ก่อนจะถึง 14 ตุลา: ภาพรวม “การคุกคามประชาชน” หลังเยาวชนเริ่มปลดแอก

#หยุดคุกคามประชาชน เป็นหนึ่งในสามข้อเรียกร้องที่ “เยาวชนปลดแอก” ประกาศปักธงไว้ในการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63 ผ่านมาเกือบ 3 เดือนหลังการชุมนุมดังกล่าว ผ่านการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาและประชาชนจำนวนนับร้อยครั้งทั่วประเทศ นอกจากข้อเรียกร้องจะไม่ได้รับการตอบสนองแล้ว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังพบว่าการคุกคามติดตามประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขยายตัวไปยังนักเรียน-นักศึกษากลุ่มใหม่ๆ ที่ออกมาร่วมแสดงออกทางการเมือง

รูปแบบต่างๆ ของการพยายามปิดกั้นการใช้เสรีภาพของประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งการติดตามตัวถึงบ้าน การคุกคามบุคคลในครอบครัว การพยายามขัดขวางแทรกแซงการรวมตัวชุมนุม การปิดกั้นการใช้สถานที่ การใช้ “กฎหมาย” และ “กระบวนการยุติธรรม” เป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นต้น ดูเหมือนจะกลายเป็นรูปแบบการใช้อำนาจรัฐที่เติบโตไปทั่ว และถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติในสังคม มาตั้งแต่ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 

แม้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ที่ไม่มี คสช. อยู่แล้วก็ตาม ตำรวจ-ทหาร-หน่วยงานความมั่นคง ยังคง “วัฒนธรรมการคุกคาม” ประชาชนสืบเนื่องต่อมา และยังไม่มีทีท่าจะยุติลง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในรอบเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมา และได้รับรายงานการติดตามคุกคามอย่างกว้างขวาง รายงานนี้สำรวจสถิติและภาพรวมของการคุกคามที่เกิดขึ้นกับประชาชนโดยสังเขป ก่อนถึงวันนัดหมายชุมนุมใหญ่ 14 ต.ค. นี้อีกครั้ง

 

เกือบ 3 เดือนหลังเยาวชนปลดแอก ชุมนุมไม่น้อยกว่า 246 ครั้ง ใน 62 จังหวัด 

จากการติดตามของศูนย์ทนายฯ ตั้งแต่การชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 10 ต.ค. 63 เป็นระยะเวลา 85 วัน มีการประกาศจัดชุมนุมสาธารณะเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้ จำนวนทั้งสิ้นอย่างน้อย 246 การชุมนุม ในพื้นที่อย่างน้อย 62 จังหวัด (โดยเฉลี่ยมีการชุมนุมวันละ 2.9 ครั้ง หรือเกือบ 3 ครั้งต่อวัน)

สถิตินี้ยังไม่รวมการแสดงออกต่างๆ ภายในโรงเรียน ซึ่งเกิดขึ้นจำนวนมากในหลายพื้นที่ภายหลังการชุมนุมใหญ่ของ “ประชาชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 16 ส.ค. เป็นต้นมา และการติดตามกิจกรรมยังยากจะทำได้ถ้วนทั่ว

 

 

สำหรับพื้นที่จัดการชุมนุมนั้น เกิดขึ้นในพื้นที่สถานศึกษาจำนวน 74 การชุมนุม โดยแยกเป็นมหาวิทยาลัย 43 ครั้ง และโรงเรียน 31 ครั้ง นอกจากนั้นเป็นการจัดกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ หรือจุดสำคัญของจังหวัดต่างๆ รวมทั้งมีการจัดชุมนุมให้กำลังใจผู้ถูกควบคุมตัวจากการแสดงออกทางเมืองที่หน้าสถานีตำรวจ ศาล และเรือนจำ

จังหวัดที่มีการจัดกิจกรรมแยกเป็นพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและตอนล่างรวม 13 จังหวัด ภาคอีสาน 19 จังหวัด ภาคกลางและภาคตะวันออก 19 จังหวัด และภาคใต้ 10 จังหวัด 

จังหวัดที่มีการจัดกิจกรรมมากที่สุดคือกรุงเทพมหานคร มีการจัดกิจกรรมชุมนุมถึงอย่างน้อย 76 ครั้ง ส่วนจังหวัดที่มีการจัดชุมนุมมากเป็นอันดับรองลงมา ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น มีกิจกรรมอย่างน้อย 12 ครั้ง ตามมาด้วยจังหวัดเชียงใหม่ มีกิจกรรมอย่างน้อย 11 ครั้ง และจังหวัดอุบลราชธานี สงขลา และปทุมธานี มีกิจกรรมอย่างน้อยจังหวัดละ 8 ครั้ง

