จาก “อากง” ถึง “บุ้ง”
กี่ครั้งแล้วที่สังคมตั้ง ‘คำถาม’ กับมาตรฐานการดูแลรักษาผู้ต้องขังของโรงพยาบาลราชทัณฑ์
กรณีการเสียชีวิตของ “บุ้ง” เนติพร ในวัยเพียง 28 ปี ระหว่างถูกควบคุมตัวในคดีมาตรา 112 เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ‘ประชาชน’ ต้องเป็นผู้สูญเสียและเจ็บปวด ก่อนหน้านี้มีอดีตผู้ต้องขังคดีการเมืองหลายคนที่ต้องรับการรักษาที่ รพ.ราชทัณฑ์ ด้วยหลากหลายความเจ็บป่วย อาทิ โรคโควิด – 19, การอดอาหารประท้วง, ได้รับบาดเจ็บและมีบาดแผล ต่างก็ได้เผชิญกับมาตรฐานการรักษาที่แตกต่างจากนอกเรือนจำ
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้จัดรายการ TLHR LIVE เรื่อง ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ดูแล ‘ชีวิต’ คุณแบบไหน ? ร่วมสนทนาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์โดย เอกชัย หงส์กังวาน และแซม สาแมท อดีตผู้ต้องขังการเมือง พร้อมกับ พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
“เอกชัย” เล่าประสบการณ์พบ ‘ฝีในตับ’ ระหว่างถูกขัง เมื่อปี 66
ช่วงเดือนกันยายน ปี 2566 ขณะถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ‘เอกชัย’ มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง มีไข้ เขาจึงลงชื่อขอพบแพทย์ เมื่อได้พบแพทย์ ครั้งนี้แพทย์ถึงได้เข้ามาจับดวงตาดู ซึ่งต่างจากครั้งก่อน ๆ ที่แพทย์แทบจะไม่เงยหน้าขึ้นมองคนไข้เลยด้วยซ้ำ
ไทม์ไลน์ก่อนถูกส่งตัวรักษาที่ รพ.ราชทัณฑ์
1 ก.ย. มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง และจองคิวขอพบแพทย์
4 ก.ย. ได้พบแพทย์ตามคิวในเรือนจำ
6 ก.ย. ได้รับการตรวจเลือดและได้รับแจ้งผลการตรวจเลือด
7 ก.ย. แพทย์ตรวจซ้ำอีกครั้งเพื่อยืนยันอาการ
8 ก.ย. ได้รับการส่งตัวไปรักษาต่อยัง รพ.ราชทัณฑ์
“กว่าจะได้ไปโรงพยาบาล 1 อาทิตย์พอดี ตอนนั้นทรมานมาก มีอาการหนาวสั่น เป็นไข้ และมีอาการอีกหลายอย่าง” เอกชัยกล่าว
เมื่อถูกย้ายตัวมารักษาต่อที่ รพ.ราชทัณฑ์ ในวันศุกร์ ครั้งนั้นเอกชัยยังไม่ได้พบแพทย์และไม่ได้รับการรักษาโดยทันที มีเพียงเจ้าหน้าที่เข้ามาพบเพื่อทำประวัติผู้ป่วย จากนั้นต้องนอนรอที่เตียงคนไข้และรับน้ำเกลือทางหลอดเลือดอยู่ 2 วัน เนื่องจากวันเสาร์-อาทิตย์ ทำให้ยังคงไม่ได้พบแพทย์อีก
กระทั่งในวันจันทร์ หรือเข้าสู่วันที่ 4 ของการอยู่ รพ. เอกชัยจึงได้พบแพทย์ โดยแพทย์ได้ทำการตรวจและได้นัดตรวจช่องท้องด้วยการอัลตราซาวด์ ซึ่งต่อมาพบว่าช่องท้องมีก้อนเนื้อใหญ่ขนาดเท่ากำปั้น แต่ตอนนั้นแพทย์ยังไม่ได้ระบุว่าเป็นผลมาจากโรคอะไร
ไทม์ไลน์กว่าจะถูกส่งตัวไปรักษาที่ รพ. ภายนอก
8 ก.ย. ได้รับการส่งตัวไปรักษาต่อยัง รพ.ราชทัณฑ์
14 ก.ย. ได้รับการ CT Scan ผลออกมาว่าเป็นฝีในตับ
