‘สมชาย’ ปาฐกถา 10 ปีรัฐประหาร ชี้รัฐกดปราบ ปชช.ด้วยกระบวนการยุติธรรม 

วันที่ 21 พ.ค. 2567 ในพิธีเปิดนิทรรศการ ‘วิสามัญยุติธรรม’ 10 ปีศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวปาฐกถาหัวข้อ ‘ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง’ เพื่อทบทวนความเลวร้ายของระบอบรัฐประหาร ที่ซ่อนเร้นในนามกระบวนการยุติธรรมภายใต้ระบอบอำนาจนิยมของไทย โดยเฉพาะการบิดเบือนกระบวนการทางกฎหมายเพื่อปราบปรามกดขี่สิทธิเสรีภาพของประชาชน 

 _______

ผู้รักและปรารถนาในประชาธิปไตยทุกท่าน

การรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2557 คือการรัฐประหารที่สร้างผลกระทบแก่สังคมและประชาชนไทยอย่างไพศาล รัฐประหารในครั้งนั้นได้ทำให้โอกาสของสังคมในการปรับตัว และการก้าวสู่ประชาธิปไตยไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างสันติ ในขณะที่ประชาชนจำนวนมากที่ได้ออกมาเรียกร้องและแสดงความปรารถนาเพื่อความเปลี่ยนแปลง ก็กลับต้องเผชิญกับการกดปราบอย่างรุนแรงและกว้างขวาง

การมาร่วมกันรำลึกถึงวาระครบรอบการรัฐประหารครั้งนี้ จึงไม่ใช่การมาร่วมกันชื่นชมยินดีต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ตรงกันข้าม ควรเป็นการมารวมตัวกันเพื่อทบทวนและให้เกิดความตระหนักถึงความเลวร้ายที่ได้ปรากฏตัวขึ้น รัฐประหารครั้งนี้ได้เปิดเส้นทางและสร้างสังคมการเมืองในรูปแบบอำนาจนิยมที่ไม่แยแสต่อความถูกต้อง และความชอบธรรมให้แสดงตัวออกมาอย่างชัดเจน 

การกดปราบด้วยกระบวนการยุติธรรม

นับจากการคัดค้านการรัฐประหารสืบเนื่องมาถึงการเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปสถาบันฯ ในช่วงหลัง พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา นอกจากการใช้กำลังความรุนแรงเข้าปราบปรามต่อผู้เคลื่อนไหว เช่น การใช้กระสุนยาง กระสุนจริง รถฉีดน้ำ โล่ กระบอง เป็นต้น การจัดการของรัฐอีกรูปแบบที่ปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัดในการรับมือกับประชาชนก็คือ “การกดปราบด้วยกระบวนการยุติธรรม”

“การกดปราบด้วยกระบวนการยุติธรรม” คือการใช้กลไกและกระบวนการต่าง ๆ ทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการยุติธรรมเข้ามาตอบโต้กับการเคลื่อนไหวของประชาชน หากมีการชุมนุมเกิดขึ้น ก็จะยังไม่มีการสลายหรือการใช้กำลังต่อผู้ชุมนุมโดยตรง เจ้าหน้าที่รัฐจะมีการเก็บข้อมูล และภายหลังจากการชุมนุมก็จะมีการดำเนินคดีเกิดขึ้น นับตั้งแต่การแจ้งความ แจ้งข้อหา การควบคุมตัว สั่งฟ้อง การตัดสินในชั้นศาล และการจำคุก

“การกดปราบด้วยกระบวนการยุติธรรม” จะเกิดขึ้นด้วยการอ้างอิงถึงกฎหมายและใช้กระบวนการต่าง ๆ ที่ทำให้ดูราวกับว่าดำเนินไปอย่างถูกต้องและชอบธรรม แต่จากเหตุการณ์จำนวนมากที่เกิดขึ้น จะพบว่าในกระบวนการนี้ได้เปิดเผยให้เห็นถึงความไม่มีมาตรฐาน ไม่มีความอิสระ ไร้หลักวิชา ของบุคคลและองค์กรที่เข้ามาเกี่ยวข้อง การดำเนินการในหลากหลายรูปแบบได้ถูกตั้งคำถามจากอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะในขั้นตอนการจับกุม สิทธิในการประกันตัว การตัดสินข้อพิพาท การควบคุมตัว กระทั่งการรักษาเยียวยา