ในส่วน 15 จังหวัดที่พบว่ายังไม่เคยมีการจัดชุมนุมนั้น (แต่อาจมีการแสดงออกและเคลื่อนไหวภายในสถานศึกษา หรือมีกิจกรรมที่ศูนย์ทนายฯ ไม่ทราบข้อมูล) ได้แก่ มุกดาหาร, แม่ฮ่องสอน, อุตรดิตถ์, พิจิตร, สิงห์บุรี, สระบุรี, อ่างทอง, อุทัยธานี, ตราด, ประจวบคีรีขันธ์, เพชรบุรี, ชุมพร, พังงา, ระนอง และนราธิวาส  แต่ในจังหวัดเหล่านี้ ก็มีรายงานการคุกคามประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อพยายามไม่ให้เกิดการจัดกิจกรรมขึ้นในพื้นที่นั้นๆ ด้วย

ในจำนวน 246 การชุมนุม ยังพบว่ามีกิจกรรมที่ประกาศจัด แต่สุดท้ายไม่สามารถจัดขึ้นได้จำนวน 15 กิจกรรม ส่วนใหญ่ถูกกดดันจากทางโรงเรียน หรือเจ้าหน้าที่รัฐให้ต้องยกเลิกกิจกรรม (นับกรณีที่ผู้จัดประกาศยกเลิกกิจกรรม แต่อาจมีประชาชนที่ทราบข่าวไปชุมนุมหรือแสดงออกแทนด้วย)

กรณีลักษณะนี้ เช่น กิจกรรม #คนเพชรบูรณ์จะไม่ทน ที่อำเภอหล่มสัก เพชรบูรณ์ ผู้จัดได้ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าควบคุมตัวไปพูดคุยกับผู้กำกับการที่สถานีตำรวจ โดยไม่มีหมายใดๆ และมีการข่มขู่จะดำเนินคดี จนผู้จัดต้องประกาศยกเลิกกิจกรรม แม้ต่อมาจะมีผู้ไปชูป้ายแสดงออกตามกำหนดการเดิมอยู่จำนวนหนึ่งก็ตาม

กิจกรรม #สุพรรณจะไม่ทน2 ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ผู้จัดต้องตัดสินใจยกเลิกกิจกรรม เนื่องจากกังวลเรื่องการดูแลความปลอดภัยผู้ปราศรัยและผู้เข้าร่วมชุมนุม หลังจากถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐ และมีเจ้าหน้าที่ไปบ้านผู้ปราศรัยซึ่งเป็นนักเรียนมัธยม ถึง 3 ครั้ง อ้างว่าต้องมาดูแลความปลอดภัยทุก 1 ชั่วโมง 

หรือกรณี #เมืองอำนาจไม่เอาเผด็จการ ที่จังหวัดอำนาจเจริญ ผู้จัดถูกเจ้าหน้าที่ติดตามคุกคามถามข้อมูลส่วนตัวอย่างต่อเนื่องทั้งที่บ้าน และกับคนละแวกบ้านตั้งเเต่วัดจนถึงตลาด ตลอดจนมีการปิดตลาดนัดโดยให้เหตุผลว่า เกรงจะมีม็อบชนม็อบ ทำให้ผู้จัดต้องยกเลิกกิจกรรม และเปลี่ยนไปจัดในลักษณะออนไลน์แทน

ขณะที่กิจกรรมในพื้นที่โรงเรียน ก็เผชิญกับการปิดกั้นห้ามปราม จนต้องยกเลิกในหลายโรงเรียน เช่น กิจกรรม #หอวังจะพังเผด็จการ ที่โรงเรียนหอวัง ผู้จัดได้ถูกผู้อำนวยการเรียกตัวไปพูดคุย โดยมีครูหลายสิบคน และตำรวจ 2 นายมาคุยด้วย โดยพยายามตั้งเงื่อนไขการจัดกิจกรรม ทั้งการให้ผู้เข้าร่วมลงชื่อก่อน และนักเรียนที่จะร่วมต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง ทำให้นักเรียนผู้จัดตัดสินใจยกเลิกกิจกรรม เนื่องจากเกรงจะเกิดการคุกคามขึ้น