15 ก.ย. ถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่ รพ.ราชวิถี
“รพ.ราชวิถี เหมือน รพ.ทั่วไป เป็นห้องนอน 5 คน มีแอร์ แต่ รพ.ราชทัณฑ์เป็นห้องใหญ่มาก นอน 30 กว่าคน ไม่มีแอร์ ตอนนั้นรักษาอยู่หลายวันกว่าจะส่งกลับมาที่ รพ.ราชทัณฑ์ ในวันที่ 25 ก.ย. เพื่อมาพักฟื้น” เอกชัยกล่าว
“แซม” เล่าประสบการณ์ติดโควิดในเรือนจำ
ระหว่างถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อปี 2564 แซมได้ตรวจพบว่าตัวเองติดเชื้อโควิด-19 ตอนนั้นแซมและผู้ติดเชื้อโควิดคนอื่น ๆ ถูกย้ายตัวไปอยู่รวมกันที่แดนที่ 8 ของเรือนจำ ซึ่งเขาให้ความเห็นว่าเป็นแดนที่ไม่มีใครอยากไปอยู่เลย เพราะเสียงดังและมีแต่คนทำงาน
การติดเชื้อวันที่ 2-3 แซมเริ่มมีอาการหนักขึ้น เริ่มไอเป็นเลือด เขาจึงร้องขอเจ้าหน้าที่ออกไปรักษาตัวที่ รพ.ราชทัณฑ์ ในวันเดียวกันเวลาประมาณเที่ยงกว่าเจ้าหน้าที่จึงได้พาตัวแซมไป รพ.ราชทัณฑ์
“ตอนนั้นเราออกซิเจนต่ำ อยู่ที่ประมาณ 94% ไอเป็นเลือด ความดันสูงมาก หัวใจเต้นเร็วมาก ๆ จนไม่ไหวแล้ว จนผู้ต้องขังตะโกนกันว่า น้องไม่ไหวแล้ว แซมไม่ไหว หายใจลำบาก! …
“แต่ผู้คุมตะโกนกลับขึ้นมาว่า ‘มึงจะป่วยอะไรกันนักหนา หมอก็ไม่มี’
“อาการต้องหนักถึงขนาดนี้เขาถึงยอมส่งตัวผมไป รพ.ราชทัณฑ์ จริง ๆ มันไม่เหมือน รพ. ซะทีเดียว เป็นแค่ห้องกักโรคอีกที แล้วได้รับการรักษาด้วย ‘ยาพารา’ แค่นั้น …”
การจะได้ย้ายตัวไปรักษาที่ รพ.ราชทัณฑ์ แซมเล่าว่า จะต้องป่วยด้วยอาการที่รุนแรงมากจริง ๆ ในตอนนั้นที่ได้ย้ายไป รพ.ราชทัณฑ์ แล้ว แต่กลับพบว่าต้องรักษาตัวอยู่ในห้องกักโรค ซึ่งเป็นห้องขังโล่งกว้าง อยู่ร่วมกับผู้ป่วยอื่นอีกประมาณ 50 คน ด้านการรักษาได้รับเพียงยาพาราเซตามอลสำหรับแก้ไข้และยาฟาวิพิราเวียร์ ทั้งผู้ป่วยทุกคนยังต้องช่วยเหลือกันเองในการตรวจวัดไข้และวัดความดันด้วย
“ตอนเป็นโควิดเราคาดหวังว่าจะหมอจะรักษาอะไรบ้าง แต่ไม่เลย เขาจ่ายยาพารามา 6 เม็ด แล้วก็ยาฟาวิฯ ให้ผู้ต้องขังวัดไข้กันเอง วัดความดันกันเอง ผ่านไป 6-7 วัน หมอก็แค่เข้ามาถามว่าดีขึ้นยัง แค่นั้น ไม่เคยเห็นแม้แต่หมอมายืนดู มีแต่ผู้ต้องขังยืนดูกันเอง” แซมกล่าว
แซมเล่าอีกว่า สิ่งที่ประหลาดใจมากที่สุดคือ ห้องกักโรคของ รพ.ราชทัณฑ์ ในตอนนั้นมีความเก่ามาก ไม่มีมุ้งลวดทั้งที่ยุงเยอะมาก ส่วนผ้าห่มก็ต้องใช้ต่อ ๆ กันทั้งที่ไม่ได้ซักทำความสะอาดหรือตากแดดฆ่าเชื้อเลย
เมื่อเจ็บป่วยในเรือนจำ ทำอย่างไรถึงจะได้พบแพทย์
เอกชัยและแซมยังได้เล่าถึงความยากลำบากเกี่ยวกับวิธีการขอตรวจโรคกับแพทย์เมื่อเจ็บป่วยระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำ ซึ่งทั้งสองได้ให้ความเห็นไว้ตรงกันว่า การพบแพทย์ในเรือนจำไม่ใช่เรื่องง่าย เข้าถึงไม่ได้โดยทันที