แม้ขั้นตอนของ “การกดปราบด้วยกระบวนการยุติธรรม” มีหน่วยงานรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลากหลาย นับตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ ซึ่งบางหน่วยงาน องค์กร ก็ถูกเข้าใจว่าเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลาง มีมาตรฐาน แต่บัดนี้ทั้งหมดก็ได้เปิดเผยโฉมหน้าอันแท้จริงของตนออกมาให้เห็นว่าความเข้าใจดังกล่าวเป็นเพียงมายาภาพที่ประกอบสร้างขึ้นเท่านั้น

เป็นไปได้อย่างไรที่ผู้ปิดสนามบิน ล้มการเลือกตั้ง ยึดทำเนียบรัฐบาล ฯลฯ ล้วนแต่ได้รับการประกันตัวอย่างง่ายดาย หรืออาจมีโทษอย่างเบาบาง รวมไปถึงบางกรณีก็มีคำตัดสินที่อธิบายว่าการกระทำเหล่านั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

ขณะที่ในวันนี้ ชั่วโมงนี้ นาทีนี้ มีหลายคนที่อยู่ในคุกอันเนื่องมาจากการเรียกร้องให้เกิดการความเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ พวกเขาและเธอกลับไม่ได้รับการประกันต่อมาอย่างต่อเนื่อง พวกเขาเหล่านั้นทำอะไรร้ายแรงมากกระนั้นหรือ จึงทำให้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังตกอยู่ในสภาวะ “ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง” ทั้งที่บางคนก็ยังอยู่ในสถานะของผู้บริสุทธิ์ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาญา

การกดปราบด้วยกระบวนการยุติธรรมส่งผลไม่น้อยต่อการเคลื่อนไหวของประชาชน ระยะเวลา ระยะทาง ค่าใช้จ่าย ทนายความ พยานผู้เชี่ยวชาญ ทรัพยากรนานาชนิดต้องถูกดึงเข้าไปอยู่ในกลไกทางกฎหมาย มีประชาชนถูกฟ้องคดีที่นราธิวาสในข้อหา 112 ห่างไกลจากบ้านนับพันกิโลเมตร ไม่มีการอนุญาตให้โอนย้ายการพิจารณาคดีมาที่ศาลในกรุงเทพฯ ก่อนคดีจะถูกยกฟ้องโดยศาลอุทธรณ์ บัดนี้เขาได้รับความยุติธรรมกลับคืนมาแล้วจริงหรือ เรื่องราวอีกจำนวนไม่น้อยที่ดำเนินไปในลักษณะอันคล้ายคลึงกัน

.

ชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ไม่ใช่เรื่องเดียวกับความสำเร็จหรือล้มเหลว

ในความเห็นของข้าพเจ้า โอกาสที่จะชนะคดีใน “การต่อสู้กับการกดปราบด้วยกระบวนการยุติธรรม” เป็นไปได้อย่างยากลำบาก การทำงานของกลไกกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในหลายคดีได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าข้อสรุปที่เกิดขึ้นไม่ใช่การตัดสินด้วยหลักกฎหมาย หากเป็นการวินิจฉัยที่วางอยู่บนความภักดีมากกว่า บทบัญญัติหรือหลักการทางกฎหมายซึ่งแม้จะเป็นหลักพื้นฐานสำคัญก็สามารถถูกเหยียบย่ำ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า บุคคลที่อยู่ในกระบวนการเหล่านี้ต่างกระหยิ่มยิ้มย่องว่าตนเองจะไม่ต้องรับผิด แม้จะไม่ใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยหลักวิชาหรือหลักการทางกฎหมายก็ตาม

หลายคดีที่ข้าพเจ้าได้ไปร่วมให้ความเห็น แม้ว่าจะกระทำไปอย่างเต็มที่ด้วยการยืนยันถึงหลักวิชา แต่สุดท้ายก็ตระหนักดีว่าเหตุผลที่นำเสนอไปนั้น สามารถที่จะถูกปัดทิ้งไปได้อย่างไม่ไยดีแม้แต่น้อย นั่นคือความจริงที่มิอาจปฏิเสธ

