ปรับ 8,000 บาท จำคุก 30 วัน ก่อนให้รอลงอาญา คดี ‘ศักดิ์สยาม’ แจ้งความ ‘ผู้ป่วยจิตเวช’ ดูหมิ่นฯเหตุคอมเมนท์ภาพชาย-หญิงถอดเสื้อผ้าในเฟซบุ๊ก 

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 กุ่ย (นามสมมติ) ผู้ป่วยจิตเวช อายุ 24 ปี เดินทางจากบ้านที่จังหวัดปทุมธานีพร้อมพ่อและแม่ไปที่ สภ.เมืองบุรีรัมย์ เพื่อเข้าพบพนักงานสอบสวนหลังถูกศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ทิวา การกระสัง เข้าแจ้งความข้อหา ดูหมิ่นด้วยการโฆษณา กุ่ยถูกกล่าวหาว่าใช้เฟซบุ๊กคอมเม้นท์ภาพในเฟซบุ๊ก ทำให้ศักดิ์สยามได้รับความเสียหาย 

เวลา 11.00 น. ร.ต.อ.อนุเปรม ทุมนานอก พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์ว่า 22 กันยายน 2564 เวลาประมาณ 22.00 น. ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นในโพสต์ของบัญชีเฟซบุ๊ก “XXXX” ที่โพสต์ข้อความว่า ฝากจับศักดิ์สยาม ชิดชอบ ด้วย ใต้ข้อความมีภาพอยู่ 2 ภาพ โดยภาพทางด้านขวาเป็นภาพของชายคนหนึ่งนั่งอยู่โดยไม่สวมเสื้อ และน่าจะมีผู้หญิงอยู่ด้วย ซึ่งน่าจะไม่สวมเสื้อผ้าเช่นกัน ภาพที่โพสต์นั้นชี้นําคนอื่นว่าชายที่อยู่ในภาพคือศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคมนาคม ไปเที่ยวสถานบันเทิง แล้วถอดเสื้อผ้าอยู่กับผู้หญิงที่ถอดเสื้อผ้าเช่นกัน  ทําให้ศักดิ์สยามได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย 

โพสต์ดังกล่าวมีบุคคลแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคําหยาบคาย ดูหมิ่นศักดิ์สยาม จํานวนหลายคน ซึ่งหนึ่งในจํานวนนั้นแสดงความคิดเห็นข้อความว่า “หน้ามีความสุขมากเลยนะไอ้สัส” ซึ่งเป็นถ้อยคําที่ดูหมิ่น คําว่า “สัส” เป็นคําพ้องเสียง กับคําว่า “สัตว์” เป็นการเปรียบเทียบศักดิ์สยามว่าเป็นสัตว์ เป็นการดูหมิ่นศักดิ์สยาม ที่อยู่ในคณะรัฐมนตรี ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง 

พนักงานสอบสวนแจ้งว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน “ดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา” อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ หรือความผิดเล็กๆ น้อยๆ ที่มีโทษเบาหรือโทษที่ไม่ร้ายแรง แม้ว่าบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาไม่ได้ระบุว่า มีการสืบสวนสอบสวนแล้วพบว่า บัญชีเฟซบุ๊กที่แสดงความเห็นต่อรูปภาพดังกล่าวเป็นเฟซบุ๊กของกุ่ย

อย่างไรก็ตาม กุ่ยให้การสารภาพตลอดข้อกล่าวหา  เนื่องจากตัดสินใจมาจากบ้านแล้วว่า หากต่อสู้คดีจะต้องเสียเวลาในการเดินทางจากบ้านที่อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี มาที่จังหวัดบุรีรัมย์ ในระยะทางไปกลับกว่า 760 กิโลเมตร อยู่อีกหลายครั้ง ทำให้เสียค่าใช้จ่าย และครอบครัวก็เห็นว่าด้วยกุ่ยเป็นผู้ป่วยทางจิตเวช มีลักษณะอาการสมาธิสั้น ไม่สะดวกในการเดินทางที่ต้องใช้ระยะเวลานานหลายชั่วโมงต่อครั้ง จึงปรึกษากันว่าให้กุ่ยรับสารภาพน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

หลังกุ่ยเซ็นเอกสารรับทราบข้อหาและพิมพ์ลายนิ้วมือ พนักงานสอบสวนส่งตัวไปที่สำนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ในช่วง 13.00 น. จากนั้นเดินทางต่อไปที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์  ระหว่างที่รอกระบวนการที่อัยการฟ้องด้วยวาจาและศาลมีคำพิพากษา กุ่ยต้องไปอยู่ในห้องคุมขังใต้ถุนศาล แม้ทนายความจะชี้แจงขออนุญาตตำรวจศาลให้กุ่ยนั่งอยู่บริเวณด้านนอกห้องคุมขังกับครอบครัว แต่ก็ไม่เป็นผล ตำรวจแจ้งว่าคดีนี้เป็น ‘คดีบ้านใหญ่’ จึงไม่สามารถผ่อนปรนให้ได้

