แจ้งเพิ่มเติม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 6 นักกิจกรรม 2 คดีชุมนุมหน้ารัฐสภา เรียกร้องแก้ รธน.-รับ รธน.ฉบับประชาชน

4 ก.พ. 2564 ที่ สน.บางโพ 6 นักศึกษา-นักกิจกรรม เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมใน 2 คดี จากกรณีชุมนุมหน้ารัฐสภา #ไปสภาไล่ขี้ข้าศักดินา เรียกร้องให้รัฐสภาเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในทุกหมวดเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2563 และ #ม็อบ17พฤศจิกา ติดตามการพิจารณาลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเป็นข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ ม.215 มั่วสุมก่อความวุ่นวาย

ในคดีการชุมนุม #ไปสภาไล่ขี้ข้าศักดินา เมื่อ 24 ก.ย. 2563 ซึ่งมี พ.ต.อ.สุรเดช พจนาวงษ์พานิช ผู้กำกับ สน.บางโพ เป็นผู้กล่าวหา มีนักกิจกรรมถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น 6 คน โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2563 พ.ต.ท.เทวา บุญชาเรือง พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว รวม 5 ข้อหา ได้แก่ ชุมนุมสาธารณะกีดขวางทางเข้าออกสถานที่ทำการของหน่วยงานรัฐ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, กีดขวางทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385, กระทำด้วยประการใดๆ บนทาง และกระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรฯ และใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ

ส่วนอีก 5 คน ได้แก่ “อั๋ว” จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, “ฟอร์ด” ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี, “บอล” ชนินทร์ วงศ์ศรี และเกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ ถูกออกหมายเรียกและแจ้งข้อกล่าวหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

ภาพจาก MOB DATA THAILAND

>> ตร.บางโพแจ้งม.116 สี่นักกิจกรรม ชุมนุม #ไปสภาไล่ขี้ข้าศักดินา กล่าวหาปราศรัยพาดพิงกษัตริย์

ต่อมา เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศใช้กฎหมายทุกมาตรากับผู้ชุมนุม จนทำให้มีการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาดำเนินคดีแกนนำและประชาชนที่แสดงออกทางการเมือง พนักงานสอบสวนคดีนี้ก็ได้ออกหมายเรียกจุฑาทิพย์, ภัสราวลี, ทัตเทพ, ชนินทร์ และเกียรติชัย ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพิ่มเติม เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2563

>> ตร.บางโพแจ้งม.112 ห้านักกิจกรรม ปราศรัยถึงอำนาจกษัตริย์หน้ารัฐสภา

 

ในครั้งนี้พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกนักกิจกรรม 5 คน เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีกเป็นครั้งที่ 2 โดยมีจุฑาทิพย์, ภัสราวลี, ทัตเทพ และชนินทร์ เดินทางมาตามหมาย ส่วนเกียรติชัยติดภารกิจ จะเข้ารับทราบข้อหาในวันที่ 6 ก.พ. พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์ว่า ผู้ต้องหาได้ร่วมการชุมนุมดังกล่าว มีการปราศรัย เรียกร้อง เชิญชวน ในลักษณะอันก่อให้เกิดความวุ่นวายและก่อความไม่สงบขึ้น อีกทั้งในการชุมนุมที่มีคนจํานวนมากๆ อาจจะมีความใกล้ชิดกัน ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายแพร่ออกไป เนื่องจากในขณะที่มีการชุมนุมนั้นกำลังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตราย

พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมทั้ง 4 คน รวม 5 ข้อหา ได้แก่

  1. ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปเพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. ร่วมกันกระทำการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นเหตุให้โรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
  3. ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  4. ร่วมกันชุมนุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  5. ร่วมกันจัดการชุมนุมโดยไม่ได้จัดให้ผู้เข้าร่วมปฏิบัติตามมีมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด ฝ่าฝืนตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ จุฑาทิพย์ยังถูกแจ้งอีก 1 ข้อหา คือ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เนื่องจากปฏิเสธไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือในการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2563 ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ภาพจาก MOB DATA THAILAND

นักกิจกรรมทั้งสี่ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 4 มี.ค. 2564 โดยในช่วงเช้าซึ่งจุฑาทิพย์เข้ารับทราบข้อกล่าวหา พ.ต.ต.ชาญชาตรี สีดาคำ รอง ผกก. (สอบสวน) แจ้งว่าให้ส่งคำให้การภายใน 7 วัน แต่จุฑาทิพย์ยืนยันว่าจะยื่นคำให้การในวันที่ 4 มี.ค. 2564

