สรุปเสวนา 112 วัน ‘บุ้ง’ เสียชีวิตในการควบคุมของราชทัณฑ์ กับอนาคตของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

วันที่ 2 ก.ย. 2567 วันครบรอบ 112 วัน การเสียชีวิตของ “บุ้ง” เนติพร จำเลยคดีมาตรา 112 กรณีการทำโพลขบวนเสด็จ ระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำ การเสียชีวิตของเธอยังคงคลุมเครือในหลายด้าน ชวนทบทวนเสียงจากผู้คนหลากหลายอาชีพทั้งสื่อมวลชนอาวุโส, อดีตนักการเมือง, นักเคลื่อนไหว/ นักกิจกรรมด้านประชาธิปไตย และทนายความ ว่าพวกเขากำลังตามหาคำตอบหรือมีบทเรียนอะไรจากการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของบุ้ง และในภาพที่กว้างกว่ากรณีของบุ้งเกี่ยวอย่างไรกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด

สรุปข้อชวนคิดจากวงเสวนา “112 วัน บุ้งยังไม่ได้รับความยุติธรรม” ในวาระครบรอบ 112 วันที่ “บุ้ง เนติพร” เสียชีวิตหลังอดอาหารประท้วงเรียกร้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม จัดที่ตึก All rise เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา 

—————————–
.

พรรณิการ์ วานิช แลกเปลี่ยนในประเด็นบทบาทนักการเมืองจะขับเคลื่อนสังคมยังไง และจะช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคนในสังคมได้อย่างไร 

พรรณิการ์กล่าวว่า นักการเมืองและประชาชนมีความสัมพันธ์ที่ขาดกันไม่ได้ นักการเมืองอยู่ในสภากับประชาชนที่เคลื่อนไหวนอกสภา ควรมีเป้าหมายเดียวกัน แต่ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองไป การเคลื่อนไหวนอกสภาที่ปลอดภัยตามหลักแล้ว ก็คือการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แม้สถานการณ์บ้านเราจะถูกจำกัดไปมากจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ส่งผลกระทบต่อการใช้เสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ในหลายครั้ง  

ส่วนการกู้เสรีภาพที่ถูกทำลายไปแม้ว่าจะเป็นปลายเหตุ ก็คือเรื่องนิรโทษกรรม แม้บุ้งจะไม่ได้รับประโยชน์จากตรงนี้แล้ว แต่ก็มีคนอีกหลายกลุ่มที่จะรับประโยชน์ ทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยม คนเสื้อแดง และคนรุ่นใหม่ที่ออกเคลื่อนไหวชุมนุมในนามของราษฎรเมื่อปี 2563 

พรรณิการ์เห็นว่า การนิรโทษกรรมไม่ใช่แค่การแก้ไม่ใหัรับโทษ แต่คือการทำให้ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติอีกครั้ง กลับมาใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี 

ภายในสิ้นปีนี้ รายงานของคณะกรรมาธิการศึกษาฯ เรื่องนิรโทษกรรม จะเข้าสู้การรับทราบของรัฐสภา ประกอบกับร่างกฎหมายหลายฉบับทั้งของพรรคการเมืองและประชาชน คาดว่าภายในเดือนตุลาคมปีนี้ รัฐสภาจะเป็นเวทีแรกที่เราจะได้ยินพรรคการเมืองต่าง ๆ มีความเห็นและท่าทีต่อกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างเป็นทางการ ความเห็นของคณะกรรมาธิการศึกษาฯ ยังไม่ได้ปิดประตูที่จะรวมข้อหาตามมาตรา 112 ด้วย และจะเปิดให้เป็นที่ถกเถียงกันในสภาต่อไป    
.