ส่วนที่สตรีวิทยา 2 และขอนแก่นวิทยายน โรงเรียนมีการฉีดพ่นยาฆ่ายุงในช่วงเวลาที่นักเรียนมีการนัดหมายชุมนุม และยังมีตำรวจเข้ามาสอดส่องภายในโรงเรียน ทำให้นักเรียนต้องยกเลิกกิจกรรมเช่นกัน 

นอกจากนั้น ยังมีการยกเลิกกิจกรรมเพราะความไม่พร้อมของผู้จัดเองด้วย ได้แก่ ที่จังหวัดปราจีนบุรี หรือสกลนคร

 

ดำเนินคดีประชาชนจากการชุมนุมทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 65 ราย 23 คดี

ภายใต้การใช้ “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือในการปราบปรามและหยุดยั้งแสดงออกทางการเมือง ในช่วงที่สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองเข้มข้นขึ้น หลังการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเป็นต้นมา ศูนย์ทนายฯ พบว่ามีการกล่าวหาดำเนินคดีต่อประชาชนจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง จำนวนอย่างน้อย 65 คน ใน 23 คดี

 

 

ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดี สามารถแยกเป็นผู้ที่มีสถานะเป็นนักศึกษาจำนวน 33 คน หรือเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา

ในขณะที่ยังต้องติดตามว่าจะมีการดำเนินคดีต่อเยาวชนที่เป็นนักเรียนหรือไม่ หลังจากมีรายชื่อนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นหนึ่งใน 5 รายชื่อ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะออกหมายเรียกในคดีการชุมนุม #ราชบุรีขอตีกับเผด็จการ ที่จังหวัดราชบุรี แต่ทางตำรวจได้พิจารณาเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาออกไปก่อน และให้ตั้งคณะทำงานพิจารณาสำนวนคดีนี้ใหม่ 

ข้อกล่าวหาหลักที่ถูกนำมาใช้กล่าวหา ได้แก่ ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่อง การชุมนุมมั่วสุมทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี โดยนอกจากคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ จากการชุมนุม 4 ครั้ง แล้ว คดีส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภาคเหนือและภาคอีสาน ได้แก่ ที่จังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย, ลำพูน, ลำปาง, พะเยา, ขอนแก่น, อุดรธานี และมหาสารคาม (ดูตารางข้อมูลเฉพาะคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง)

ภายใต้คำให้สัมภาษณ์ต่างๆ ของรัฐบาลที่ยืนยันว่าการใช้กฎหมายฉบับนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่การกล่าวหาดำเนินคดีผู้ชุมนุมทางการเมืองยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ก็ไม่พบว่ามีการชุมนุมครั้งใดในเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมา มีรายงานผู้เข้าร่วมที่ติดเชื้อโควิด-19 หรือทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคขึ้น

ในบางจังหวัด ตำรวจในพื้นที่ก็ยังมีการออกหมายเรียกผู้เข้าร่วมชุมนุมไปให้ปากคำในฐานะพยาน เช่น ที่จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะมีการดำเนินคดีผู้ใดติดตามมาหรือไม่ 

ขณะเดียวกันยังมีคดีที่นักกิจกรรมถูกกล่าวหาด้วยข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ใน 3 คดี ได้แก่ คดีการชุมนุมเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63, คดีการชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย (ม็อบแฮร์รี่ พ็อตเตอร์) เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 63 และคดีการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63

เจ้าหน้าที่ได้ใช้ข้อหามาตรา 116 ซึ่งมีโทษสูง คือจำคุกไม่เกิน 7 ปี เป็นเหตุในการยื่นขอออกหมายจับจากศาล นำไปสู่การไล่ตามจับนักกิจกรรมและประชาชน 15 ราย อย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนสิงหาคมจนถึงกันยายน ก่อนสถานการณ์นี้จะชะลอลงไป

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ตำรวจดำเนินคดีในข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 โดยไม่มีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกอย่างน้อย 2 คดี ได้แก่ กรณีการชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวอานนท์-ภาณุพงศ์ ที่หน้า สน.บางเขน และการชูป้ายให้กำลังใจอานนท์-ภาณุพงศ์ ที่จังหวัดอุดรธานี  

ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา ที่มีการออกข้อกำหนดให้การชุมนุมใดๆ สามารถกระทำได้ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ แต่กลับกลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐกลับนำทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาใช้พร้อมกัน ทั้งที่ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มีบทบัญญัติที่ชัดเจนว่าให้งดเว้นการบังคับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้ลักษณะการบังคับใช้กฎหมายต่อการชุมนุมสาธารณะมีลักษณะ “หนักหน่วง” ยิ่งขึ้นกว่าช่วงที่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมโรค ทั้งที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศลดระดับลง

นอกจากข้อหาเหล่านี้ เจ้าหน้าที่ยังใช้ข้อหาอื่นๆ มาดำเนินคดีผู้จัดและผู้เข้าร่วมการชุมนุม ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่ มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป, กีดขวางทางสาธารณะ, ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน, ใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น, ทำให้เสียทรัพย์, ข้อหาละเมิดอำนาจศาล, ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ, พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ, พ.ร.บ.การเดินอากาศฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไรฯ  

 

เจ้าหน้าที่รัฐบุกติดตามคุกคามถึงบ้าน-สถานศึกษา ไม่ต่ำกว่า 145 ราย 

นอกจากการดำเนินคดี การไปข่มขู่คุกคามถึงบ้านยังเป็นอีกวิธีการหนึ่งในการพยายามหยุดยั้งห้ามปรามการแสดงออกของประชาชน จากการติดตามของศูนย์ทนายฯ หลังเริ่มการชุมนุมของเยาวชนปลดแอก มีประชาชนถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามไปถึงที่บ้าน สถานศึกษา หรือโทรศัพท์ติดตามตัว โดยมีสาเหตุมาจากกิจกรรมการชุมนุมทางการเมือง อย่างน้อย 145 คน ในจำนวนนี้เป็นนักเรียนจำนวน 29 ราย และเป็นนักศึกษาจำนวน 25 ราย โดยประชาชนบางรายในรอบเกือบ 3 เดือนนี้ ได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าติดตามไปบ้านเป็นจำนวนหลายครั้งอีกด้วย

 

 

รูปแบบการไปหาที่บ้าน มีทั้งการไปติดตามก่อนกิจกรรมการชุมนุม เพื่อพยายามข่มขู่ห้ามปรามไม่ให้จัดกิจกรรม อาทิเช่น นักเรียนระดับชั้น ม.5 ที่จังหวัดลำพูนอย่างน้อย 2 ราย ถูกตำรวจติดตามไปพูดคุยกับผู้ปกครองถึงบ้าน โดยข่มขู่ว่าลูกมีรายชื่อเป็นแกนนำ และจะโดน “แบล็คลิสต์” จึงขอไม่อยากให้มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทำให้สุดท้ายนักเรียนต้องถอนตัวจากการทำกิจกรรม

กรณีที่จังหวัดพัทลุง นักเรียนชั้น ม.4 ที่แชร์โพสต์ชวนไปร่วมการชุมนุม แม้ไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรม แต่ได้ถูกครูเรียกพบ ก่อนพบว่ามีตำรวจ 3 นาย มาคุยด้วย สอบถามเรื่องการแชร์โพสต์ชวนชุมนุม อ้างว่าอาจจะผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ขอให้ลบโพสต์ออก และยังมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมาติดตามพูดคุย จนนักเรียนกลัวที่จะไปร่วมชุมนุม

ที่จังหวัดสุพรรณบุรี นักเรียนผู้มีรายชื่อขึ้นปราศรัยในการชุมนุม ได้ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าไปติดตามที่บ้านถึง 3 ครั้งในวันเดียวกัน และยังเป็นวันเดียวกับที่ประกาศจัดชุมนุม เพื่อห้ามปรามเนื้อหาการปราศรัยที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ อีกทั้งผู้จัดกิจกรรมเองก็ถูกเจ้าหน้าที่ตามคุกคามถึงบ้าน ทำให้ต้องประกาศยกเลิกกิจกรรม 

เช่นเดียวกับที่จังหวัดกาญจนบุรี ที่มีรายงานเจ้าหน้าที่เข้าติดตามถึงบ้านนักเรียนที่จัดการชุมนุม และขอให้ลบโพสต์เชิญชวนไปร่วมชุมนุมออก