- ต้องลงชื่อเพื่อขอพบแพทย์ตามคิว
ผู้ต้องขังต้อง ‘ลงชื่อ’ ที่ห้องสมุดของเรือนจำเพื่อขอเข้าพบแพทย์ ซึ่งจะยังไม่ได้พบแพทย์ในวันนั้นทันที แต่จะได้พบในวันถัดไป
เอกชัยยกตัวอย่างถึงแดน 4 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จะมีแพทย์เข้ามาตรวจดูผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยสัปดาห์ละ 3 วัน ได้แก่ วันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์
ถ้าวันถัดไปจากวันที่ลงชื่อขอพบแพทย์เป็น ‘วันหยุด’ นัดก็จะถูกเลื่อนออกไปจนกว่าจะถึงวันทำการปกติและตรงกับวันที่แพทย์เข้ามาตรวจ
“อย่างช่วงวันหยุดยาว บางทีก็นานเป็นอาทิตย์เลยกว่าจะได้พบหมอ บางคนก็หายแล้ว หรือบางครั้งนัดก็ถูกเลื่อนออกไปเฉย ๆ ก็มี” เอกชัยกล่าว
- ลงชื่อต้องไม่เกิน 8 โมงเช้า แล้วจะได้เจอหมอในอีก 1-2 วัน
เงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตามอย่างที่สอง จะต้องลงชื่อขอพบแพทย์ภายในเวลาไม่เกิน 8 โมงเช้า แล้วจะได้พบแพทย์ในวันที่มีคิวตรวจใกล้ที่สุด
“สมมติว่าป่วยวันศุกร์ คุณต้องมาลงชื่อขอพบหมอก่อน 8 โมงของวันศุกร์ แล้วจะได้พบหมอวันจันทร์ แต่ถ้าวันศุกร์คุณลงชื่อเกิน 8 โมง คุณจะได้พบหมอวันพุธเลย” เอกชัยกล่าว
- จำกัดโควตา หมอ 1 คน ตรวจคนไข้ได้ไม่เกิน 20 คน
เรือนจำจำกัดให้แพทย์ 1 คนตรวจคนไข้ได้ไม่เกินวันละ 20 คน โดยแพทย์จะเริ่มตรวจตอนประมาณ 11.00 น. ของแต่ละวัน มีหมอด้วยกันทั้งหมด 2 คน ใช้ห้องกว้างโล่ง ๆ ในเรือนจำเป็นห้องตรวจ ผู้ต้องขังต้องเรียงแถวตามคิว แถวละไม่เกิน 20 คน
เมื่อถึงคิว ผู้ต้องขังต้องยืนเว้นระยะห่างกับหมอพอสมควร ไม่ได้อยู่ใกล้กันเลย และหมอไม่ได้แตะตัวผู้ป่วยเลยด้วยซ้ำไป บางครั้งหมอไม่ได้มองหน้าผู้ต้องขังเลยก็มี ส่วนใหญ่จะซักประวัติเร็ว ๆ ก้มหน้าอ่านเอกสาร และจด ๆ บนกระดาษ
การรักษาของ รพ.ราชทัณฑ์ ‘แตกต่าง’ จาก รพ.ภายนอก อย่างไร
- ห้องนอนผู้ป่วยแออัด แน่นกว่า 30 เตียง
เอกชัยเล่าว่าห้องผู้ป่วยมีความแออัด ไม่เหมือนกับ รพ. ทั่วไปข้างนอกที่ห้องหนึ่งอาจนอนกันแค่ 2-5 คน แต่ที่ รพ.ราชทัณฑ์จะเป็นห้องขนาดใหญ่มาก มีผู้ป่วยนอนประมาณ 30 กว่าคน
- โอกาสพบแพทย์-พยาบาลมีน้อยมาก
ผู้ป่วยมีโอกาสได้พบหมอและพยาบาลน้อยมาก ตอนที่เอกชัยป่วยเป็นฝีในตับช่วงแรกยังมีหมอมาดูอาการอยู่บ้าง ทว่าหลังจากนั้นก็ไม่มีหมอเข้ามาตรวจดูอีกเลย ส่วนพยาบาลเอกชัยก็จะได้เจอแค่ตอนจ่ายยา ซึ่งจะมาอยู่แค่หน้าห้องแล้วให้ผู้ต้องขังอาสารับยาไปให้ผู้ป่วยที่เตียง พยาบาลไม่ได้เดินเข้ามาถึงเตียงผู้ป่วยแต่อย่างใด
- คนดูแลผู้ป่วย คือ นักโทษด้วยกันเอง