กระทั่งเวลา 15.30 น. ผู้พิพากษาศาลจังหวัดบุรีรัมย์จึงอ่านคำพิพากษาผ่านคอนเฟอเรนซ์ว่า พิพากษาลงโทษปรับ 8,000 บาท จำคุก 30 วัน รับสารภาพลดโทษครึ่งหนึ่ง เหลือปรับ 4,000 บาท จำคุก 15 วัน โทษจำคุกให้รอการลงโทษเป็นเวลา 1 ปี 

หลังฟังคำพิพากษา ภัทรพงษ์ วรรณพงษ์ ทนายความเครือข่ายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องเหนือความคาดหมายที่ศาลพิพากษาปรับในอัตราที่สูงถึง 8,000 บาท และมีโทษจำคุกด้วย เพราะดูจากพฤติการณ์ของกุ่ย และภาพหลักฐานที่พนักงานสอบสวนนำมาแสดงต่อกุ่ยและทนายนั้น ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นภาพศักดิ์สยาม ชิดชอบ และภาพดังกล่าวนั้นเป็นที่สงสัยว่า ทำให้ศักดิ์สยามเสียหายได้อย่างไร อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับคดีดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณาในกรณีใกล้เคียงกัน ศาลพิพากษาปรับ 5,000 บาท และไม่มีโทษจำคุก การที่ศาลลงโทษปรับถึง 8,000 บาท และจำคุก 30 วัน จึงเป็นที่สงสัยว่า ศาลใช้บรรทัดฐานใดในการพิพากษาคดี  

ทนายความกล่าวด้วยว่าหากจำเลยไม่พอใจต่อคำตัดสิน ก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน โดยทางครอบครัวกุ่ยแจ้งว่าจะนำเรื่องไปปรึกษากันก่อน เพราะแม้จะอยากสู้คดีต่อแค่ไหน ก็ต้องประเมินอาการโรคทางประสาทของกุ่ยด้วย หากจะต้องเดินทางมาฟังคำพิพากษาอีกครั้ง 

อย่างไรก็ตาม กุ่ยเสียค่าปรับ 4,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ในการชำระค่าปรับต่อศาล เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมด ครอบครัวกุ่ยจึงเดินทางด้วยรถไฟจากบุรีรัมย์กลับจังหวัดปทุมธานีในช่วงเวลา 17.00 น. 

สำหรับกุ่ยปัจจุบันอายุ 24 ปี เรียนจบชั้น ปวช. ด้านการก่อสร้าง อาศัยอยู่กับพ่อแม่ที่คอยดูแลอาการป่วยจิตเวช กุ่ยมีบัตรประจำตัวคนพิการที่ระบุประเภท 4 พิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม  ตลอดทั้งวันที่ สภ.เมืองบุรีรัมย์ ที่สำนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ จนถึงศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ระหว่างรอการพิจารณาคดี กุ่ยมักขอตัวออกไปทำสมาธิเงียบๆ คนเดียว 

พ่อของกุ่ยเล่าว่าเขาเริ่มมีอาการทางจิตตั้งแต่ปี 2562 ในระหว่างที่สมัครไปเป็นทหารเกณฑ์ในค่ายแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยกุ่ยเล่าให้ครอบครัวฟังว่า เขาเคยถูกครูฝึกและรุ่นพี่ทหารเกณฑ์ซ้อมอยู่บ่อยครั้ง กระทั่งทหารเคยเอากุ่ยไปติดคุกในค่ายทหารแบบไม่มีกำหนด โดยไม่ทราบสาเหตุว่าทำความผิดอะไร ครั้นเวลาผ่านไปราว 3 เดือน กุ่ยหลบหนีออกจากคุกดังกล่าวไปหลบที่บ้านเพื่อน ก่อนโทรบอกครอบครัวให้ไปรับ อย่างไรก็ตามครอบครัวไม่เชื่อว่าเขาสามารถหนีออกจากคุกทหารได้ จึงไปตามหาที่ค่ายก่อนจะพบว่าไม่เจอเขาอยู่ที่นั่น จึงไปหากุ่ยที่บ้านเพื่อนก่อนพาตัวกลับมาค่ายทหาร และขอร้องทหารว่าอย่าทำร้ายร่างกายกุ่ยอีก  

