ผลที่แปลกประหลาดยิ่งทางกม.: เมื่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ถูกใช้พร้อมกัน

จากสถานการณ์การนำข้อกำหนดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เรื่องการห้ามชุมนุมมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค มาใช้กล่าวหาดำเนินคดีต่อการชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่องนั้น โดยจนถึงปัจจุบัน (2 ก.ย. 63)  ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ามีการกล่าวหาดำเนินคดีกับประชาชน ไปแล้วอย่างน้อยใน 20 คดี คิดเป็นผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 70 คน และแม้จนถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านพ้นไป การใช้ข้อหาตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็กลับยังคงไม่ได้สิ้นสุดลง

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 63 นายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออก ข้อกำหนดฉบับที่ 13 ที่ระบุให้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 63 เป็นต้นไป การจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม การจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมจัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด

ภายใต้ข้อกำหนดดังกล่าว ทำให้มีการนำพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 กลับมาบังคับใช้ หลังจากตั้งแต่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 63 เป็นต้นมานั้น พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ได้ถูกงดเว้นการบังคับใช้เรื่อยมา เนื่องจากตามมาตรา 3 (6) กำหนดให้พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ใช้กับการชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 

ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้จัดการชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ ถูกเจ้าหน้าที่กำหนดให้ไปแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมายการชุมนุม และเจ้าหน้าที่ก็เข้ามาใช้มาตรการต่างๆ ในการดูแลการชุมนุม ตามเนื้อหาใน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

ทว่าขณะเดียวกันกลับพบว่าในหลายพื้นที่ เจ้าหน้าที่ที่เข้าติดตามการชุมนุม ยังคงอ้างข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการควบคุมการชุมนุม เช่น การติดประกาศเตือนให้ระวังการฝ่าฝืน หรือการแจกเอกสารเรื่องข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้กับผู้จัดกิจกรรมอยู่ ทั้งยังปรากฏว่ามีการนำข้อกล่าวหาเรื่องการฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาใช้กล่าวหาดำเนินคดีกับผู้จัดการชุมนุมอยู่อีกด้วย

จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีอย่างน้อย 2 คดี แล้ว ที่เป็นการชุมนุมทางการเมืองในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับมีการดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับแกนนำและผู้ชุมนุม ได้แก่

1. คดีชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63

คดีนี้ ภายหลังการจับกุมภานุพงศ์ จาดนอก และอานนท์ นำภา ตามหมายจับ เมื่อวันที่ 24-25 ส.ค. พนักงานสอบสวนสภ.คลองหลวง ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 5 ข้อหาต่อทั้งสองคน ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3), ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

 

2. คดีชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ ที่ชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 63 

คดีนี้เดิมเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 63 อานนท์ นำภา หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา ได้ถูกจับกุมตามหมายจับ และถูกแจ้งข้อกล่าวหา 4 ข้อกล่าวหา โดยไม่มีข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่อย่างใด 

แต่เมื่อผู้ถูกออกหมายเรียกอีก 6 ราย เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สน.ชนะสงคราม เมื่อวันที่ 1 ก.ย. กลับถูกแจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อหา ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยที่ตามหมายเรียกเดิมนั้นระบุเอาไว้เพียง 2 ข้อกล่าวหาแรก

ในการแจ้งข้อกล่าวหาคดีนี้ ตำรวจอ้างว่าในการชุมนุมดังกล่าว ส่วนใหญ่ของผู้ชุมนุมมีการป้องกันเบื้องต้นโดยการสวมใส่หน้ากากอนามัยแล้ว แต่ไม่พบการตั้งวางแอลกอฮอล์เจลในบริเวณรอบๆ การชุมนุมที่มีคนจำนวนมากใกล้ชิดกัน ไม่พบการตั้งจุดคัดกรองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค  รวมถึงไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคมในระยะ 1-1.5 เมตร ตามหลักปฏิบัติเบื้องต้นในการป้องกันโรคโควิด-19 ทำให้เข้าข่ายเป็นความผิดตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

 

 

จะเห็นได้ว่าในคดีนี้ มีการกล่าวหาผู้ชุมนุมพร้อมกัน ทั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ทำให้เกิดสภาพการใช้กฎหมายที่ก่อผลแปลกประหลาด กล่าวคือ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ นั้นกำหนดไม่บังคับใช้กฎหมายในระหว่างเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ในสภาพความจริงในเดือนสิงหาคมนี้ กฎหมายสองฉบับกลับถูกนำมาใช้พร้อมกัน โดยข้อกำหนดฉบับที่ 13 ซึ่งออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมีศักดิ์ของกฎหมายในลำดับรองจากพระราชบัญญัติ กลับมีผลที่ขัดหรือแย้งกับพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ อันมีลำดับศักดิ์ของกฎหมายสูงกว่าข้อกำหนดดังกล่าว

นอกจากนั้น ในสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ลดระดับลงไปหมดแล้ว โดยไม่พบผู้ติดเชื้อ ภายในประเทศไทยมามากกว่า 100 วัน หรือสามเดือนเศษ ลักษณะการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการชุมนุมสาธารณะ กลับยิ่ง “เข้มข้น” หรือ “หนักหน่วง” ขึ้นไปอีก  กล่าวคือถูกเจ้าหน้าที่บังคับใช้ทั้งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไปพร้อมกัน ทั้งที่ในเดือน เม.ย. ถึง ก.ค. 63 ในช่วงสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้มข้นกว่านี้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ นั้นไม่เคยถูกบังคับใช้แต่อย่างใด 

สภาพการณ์ดังกล่าวจึงยิ่งทำให้การใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ กลับเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากยิ่งขึ้นไปอีกด้วย สวนทางกับสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่ไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศแล้ว และความจำเป็นของการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ยิ่งลดน้อยลงเรื่อยมา 

นี่ดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของสภาพการใช้กฎหมายตามอำเภอใจ และการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้มีอำนาจที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในสังคมไทย

 

อ่านเพิ่มเติม 

เปิดสถิติคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 17 คดี 63 ราย แม้รัฐบาลอ้างไม่ใช้กับการชุมนุม

 

X