นายแพทย์เหวง โตจิราการ ให้ความเห็นจากการติดตามเรื่องราวผ่านสื่อและทนายความของบุ้ง ในประเด็นการรักษาผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินที่ได้มาตรฐานควรเป็นอย่างไร และข้อสังเกตต่อการปฏิบัติงานของโรงพยาบาลราชทัณฑ์    

นพ.เหวง ระบุว่า ครบ 112 วันแล้ว สิ่งที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับการเสียชีวิตของบุ้งมีหลายอย่าง ฟังจากเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของราชทัณฑ์ตอนแถลงข่าววันแรก ๆ ที่ตาย ไม่สามารถให้ความกระจ่างอะไรได้ ทั้งตัวเลขระดับโพแทสเซียมในร่างกายว่าสูงหรือต่ำก่อนตาย การกลับมากินอาหารอีกครั้งหลังจากอดอาหารไปเป็นอย่างไร ทีมฉุกเฉินที่เข้าถึงตัวบุ้งมีใครบ้าง ทำอะไรไว้บ้าง คนปั๊มหัวใจเป็นนักโทษหรือแพทยที่จบปริญญา ซึ่งปกติแล้วโรงพยาบาลทั่วไปต้องมีแพทย์ที่จบปริญญาประจำอยู่ตลอด การใส่ท่อช่วยหายใจไว้ถูกที่หรือไม่     

นอกจากนี้ นายแพทย์เหวงให้ข้อสังเกตว่าขึ้นชื่อว่าโรงพยาบาลต้องมีมาตรฐานพอสมควรถึงขนาดจะรับรักษาคนในเรือนจำทั้งประเทศได้ “คุณต้องมาแถลงแล้วว่าแพทย์หรือพยาบาลมาปั๊มหัวใจบุ้งขึ้นมา ปั๊มกี่นาที สัญญาณชีพกลับมาหรือเปล่า และตอนส่งไปโรงพยาบาลธรรมศาสตร์สัญญาณชีพที่ว่าอ่อนคืออะไร” 

นพ.เหวง ยังระบุว่าในโรงพยาบาลต้องมีเครื่อง AED (เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ Automated External Defibrillator) โรงพยาบาลทั่วไปเขามีกัน ที่เป็นกล่องหิ้วได้ บางประเทศที่รถไฟฟ้าก็มี ราคา 7 หมื่นบาท และก็ฝึกให้คนที่มีหน้าที่ใช้เครื่องมือนี้ได้ ถ้าโรงพยาบาลราชทัณฑ์มี อาจทำให้บุ้งฟื้นคืนมาได้ด้วยเครื่อง AED  

นพ.เหวง กล่าวอย่างสั้นและกระชับอีกในตอนท้ายวงเสวนาถึงคำถามต่อโรงพยาบาลราชทัณฑ์และรัฐบาลว่า “เรียกร้องให้ผู้มีอำนาจต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงโดยเร็ว คุณเอาความจริงเกี่ยวกับบุ้งออกมาแถลงต่อประชาชนทั้งประเทศดีกว่า อย่างนี้ถึงจะรักษาเกียรติยศไว้ได้ ที่ได้ย้ำไว้แล้วว่าราชทัณฑ์ส่งบุ้งไปโรงพยาบาลข้างนอกตั้งแต่กี่โมง ถึงกี่โมง ภายในรถฉุกเฉินที่ส่งไปมีเครื่องมืออะไรบ้าง หมอที่มีคนเห็นว่านั่งหน้ารถฉุกเฉิน ทำไมไม่นั่งด้านหลังเพื่อดูคนไข้ในภาวะวิกฤตอย่างใกล้ชิด แล้วสิ่งที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์บอกว่าบุ้งไม่มีสัญญาณชีพตอนรับตัวไว้ ทำไมไม่ตรงกับที่คุณบอกว่าสัญญาณชีพอ่อน”

.

