ใบปอนำรูปพร้อมโกศอัฐิ ‘บุ้ง’ ร่วมสืบพยานคดีโพลขบวนเสด็จ นัดใหม่ 27 พ.ค. – ราชทัณฑ์ ขอเวลาเพิ่มส่งหลักฐานการตาย ‘บุ้ง’ ให้ครอบครัว

20 พ.ค. 2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดสืบพยานโจทก์ คดีโพลขบวนเสด็จที่พารากอน ก่อนสั่งเลื่อนสืบพยานเป็นวันที่ 27 พ.ค. 2567 เวลา 9.00 น. ตามที่นัดไว้เดิม เหตุพนักงานอัยการแถลงขอให้พนักงานสอบสวนไปตรวจสอบรายละเอียดการตายของจำเลยที่ 3 “บุ้ง” เนติพร และทัณฑสถานหญิงกลางแจ้งเหตุขัดข้องไม่สามารถส่งตัวจำเลยที่ 1 ทานตะวันมาศาลได้ ขณะที่ “ใบปอ” นำรูปและโกศอัฐิของบุ้งร่วมเข้าฟังการพิจารณาคดีด้วย หลังบุ้งเสียชีวิตทำให้คดีนี้มีจำเลยเหลือเพียง 7 คน รวมถึงทานตะวันที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการควบคุมตัวที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  

คดีนี้เป็นคดีของศาลอาญากรุงเทพใต้ หมายเลขคดีดำที่ อ. 765/2565  จากกรณีทำโพลสำรวจความคิดเห็นความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จที่บริเวณสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 โดยพนักงานอัยการเป็นโจทย์สั่งฟ้องทานตะวัน ตัวตุลานนท์ พร้อมนักกิจกรรม และสื่ออิสระรวม 9 คน (เยาวชน 1 คน แยกฟ้องที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง) ในข้อหาร่วมกัน “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ”, ยุยงปลุกปั่นฯ, ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยร่วมกระทําความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป, ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ และขัดคำสั่งเจ้าพนักงานฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116, 136, 138, 140 และ 368 เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2565 

จำเลยในคดีนี้ ได้แก่ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, ใบปอ, “บุ้ง” เนติพร (สงวนนามสกุล), วรัณยา (สงวนนามสกุล), ฐากูร (สงวนนามสกุล), วรเวช (สงวนนามสกุล), แบม” (นามสมมติ) และ “บีม” ณัฐกรณ์ (สงวนนามสกุล) 

เวลา 09.05 น. ใบปอและเพื่อนนักกิจกรรมเดินทางมาถึงศาลพร้อมกับรูปและโกศอัฐิของบุ้ง โดยเธอได้ชี้แจงว่า เธอจะพาบุ้งมาศาลกับจำเลยทั้งหมดในวันนี้ เพื่อฟังการพิจารณาคดีในคดีที่บุ้งเป็นจำเลยที่ 3 และเป็นคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ถอนประกันและส่งบุ้งเข้าเรือนจำ จนทำให้บุ้งต้องจากไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 

ในวันเดียวกัน วรเวช (สงวนนามสกุล) ที่อยู่ในเรือนจำด้วยคดีส่วนตัวถูกเบิกตัวมาฟังการพิจารณาคดีด้วย วรเวชเข้ามาในชุดนักโทษสีน้ำตาล เท้าเปล่า และมีเครื่องพันธนาการคือกุญแจข้อเท้า เมื่อเห็นภาพของบุ้งเขาร้องไห้และใช้มือจับที่รูปของบุ้งตลอดการพิจารณาคดี  

นอกจากนี้ในห้องพิจารณายังมีเพื่อนนักกิจกรรม และเจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนประจำสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) มาร่วมสังเกตการณ์คดีอีกด้วย 

เวลา 10.45-11.00 น. ผู้พิพากษาเริ่มการพิจารณาคดีนี้โดยให้ทั้งโจทก์และจำเลยแถลงเกี่ยวกับความตายของจำเลยที่ 3 “บุ้ง” เนติพร พนักงานอัยการนำพนักงานสอบสวนขึ้นแถลงต่อศาลว่าขอเวลาสืบสวนเอกสารการตายของจำเลยที่ 3 เพื่อแถลงการตายอีกในนัดหน้า ทั้งนี้ พนักงานอัยการ ไม่ได้รับรองคำร้องและหนังสือรับรองการตายของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ลงวันที่ 20 พ.ค. 2567 ที่ส่งถึงศาลอาญากรุงเทพใต้ไว้ในคดีนี้ โดยผู้พิพากษาสอบถามจำเลยแล้วไม่คัดค้านจึง อนุญาตตามคำแถลงของพนักงานอัยการและกำชับให้ทางโจทก์ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในนัดครั้งถัดไป คือ วันที่ 27 พ.ค. 2567

ส่วนกรณีของจำเลยที่ 1 ทานตะวัน ผู้พิพากษาได้สอบถามทนายความจำเลยถึงระดับความเจ็บป่วยของทานตะวัน เหตุวันนี้ได้รับแจ้งจากทัณฑสถานหญิงกลางว่ามีเหตุขัดข้องไม่สามารถส่งตัวทานตะวันมาศาลได้ ตามหนังสือลงวันที่ 17 พ.ค. 2567 ทนายความจึงได้แถลงด้วยวาจาว่าทานตะวันถูกนำส่งตัวเข้าโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติมาตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 2567 หลังจากมีกรณีการเสียชีวิตของบุ้ง ผู้พิพากษาจึงจะมีหนังสือถึงทัณฑสถานหญิงกลางให้นำตัวทานตะวันมาศาลในนัดหน้าหากไม่มีเหตุขัดข้องเกี่ยวกับความเจ็บป่วย

คดีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 ทานตะวันและใบปอได้ร่วมกันชูป้ายโพลที่มีข้อความว่า “คุณคิดว่า ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่” โดยมี 2 ตัวเลือก คือ เดือดร้อนและไม่เดือดร้อน ในบริเวณห้างสยามพารากอน และมีการแจกสติ๊กเกอร์ให้ประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นบนโพล โดยมีประชาชนทยอยเข้าร่วมกิจกรรม และมีสื่ออิสระไลฟ์สดรายงานข่าว จากนั้นกลุ่มนักกิจกรรมได้เดินไปยังจุดต่างๆ รวมทั้งพยายามเดินไปทำกิจกรรมที่บริเวณด้านหน้าวังสระปทุม โดยมีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบพยายามเข้าแย่งแผ่นโพล และตั้งแนวกั้น จนนักกิจกรรมต้องประกาศยุติกิจกรรม

หลังกิจกรรมพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกนักกิจกรรมและสื่ออิสระรวม 9 คน เป็นเยาวชน 1 ราย ทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาและพนักงานอัยการส่งฟ้องเมื่อปี 2565

ในเรื่องการประกันตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดีของคดีนี้ เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งให้ถอนประกันเพียงบุ้ง เพราะเหตุได้ทำการพ่นสีสเปรย์ลงบนธงประจำพระองค์ของสมเด็จพระราชินี ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นการกระทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวที่ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยทานตะวันไม่ได้ถูกถอนประกันในคดีนี้   

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2566 ทานตะวันได้ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนเงื่อนไขประกัน โดยขอให้ปล่อยชั่วคราวอย่างไม่มีเงื่อนไข เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายได้สะดวก หลังจากอดอาหารระหว่างถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี และศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตตามคำร้อง

ส่วนจำเลยที่เหลือทั้ง 6 คน ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวแล้ว เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2565 โดยใช้หลักประกันเดิมในชั้นฝากขัง เป็นเงินสดคนละ 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมให้ติด EM (ต่อมาได้รับการถอด EM) และกำหนดเงื่อนไขเช่นเดียวกับชั้นฝากขัง คือ ห้ามทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้อง อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, ห้ามโพสต์ข้อความปลุกปั่น ยั่วยุ หรือชักชวนให้มีการเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดีย หรือเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล 

ต่อมา วรเวชหลังจากถูกตัดสินจำคุกในเรือนจำในคดีส่วนตัว วรวเวชได้ขอถอนประกันตัวเองในคดีนี้เพื่อสิทธิทางกฎหมายในการหักวันต้องขัง  

.

ราชทัณฑ์ขอเวลาอีก 4 วัน จัดการทางเทคนิคเบลอใบหน้าคนในไฟล์ภาพกล้องวงจรปิด ก่อนส่งมอบให้ครอบครับ

หลังบุ้งเสียชีวิตไปครบ 7 วันในวันนี้ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังส่งมอบเอกสารประวัติการรักษาและไฟล์ภาพกล้องวงจรปิดย้อนหลังก่อนที่บุ้งจะเสียชีวิต 5 วัน ตามที่ครอบครัวได้ขอไว้และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้รับปากว่าจะให้ตามที่ได้สัมภาษณ์ต่อสาธารณะ 

โดยวันนี้ 09.30 น. ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ตัวแทนทนายความผู้รับมอบอำนาจจากครอบครัวของบุ้ง และเพื่อน ๆ คนสนิทของเธอเดินทางไปรับเอกสารประวัติการรักษาและไฟล์ภาพกล้องวงจรปิดตามกำหนดนัด

ปรากฎว่า ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์กลับปิดประตูทางเข้า – ออก และไม่ให้คำตอบกับทนายความผู้รับมอบอำนาจกับครอบครัวว่าจะมอบเอกสารให้หรือไม่ โดยมีเจ้าหน้าที่ได้ถามหาแต่ครอบครัวของบุ้ง ทนายความยืนยันว่าได้รับมอบอำนาจจากครอบครัวบุ้งอย่างถูกต้อง โดยครอบครัวไม่สามารถเดินทางมารับเอกสารด้วยตัวเองได้ เนื่องจากวันนี้จะต้องไปประกอบพิธีเก็บอัฐิและจัดการภารกิจอื่น ๆ ที่สืบเนื่องจากงานฌาปนกิจของบุ้ง

ต่อมา เวลา 13.00 น. ได้รับรายงานว่า ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้มอบเพียงประวัติการรักษาของบุ้ง 5 วันก่อนเสียชีวิตให้แก่ทนายความ ซึ่งเอกสารมีประมาณ 27 – 28 หน้ากระดาษ

ส่วนภาพเคลื่อนไหวและไฟล์กล้องวงจรปิดเหตุการณ์  5 วันก่อนบุ้งเสียชีวิต รวมถึงเหตุการณ์ขณะกู้ชีพบุ้งนั้น ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์จำเป็นต้องจัดการทางเทคนิคเบลอใบหน้าบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องก่อน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4 วันแล้วจึงจะมอบให้ครอบครัวต่อไปได้

.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

ยื่นฟ้อง “ม.112 – ม.116” 8 นักกิจกรรม – สื่ออิสระ แล้ว กรณีทำ “โพลขบวนเสด็จ” ที่พารากอน ก่อนศาลต่อประกัน 6 ราย โดยติด EM แต่ยังไม่ให้ประกัน “ใบปอ – บุ้ง” จากกลุ่มทะลุวัง

กลไกพิเศษของสหประชาชาติได้รับการร้องเรียน กรณี “ตะวัน-แบม” ถูกคุมขังโดยไม่ชอบ เหตุคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติ

บุ้ง เนติพร เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของ จนท.ราชทัณฑ์ รอชันสูตรพลิกศพต่อในวันพรุ่งนี้

.

X