พ่อเล่าอีกว่า หลังปลดประจำการณ์ หลายครั้งกุ่ยคิดว่าตัวเองมีครอบครัวแล้ว กุ่ยพยายามออกไปตามหาแฟนสาวและลูก ทั้งที่ชีวิตจริงกุ่ยยังไม่ได้แต่งงานหรือมีแฟน ครอบครัวจึงตัดสินใจพาตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลศรีธัญญา จึงทราบว่าเขามีอาการทางจิตเวช โดยทุกวันนี้กุ่ยยังต้องกินยาจากโรงพยาบาลเพื่อระงับอาการ ปกติกุ่ยจะใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อติดตามข่าวสารบ้านเมืองบ้าง และมักจะโพสต์และคอมเมนท์ในเฟซบุ๊ก แต่ก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าการคอมเมนท์ที่เขาเองก็ไม่รู้แน่ชัดว่าภาพนั้นเป็นของศักดิ์สยามจริงหรือไม่ จะนำมาสู่การถูกดำเนินคดีครั้งนี้ 

นอกจากคดีของกุ่ย จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังมีคดีเกี่ยวกับการ ดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา, หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่เกิดจากการโพสต์หรือแสดงความเห็นต่อ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ นักการเมืองพรรคภูมิใจไทย ที่มีฐานเสียงหลักอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์  ในทำนองว่าเกี่ยวโยงหรือเป็นต้นเหตุให้เกิดคลัสเตอร์แพร่ระบาดของโควิด -19 อีกอย่างน้อย 3 คดี ซึ่งผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดเป็นประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล การดำเนินคดีดังกล่าวจึงเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนที่หาเช้ากินค่ำในการเดินทางข้ามภาคมารับทราบข้อกล่าวหาหรือต่อสู้คดี ทำให้มี 2 ราย รวมทั้งกุ่ยที่ตัดสินใจให้การรับสารภาพ เพื่อยุติภาระดังกล่าว     

ชาคริต เพ็งปาน พ่อเลี้ยงเดี่ยว พ่อค้าตลาดนัดในสมุทรสาคร อายุ 45 ปี ถูกดำเนินคดี ดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 293 หลังคอมเมนท์ด่าศักดิ์สยาม โยงคลัสเตอร์โควิด ช่วงเมษายน 2564 หลังชาคริตให้การรับสารภาพ ศาลจังหวัดบุรีรัมย์พิพากษาลงโทษปรับเป็นเงิน 5,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือปรับ 2,500 บาท 

>>> ปรับ 5,000 บาท คดี ‘ศักดิ์สยาม’ แจ้งความ ‘พ่อค้าตลาดนัด’ ดูหมิ่นฯ หลังคอมเมนท์ด่าโยงคลัสเตอร์โควิด จำเลยรับเหตุเครียดค้าขายฝืด

ก็อต (นามสมมติ) กราฟิกดีไซเนอร์ที่บริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ถูกดำเนินคดีข้อหา หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา หลังจากที่แชร์โพสต์เฟซบุ๊กพาดพิงถึงศักดิ์สยามกับสถานบันเทิง ในช่วงคลัสเตอร์แพร่ระบาดโควิด-19 จากย่านทองหล่อ หลังอัยการยื่นฟ้องคดีในเดือนสิงหาคม ศาลนัดคุ้มครองสิทธิและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564

>>> ฟ้องกราฟิกดีไซน์เนอร์ “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” เหตุแชร์โพสต์ “คนหน้าเหมือน” ช่วงโควิดระบาด อัยการบุรีรัมย์กล่าวหา ทำให้ “ศักดิ์สยาม” ได้รับความอับอาย

และคดีของ ซี (นามสมมติ) พนักงานบริษัทในกรุงเทพฯ ที่ถูกดำเนินคดี กรณีมีผู้ใช้ทวิตเตอร์โพสต์ภาพชายคนหนึ่งขณะเที่ยวสถานบันเทิง พร้อมข้อความที่เชื่อมโยงศักดิ์สยาม โดยซีถูกพนักงานสอบสวนตั้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 หลังอัยการสั่งฟ้องในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ศาลนัดคุ้มครองสิทธิและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 9 ธันวาคม 2564

>>> ฟ้อง! พนักงานบริษัทเอกชน  ‘พ.ร.บ.คอมฯ’ กล่าวหาโพสต์ภาพชายเที่ยวสถานบันเทิงช่วงโควิด อ้าง ทำให้ ‘ศักดิ์สยาม’ เสียหาย

นอกจากนี้ยังมีคดีที่ มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ถูกดำเนินคดีในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กรณีไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2564 ระบุว่าศักดิ์สยามไปเที่ยวผับย่านทองหล่อ และทําให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมงคลกิตติ์ให้การปฏิเสธ และต้องประกันตัวในชั้นสอบสวน เนื่องจากศาลจังหวัดบุรีรัมย์อนุมัติหมายจับเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2564 โดยตำรวจอ้างว่า มงคลกิตติ์ไม่มาตามหมายเรียก 

X