เอกชัยเล่าว่าคนที่ดูแลผู้ป่วยก็คือ ‘นักโทษ’ ด้วยกันเอง ห้องผู้ป่วยทุกห้องจะมี ‘นักโทษพี่เลี้ยง’ อยู่ประจำห้อง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เคยป่วยและรับการรักษาที่ รพ.ราชทัณฑ์ มาก่อนจนหายดีแล้ว จากนั้นผันตัวมาทำหน้าที่คอยดูแลผู้ป่วยเหมือนเป็น ‘จิตอาสา’ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเช็ดตัว คอยป้อนอาหาร อำนวยความสะดวกในการขับถ่าย ฯลฯ
“คนที่ดูแลก็คือนักโทษเนี่ยแหละ จะมีนักโทษพี่เลี้ยงอยู่ประจำห้อง เป็นพวกที่เคยป่วยแต่หายแล้วจะมาช่วยเช็ดตัว บางคนต้องเช็ดขี้ เช็ดเยี่ยวให้ คอยป้อนอาหาร ถ้าเป็นข้างนอกงานพวกนี้จะเป็นงานของพยาบาล แต่ที่ รพ.ราชทัณฑ์พยาบาลแทบจะไม่เคยเข้ามาเลยในห้อง ยกเว้นว่าจะมีเหตุการณ์ร้ายแรง” เอกชัยกล่าว
- การขอเอกสารได้ล่าช้า
พูนสุขเล่าว่า แม้ในสถานการณ์ปกติการขอเอกสารการรักษาจาก รพ.ราชทัณฑ์ ก็เป็นไปอย่างล่าช้า เช่น เมื่อปี 2564 ขณะที่ แซมป่วยเป็นโควิด พูนสุขในฐานะทนายความได้ยื่นขอใบรับรองแพทย์ แต่ รพ.ราชทัณฑ์ ใช้เวลาดำเนินการนานประมาณ 1 สัปดาห์ และในปี 2567 เมื่อไม่นานนี้ พูนสุขได้ยื่นขอใบรับรองแพทย์ของ “น้ำ” วารุณี ซึ่งเจ้าหน้าที่ของ รพ.ราชทัณฑ์ ก็ได้แจ้งว่าต้องใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 สัปดาห์
“ในภาวะที่ไม่ได้มีใครคนเสียชีวิต ช่วงแซมเป็นโควิด รพ.ราชทัณฑ์ใช้เวลาประมาณอาทิตย์หนึ่งกว่าจะได้ใบรับรองแพทย์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ไปขอใบรับรองแพทย์ของวารุณี เขาก็แจ้งมาว่าใช้เวลา 2 อาทิตย์ นี่คือเรื่องพื้นฐานมากเลย แต่ใช้เวลาขนาดนี้แล้วบอกว่ามีมาตรฐานในการรักษา” พูนสุขกล่าว
- เจ้าหน้าที่เคร่งครัดกับระเบียบ ‘ติดขัง’
เอกชัยและแซมให้ข้อมูลตรงกันว่า เงื่อนไขการคุมขังอย่างเคร่งครัดทำให้โอกาสเข้าถึงการรักษาหรือการกู้ชีพกรณีฉุกเฉินเป็นไปอย่างยากลำบาก
ปัญหานี้ผู้ต้องขังเรียกกันว่า ‘การติดขัง’ คือ การที่ผู้ต้องขังต้องถูกคุมขังอยู่บนเรือนนอนไม่สามารถออกไปไหนได้ตั้งแต่เวลา 15.00 น. ไปต้นไป จนถึงเวลา 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เอกชัยเล่าอีกว่า ก่อนหน้านี้ไม่มีออดให้กดเรียกเจ้าหน้าที่ด้วย สิ่งนี้เพิ่งมีไม่นานมานี้เอง แม้ปัจจุบันจะมีออดแล้ว แต่เมื่อมีผู้ต้องขังกดออดเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้รีบมาโดยทันที บางครั้งจึงเกิดกรณีการเสียชีวิตในห้องขัง
นอกจากนี้ คนที่ขึ้นมาเมื่อมีผู้ต้องขังกดออดจะเป็น ‘เจ้าหน้าที่’ ซึ่งจะสอบถามอาการเบื้องต้นก่อน หากอาการรุนแรงมากเจ้าหน้าที่จึงจะเดินกลับลงไปตามหมอ ซึ่งกว่าหมอจะมาถึงห้องขังส่วนใหญ่ก็ใช้เวลาไปประมาณครึ่งชั่วโมงแล้ว ด้วยเหตุนี้ระหว่างการรักษาอยู่ที่ รพ.ราชทัณฑ์ เอกชัยได้พบกรณีผู้ต้องขังเสียชีวิตในห้องผู้ป่วยระหว่างรอแพทย์ถึง 3 รายด้วยกัน
จาก “อากง” ถึง “บุ้ง” สะท้อนให้เห็นปัญหาอะไรบ้าง?
