“ทนายด่าง” กฤษฎางค์ นุตจรัส : ความอยุติธรรม ทำให้คนต้องลุกขึ้นสู้

วันที่ 26 พ.ค. 2567 ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร วันสุดท้ายของการจัดแสดงงานนิทรรศการ “วิสามัญยุติธรรม” เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี การรัฐประหาร และ 10 ปี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในกิจกรรม TRUTH TALK ตอนหนึ่ง มี “ทนายด่าง” กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความเครือข่ายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นผู้พูดในหัวข้อ ‘ความอยุติธรรม ทำให้คนต้องลุกขึ้นสู้’ ย้ำว่าในขณะที่สังคมยังมีความเหลื่อมล้ำ และมีการใช้อำนาจ ข้อเสนอการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่อาจน้อยเกินไปแล้ว ชี้ต้องปฏิรูปสังคมทั้งหมด ตั้งแต่ระบบการศึกษา หรือระบบการเมือง

“เมื่อกลางเดือนเมษายนปีนี้ คนจัดงานครั้งนี้ติดต่อผมว่า อยากให้ผมมาพูดในงานวันนี้สัก 10 นาที เป็นคนสุดท้าย ให้เตรียมเรื่องเกี่ยวกับศูนย์ทนายฯ และการเปลี่ยนแปลงทางกระบวนการยุติธรรมของไทย ผมก็เตรียมการเป็นอย่างดี

“หลังวันที่ 14 พ.ค. 2567 บุ้งตาย ผมเปลี่ยนสิ่งที่ผมคิดว่าผมจะพูดในสิ่งที่เตรียมมาทั้งหมด ผมไม่แน่ใจว่าพวกเรารู้จักบุ้งดีหรือไม่ ความจริงเขาก็เป็นเด็กผู้หญิงคนนึง ที่ลุกมาต่อสู้เพื่อให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ข้อเรียกร้องแบบนี้ ถ้าในประเทศที่เจริญแล้ว มันเป็นเรื่องที่ไม่ต้องเรียกร้องด้วยซ้ำ แต่ต้องตายอย่างทุกข์ทรมาน หลังจากบุ้งตายแล้วเนี่ย ผมมาคิดว่าถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ ผมจะบอกว่าการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของเรา มันไม่เพียงพอซะแล้ว เราต้องทำมากกว่าการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม”

สำหรับเหตุการณ์วันที่ 14 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา “บุ้ง” เนติพร เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวของกรมราชทัณฑ์ในคดีที่ถูกศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งถอนประกัน คดีข้อหาหลักตามมาตรา 112 กรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ และได้เริ่มอดอาหารประท้วงตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. 2567 จนถึงช่วงเดือนเมษายน เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 65 วัน เธอคือผู้ต้องขังทางการเมืองรายที่ 2 แล้วที่เสียชีวิตในระหว่างการถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 หลังจาก “อากง” เป็นรายแรกที่ต้องเสียชีวิตในระหว่างที่ถูกคุมขัง เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2555 

สำหรับบุ้งมี 2 ข้อเรียกร้อง ในระหว่างการอดอาหาร คือ

  1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 
  2. จะต้องไม่มีคนเห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีก

“บุ้งพูดกับผมเสมอว่า พี่อย่าไปเชื่อมัน มันโกหก ผมเองไปหลงได้ปลื้มกับกระบวนการยุติธรรม กับหลักกฎหมาย กับตำรับตำรา แล้วเชื่อว่าการต่อสู้บนเวทีของศาลสถิตยุติธรรม จะเป็นหลักประกันแห่งสิทธิเสรีภาพ แต่ความจริงไม่ใช่เลย” กฤษฎางค์กล่าวต่อว่าบุ้ง ตะวัน แฟรงค์ อานนท์ หรือผู้ต้องขังทางการเมืองที่ไม่ได้ประกันตัว ทั้งที่ความจริงแล้วนั่นคือสิทธิที่กฎหมายบอกว่า ‘ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์’ การขังไว้ระหว่างพิจารณาคดีเป็นข้อยกเว้นเท่านั้น ซึ่งศาลไทยเมินเฉยกับเรื่องเหล่านี้

“ผมถึงเรียกร้องว่าการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไม่เพียงพอแล้ว เราจะทำอะไร เราเรียกให้แก้กฎหมาย ถ้ามันไม่ทำล่ะ ถ้ามันไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ผมใช้คำว่า มัน เพราะว่า ศักดิ์ก็เท่ากัน เพราะขบวนการตุลาการ นิติบัญญัติ และบริหาร เป็นตัวแทนของเราทั้งนั้น” กฤษฎางค์เรียกร้องว่าการที่บุ้งเสียชีวิตไปในการควบคุมของรัฐ ต้องทำเรื่องนี้ให้โปร่งใส และวันนี้สามารถพูดได้ว่าบุ้งเสียชีวิตที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ การไต่สวนก็ต้องทำที่ศาลอาญา