ในบางการชุมนุม ที่เจ้าหน้าที่รัฐดูเหมือนไม่ทราบชัดเจนว่าใครเป็นผู้จัดกิจกรรม ก็ได้มีการตามคุกคามแบบ “หว่านแห” เพื่อพยายามหาตัวผู้จัด โดยการติดตามไปหาเยาวชนที่เคยมีประวัติการเคลื่อนไหว เช่น ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ มีรายงานนักเรียนและนักศึกษาไม่น้อยกว่า 3 ราย ซึ่งเคยมีประวัติการร่วมกิจกรรมทางการเมือง ได้ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามไปสอบถามเรื่องการจัดการชุมนุม ทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้ประกาศจัดกิจกรรมแต่อย่างใด 

ในช่วงก่อนการชุมนุมใหญ่ วันที่ 19 ก.ย. 63 เจ้าหน้าที่ยังมีการติดตามประชาชนอย่างเข้มข้น โดยมีรายงานบุคคลถูกเจ้าหน้าที่บุกไปสอบถามข้อมูลในหลายพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 23 ราย ในลักษณะตรวจเช็คว่าจะเข้าร่วมชุมนุมหรือไม่ สอบถามจำนวนผู้เข้าร่วม และวิธีการเดินทาง โดยมีรายงานทั้งการติดตามชาวบ้านที่เป็นเครือข่ายสมัชชาคนจน ในหลายพื้นที่อาทิ นครสวรรค์, ชุมพร, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์, บึงกาฬ, ยโสธร, สระแก้ว เป็นต้น หรือการติดตามไปถึงบ้านนักเรียนนักศึกษาผู้เคยขึ้นเวทีปราศรัย เช่น ที่จังหวัดแพร่, จังหวัดกระบี่, จังหวัดชลบุรี, จังหวัดร้อยเอ็ด หรือกลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดต่างๆ ที่ยังมีความเคลื่อนไหวอยู่ เป็นต้น 

การคุกคามยังเกิดขึ้นในระหว่างการชุมนุม นอกจากการกดดันผ่านการอ้างถึงกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือกฎหมายอื่นๆ เพื่อพยายามหยุดยั้งการชุมนุม เจ้าหน้าที่รัฐยังมีการคุกคามปิดกั้นในรูปแบบต่างๆ เช่น การเข้ายึดป้ายข้อความที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ หรือข้อความ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส”  ที่จังหวัดนครราชสีมา, การพยายามเข้าล้อมขอตรวจบัตรประชาชนและจดชื่อนักศึกษาที่ขึ้นเวทีปราศรัยที่จังหวัดนครสวรรค์ อ้างว่าเป็น “หน้าใหม่” ยังไม่มีข้อมูล หรือแม้แต่การเข้าควบคุมตัวผู้ชุมนุมที่ถือภาพรัชกาลที่ 9 ในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เพื่อพาตัวไปสอบถามข้อมูล

นอกจากนั้น ภายหลังการชุมนุมในแต่ละจังหวัด ก็ยังมีการติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างในกรณีผู้ชูป้ายข้อความที่เจ้าหน้าที่เพ็งเล็งหรือจับตา เช่น ที่จังหวัดกระบี่ มีผู้ชุมนุมที่ถือป้ายข้อความ “รอยัลลิสต์มาเก็ตเพลส” ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามไปหาที่บ้าน เพื่อสอบถามแนวความคิดเกี่ยวกับป้าย และพยายามให้ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงยอมรับว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและจะไม่ทำเช่นนี้อีก เช่นเดียวกับที่จังหวัดอยุธยา ที่มีนักศึกษาผู้ชูป้าย “รอยัลลิสต์มาเก็ตเพลส” ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบติดตามหาตัวที่บ้าน และเตือนว่าห้ามยุ่งเรื่องการเมืองอีก

อีกทั้งยังมีรายงานการติดตามไปบ้านผู้ร่วมชุมนุมที่ถือป้ายข้อความที่ถูกตีความว่าเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ เช่น ที่จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดเชียงใหม่

ในบางพื้นที่ ยังมีรายงานว่าเยาวชนผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามตัวภายหลังจัดการชุมนุมไปแล้ว เช่น ที่จังหวัดสระแก้ว นักเรียนชั้น ม.6 ถึง 4 ราย ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรม #สระแก้วจะไม่ทน ได้ถูกตำรวจไปตามหา และสั่งให้ผู้ใหญ่บ้านมาห้ามปรามไม่ให้ทำกิจกรรมทางการเมือง และยังมีเจ้าหน้าที่ไปตามหาที่โรงเรียนอีกด้วย หรือที่จังหวัดสมุทรสงคราม มีรายงานว่าเยาวชน 2 ราย ที่เข้าร่วมกิจกรรม #แม่กลองต้องขยับ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามตัว เช่นเดียวกันกับที่จังหวัดบึงกาฬและนครพนม ที่มีรายงานการติดตามไปบ้านผู้จัดหลังกิจกรรม  

