8 เม.ย. 2568 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดธัญบุรี นัดพร้อมเพื่อกำหนดวันนัดไต่สวนการตายของ “บุ้ง” เนติพร (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมทางการเมืองกลุ่มทะลุวัง วัย 28 ปี กรณีเสียชีวิตระหว่างอยู่ในความควบคุมของกรมราชทัณฑ์ หลังศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งจำคุก 1 เดือนในคดีละเมิดอำนาจศาล และถูกถอนประกันในคดีมาตรา 112 กรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ ทำให้เธอถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 2567 และเสียชีวิตลงในวันที่ 14 พ.ค. 2567
หลังจากทนายความได้รับรายงานการรักษา พร้อมทั้งสำเนาไฟล์ภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิดที่ รพ.ธรรมศาสตร์ และ รพ.ราชทัณฑ์ ครบถ้วนแล้ว ศาลกำหนดวันนัดไต่สวนการตายเป็นวันที่ 20-21 ส.ค. 2568 เวลา 09.30 – 16.30 น. โดยฝ่ายพนักงานอัยการผู้ร้องมีพยานเข้าไต่สวน 6 ปาก และฝ่ายญาติผู้ตายมีพยานเข้าไต่สวน 5 ปาก
มีข้อสังเกตว่า ในนัดพิจารณาตลอด 3 นัดที่ผ่านมา (13 ม.ค., 3 มี.ค. และ 8 เม.ย. 2568) พบว่า ที่หน้าห้องพิจารณาคดีมีการรักษาความปลอดภัยที่เข้มข้น คือ ตั้งโต๊ะหน้าห้องพิจารณาให้ผู้มาฟังการพิจารณาลงชื่อและเบอร์โทรศัพท์ เก็บโทรศัพท์ใส่ไว้ในซองซิปใสวางไว้ที่โต๊ะ และตรวจอาวุธก่อนเข้าห้องพิจารณา โดยไม่พบว่ามีการดำเนินการเช่นนี้ที่ห้องพิจารณาอื่นของศาลนี้
.
ย้อนไปเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2567 บุ้งถูกศาลอาญากรุงเทพใต้ลงโทษจำคุก 1 เดือน ในคดีละเมิดอำนาจศาล จากเหตุในบริเวณศาลในวันฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ของ “โฟล์ค” สหรัฐ สุขคำหล้า และในวันเดียวกัน ศาลอาญากรุงเทพใต้ยังได้มีคำสั่งเพิกถอนประกันบุ้งในคดีมาตรา 112 กรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จที่บริเวณห้างสยามพารากอน ทำให้บุ้งถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง และในวันต่อมา (27 ม.ค. 2567) บุ้งได้ปฏิบัติการอดอาหารและน้ำประท้วง โดยมี 2 ข้อเรียกร้อง คือ
- ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
- จะต้องไม่มีคนเห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีก
ระหว่างอดอาหารประท้วง เธอได้ถูกนำตัวไปรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ก่อนจะเสียชีวิตลงในวันที่ 14 พ.ค. 2567 ซึ่งในระหว่างการช่วยเหลือโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้พยายามส่งตัวบุ้งไปที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ แต่เมื่อไปถึงโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ พบว่าเธอไม่มีสัญญาณชีพแล้ว
ข้อเท็จจริงในการเสียชีวิตของบุ้งยังคลุมเครือว่า สาเหตุการตายคืออะไร แพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างถูกต้องตามมาตรฐานแล้วหรือไม่ รวมทั้งการที่สำนวนการชันสูตรพลิกศพไปอยู่ในอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.คลองหลวง แทนที่จะอยู่กับสถานีตำรวจที่รับผิดชอบพื้นที่ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ตั้งอยู่
.
ต่อมา ในวันที่ 4 พ.ย. 2567 พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี ผู้ร้อง ได้ยื่นคำร้องขอไต่สวนการตายของเนติพร โดยคำร้องดังกล่าวเป็นไปตามประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ที่ระบุไว้ว่า ในกรณีที่เกิดการเสียชีวิตระหว่างอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าพนักงาน เมื่อพนักงานอัยการได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้ทำคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้
.
หลังจากนั้นในวันที่ 13 ม.ค. 2568 ศาลได้นัดไต่สวนการตายครั้งแรก แต่ทนายความของญาติผู้ตายยื่นคำร้องขอเลื่อนการไต่สวน เนื่องจากญาติผู้ตายประสงค์ให้ทนายตรวจสอบความถูกต้องของพยานเอกสารของผู้ร้องตามบัญชีพยานก่อน ซึ่งผู้ร้องยังไม่ได้นำส่งเอกสารเข้ามาในสำนวน และติดใจให้ศาลออกหมายเรียกหลักฐานการรักษาตัวของเนติพร รวมถึงภาพจากกล้องวงจรปิดที่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ และ รพ.ราชทัณฑ์ ในวันเกิดเหตุ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อกำหนดวันนัดไต่สวนอีกครั้งในวันที่ 3 มี.ค. 2568
3 มี.ค. 2568 ศาลนัดพร้อมเพื่อกำหนดวันนัดไต่สวนการตาย ซึ่งศาลได้ออกหมายเรียกพยานตามที่ทนายยื่นคำร้องขอแล้ว แต่ในวันดังกล่าวพยานเอกสารและพยานวัตถุที่ศาลออกหมายเรียกไปนั้นยังไม่ได้เข้ามาอยู่ในสำนวนคดี จากการโทรสอบถามโรงพยาบาลทั้งสองแห่งได้รับแจ้งว่า อยู่ระหว่างการรวบรวมเพื่อส่งต่อศาล จากนั้นศาลได้ไปปรึกษาผู้บริหารศาลก่อนอนุญาตให้เลื่อนวันนัดพร้อมเพื่อกำหนดวันนัดไต่สวนการตายเป็นวันที่ 8 เม.ย. 2568
.