พูนสุข ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในทีมทนายความในคดีมาตรา 112 ของ “อากง” อำพล ตั้งนพกุล ได้กล่าวถึงการสูญเสีย “บุ้ง” ว่า เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจและน่าเสียใจมาก ซึ่งได้เกิดขึ้นอีกแล้ว
ย้อนกลับไปในปี 2555 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาจำคุกอากง 20 ปี ต่อมา อากงและครอบครัวตัดสินใจถอนอุทธรณ์คำพิพากษา ไม่สู้คดีต่อในชั้นอุทธรณ์ เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ แต่สุดท้ายยังไม่ทันได้รับอภัยโทษก็กลับต้องเสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังเสียก่อน
พูนสุขกล่าวว่า หลายคนชอบอ้างประโยคที่ว่า “คุกนะ ไม่ใช่โรงแรม” แน่นอนว่า ไม่มีใครคิดว่าคุกคือโรงแรมที่อยากจะไปพักผ่อนเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ประเด็นสำคัญของปัญหานี้เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพ เป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดในชีวิต และเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญด้วย
มาตรา 55 ของรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า “รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง” พูนสุขขยายความคำว่า ‘อย่างทั่วถึง’ หมายถึง ต้องได้รับทุกคน ต้องไม่เลือกปฏิบัติว่าเป็นคนในเรือนจำหรือเป็นคนที่มีความคิดแบบใดแบบหนึ่ง ไม่ว่าใครก็ตามที่อยู่ในเรือนจำ ทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงการบริการสาธารณสุข
“มันไม่ใช่แค่การเจ็บป่วยแล้วต้องได้รับการรักษา แต่รวมถึงต้องมีการดูแล การป้องกัน ควบคุมโรคต่าง ๆ ด้วย สิ่งที่สำคัญ รัฐธรรมนูญยังระบุไว้ว่า จะต้องมีมาตรฐานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
พูนสุขตั้งคำถามว่า “ผ่านมา 10 กว่าปีแล้ว รพ.ราชทัณฑ์ ได้มีการพัฒนาที่ต่อเนื่องหรือเปล่า?”
ก่อนที่อากงจะเสียชีวิต ทนายความได้ยื่นประกันต่อศาลฎีกาเป็นครั้งสุดท้าย ในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2555
โดยศาลฎีกามีคำสั่งว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี เห็นว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยถึง 20 ปี หากปล่อยตัวชั่วคราวเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ส่วนที่จำเลยอ้างความเจ็บป่วยนั้น เห็นว่าจำเลยมีสิทธิการรักษาพยาบาลโดยหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์”
พูนสุขเล่าว่า สรุปง่าย ๆ คือ ศาลเห็นว่ามีบริการสาธารณสุขอยู่แล้ว หรือพูดอีกอย่างก็คือให้รักษาตัวในเรือนจำต่อไป
ทั้ง “อากง” และ “บุ้ง” เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ ตามหลักกฎหมายแล้วต้องมีการชันสูตรพลิกศพโดยแพทย์ กรณีของบุ้งตอนนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานสรุปสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงอยู่ จากนั้นพนักงานอัยการจะเป็นคนยื่นสำนวนคดีต่อศาลเพื่อใช้ในการไต่สวนการตาย
