เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 บุ้ง เนติพร นักกิจกรรม วัย 28 ปี เสียชีวิตภายหลังประท้วงอดอาหาร ในขณะถูกคุมขัง หลังถูกศาลถอนประกันตัวในคดีมาตรา 112 กรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ โดยเธอถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 2567 เป็นการคุมขังครั้งสุดท้ายก่อนเสียชีวิต
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2567 ภายหลังการถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกลาง บุ้งได้ปฏิบัติการอดอาหารและน้ำ เพื่อประท้วง โดยมี 2 ข้อเรียกร้อง ได้แก่
- ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
- จะต้องไม่มีคนเห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีก
บุ้งอดอาหารและน้ำประท้วง พร้อมกับ “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ซึ่งถูกคุมขังจากกรณีเดียวกัน โดยระหว่างอดอาหารประท้วง ทั้งสองคนได้ถูกนำตัวไปรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ก่อนที่บุ้งจะเสียชีวิตลงในวันที่ 14 พ.ค. 2567 ซึ่งในระหว่างการช่วยเหลือโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้พยายามส่งตัวบุ้งไปที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ แต่เมื่อไปถึง พบว่าเธอไม่มีสัญญาณชีพแล้ว
ข้อเท็จจริงในการเสียชีวิตของบุ้งยังคลุมเครือว่า สาเหตุการตายคืออะไร โรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างถูกต้องตามมาตรฐานแล้วหรือไม่ ครอบครัวของบุ้งจึงยังคงติดตามหาความยุติธรรมจากการเสียชีวิตของเธอต่อไป โดยศาลจังหวัดธัญบุรีกำหนดวันนัดไต่สวนการตายในวันที่ 20-21 ส.ค. 2568
แม้นาฬิกาชีวิตของเธอจะหยุดเดิน แต่เจตนารมณ์สุดท้ายของเธอจะยังคงถูกจดจำและสานต่อไป ชวนย้อนอ่านเรื่องราวชีวิต และการเป็นนักเคลื่อนไหวของบุ้ง เนติพร ก่อนสิ้นลมหายใจสุดท้ายระหว่างการต่อสู้
การเคลื่อนไหวทางการเมืองของ บุ้ง เนติพร
บุ้งเกิดเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2538 ในครอบครัวนักกฎหมาย พ่อของเธอเป็นผู้พิพากษา และพี่สาวเป็นทนายความ เธอจบการศึกษาระดับมัธยมปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า และศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะบริหารธุรกิจ ภาควิชาการเงิน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ด้วยความสามารถทางภาษาอังกฤษที่ยอดเยี่ยม เธอจึงทำงานเป็นครูสอนพิเศษภาษาอังกฤษในการเลี้ยงชีพเรื่อยมาหลังเรียนจบ
บุ้งปรากฏตัวในการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งแรกในช่วงปี 2563 เธอเข้าร่วมกับกลุ่มนักเรียนเลว เพื่อเรียกร้องสิทธิในการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของนักเรียน และสิทธิในการเลือกทรงผมของกลุ่มนักเรียน LGBTQIA+
ก่อนที่ในปี 2564 เธอกับเพื่อนจำนวนหนึ่งได้ก่อตั้งกลุ่มการเคลื่อนไหวในนามกลุ่ม “ทะลุวัง” ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไทยอย่างตรงไปตรงมา
ต่อมาในปี 2565 – 2567 เธอมีบทบาทสำคัญในนามกลุ่มทะลุวังอย่างต่อเนื่อง และถูกดำเนินคดีจากกิจกรรมทางการเมืองรวม 7 คดี โดยจากการ่วมในกิจกรรมทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน นำไปสู่การถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ใน 2 คดี
.
ตลอดชีวิตของ ‘บุ้ง’ เข้าเรือนจำ – อดอาหาร 2 ครั้ง
ครั้งที่ 1 ถูกคุมขัง 94 วัน (3 พ.ค. – 4 ส.ค. 2565) ศาลอาญากรุงเทพใต้ถอนประกันตัวบุ้งและใบปอในคดีมาตรา 112 กรณีทำโพลขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่ เหตุจากการไปร่วมกิจกรรมทำโพลอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเห็นว่าเป็นการร่วมชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ละเมิดเงื่อนไขประกันตัวของศาล
ระหว่างถูกคุมขัง ทั้งสองคนตัดสินใจเริ่มอดอาหารประท้วง จนในเวลาต่อมาได้รับการประกันตัวหลังขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 8 สิ้นสุดการอดอาหารเป็นระยะเวลา 64 วัน
ในครั้งที่ 2 ถูกคุมขัง 110 วัน (26 ม.ค. – 14 พ.ค. 2567) ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งถอนประกันตัวบุ้งในคดีมาตรา 112 กรณีทำโพลขบวนเสด็จอีกครั้ง จากเหตุไปร่วมชุมนุมและพ่นสีหน้ากระทรวงวัฒนธรรมเมื่อปี 2566 เนื่องจากเห็นว่าอาจทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ พร้อมทั้งมีคำสั่งลงโทษจำคุก 1 เดือน ในคดีละเมิดอำนาจศาล
ต่อมาบุ้งได้ปฏิบัติการเพื่อประท้วงอดอาหารและน้ำไม่น้อยกว่า 65 วัน (ตั้งแต่ 27 ม.ค. – ช่วงเดือน เม.ย. 2567)
.
สำหรับบุ้ง เธอคือผู้ต้องขังทางการเมืองรายแรกที่เสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วงในเรือนจำ และถือเป็นรายที่ 2 แล้วที่เสียชีวิตในระหว่างการถูกคุมขังในคดี #มาตรา112 หลังจาก #อากง ซึ่งเป็นรายแรกที่ต้องเสียชีวิตในระหว่างที่ถูกคุมขังจากการถูกกล่าวหาในคดีมาตรานี้ เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2555