นอกจากนั้นยังมีกรณีเจ้าหน้าที่ติดตามถามข้อมูลถึงบ้านนักกฎหมายอาสาที่ทำหน้าที่สังเกตการณ์การชุมนุมในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมแต่อย่างใดด้วย

ขณะเดียวกันแกนนำผู้มีบทบาทหลัก หรือผู้ขึ้นปราศรัยหลายคน ก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐคอยเฝ้าที่บริเวณบ้าน และขับรถติดตามในระหว่างการเดินทางอีกด้วย 

เจ้าหน้าที่ยังพยายามกดดันปิดกั้นการชุมนุม ผ่านการคุกคามผู้สนับสนุนการชุมนุมในรูปแบบสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ หรือแม้แต่ไม่ใช่ผู้สนับสนุน เพียงแต่เป็นผู้ให้บริการเช่าอุปกรณ์ต่างๆ มาใช้ในการชุมนุม ก็มีกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่ไปติดตามถึงที่บ้านหรือที่ทำงาน เพื่อข่มขู่ไม่ให้ไปร่วมกับการชุมนุม 

กรณีลักษณะนี้ เช่น การไปติดตามผู้ให้เช่าเครื่องเสียงที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดเลย โดยมีการข่มขู่ถอนใบอนุญาต ทำให้ผู้เป็นเจ้าของไม่สะดวกให้เช่าในการชุมนุมอีก หรือที่จังหวัดเชียงราย มีรายงานกรณีเจ้าหน้าที่ติดตามไปบ้านคนส่งน้ำ ที่นำน้ำมาส่งให้ที่ชุมนุม โดยพยายามสอบถามว่าใครเป็นคนว่าจ้างมาส่ง  

ในการชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวง เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 63 ก็มีรายงานการพยายามปิดกั้นทั้งรถเครื่องเสียง และรถห้องน้ำอย่างหนัก เพื่อกีดกันไม่ให้สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ เข้ามาในที่ชุมนุมได้โดยง่าย อาทิ เจ้าหน้าที่บุกไปพูดคุยกับผู้ประกอบการให้เช่ารถห้องน้ำ บุกไปข่มขู่ไม่ให้ลูกจ้างไปร่วมให้บริการรถห้องน้ำ เพราะอาจถูกดำเนินคดีไปด้วย หรือการพยายามสกัดไม่ให้รถสามารถจอดในพื้นที่ชุมนุมได้ รวมถึงภายหลังการชุมนุมมีการติดตามไปพบเจ้าของรถที่ให้เช่ารถนำผู้ชุมนุมเดินทางมาร่วมชุมนุมเพื่อสอบถามข้อมูลส่วนตัวด้วย

ในจังหวัดที่ไม่ได้มีการจัดกิจกรรมใด ศูนย์ทนายฯ ก็ได้รับรายงานว่ามีผู้ถูกติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากได้โพสต์ข้อความออนไลน์ในลักษณะว่าน่าจะจัดให้มีกิจกรรมชุมนุมในพื้นที่จังหวัดของตนบ้าง ทำให้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าติดตาม และพยายามถามข้อมูลว่าจะมีการจัดกิจกรรมจริงหรือไม่ ได้แก่ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ขณะเดียวกัน กรณีในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ยังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารยังคงมีอำนาจมากนั้น ก็มีผู้ถูกติดตามคุกคามเพราะประเด็นการชุมนุมทางการเมือง ไม่น้อยกว่า 14 ราย แนวโน้มการคุกคามในพื้นที่เป็นลักษณะการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ผสมกับเจ้าหน้าที่หน่วยอื่นๆ จำนวนมาก บางกรณีมีอาวุธครบมือ เดินทางไปที่บ้านของบุคคล เพื่อพูดคุยสอบถามข้อมูลอีกด้วย (ดูตัวอย่างในรายงานข่าวของประชาไท และเพจ The Motive)

 

ผู้แชร์-โพสต์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ อย่างน้อย 34 ราย ถูกติดตามคุกคาม

ขณะเดียวกัน นอกจากการถูกติดตามคุกคามเนื่องจากเหตุเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะแล้ว ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา ศูนย์ทนายฯ ยังได้รับแจ้งกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามผู้ที่โพสต์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในโลกออนไลน์ หรือแม้แต่เพียงแชร์ข่าวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ อย่างน้อย 34 ราย 