ในเมื่อตระหนักถึงความพ่ายแพ้ในคดีที่วางอยู่ข้างหน้าแล้ว พวกเรายังจะต่อสู้กับการกดปราบด้วยกระบวนการยุติธรรมนี้ต่อไปอีกหรือ โดยเฉพาะกับการสู้คดีในชั้นศาลที่ต้องทุ่มทรัพยากรจำนวนมากเข้าไป

ข้าพเจ้ามีเหตุผล 3 ประการด้วยกันกับการต่อสู้กับกระบวนการนี้

หนึ่ง การต่อสู้ “ข้างในศาล” ไม่ได้แยกขาดจาก “การเมืองข้างนอก”

แม้การต่อสู้กับการกดปราบด้วยกระบวนการยุติธรรมจะดำเนินไป “ข้างในศาล” อันเสมือนพื้นที่ปิด ภายในอำนาจบังคับที่เข้มแข็ง คนนอกเข้าไปมีส่วนได้น้อย อย่างไรก็ตาม ทั้งในด้านของกระบวนการ การพิจารณา และคำตัดสินก็สามารถกลายเป็นพื้นที่ที่ต่อสู้กันระหว่างบรรทัดฐานต่าง ๆ ที่อาจขัดแย้งหรือไม่สอดคล้องกัน

การปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวกับผู้ถูกกล่าวหา จำเลย โดยปราศจากเหตุผลทางกฎหมายรองรับก็นำมาซึ่งการโต้แย้งหักล้างให้เกิดขึ้น การปฏิเสธอำนาจในการพิจารณาคดีของศาลในคดี 112 ก็คือการโต้แย้งต่อความเป็นธรรมของกฎหมาย และความเป็นกลางของผู้ที่ทำหน้าที่ตัดสินอย่างแหลมคม

ตัวอย่างที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนน้อย มีตัวอย่างอีกเป็นจำนวนมากที่สามารถหยิบยกขึ้นมาประกอบได้อีก กฎหมายจึงเป็นการเมือง (Law is Politics) ไม่มีกฎหมายที่ปราศจากอุดมการณ์ ความเชื่อ ในแบบที่มักจะสั่งสอนและเข้าใจกันอย่างตื้นเขินในแวดวงนิติศาสตร์ของไทย เมื่อกฎหมายเป็นการเมือง พื้นที่เหล่านี้จึงเปิดโอกาสให้แต่ละคน แต่ละกลุ่ม สามารถเลือกพื้นที่ในการตอบโต้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ ตามความความสามารถและความจัดเจน การปล่อยให้การต่อสู้อยู่ “ข้างใน” แต่เพียงอย่างเดียวต่างหาก คือการลดทอนความสำคัญของพื้นที่การเมืองในกฎหมายให้ลดลง 

สอง ความสำเร็จหรือความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับการแพ้หรือชัยชนะในคดี

หลายคนเข้าใจว่าการประสบชัยชนะในคดีคือปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ความพ่ายแพ้คือความล้มเหลวของการต่อสู้ อย่างไรก็ตาม มีตัวอย่างในประวัติศาสตร์จำนวนมากที่อาจบ่งชี้ว่าความสำเร็จหรือความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับการพ่ายแพ้หรือชัยชนะในคดี คดีที่ประสบชัยชนะจำนวนมากไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น

ตรงกันข้าม ความพ่ายแพ้ในหลายคดีกลับได้นำไปสู่การถกเถียง โต้แย้ง วิพากษ์วิจารณ์ ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ขึ้นในระยะยาว

“แทนที่จะพิจารณาความสำเร็จหรือล้มเหลวจากผลแพ้ชนะในการต่อสู้แต่ละครั้ง ไม่ว่าจะในศาลหรือทางการเมือง เราควรเพ่งเล็งไปที่การแสวงหาวิถีชีวิตที่ไม่ต้องถูกครอบงำจากความเชื่อบางอย่างที่กดทับความเป็นมนุษย์ การเผชิญหน้าและไม่ยอมจำนนกับความวิปริตผิดเพี้ยนในสังคม รวมถึงการยืนหยัดอย่างมั่นคงต่อหลักการประชาธิปไตยและความเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งสำคัญ” (Jules Lobel. Success without Victory: Lost Legal Battles and the Long Road to Justice in America)