อธึกกิต แสวงสุข ให้มุมมองของบทบาทสื่อมวลชน และการทำ Hate Speech ผ่านสื่อต่อนักกิจกรรมทางการเมือง

อธึกกิตฉายภาพการทำให้ตกเป็นเหยื่อความเกลียดชังในสังคมผ่านสื่อไว้ว่า สื่อที่ทำตัวเองเป็น Clickbait (พาดหัวยั่วให้คลิก) ในสังคมที่ก้าวข้ามความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมไปแล้ว จนเกิด “กระบวนการตั้งข้อหาโดยสังคม” บวกกับสังคมเองที่ฉาบฉวยในลักษณะระบายความเกลียดชังสูง เพื่อให้ตัวเองดูดีหรืออะไรก็แล้วแต่บนพื้นที่ออนไลน์ ทำให้เกิดลักษณะที่ไม่มี empathy หรือการเอาใจเขามาใส่ใจเราแบบคำโบราณ 

ตัวอย่างกรณีของ ‘คดีคุณแตงโม’ ที่รายการทีวีเอาทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์มานั่งสอบถามเลย กระบวนนี้ก็เกิดขึ้นในกรณีคดีของบุ้ง ตะวัน แฟรงค์ และหยก ที่ทุกคนตกเป็นเหยื่อของการตั้งข้อหาโดยสังคม จนนำไปสู่ความเกลียดชัง แทนที่จะสนใจว่าคนเหล่านี้เรียกร้องอะไรในสังคม 

ปฏิกิริยาทางสังคมและสื่อที่รุนแรงและทำลายภาพเนื้อหาของการเคลื่อนไหวเป็นประเด็นสำคัญในการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของสื่อกันเองอย่างตรงไปตรงมา ว่าการรายงานข่าวสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และประเด็นอ่อนไหวควรนำเสนอแบบตรงไปตรงมา ไม่เช่นนั้นคนในข่าวจะตกเป็นเหยื่อในสังคมได้ 

วันนี้กรณีของบุ้งชัดเจนคือว่าถูกเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ไม่ได้ประกันตัวออกมาสู้คดี ด้วยคดีมาตรา 112 และพอเข้าไปอยู่ในเรือนจำในความควบคุมของราชทัณฑ์ก็ถูกเลือกปฏิบัติเช่นกันเพราะกระแสเกลียดชังที่มีมาก่อนเข้าไป การสนใจและความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วจึงไม่มี 

อธิกกิตชวนคิดถึงข้อเสนอหนึ่งต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในส่วนราชทัณฑ์ว่าควรยกระดับข้อเสนอในเรื่อง “คุณภาพชีวิตของคนที่ติดคุกทั้งหมด” เพื่อรำลึกถึงบุ้ง ในวาระที่รัฐบาลแพทองธารจะตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ ควรระดมข้อเท็จจริงจากคนที่ติดคุกถึงปัญหาและช่วยกันยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขากันได้แล้ว ให้สิทธิพวกเขามีความเป็นมนุษย์ นี่เป็นข้อเสนอโดยตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเจ้าสังกัดกรมราชทัณฑ์ รวมทั้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) มาร่วมด้วย          

.

พูนสุข พูนสุขเจริญ แลกเปลี่ยนประเด็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและขั้นตอนการไต่สวนการตายต่อกรณีการเสียชีวิตของบุ้ง 

พูนสุขสรุปสาระสำคัญที่สุดว่าสุดท้ายแล้วสังคมจะ “ทำอย่างไรให้กระบวนการยุติธรรมสามารถคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพประชาชนได้จริง ๆ” ในสถานการณ์ที่ตลอดสายของกระบวนการยุติธรรมทำให้บุ้งเสียชีวิตโดยไม่จำเป็น  

ในขั้นตอนทางกฎหมายปัจจุบันกรณีการเสียชีวิตของบุ้ง คือการตายในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ กระบวนการผ่านมาแล้ว 112 วัน มีการชันสูตรพลิกศพไปแล้ว ขั้นต่อไปคือคดีการไต่สวนการตาย ตามกำหนดเวลาภายในปีนี้ ตำรวจต้องทำสำนวนว่า “เนติพรตายที่ไหน ตายด้วยเหตุอะไร ถ้าถูกทำร้ายใครเป็นคนทำ” ให้อัยการ แล้วอัยการก็ขอไต่สวนการตายต่อศาลอีกที