กรณีลักษณะนี้เริ่มได้รับรายงานเข้มข้นมากขึ้นตั้งแต่ช่วงเกิดกรณีการควบคุมตัวนายทิวากร วิถีตน ผู้ใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ไปยังโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น นำไปสู่การแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง ซึ่งเหตุการณ์นี้คาบเกี่ยวกับช่วงการเริ่มชุมนุมของเยาวชนปลดแอกเป็นต้นมา

ในจำนวน 34 ราย ที่ศูนย์ทนายฯ ได้รับรายงานนี้ สามารถแยกเป็นกลุ่มนักเรียนจำนวน 9 ราย และนักศึกษาจำนวน 14 ราย ที่เหลือเป็นประชาชนทั่วไป 

 

 

กรณีคุกคามที่เกิดขึ้นมีรูปแบบที่ใกล้เคียงกัน คือมีเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจในท้องที่ สันติบาล หรือเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. เข้าติดตามถึงบ้านประชาชน โดยไม่ได้มีหมายเรียก หมายค้น หรือหมายจับ บางรายเจ้าหน้าที่ตำรวจยังพาผู้ใหญ่บ้านในชุมชนมาด้วย เจ้าหน้าที่จะเข้าพูดคุยสอบถามข้อมูลส่วนตัว และขอให้ลบโพสต์ข้อความที่แชร์เนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ หรือแม้แต่ยุติการใช้เฟซบุ๊กเดิมไปเลย 

ก่อนมีการให้เซ็นในเอกสารบันทึกข้อตกลง (MOU) ยอมรับว่าการแชร์ดังกล่าวไม่เหมาะสม และจะไม่กระทำเช่นนี้อีก โดยหลายรายยังโดนขู่ว่าจะดำเนินคดีตามมาตรา 112 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หากไม่ยินยอมกระทำตาม แต่เอกสารดังกล่าวไม่ได้มีสถานะทางกฎหมายหรือไม่ได้แบบฟอร์มของทางราชการใดๆ 

น่าสังเกตด้วยว่าเนื้อหาส่วนมากที่เป็นเหตุให้ประชาชนถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคาม เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่แชร์มาจากเฟซบุ๊กของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์, Andrew MacGregor Marshall และเพจ KonthaiUK 

ผู้ถูกติดตามหลายราย ยังเพียงแต่แชร์ข่าวซึ่งเป็นข้อเท็จจริง โดยไม่ได้มีการเขียนข้อความใดๆ ประกอบ หากก็กลับถูกบุกไปถึงบ้านแล้ว เช่น กรณีนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามแชร์ข่าวการโปรดเกล้าฯ คืนฐานันดรศักดิ์เจ้าคุณพระสินีนาฏ จากเว็บไซต์ The Standard ได้ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามถึงบ้าน และกล่าวหาว่าเขาจาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ 

กรณีนักศึกษารายหนึ่งในกรุงเทพ เพียงแค่แชร์ข่าวจากสำนักข่าวประชาไท กรณีการควบคุมตัวนายทิวากร และกรณีราคาของการจัดทำซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ก็กลับถูกตำรวจบุกมาถึงบ้าน ข่มขู่จะดำเนินคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก่อนจะให้เซ็นเอกสารว่าจะไม่โพสต์ข้อความพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์อีก 

กรณีเจ้าของร้านสแตนเลสในจังหวัดเลย ที่ได้ตั้งค่าภาพปก (cover) เฟซบุ๊กเป็นรูปของนายทิวากร ใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” โดยเขียนข้อความประกอบว่า #Saveทิวากร หยุดพฤติกรรมคุกคามประชาชน” แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่หลายหน่วยบุก “เชิญตัว” ไปที่สถานีตำรวจโดยไม่มีหมายใดๆ โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าเขาโพสต์เนื้อหาเข้าข่ายมาตรา 112 แต่ก็ยังไม่ได้มีการดำเนินคดีเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ให้ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานยอมรับว่าได้โพสต์ในลักษณะดังกล่าวจริง ก่อนปล่อยตัวกลับ 

