‘ไผ่’ และ ‘แอมมี่’ เผชิญอีก 4 ข้อหา #ม็อบซ้อมต้านรัฐประหาร ที่ห้าแยกลาดพร้าว

วันนี้ (3 กุมภาพันธ์ 2564) ไชยอมร แก้ววิบูลพันธุ์ หรือ “แอมมี่ The Bottom Blues” และ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” เดินทางไปที่ สน.พหลโยธิน เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหาคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และกีดขวางทางสาธารณะ จากเหตุชุมนุม #27พฤศจิกาไปห้าแยกลาดพร้าว หรือ #ม็อบซ้อมต้านรัฐประหาร ที่ห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 โดยทั้งสองให้การปฏิเสธ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงครามเข้ามาแจ้งความ ไชยอมรตามข้อหายุยงปลุกปั่นฯ ตามมาตรา 116 จากการชุมนุมที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 อีกด้วย

พ.ต.ต.ศักดินาถ หนูฉ้ง พนักงานสอบสวน แจ้งพฤติการณ์ที่ทั้งคู่ถูกกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งมีการชุมนุมที่หน้าอาคารสำนักงานใหญ่ไทยพาณิชย์ พร้อมกับนัดหมายชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563

ต่อมาทวิตเตอร์บัญชี “ธรรมศาสตร์และการชุมนุม” โพสต์เชิญชวนให้ประชาชน ร่วมชุมนุมบริเวณห้าแยกลาดพร้าว เพื่อซ้อมการต้านรัฐประหาร จนถึงวันเกิดเหตุ ประชาชนได้มีการรวมตัวและนำแผงเหล็กปิดถนนบริเวณห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งผู้จัดชุมนุมไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ทั้งไม่แจ้งผ่อนผันกำหนดเวลาต่อผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 2 ก่อนเริ่มการชุมนุม และในวันดังกล่าวเจ้าพนักงานได้ประกาศให้เลิกการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมยังคงทำกิจกรรมต่อไป มีการนำรถขยายเสียง และตั้งเวทีปราศรัย โดยไม่ได้รับอนุญาต

พนักงานสอบสวนยังระบุว่าในวันดังกล่าว ไชยอมรได้ขึ้นเวทีร้องเพลง ขณะที่จตุภัทร์บันทึกข้อกล่าวหาระบุว่าเขาเป็นผู้ปราศรัย จึงเชื่อได้ว่าผู้ต้องหาได้ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยได้มีการตกลงคบคิด แบ่งหน้าที่กันทำ และเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วม ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวมีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก และผู้ชุมนุมบางคนไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากทางเลือก และเว้นระยะห่างทางสังคม มีโอกาสสัมผัสกันได้ง่าย เสี่ยงต่อการติดโรคระบาดโควิด-19

สำหรับ 4 ข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งต่อไชยอมรและจตุภัทร์มีดังนี้

1.ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม ก่อนเริ่มชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

2.ร่วมกันจัดกิจกรรมชุมนุมโดยไม่ได้ให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3.ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่อขยายเสียงฯ มาตรา 4 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 200 บาท

4.ร่วมกันวางสิ่งกีดขวางทางสาธารณะจนเป็นอุปสรรคต่อความสะดวกในการจราจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

ทั้งไชยอมร และจตุภัทร์ ต่างให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

คดีนี้มีผู้เข้าร่วมชุมนุมและขึ้นเวทีปราศรัยถูกกล่าวหาดำเนินคดีรวม 9 ราย ก่อนหน้านี้มีการแจ้งข้อหาไปแล้ว 7 ราย ได้แก่ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์, นันทพงศ์ ปานมาศ, พรหมศร วีระธรรมจารี, สหรัฐ สุขคำหล้า (สามเณรโฟล์ค) และอานนท์ นำภา

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 64 พนักงานสอบสวนได้มีการออกหมายเรียกเพิ่มเติมบุคคลอีก 7 ราย ได้แก่ ธนายุทธ ณ อยุธยา แร็ปเปอร์จากวง Eleven Finger, รพีพร ตันตระกูล หรือ “ลูกพีช” นักร้อง อดีตผู้ประกวดในรายการ The Voice Thailand, จิรายุ สูตรไชย นักร้องหมอลำวง “กู่แคน”, ปกรณ์ พรชีวางกูร หรือ “เฮียบุ๊ง”, ปนัดดา ศิริมาศกูล นักศึกษาผู้ร่วมเป็นพิธีกรในงานชุมนุมดังกล่าว, สุวรรณา ตาลเหล็ก จากกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และวีระวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล โดยระบุให้ทั้งหมดไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.พหลโยธิน ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564