“ตั้งแต่สมัยผมเด็ก ๆ เนี่ย เพื่อนผม ที่ถูกฆ่าตายอย่างทุกข์ทรมานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 6 ต.ค. 2519 ไม่เคยได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม คนที่ถูกฆ่าแขวนคอ แทงตอกอก ยิง และถูกลากไปกลางถนน หรือคนที่ตายในเหตุการณ์พฤษภา 35 หรือเมษาพฤษภา 53 ผมไม่เคยเห็นกระบวนการเหล่านี้ได้ไปสู่การตัดสินคดีความ ตามหาตัวคนผิดมาลงโทษ”


“คดีที่ผมเจ็บช้ำน้ำใจมากที่สุดอันหนึ่งก็คือ คดีตากใบ ซึ่งจะหมดอายุความในวันที่ 27 หรือ 21 ต.ค. ปีนี้ รัฐไม่สามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้ กระบวนการยุติธรรมของไทยมีปัญหามากเกินกว่าจะปฏิรูป” กฤษฎางค์เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมที่ศูนย์ทนายฯ หรือนักกิจกรรม เรียกร้องกันอยู่นั้นไม่ได้เป็นภาระหน้าที่สำหรับคนเหล่านี้เท่านั้น แต่นั่นเป็นภาระหน้าที่ของทุกคน การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถทำได้ ถ้าหากไม่ปฏิรูปสถาบันอื่น

กฤษฎางค์เชื่อว่าการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่เป็นสิ่งที่ถูกต้องน้อยที่สุดในขณะที่สังคมยังมีความเหลื่อมล้ำ มีการใช้อำนาจ โกหก มดเท็จ “กรมราชทัณฑ์แถลงเกี่ยวกับฐานะความเป็นอยู่ของนักโทษทางการเมือง หรือผู้ต้องขังคดีอื่นก็ตามที่ยากไร้อยู่ ท่านเชื่อไหม คือมันสามารถแถลงให้คนป่วย เป็นคนไม่ป่วยได้”

“สิ่งที่เราพูดเป็นความจำเป็น ผมอยากบอกพวกเราทุกคนว่า 10 ปีของศูนย์ทนายฯ ผมเองไม่ได้เป็นผู้ก่อตั้ง น้อง ๆ เด็ก ช่วยกันทำขึ้นมา และผมเองในฐานะทนายความที่อายุมากหน่อยก็มาช่วยเขา ผมเชื่ออย่างที่ อ.สมชาย พูดในวันที่เปิดงานครั้งนี้ว่า ความจริงในประเทศที่เจริญแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีศูนย์ทนายฯ”

“เราจำเป็นต้องทำงานกันอีกมากมาย แต่ผมว่าการต่อสู้ของเราครั้งนี้จะเริ่มเข้มข้น กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่สมัยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราทำงานยากกว่าสมัยประยุทธ์ด้วยซ้ำไป วาทกรรมต่าง ๆ ที่เคยพูดไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ใช่ความจริง” 

กฤษฎางค์ยกตัวอย่างถึงนักโทษทางการเมืองที่ยังต้องอยู่ในเรือนจำโดยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ไม่ให้สิทธิออกมาต่อสู้คดี แต่ในขณะเดียวกันที่ลูกท่านหลานเธอ อดีตนักการเมืองผู้มีอิทธิพล คนทุจริต ตัดไม้ทำลายป่า คนค้ายาเสพติด แต่มีฐานะอำนาจ ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

“ผมยังพูดย้ำอีกครั้งนึงว่า มาถึงวันนี้ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมนั้นน้อยเกินไปแล้ว มันต้องปฏิรูปสังคมทั้งหมด ปฏิรูปตั้งแต่ระบบการศึกษา ระบบการเมือง แต่อย่างว่าครับ ยังไงก็ตาม ศูนย์ทนายฯ ก็ยังต้องทำงานต่อไป ผมเองในฐานะทนายความอาวุโสช่วยเหลือน้องอยู่ ขอให้กำลังใจ และขออยากให้พวกเราทุกคนช่วยกัน การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เหมือนกับที่ไผ่พูดเมื่อกี้ คือพวกคุณต้องลุกขึ้นต่อสู้ คนที่ฟังอยู่ทางบ้าน หรือฟังการถ่ายทอด ผมอยากจะบอกเลยว่า ถ้าเราไม่ทำการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูป วันนึงลูกหลานของท่านจะต้องเป็นอย่างที่รุ้ง ตะวัน หรือบุ้ง 

“ยังไงก็ตาม ผมก็ยังเชื่อว่าสังคมไทยจะต้องดีขึ้นกว่านี้ อย่าพึ่งหมดหวัง ผมเชื่อว่า ในชีวิตผม ในชีวิตของคนรุ่นผม คงได้เห็นการเปลี่ยนแปลง ขอบคุณครับ”

X