ในหลายกรณีที่ผู้ถูกติดตามเป็นนักเรียนนักศึกษา เจ้าหน้าที่เข้าติดตามยังเน้นเข้าพูดคุยกับครอบครัวหรือผู้ปกครอง เช่น กรณีนักเรียนมัธยมที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เจ้าหน้าที่ได้ติดต่อบิดาว่าอยากขอพบ พร้อมกับลูกสาว รออยู่ที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน ก่อนเจ้าหน้าที่จะให้ลงชื่อในเอกสารซึ่งไม่ใช่ของทางราชการ ยอมรับว่าได้แชร์ข้อความที่ “หมิ่นเหม่” โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงยินยอมลบออกและจะไม่กระทำอีก โดยให้บิดามารดาลงชื่อเป็นพยานด้วย 

หรือกรณีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ในกรุงเทพ ได้ถูกสันติบาลติดตามถึงบ้าน เนื่องจากแชร์โพสต์เพียงโพสต์เดียวของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ แม้เจ้าหน้าที่ไม่พบตัวนักศึกษา แต่ก็ได้มีการพูดคุยกับครอบครัว และให้ครอบครัวลงนามในบันทึกข้อตกลงแทน และยังให้โทรคุยกับลูก เพื่อให้ลบโพสต์ข้อความและปิดเฟซบุ๊กเดิมไปเลย

การปฏิบัติการ “นอกกฎหมาย” ของเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ในโลกออนไลน์ดังกล่าว ยังมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก โดยผู้ให้ข้อมูลกับศูนย์ทนายฯ บางราย ระบุว่าเจ้าหน้าที่ที่บุกมาที่บ้านนั้นอ้างว่ายังมีบุคคลต้องไปติดตามแบบนี้อีก หรือผู้ให้ข้อมูลบางรายก็ระบุว่าได้เห็นภาพบุคคลที่อยู่ในรายชื่อที่เจ้าหน้าที่ต้องไปติดตามในพื้นที่จังหวัดของตนคนอื่นๆ อีก แต่ไม่ทราบว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นใครบ้าง ทำให้จำนวนของผู้ถูกติดตามคุกคามน่าจะมีมากกว่าสถิติดังกล่าว

 

กิจกรรมที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (ภาพจากประชาไท)

 

เรียกร้อง #หยุดคุกคามประชาชน แต่การคุกคามยังเข้มข้น

สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงบางส่วนของรายงานการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนที่เกิดขึ้นเท่านั้น การคุกคามยังมีรูปแบบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการชุมนุมแต่ละครั้ง อาทิเช่น การปิดกั้นพื้นที่หรือการปิดล้อมรั้วพื้นที่จัดกิจกรรม ทำให้กิจกรรมเป็นไปได้จำกัด, การที่เจ้าหน้าที่รัฐสอดส่องติดตั้งกล้องวงจรปิด ตั้งกล้องถ่ายวีดีโอ ถ่ายภาพเจาะจงผู้เข้าร่วมการชุมนุม หรือการติดตามถ่ายป้ายทะเบียนรถ เป็นต้น (ดูเพิ่มเติมในบันทึกการสังเกตการณ์การชุมนุมรายกรณีของเครือข่าย Mob Data Thailand

ขณะเดียวกัน ท่ามกลางการตื่นตัวทางการเมืองอย่างกว้างขวางของนักเรียน ครูและบุคลากรในสถานศึกษากลายเป็นผู้มีบทบาทหลักในการแทรกแซง ปิดกั้น หรือกระทั่งคุกคามต่อนักเรียนที่แสดงออกทางการเมืองเสียเอง โดยที่การเข้าถึงข้อมูลหรือการนำข้อมูลการละเมิดสิทธิเสรีภาพในพื้นที่โรงเรียน ยังเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากกว่าพื้นที่มหาวิทยาลัยหรือประชาชนทั่วไปอีกด้วย (ดูบางส่วนในรายงานของศูนย์ทนาย)

สถานการณ์การคุกคามประชาชนตลอดเกือบ 3 เดือนดังกล่าว จึงสวนทางกับข้อเรียกร้องตั้งต้น 3 ข้อ ของการชุมนุมตั้งแต่เยาวชนปลดแอก นอกจาก “การหยุดคุกคามประชาชน” จะไม่ได้รับการตอบสนองแล้ว การคุกคามดูเหมือนยังดำเนินต่อไปในวงกว้าง มิหนำซ้ำยังถูกทำให้กลายเป็นเรื่อง “เคยชิน” หรือเป็น “เรื่องปกติ” ในสังคมไทย และไม่มีทีท่าจะยุติลง

 

X