ตอนนี้การทำสำนวนอยู่ที่ สภ.คลองหลวง เพื่อส่งต่ออัยการจังหวัดธัญบุรี ภายในเวลารวมไม่เกิน 90 วันอัยการต้องยื่นต่อศาลจังหวัดธัญบุรีเมื่อได้รับสำนวนจาก สภ.คลองหลวง ต้องย้ำด้วยว่าคดีไต่สวนการตายเป็นคนละคดีหรือคนละขั้นตอน กับคดีในการเอาผิดเอาโทษ  

พูนสุขกล่าวว่า ประเด็นว่าบุ้งเสียชีวิตที่ไหนก็ยังไม่สิ้นสุดว่าบุ้งตายที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ หรือโรงพยาบาลธรรมศาสตร์กันแน่ มันจะส่งผลให้ศาลที่ต้องไต่สวนการตายเปลี่ยนจากศาลจังหวัดธัญบุรีเป็นศาลอาญาได้เลย 

กรณีของบุ้งเป็นคดีสำคัญที่ถ้าทุกคนให้ความสนใจและช่วยผลักดัน เราจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาตรฐานการช่วยชีวิตคนในภาวะวิกฤตในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้เลย 

“ถ้าข้อเท็จจริงเพียงพอ แล้วผิดมาตรฐานวิชาชีพจริง ๆ ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องให้กรณีของบุ้งเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงราชทัณฑ์ ไม่ใช่แค่บุ้ง แต่เพื่อทุกคนให้มีมาตรฐานชีวิตที่ควรจะเป็น”

ใบปอ ณัฐนิช แลกเปลี่ยนมุมองในฐานะน้องที่สนิทกับบุ้ง และผู้มีประสบการณ์เข้าไปในเรือนจำด้วยตัวเอง 

ใบปอเน้นย้ำถึงสิ่งที่บุ้งเห็นว่าไม่ได้รับความยุติธรรม ทั้งการไม่แจ้งสิทธิระหว่างถูกจับ การกีดกันไม่ให้พบทนายความ การไม่ได้รับหมายเรียกก่อนถูกจับในหลายครั้ง และการประกันตัวแบบมีเงื่อนไขโดยที่ยังไม่ได้ตัดสินว่าผิด  

ใบปอยังชี้ให้เห็นว่า “เธอไม่เห็นความโปร่งใสในกระบวนการในเรือนจำ” ที่เขาเรียกกันว่าแดนสนธยาเช่นกัน และเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและหัวหน้าผู้ตรวจราชการ ของกรมราชทัณฑ์ ทำตามที่ได้ประกาศไว้ที่งานศพของบุ้งว่าจะร่วมมือและเปิดเผยความจริง พร้อมกับถามหาท่าทีของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยว่าจะพูดถึงการเสียชีวิตของบุ้งได้แล้วหรือยัง 

“ถึงวันนี้เขายังไม่ได้พูดอะไร” 

.

.

อ่านเพิ่มเติม: 

แถลงการณ์ 100 วันการเสียชีวิตของ “บุ้ง” เนติพร : ไร้ความจริง ไร้ความยุติธรรม

จาก “อากง” ถึง “บุ้ง” รพ.ราชทัณฑ์ดูแล ‘ชีวิต’ ผู้ต้องขังอย่างไรเมื่อเจ็บป่วย

จดหมายจากเก็ท โสภณ: ครบ 3 เดือน วันตาย ‘บุ้ง’ เนติพร  อย่าให้การต่อสู้สูญเปล่า

กมธ.นิรโทษกรรมฯ สรุปรายงานส่งสภา ใส่เกียร์ว่างม. 112 “ไม่สามารถหาข้อสรุปได้” แต่กมธ. 18 คน ยืนยันนิรโทษกรรม รวม ม. 112 ได้

X