ก่อนถูกคุมขังอากงเคยเป็นโรคมะเร็งที่โคนลิ้น แต่ได้รับการรักษาจนหายแล้ว แต่อย่างที่หลายรู้ว่าโรคนี้มีโอกาสกลับมาเป็นได้ใหม่อีก ฉะนั้นจึงต้องพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างสม่ำเสมอ แต่ระหว่างอากงอยู่ที่เรือนจำมีการส่งตัวไป รพ. แต่ไม่ได้พบหมอแต่อย่างใด เป็นการไปตรวจด้วยเครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging) ที่ช่วงคอและลิ้นของอากง ซึ่งก็ไม่พบอาการ
พูนเล่าอีกว่า แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงปี 2555 เรือนจำก็ไม่ได้พาอากงไปตรวจเป็นระยะ ๆ ที่ รพ.อีก แต่จากประวัติการรักษาของอากงก่อนเสียชีวิตมีข้อสังเกต ดังนี้
- 5 เม.ย. อากงไปพบแพทย์ แพทย์ให้การรักษาตามอาการ
- 24 เม.ย. อากงไปด้วยอาการปวดท้อง แพทย์ให้การรักษาตามอาการ
- 30 เม.ย. อากงไปด้วยอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องโต แพทย์ให้ยาไปแล้วไม่ทุเลา เลยพิจารณาส่งไปที่ทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์
วันที่ 5, 24, 30 เม.ย. ทั้งสามครั้งเป็นการรักษาภายในสถานพยาบาลของเรือนจำ ยังไม่มีการส่งตัวไป รพ. ทั้งที่อากงมีอาการปวดท้องตั้งแต่ 24 เม.ย. แล้ว และในวันที่ 30 เม.ย. เรือนจำก็ยังไม่ได้ส่งตัวไป รพ.ราชทัณฑ์ ภายในวันนั้นโดยทันที แต่ส่งไปในวันที่ 4 พ.ค. หรือหลังจากนั้น 4 วันแล้ว
ปรากฏว่า วันที่ 4 พ.ค. เป็นวันศุกร์ วันที่ 5 พ.ค. เป็นวันฉัตรมงคล ทำให้วันจันทร์ที่ 7 พ.ค. ต้องเป็นวันหยุดชดเชยด้วย ระหว่างนั้นอากงจึงได้รับการรักษาตามอาการ ยังไม่มีการวินิจฉัยโดยแพทย์ว่า สาเหตุของการปวดท้องที่แท้จริงเกิดจากอะไร รวมถึงไม่มีการเจาะเลือดไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการด้วย
รพ.ราชทัณฑ์ วางแผนว่า จะตรวจอากงในวันอังคารที่ 8 พ.ค. แล้วส่งเลือดไปตรวจที่แล็บข้างนอก เพราะราชทัณฑ์ตอนนั้นไม่มีความสามารถในการตรวจผลเลือดได้เอง ต้องส่งแล็บภายนอก แต่อากง ‘เสียชีวิต’ ในวันนั้น ก่อนจะตรวจพบภายหลังว่า อากงเป็น ‘โรคมะเร็งตับ’ ระยะลุกลาม
พูนสุขให้ความเห็นว่า คำถามสำคัญต่อกรณีอากง คือ หากว่าอากงได้รับการรักษาอยู่ที่ รพ.ภายนอก อากงมีโอกาสที่จะได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่ต้องรอเวลานานถึง 3-4 วัน เพื่อส่งเลือดไปตรวจที่อื่นก่อนแล้วค่อยกลับมาวินิจฉัยอีกครั้ง
นอกจากนี้ ในระหว่างการกู้ชีพอากงที่ รพ.ราชทัณฑ์ พูนสุขระบุว่า ‘ไม่มีแพทย์’ อยู่ร่วมด้วย มีแต่เพียงพยาบาลกู้ชีพด้วยการทำ CPR และใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Ambu Bag
“เรือนจำบอกว่า ‘นี่คือการกู้ชีพตามมาตรฐาน’
“เราฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้น แต่คดีไปไม่ถึงอุทธรณ์ เพราะป้าอุ๊ (ภรรยาอากง) บอกว่าไม่ไหวแล้ว พอแล้ว ไม่อยากสู้แล้ว เลยทำให้คดีนี้ไปไม่ถึงที่สุด อีกไม่กี่ปีต่อมาสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นซ้ำอีกหนกับบุ้ง เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจมาก” พูนสุขกล่าว
พูนสุขให้ความเห็นต่อกรณีของบุ้งว่า คดีของบุ้ง หลายคนมักจะพูดว่า ก็ศาลเคยให้ประกันแล้ว แต่เป็นบุ้งเองที่กระทำผิดซ้ำอีกจึงเป็นเหตุผลให้ศาลสั่งถอนประกัน
พูนสุขยืนยันว่า คดีของบุ้งศาลยังไม่มีคำพิพากษาด้วยซ้ำไป ฉะนั้นจึงยังต้องใช้หลักการสันนิษฐานว่า “ทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด”