ในเหตุของคดีนี้ย้อนไปวันที่ 24 ก.ย. 2563 กลุ่มประชาชนในนาม “คณะประชาชนปลดแอก” จัดชุมนุมที่หน้าอาคารรัฐสภา เกียกกาย ระหว่างที่มีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยผู้ชุมนุมมีการเรียกร้องให้สภาเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในทุกหมวด, การลดอำนาจ ส.ว. และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่ในวันดังกล่าว สภาได้ลงมติให้มีการตั้งกรรมาธิการศึกษาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นเวลา 1 เดือนก่อน

ส่วนคดีการชุมนุม #กูสั่งให้มึงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หรือ #ม็อบ17พฤศจิกา  มี พ.ต.อ.สุรเดช พจนาวงษ์พานิช ผู้กำกับ สน.บางโพ เป็นผู้กล่าวหา เช่นเดียวกัน และมีนักกิจกรรมถูกดำเนินคดีรวม 6 คน ก่อนหน้านี้ อานนท์ นำภา เข้ารับทราบข้อกล่าวหาไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ และ “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ขณะที่ “ไมค์” ภาณุพงษ์ จาดนอก, “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว, วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล และเอกชัย หงส์กังวาน ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ไม่แจ้งการชุมนุม เพียงข้อหาเดียว ส่วน “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ถูกแจ้งรวม 3 ข้อหา คือ ไม่แจ้งการชุมนุม, ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปเพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215

>> อานนท์ถูกแจ้ง 2 คดีรวดพ่วง ม.112 กรณีชุมนุม #ม็อบ17พฤศจิกา หน้ารัฐสภาเกียกกาย

>> 3 ‘ราษฎร’ ร่วม #ม็อบ17พฤศจิกา หน้ารัฐสภา เกียกกาย ปฏิเสธข้อหาร่วมกันจัดการชุมนุม

ต่อมา มีการแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนชุดใหม่ และพบว่ายังแจ้งข้อกล่าวหาไม่ครบ จึงได้แจ้งให้ผู้ต้องหาทั้งหกมารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม โดยมีภาณุพงษ์และวีรวิชญ์ เข้าพบพนักงานสอบสวนในวันนี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมทั้งสองคนรวม 5 ข้อหา เช่นเดียวกับที่แจ้งเพิ่มเติม 4 ผู้ต้องหาในคดีชุมนุม 24 ก.ย. 2563 ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 3 ข้อหา

ทั้งนี้ ในการแจ้งพฤติการณ์แห่งคดี พนักงานสอบสวนได้ยกคำกล่าวปราศรัยของอานนท์ นำภา ซึ่งตั้งคำถามต่อสถาบันกษัตริย์มาบรรยายอย่างละเอียด ก่อนระบุว่า ในการชุมนุมดังกล่าวมีการปราศรัย ซึ่งภาณุพงษ์และวีรวิชญ์ได้เรียกร้อง เชิญชวน เพื่อให้ประชาชนที่มาร่วมชุมนุมกระทําการในลักษณะจะก่อความวุ่นวายและก่อความไม่สงบขึ้น มีการกล่าวปราศรัยในลักษณะกดดันให้ สส. สว. รับร่างรัฐธรรมนูญ หากไม่รับจะมีการชุมนุมใหญ่กว่าเดิม ซึ่งมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ อีกทั้งในการชุมนุมที่มีคนจํานวนมากๆ อาจจะมีความใกล้ชิดกัน ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายแพร่ออกไป เนื่องจากในขณะที่มีการชุมนุมนั้นกำลังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตราย

ภาณุพงษ์และวีรวิชญ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 4 มี.ค. 2564 โดยภาณุพงษ์ปฏิเสธที่จะลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา

ในส่วนอานนท์ นำภา ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแล้ว เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา พริษฐ์และชลธิชาจะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในวันที่ 8 และ 15 ก.พ. ตามลำดับ

>> สน.บางโพแจ้งข้อหา “อานนท์” เพิ่มอีก 6 ข้อหา เหตุขึ้นปราศรัย #ม็อบ17พฤศจิกา

การชุมนุมในวันที่ 17 พ.ย. 2563 ที่หน้ารัฐสภา เป็นการติดตามการพิจารณาลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ รวมถึงร่างที่ประชาชนกว่า 1 แสนราย ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่าง แต่ขณะยังไม่ทันเริ่มการชุมนุม ก็ถูกชุดควบคุมฝูงชนฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุม จนมีผู้ชุมนุมตลอดจนประชาชนที่เดินทางผ่านได้รับบาดเจ็บหลายราย

หลังการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มากว่า 10 เดือน โดยอ้างเหตุผลในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการนำข้อหานี้มาดำเนินคดีกับการชุมนุมทางการเมืองอย่างน้อย 73 คดีแล้ว

 

X