สาม การเปิดโปงให้เห็นถึงโครงสร้างที่ใหญ่กว่าเพียงประเด็นเฉพาะคดี

“การกดปราบด้วยกระบวนการยุติธรรม” จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากกระบวนการยุติธรรมมีความเข้มแข็งและเป็นอิสระจากการครอบงำ ปฏิบัติการขององคาพยพในกระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินไปอย่างสอดคล้องและในทิศทางเดียวกัน ซึ่งขัดแย้งกับหลักการทางกฎหมายที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า สะท้อนให้เห็นปัญหาใหญ่ของระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทยว่าไม่ได้ “บริสุทธิ์ – ยุติธรรม” ในแบบที่มักกล่าวอ้างกันในทางสาธารณะแต่อย่างใด

ตรงกันข้าม องค์กรเหล่านี้กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ซ่อนตัวอยู่ภายในระบอบอำนาจนิยมมาอย่างยาวนาน การเผชิญหน้ากับการกดปราบด้วยกระบวนการยุติธรรมทำให้เราได้ตระหนักรู้อย่างสำคัญว่าหากต้องการสร้างสังคมที่สิทธิเสรีภาพจะดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงแล้ว การปฏิรูป ปฏิสังขรณ์ ปฏิวัติ หรืออะไรก็ตาม กับกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในวันข้างหน้า

.

บทส่งท้าย ขอให้ศูนย์ทนายฯ ปิดตัวลงโดยเร็ว

ในฐานะที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง ความใฝ่ฝันประการหนึ่งที่มีต่อหน่วยงานนี้ก็คือ ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาที่จะเห็นองค์กรนี้เติบโต ขยายงาน เพิ่มบุคลากร มีงบประมาณมากขึ้น เพราะยิ่งเติบใหญ่มากเท่าใดก็ยิ่งแสดงถึงความถอยหลังของประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้นเท่านั้น

ข้าพเจ้าอยากเห็นศูนย์ทนายฯ ปิดตัวลงโดยเร็ว เพื่อแสดงให้เห็นว่าบัดนี้สังคมไทยได้เดินเข้าสู่สภาวะปกติที่พึงจะเป็น เฉกเช่นเดียวกันกับสังคมอารยะทั้งหลาย ไม่มีการคุกคามสิทธิเสรีภาพตามอำเภอใจ ไม่มีการใช้กฎหมายกลั่นแกล้งผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง ไม่มีการจำคุกบุคคลผู้บริสุทธิ์อย่างไม่แยแส นักโทษทางการเมืองทุกคนได้ออกมาจากเรือนจำและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ

หวังว่าจะได้มีโอกาสเห็นงานปิดตัวของศูนย์ทนายฯ ในอนาคตข้างหน้าอันไม่ไกลไปจากนี้มากนัก

_______

นิทรรศการ ‘วิสามัญยุติธรรม’ จะจัดขึ้นเป็นเวลา 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 21-26 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00-20.00 น. โดยแต่ละวันจะมีกิจกรรมนำทัวร์เหตุการณ์เกี่ยวกับการครบรอบรัฐประหาร 10 ปี 2557 อาทิ วันที่ 22 พฤษภาคม เวลา 17.00 น. นำทัวร์ชมเหตุการณ์ “ครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร “ โดย สส. ‘โรม’ และ สส. ‘ลูกเกด’ เป็นต้น พร้อมงานเปิดตัวหนังสือ ‘ผู้ต้องหาเสรีภาพ’ โดยจะมีกิจกรรมประมูลหนังสือพร้อมลายเซ็น และข้อความสุดพิเศษจาก ‘อานนท์ นำภา’

ทั้งนี้ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของนิทรรศการ จะมีการปาถกฐา ‘นิติรัฐอภิสิทธิ์ และราชนิติธรรมทำงานอย่างไรในระบบกฎหมายไทย’ โดย ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล, ‘ทะลวงกรอบทลายกรงรัฐความมั่นคงแบบไทย โดย รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเวทีเสวนา ‘Truth Talk’ โดย เยาวลักษ์ อนุพันธุ์, ‘หนูหริ่ง’ สมบัติ บุญงามอนงค์, ‘ป้าน้อย’ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์, ‘ทนายด่าง’ กฤษฎางค์ นุตจรัส, ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 

X