บุ้งต้องอยู่ในเรือนจำทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาว่าผิดด้วยซ้ำ คดีที่ถูกกล่าวหาก็เกิดจาก ‘การทำโพล’ ถามว่า ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่ ซึ่งเป็นการตั้งคำถามกับสังคม แต่กลับกลายเป็นอาชญากรรมร้ายแรงได้อย่างไร คดีนี้ทำให้บุ้งต้องถูกนำเข้าเรือนจำจนกลายสาเหตุให้ต้องอดอาหารประท้วงอยู่เป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และเรียกร้องว่าต้องไม่มีคนถูกคุมขังเพราะคดีทางการเมืองอีกต่อไป
ทนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ได้ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนว่า ในหนังสือรับรองการเสียชีวิตของบุ้ง แพทย์ให้ความเห็นว่าบุ้งเสียชีวิตเพราะสาเหตุภาวะเกลือแร่ไม่สมดุล ประกอบกับโรคหัวใจโต
พูนสุขเห็นว่า โรคหัวใจโตอาจจะไม่มีใครรู้มาก่อน แต่สำหรับภาวะเกลือแร่ไม่สมดุลราชทัณฑ์ ‘ต้องรู้แน่นอน’ แต่ทำไมไม่หาทางรักษา ไม่ว่าจะด้วยการฉีด ดื่ม ผสมกับอาหาร หรืออะไรก็ตาม
สุดท้าย พูนสุขให้ข้อมูลว่า บุ้ง คือ ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 รายที่ 2 ที่เสียชีวิตระหว่างการถูกควบคุมตัวของ รพ.ราชทัณฑ์ แต่หากเป็นผู้ต้องขังคดี มาตรา 112 ที่ต้องตายในเงื้อมมือ ‘ราชทัณฑ์’ ก่อนหน้านี้ในปี 2558 มี 2 ราย ได้แก่ “หมอหยอง” สุริยัน สุจริตพลวงศ์ และปรากรม วารุณประภา ซึ่งทั้งสองเสียชีวิตที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครชัยศรี
ตามแถลงของราชทัณฑ์ระบุว่า ปรากรมเสียชีวิตด้วยการผูกคอ ส่วนหมอหยองเสียชีวิตด้วยสาเหตุติดเชื้อในกระแสเลือด พูนสุขตั้งข้อสังเกตว่า การเสียชีวิตของทั้งสองยิ่งมีความแปลกกว่ากรณีของอากงและบุ้งมาก โดยที่ทั้งหมอหยองและปรากรมไม่มีแม้กระทั่ง ‘งานศพ’ และไม่มีข่าวให้ได้ยินด้วยซ้ำไป
ข้อเรียกร้องต่อ รพ.ราชทัณฑ์ เพื่อให้ประชาชนวางใจฝากชีวิตได้
ในความเห็นของ “แซม” มองว่า จะกล่าวโทษต่อราชทัณฑ์เพียงหน่วยงานเดียวไม่ได้ แต่จะต้องกล่าวโทษต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นเพราะระบบยุติธรรมที่ ‘ผิดเพี้ยน’ มาตั้งแต่แรก โดยเฉพาะการไม่ให้สิทธิประกันตัวในระหว่างการต่อสู้คดีกับผู้ต้องขังคดีการเมือง
ส่วน รพ.ราชทัณฑ์ นั้น แซมเคยได้รับการรักษาโรคโควิดอยู่ถึง 2 ครั้ง เป็นเวลารวมกันเกือบ 2 เดือน แซมเห็นว่า ยังมีอีกหลายอย่างที่ รพ.ราชทัณฑ์ ต้องได้รับการแก้ไขและปรับปรุง มิฉะนั้นผู้ต้องขังจะไม่สามารถฝากชีวิตไว้ได้หากว่าทุกอย่างยังเป็นเช่นเดิมอยู่
ข้อเรียกร้องจากแซม
- ขอให้ รพ.ราชทัณฑ์ ‘ลดขั้นตอน’ การเข้าถึงตัวผู้ป่วยของเจ้าหน้าที่ โดยระหว่างถูกคุมขังในห้องขังต้องให้สิทธิผู้ต้องขังได้ออกไปพบแพทย์ได้ทุกเมื่อ โดยไม่ต้องรอให้ถึงเวลาเปิดประตูห้องขังในตอนเช้า
ด้าน “พูนสุข” ขอให้กรมราชทัณฑ์ ‘ยอมรับความจริง’ ว่า รพ.ราชทัณฑ์ มีปัญหาในเรื่องอะไรบ้าง และเชื่อว่าหน่วยงานรัฐพร้อมที่จะช่วยสนับสนุนการให้การรักษาของ รพ.ราชทัณฑ์
ข้อเรียกร้องจากพูนสุข
- ต้องให้ประกันตัวผู้ต้องขังคดีการเมือง
- สิ่งที่ทำได้เลยโดยไม่ต้องออกกฎหมาย คือการสั่งไม่ฟ้อง หรือยุติคดีในคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 โดยใช้อำนาจของพนักงานอัยการ
