นักเรียน ม.4 พัทลุงแชร์โพสต์ชวนชุมนุม ถูกครูเรียกเข้าไปคุยกับตำรวจ อ้างอาจผิดพ.ร.บ.คอมฯ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับร้องเรียนว่า เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ก่อนวันที่จะมีการชุมนุม #พัทลุงไม่ทนแล้วโว้ย ณ สวนท่ามิหรำ ในวันที่ 24 กรกฎาคม “นางสาวอารี” (นามสมมติ) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดพัทลุง ถูกครูเรียกให้ไปพบ ก่อนพบว่ามีตำรวจ 3 นาย มาพูดคุยด้วย ถามเรื่องการแชร์โพสต์ชวนชุมนุม อ้างอาจผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ขอให้ลบโพสต์ออก แถมยังมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมาตามคุยอีก กดดันจนอารีตัดสินใจไม่ไปร่วมชุมนุม

.

.

นางสาวอารีเปิดเผยว่าในวันดังกล่าว ตนถูกรองผู้อำนวยการและครูฝ่ายกิจการนักเรียนโทรเรียกให้ไปพูดคุยที่ห้องกิจการนักเรียน โดยครูไม่ได้แจ้งว่าเรียกไปคุยเรื่องอะไร แต่เมื่อไปพบ กลับพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 3 นาย ใส่เสื้อยืดตำรวจและกางเกงยีนส์ รออยู่ในห้อง โดยก่อนการพูดคุย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ถ่ายรูป และขอเก็บโทรศัพท์ของอารีไว้ ตลอดการพูดคุยเกือบ 1 ชั่วโมง

เนื้อหาการพูดคุย คือเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เตือนเรื่องที่อารีแชร์โพสต์ที่เชิญชวนไปเข้าร่วมชุมนุม #พัทลุงไม่ทนแล้วโว้ย และถามเธอว่ารู้จักคนที่ทำเพจ “เมืองลุงเพื่อประชาธิปไตย” หรือไม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่ากำลังติดตามหาแอดมินเพจนี้และกำลังหาคนที่เชิญชวนอยู่ โดยตำรวจได้แฝงตัวอยู่ในกลุ่มไลน์ พร้อมบอกอารีว่าการที่อยู่ๆ จะจัดการชุมนุมนั้นผิดกฎหมาย ขอให้ทบทวนเรื่องการจะไปชุมนุม 

เจ้าหน้าที่อ้างว่ามาวันนี้เพราะนายสั่งให้มาเตือน มาคุยกับเด็กให้เข้าใจ เรื่องที่จะไปชุมนุม และอ้างว่า “ไม่ได้ลิดรอนสิทธิ แต่ถ้าจะไปก็ขอให้คิดดีๆ” ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจยังขอให้ลบที่โพสต์ที่อารีแชร์ออกจากเฟซบุ๊ก เพราะจะผิด พ...คอมพิวเตอร์ฯ โดยมีครูคอยสนับสนุนเจ้าหน้าที่ว่ากรณีนี้เป็นเรื่องใหญ่ หากชื่อเธอไปปรากฏอยู่ในสิสต์ ก็จะถูกถามถึงครอบครัวด้วย

อารีตั้งข้อสังเกตว่านักเรียนในโรงเรียนส่วนใหญ่ก็แชร์ข้อความเดียวกันนี้ แต่กลับเป็นเธอที่โดนเรียกคุยเพียงคนเดียว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าระบุตัวตนเธอได้มากที่สุด ทั้งอารียังเปิดเผยว่าในใบรายชื่อนักเรียนที่ตำรวจจะไปพูดคุยด้วย มีชื่อของเธอ และชื่อของนักเรียนโรงเรียนอื่นอีก 3 คน

นอกจากนี้ หลังจากพุดคุยกับตำรวจเสร็จสิ้นแล้ว มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ซึ่งเธอไม่ทราบแน่ชัดว่าสังกัดใด เข้ามาถามในลักษณะเดียวกันกับตำรวจเรื่องการแชร์โพสต์ และมาเตือนเรื่องการแชร์ข่าวการบังคับสูญหาย แต่ในเมื่อยังไม่ทราบข้อเท็จจริงก็ให้เซฟตัวเองไว้ก่อน พร้อมกันนี้เจ้าหน้าที่รายนี้ยังขอเบอร์โทรศัพท์แม่ของอารีไว้ด้วย โดยบอกว่าแค่จะโทรไปคุยเฉยๆ ไม่ได้ข่มขู่ โดยตลอดการพูดคุยมีครูร่วมกดดัน ทำให้ท้ายที่สุดแล้ว อารีตัดสินใจไม่ไปเข้าร่วมชุมนุม #พัทลุงไม่ทนแล้วโว้ย แต่แสดงออกถึงจุดยืนอยู่ในโซเชียลมีเดียแทน

ภายหลังจากที่อารีถูกเรียกไปคุย เธอยังระบุว่าได้ถูกเพ็งเล็งจากครูในโรงเรียน แต่เดิมเธอคิดว่าครูที่อยู่ร่วมกับเธอในห้องกิจการนักเรียนวันนั้น จะเป็นคนที่เข้าใจสถานการณ์ที่เธอเผชิญมากที่สุด แต่อารีกลับถูกครูคนเดียวกันนั้น เรียกไปคุยสอบถามส่วนตัวหลายครั้งว่ายังคงโพสต์แสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือไม่ ถ้าโพสต์ ก็อยากให้ลบออก

รวมทั้งยังมีการบังคับให้นักเรียนม.4 ทั้งหมดลงนามถวายพระพร โดยหากไม่ลงชื่อ จะเช็ครายชื่อ และได้รู้ว่าใครเป็น “พวกชังชาติ” ซึ่งเธอยืนยันว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิที่เธอทำได้ ครูไม่ควรมาห้ามแต่อย่างใด

.

กิจกรรม #พัทลุงไม่ทนแล้วโว้ย เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 63 (ภาพจากเพจเมืองลุงเพื่อประชาธิปไตย)

.

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่า การที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าการอยู่ๆ จัดชุมนุมนั้นผิดกฎหมาย ตาม พ...ชุมนุมสาธารณะฯ กำหนดให้ผู้จัดชุมนุมมีหน้าที่ “แจ้ง” ว่าจะจัดการชุมนุมเท่านั้น ไม่ใช่ “ขออนุญาต” ต่อเจ้าพนักงาน อีกทั้งการที่เจ้าหน้าที่บอกด้วยวาจาว่าพฤติการณ์บางอย่างของผู้ชุมนุมผิดกฎหมาย ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าพฤติการณ์นั้นผิดกฎหมาย หรือจะมีคดีตามมาเสมอไป รวมทั้งอาจมีลักษณะเป็นการข่มขุู่ให้เกิดความหวาดกลัวมากกว่า

นอกจากนี้ กรณีตำรวจอ้างว่าข้อความจะผิด พ...คอมพิวเตอร์ฯ นั้น ต้องพิจารณาดูอีกทีว่าข้อความนั้นเข้าข่ายองค์ประกอบความผิดทางกฎหมายหรือไม่ แต่เพียงการโพสต์เรื่องการชุมนุมทางการเมืองไม่ได้ถือเป็นความผิดใดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

 

X