สำหรับ #ม็อบซ้อมต้านรัฐประหาร เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 63 เป็นการนัดชุมนุมของ “คณะราษฎร” เพื่อซ้อมต้านรัฐประหาร หลังมีข่าวลือการประกาศกฎอัยการศึก และความกังวลว่าอาจมีการรัฐประหารเกิดขึ้น เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ และยานพาหนะของกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน โดยผู้ชุมนุมได้ใช้เป็ดยาง, หเอเลี่ยน, นกยูง, ม้ายูนิคอน, และพิซซ่า มาเป็นตัวแทนคณะรัฐประหาร โดยซักซ้อมชูสามนิ้ว และโห่ใส่กองทัพตุ๊กตายางดังกล่าว

 

แอมมี่ The Bottom Blues รับ 116 อีกคดี ชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร

หลังรับทราบข้อกล่าวหาคดีม็อบซ้อมต้านรัฐประหารเสร็จสิ้น พนักงานสอบสวนสน.ชนะสงครามที่เดินทางมาที่สน.พหลโยธิน ได้เข้าแจ้งข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 กับไชยอมร อีกคดีหนึ่ง โดยก่อนหน้านี้มีการแจ้งข้อหานี้เพิ่มเติมกับผู้ชุมนุมไปแล้ว 14 ราย แต่ไชยอมรยังไม่ได้เข้ารับทราบข้อหาเพิ่มเติม

พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์  พนักงานสอบสวน บรรยายพฤติการณ์ว่า ก่อนเกิดเหตุกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ประกาศนัดหมายผ่านโซเชียลมีเดีย ว่าจะจัดกิจกรรม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร ต่อมาในวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ท่าพระจันทร์ และพื้นที่สนามหลวง ปรากฎกลุ่มผู้ชุมนุมทยอยเดินทางมารวมตัวกันบริเวณดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ชนะสงครามได้ประชาสัมพันธ์และแจ้งข้อกฎหมายผ่านรถติดเครื่องขยายเสียงให้ยุติกิจกรรม ก่อนที่ ปนัสยา หรือ “รุ้ง” จะปราศรัยเชิญชวนกลุ่มคนให้มารวมตัวกันให้มากที่สุดเพื่อจะเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อกดดันเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยให้เปิดประตู

กลุ่มผู้ชุมนุมร่วมกันผลักดันประตูรั้ว จึงสามารถเข้าไปในมหาวิทยาลัยได้ กระทั่งมีการใช้รถเวทีปราศรัยเคลื่อนที่พร้อมเครื่องขยายเสียงในการปราศรัย มีกลุ่มผู้ชุมนุมหนึ่งจำนวนหนึ่งตัดแม่เหล็กของกุญแจประตูด้านท่าเรือท่าพระจันทร์ และมีการเคลื่อนตัวไปยังสนามหลวง

ไชยอมร ผู้ต้องหา พร้อมกลุ่มผู้ชุมนุมพังรั้วกำแพงของกรุงเทพมหานครบริเวณฝั่งศาลฎีกา เข้ามาในสนามหลวง ทำให้รั้วของกรุงเทพมหานครเสียหาย มีการผลักดันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบกลุ่มการ์ดพร้อมคีมตัดกุญแจ เดินตัดกุญแจรอบสนามหลวง ภายหลังมีการตั้งเวทีปราศรัยใหญ่ แกนนำสลับกันปราศรัย จนต่อมาวันที่ 20 กันยายน 2563 กลุ่มผู้ชุมนุมทำพิธีปักหมุดคณะราษฎร์ โดยนำหมุดมาฝังลงบนพื้นที่ท้องสนามหลวง  ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการเจาะทำลายพื้นบริเวณดังกล่าวเพื่อใช้ในการประกอบพิธี ทำให้พื้นปูนสนามหลวงได้รับความเสียหาย

พนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าไชยอมร กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 มีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี เจ้าตัวให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายใน 30 วัน

ก่อนหน้านี้ในเหตุชุมนุม 19-20 กันยายน 2563 ที่มีประชาชนจำนวนมากถูกดำเนินคดีในหลายข้อหา ไชยอมร เคยถูกแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 เรื่องการร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายฯ และข้อหาทำให้เสียทรัพย์ จากข้อกล่าวหาเรื่องการพั้งรั้วสนามหลวงของกรุงเทพมหานคร และกรณีพบการตัดกุญแจ

>>> แจ้งม.116 14 ประชาชนเพิ่ม หลังรับทราบข้อหาคดีชุมนุม “19 กันยา” ​ไปแล้วปีก่อน

 

 

X