ป่วยจิตเวช’ ดูหมิ่นฯเหตุคอมเมนท์ภาพชาย-หญิงถอดเสื้อผ้าในเฟซบุ๊ก

.

X