วันนี้ (8 เม.ย. 2568) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 15 อัยการผู้ร้อง, ทนายของญาติผู้ตาย, ญาติผู้ตาย, นักกิจกรรมและประชาชน เดินทางมาศาล ซึ่งที่ห้องพิจารณาคดีนี้มีคดีที่ต้องพิจารณาช่วงเช้า 11 คดี พบว่าด้านหน้าห้องพิจารณาคดีนี้มีตำรวจศาลให้ผู้ที่มาเข้าร่วมการพิจารณาทุกคดีนำโทรศัพท์ใส่ซองซิปใสไว้ที่หน้าห้อง พร้อมกับให้ลงชื่อและเบอร์โทรศัพท์ไว้ อีกทั้งมีการตรวจอาวุธก่อนเข้าห้อง ทำให้ทั้งคนที่มาในคดีนี้และคดีอื่ืนร่วม 40 คน ต้องดำเนินการดังกล่าว แต่เมื่อเดินไปห้องพิจารณาอื่น ๆ ในชั้นเดียวกัน ไม่ได้พบว่ามีโต๊ะตั้งด้านหน้าห้องเพื่อเก็บโทรศัพท์หรือตรวจอาวุธก่อนเข้าห้องแต่อย่างใด
ต่อมา ในเวลา 09.20 น. ตำรวจศาลได้แจ้งให้ผู้ที่มาคดีอื่นออกจากห้องพิจารณาคดีก่อน จึงทำให้ในห้องพิจารณาคดีเหลือแต่เพียงผู้ที่เกี่ยวข้องและมาสังเกตการณ์คดีนี้ จากนั้นศาลจึงออกพิจารณาคดีนี้เป็นคดีแรก
ตามที่ศาลออกหมายเรียกรายงานการรักษาและสำเนาไฟล์ภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิดที่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ และ รพ.ราชทัณฑ์ ทนายความแถลงว่า ตรวจเอกสารแล้ว พบว่าได้รับเอกสารและวัตถุพยานตามหมายเรียกจากโรงพยาบาลครบถ้วนแล้ว จากนั้น อัยการผู้ร้องแถลงติดใจไต่สวนพยานจำนวน 6 ปาก ส่วนฝ่ายญาติผู้ตายแถลงติดใจไต่สวนพยานจำนวน 5 ปาก จึงกำหนดวันนัดไต่สวนการตายในวันที่ 20-21 ส.ค. 2568 เวลา 09.30 – 16.30 น.
ภายหลังศาลพิจารณาคดีนี้เสร็จ ตำรวจศาลแจ้งให้ผู้ที่มาคดีอื่นเข้าห้องพิจารณาคดีได้ โดยคืนโทรศัพท์ที่เก็บไว้ให้กับทุกคน และกำชับว่าให้ปิดเสียงโทรศัพท์
ผู้พิพากษาในคดีนี้ คือ อภิชาติ อังศุภศิริกุล
.
มีข้อสังเกตว่า ในนัดพิจารณาคดีนี้ตลอด 3 นัดที่ผ่านมา (13 ม.ค., 3 มี.ค. และ 8 เม.ย. 2568) พบว่าที่หน้าห้องพิจารณาคดีมีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด คือ ตั้งโต๊ะหน้าห้องพิจารณาคดีให้ผู้มาฟังการพิจารณาลงชื่อและเบอร์โทรศัพท์ เก็บโทรศัพท์ใส่ไว้ในซองซิปใสวางไว้ และตรวจอาวุธก่อนเข้าห้องพิจารณาคดี โดยไม่พบว่ามีการทำในลักษณะเดียวกันที่ห้องพิจารณาอื่นของศาลนี้
ซึ่งในนัดพิจารณาเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2568 “ป้ามล” ทิชา ณ นคร ได้แถลงถามศาลถึงกรณีห้ามนำเครื่องมือสื่อสารเข้าห้องพิจารณาคดี ทั้งที่ในห้องก็มีการติดป้ายห้ามใช้เครื่องมือสื่อสาร ห้ามบันทึกภาพและเสียงอยู่แล้ว การกระทำเช่นนี้จะทำให้ถูกมองว่าเคร่งครัดเกินไป ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลเสียกับผู้สั่งเอง
ศาลแจ้งว่า เนื่องจากผู้บริหารศาลสั่งมาเช่นนั้นตำรวจศาลจึงมีหน้าที่ต้องทำตาม และมีเหตุจำเป็นเพื่อความปลอดภัย โดยขอรับคำแถลงไว้ไปปรึกษากับผู้บริหารศาลสำหรับนัดถัด ๆ ไป แต่ก็พบว่าในนัดวันที่ 3 มี.ค. และ 8 เม.ย. 2568 คนที่มาฟังการพิจารณายังถูกเก็บโทรศัพท์เช่นเดิม
.
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
สรุปเสวนา 112 วัน ‘บุ้ง’ เสียชีวิตในการควบคุมของราชทัณฑ์ กับอนาคตของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
แถลงการณ์ 100 วันการเสียชีวิตของ “บุ้ง” เนติพร : ไร้ความจริง ไร้ความยุติธรรม
จาก “อากง” ถึง “บุ้ง” รพ.ราชทัณฑ์ดูแล ‘ชีวิต’ ผู้ต้องขังอย่างไรเมื่อเจ็บป่วย