นร.ม.3 ขึ้นปราศรัย #สุราษฎร์จะฟาดเผด็จการ ถูกตร.ไปหาที่บ้าน-เรียกไปสภ.สอบปากคำ 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งจาก “เอ” (นามสมมติ) นักเรียนชายอายุ 15 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในโรงเรียนแห่งหนึ่งในตัวเมืองสุราษฎร์ธานี ว่าหลังจากไปร่วมปราศรัยหัวข้อเรื่องสมรสเท่าเทียม ในกิจกรรม #สุราษฎร์จะฟาดเผด็จการ ที่สะพานนริศ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 1 ส.ค.63 เขาได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไปติดตามที่บ้าน และเรียกไปสอบถามข้อมูล โดยไม่ได้แสดงหมาย ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะติดต่อไปยังผู้ปกครอง ให้พาไปสอบปากคำที่ สภ.เมืองสุราฎร์ธานี โดยบอกว่า “ทำให้จบๆ ไป”

เอระบุว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 63 ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย มาหาที่บ้าน คนหนึ่งสวมเสื้อยืดสีขาว กางเกงสีกากี และอีกคนเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ มาพร้อมเอกสาร แจ้งว่าจะขอสอบข้อมูลเรื่องการชุมนุม เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 63 แต่เจ้าหน้าที่ไม่มีหมายใดมาแสดง เขาจึงปฏิเสธไม่ให้ปากคำ เจ้าหน้าที่ได้ระบุว่าจะขอนัดให้ไปเจอที่สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี ในวันที่ 28 ก.ย. แต่เอปฏิเสธ เนื่องจากเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้แสดงเอกสารหมายเรียกใดๆ

ต่อมา เจ้าหน้าที่ติดต่อไปยังพ่อของเอ และนัดหมายให้นำเอไปพูดคุยกับทางตำรวจ ในวันที่ 4 ต.ค. พ่อจึงได้ตัดสินใจพาเอไปให้ปากคำที่ สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี โดยเอไม่ทราบว่าจริงๆ แล้วตำรวจมีการออกหมายเรียกหรือไม่ 

เมื่อไปถึงสถานีตำรวจ เขาถูกพาตัวไปในห้องสอบสวน โดยเอระบุว่าในห้องไม่มีทนายความ นักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ อยู่ด้วยแต่อย่างใด มีเพียงเอ ครอบครัว และพนักงานสอบสวนที่ใส่เครื่องแบบครึ่งท่อน เสื้อยืดสีขาว กางเกงสีกากี ในห้อง 

การให้ปากคำใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ได้นำภาพหน้าจอเฟซบุ๊กหน้าเพจ “SuratDemocrat” มาถามว่ารู้จักเพจนี้หรือไม่ รู้เรื่องกิจกรรมที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ส.ค. ได้อย่างไร เอไปทำอะไรในกิจกรรมวันนั้น และได้ขึ้นปราศรัยเรื่องอะไร เอเล่าถึงประเด็นที่เขาขึ้นปราศรัยในวันนั้นว่า เขาพูดเรื่องการสมรสเท่าเทียมเทียบกับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต และสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ในประเทศไทย 

จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้นำรูปผู้ปราศรัยในวันนั้น จำนวน 5 คน มาถามว่ารู้จักไหม เอปฏิเสธไม่รู้จักทั้งหมด นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังนำรูปหน้าบัตรประชาชนของผู้ชายและผู้หญิงคู่หนึ่ง ซึ่งเอไม่รู้จัก มาถามว่าเขารู้จักหรือไม่ โดยตำรวจได้ถ่ายภาพนิ่งของเขาและครอบครัวระหว่างการให้ปากคำด้วย

เอระบุว่าเขาทราบว่าเป็นการสอบปากคำพยาน เพราะเอถามเจ้าหน้าที่ในวันที่ไปให้ปากคำ และตำรวจบอกว่าเป็นการสืบพยานในเหตุการณ์วันนั้นเท่านั้น ยังไม่ใช่ผู้ต้องหา เบื้องต้นเอไม่ได้กังวลมากนัก แต่ทางผู้ปกครองกังวลและขอให้ไม่ทำกิจกรรมทางการเมืองอีก เอตอบว่าไม่รับปาก 

 

อีก 1 ราย ถูกออกหมายเรียกไปเป็นพยานหลังการชุมนุม อย่างน้อย 2 ราย ถูกคุกคามก่อนการชุมนุม

ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังได้รับข้อมูลว่า นอกจากกรณีของเอแล้ว ยังมีผู้เข้าร่วมชุมนุม #สุราษฎร์จะฟาดเผด็จการ อีกอย่างน้อย 1 คน ได้ถูกออกหมายเรียกไปให้ปากคำในฐานะพยานที่สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี หมายลงวันที่ 18 ส.ค. 63 เหตุจากการเข้าร่วมชุมนุมดังกล่าวเช่นกัน แต่ยังไม่ทราบชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่จะมีการดำเนินคดีผู้ใดตามมาหรือไม่ 

 

 

นอกจากนี้ ก่อนวันชุมนุม ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ยังมีข้อมูลว่า มีนักเรียนนักศึกษาในจังหวัดสุราษฎร์ธานีอย่างน้อย 2 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไปหาที่บ้าน เนื่องจากแชร์โพสต์การชุมนุมอีกด้วย และแชร์โพสต์กรณีนักเรียนถูกตำรวจคุกคามที่บ้าน จากเพจ “SuratDemocrat” อีกด้วย

ทั้งนี้ การชุมนุม #สุราษฎร์จะฟาดเผด็จการ เป็นกิจกรรมแฟลชม็อบ จัดขึ้นที่ สะพานนริศ ต.ตลาด อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2563 เวลาประมาณ 16.00 – 17.30 น. ประชาไท รายงานว่า กิจกรรมเกิดจากการนัดหมายกันผ่านเพจเฟซบุ๊กชื่อ “SuratDemocrat” โดยได้มีการประกาศนัดหมายตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. 2563 และได้มีกลุ่มนักเรียนและบุคคลทั่วไป ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวนกว่า 100 คน เข้าร่วม โดยกิจกรรมในวันนั้นมีเจ้าหน้าที่รัฐมาสังเกตการณ์กว่า 20 นาย

ในเวที ได้มีการเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลโดยแบ่งออกเป็น 3 ข้อ คือ 1. ยุบสภาและคืนอำนาจให้กับประชาชน จัดการเลือกตั้งใหม่ 2. หยุดคุกคามประชาชนและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน 3. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีตัวแทนของประชาชน นอกจากข้อเสนอดังกล่าวแล้ว ได้มีการออกมาปราศรัยในหลายประเด็นอีกด้วย

ขอบคุณภาพจาก ประชาไท

 

X