- ขอให้รัฐสภาเร่งรัดหาข้อสรุปเกี่ยวกับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนโดยเร็ว เพื่อนิรโทษกรรมให้กับประชาชนทุกสี ทุกฝ่าย ทุกมาตรา และต้องทำโดยเร็วที่สุด
- รพ.ราชทัณฑ์ จะต้องมีมาตรฐานในการรักษา
ส่วน “เอกชัย” ให้ความเห็นว่า โรงพยาบาลทั่วไปไม่ว่าจะเอกชนหรือรัฐจะอยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวงสาธารณสุข แต่สำหรับ รพ.ราชทัณฑ์ นั้นต่างออกไป โดยอยู่ใต้สังกัด ‘กระทรวงยุติธรรม’ เอกชัยจึงคาดว่า ด้วยเหตุนี้ที่ทำให้กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้เข้ามาตรวจ รพ.ราชทัณฑ์ บ่อยนัก หรืออาจจะไม่มาตรวจเลยด้วยซ้ำไป
ข้อเรียกร้องจากเอกชัย
- ปรับปรุง รพ.ราชทัณฑ์ เพื่อให้มีมาตรฐานการรักษาที่ดีกว่านี้
- ปรับลดขั้นตอนการเข้าถึงแพทย์ที่ซับซ้อน เพื่อให้แพทย์และพยาบาลได้เข้าถึงผู้ต้องขังโดยเร็วหากเกิดเหตุฉุกเฉิน และการันตีว่าเมื่อผู้ต้องขังเจ็บป่วยจะต้องได้พบแพทย์ในเวลาอันรวดเร็ว
- ขอให้ย้าย รพ.ราชทัณฑ์ ไปอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข
‘บุ้ง’ คือใคร ในมุมที่เคยสัมผัส
เอกชัย: ส่วนตัวไม่เคยเจอบุ้งเลย เจอแต่ “ตะวัน” และ “แบม” เพราะไปศาลบ่อย เรารู้ว่าแต่ละคนมีความคิดเป็นของตัวเอง มีบางนิสัยที่คนอื่นอาจจะไม่ชอบ อย่างเราก็เหมือนกัน แต่เราไม่ได้อยู่ด้วยลมหายใจคนอื่น เราอยู่ด้วยลมหายใจตัวเอง ฉะนั้นไม่ต้องแคร์ใครหรอก ตราบใดที่เราไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน
แซม: ถ้าคนได้อยู่กับบุ้ง ไปกินข้าวกับบุ้ง หนูไปกินบุฟเฟต์กับบุ้งบ่อยมาก จะเห็นว่า บุ้งตอนที่เรียกร้องสิทธิก็เป็นอีกคน พออยู่กับเพื่อนก็เป็นอีกคนหนึ่ง
บุ้งเคยส่งข้อความมาหาหนู บอกว่า ‘ถ้าไม่ส่งข้อความมาก็โทรมาได้ตลอดเวลา’ บุ้งเป็นคนที่ให้กำลังใจคนรอบข้างตลอดเวลา คนอาจจะดูว่าบุ้งก้าวร้าว แต่ชีวิตจริง ‘ไม่ใช่’ เขาแค่รู้สึกว่าบางสิ่งไม่ถูกต้อง ถ้าพูดแล้วผู้ใหญ่ไม่ฟัง เป็นผมก็อาละวาดเหมือนกัน ขอยืนยันบุ้งไม่ใช่คนก้าวร้าว
พูนสุข: เราเป็นทนายช่วยเยี่ยมบุ้ง ตอนที่ใบปอและบุ้งอดอาหารประท้วงด้วยกันครั้งแรก เมื่อปี 2565 ตอนนั้นเราจะได้คุยกับเขาเกือบทุกวัน ก่อนหน้านั้นเราคิดว่า การคุยกับบุ้งจะยากมั้ย เรามีความคิดแบบนั้นเหมือนกัน แต่พอได้ไปเยี่ยมบุ้งแล้วก็รู้ว่าเขาไม่ได้ก้าวร้าว และเขาอ่อนโยนด้วยซ้ำ
กรณีเพื่อนนักกิจกรรมที่มีปัญหากัน และถูกกล่าวหาว่าค้ามนุษย์จากคุณเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ตอนที่ได้คุยกันบุ้งก็บอกว่า “เขารอคดีนั้นอยู่ ต้องการพิสูจน์ตัวเองในชั้นศาลว่ามันไม่ได้เป็นความจริง”
เราไม่ได้บอกว่าเพื่อนนักกิจกรรมที่ออกมาเสนอปัญหานั้นไม่จริง แต่เราคิดว่ามันเป็นความไม่เข้าใจกันในหลายส่วน ณ ตอนที่เกิดปัญหาบุ้งก็เข้าเรือนจำไปแล้ว ไม่ได้สื่อสารกัน
เราไม่ได้ก้าวล่วงว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่มันมีโอกาสที่คนจะเข้าใจผิด ไม่เข้าใจกัน ไม่ได้คุยกัน ความเปราะบางของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน มองที่เรื่องหลัก ๆ ในสิ่งที่เขาทำดีกว่า
สิ่งที่จะไว้อาลัยบุ้งที่ดีที่สุดคือ การทำตาม ‘ข้อเรียกร้อง’ ของบุ้ง คือ
หนึ่ง ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
สอง ต้องไม่มีผู้ต้องขังคดีทางการเมืองอีกต่อไป