ตำรวจเชียงใหม่คุกคามเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกลางดึก ตามหาผู้เกี่ยวข้องแจกความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ

ตำรวจเชียงใหม่คุกคามเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกลางดึก ตามหาผู้เกี่ยวข้องแจกความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ

13614991_981898478596978_4447495644788719395_n
ที่มาภาพ : เพจสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย

8 ก.ค.59 ตำรวจจากกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธร จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะเกี่ยวข้องกับการแจกความเห็นแย้งรัฐธรรมนูญ จึงติดตามแฟนสาวของเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ไปกลางดึก และพยายามติดต่อเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ให้ออกมาพบ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าต้องการพบตัวเพื่อพิสูจน์ทราบว่าเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ความเห็นแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ด้านศูนย์ทนายความฯขอนัดพบวันถัดมา

เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 20.00 น. นายนพพล อาชามาส เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งประจำอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้กลับเข้าไปยังหอพัก ทำให้ทราบเรื่องจากทางหอพักว่าในวันดังกล่าวได้มีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบประมาณสามรายมาติดตามในช่วงประมาณ 15.00 น. และในช่วงเย็นวันเดียวกัน เวลาประมาณ 17.00 น.ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบมาติดตามอีกครั้ง โดยทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารพยายามถามว่านพพลได้พักอาศัยที่หอพังดังกล่าวหรือไม่ และพยายามขอขึ้นไปยังห้องพักดังกล่าว แต่เนื่องจากเจ้าของหอพักไม่อนุญาต เจ้าหน้าที่ทั้งสองกลุ่มจึงไม่สามารถขึ้นไปติดตามได้

ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 23.00 น. ขณะที่แฟนของนพพลกลับเข้าบ้านและกำลังจอดรถไว้หน้าบ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธร จังหวัดเชียงใหม่สามนายได้แสดงตน และสอบถามว่ารู้จักนพพลหรือไม่ นพพลอยู่ที่ใด พร้อมทั้งขอให้พาไปพบ เมื่อสอบถามว่าเหตุใดจึงต้องการพบตัวกลางดึก เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงแจ้งว่าได้ติดตามตัวมาตั้งแต่ช่วงเช้าแต่ไม่พบและต้องการพบในวันนี้  แฟนของนพพลจึงพามาเจรจาต่อรองบริเวณหน้าวัดซึ่งจำได้ว่าบริเวณดังกล่าวมีกล้องวงจรปิดติดอยู่ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอติดรถมาด้วย ไม่ยอมให้แฟนของนพพลขับนำรถตำรวจมาโดยลำพัง จากนั้นจึงมีการโทรศัพท์เจรจาเพื่อให้นพพลออกไปพบ โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าเพื่อเป็นการพิสูจน์ทราบและยืนยันตนเอง อย่างไรก็ตามศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการคุกคาม และเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีอำนาจใดในการเรียกบุคคลไปพบในยามวิกาลเช่นนี้จึงได้เจรจาให้พบกันในเช้าวันถัดมา ณ  ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่

DSCF2539
เอกสารความเห็นคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ(กลาง)

วันที่ 9 ก.ค.59 เวลา 10.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้พบกับพ.ต.อ.ปกรณ์ ผาทอง ผู้กำกับสืบสวน และพ.ต.ท.ปิยะพล ถ้ำวัตร รองผู้กำกับการสืบสวน กองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธร จังหวัดเชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกสามนาย พร้อมด้วยพันโทพิษณุพงศ์ ใจพุทธ รักษาการหัวหน้าฝ่ายข่าวมณฑลทหารบกที่  33  พร้อมเจ้าหน้าที่ทหารอีกสองนาย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการทราบว่านพพลมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแจกเอกสารความเห็นแย้งรัฐธรรมนูญในเวทีสัญจร “รู้จักร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการทำประชามติที่ถูกต้อง” ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 59 หรือไม่ พร้อมทั้งได้สอบถามประวัติของนพพล และความเกี่ยวข้องกับสำนักข่าวประชาไท โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ได้รับรายงานมานพพลมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว  อีกทั้ง ยังยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการติดตามภายใต้ตามกรอบของกฎหมาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ชี้แจงว่านพพลเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดพิมพ์หรือเผยแพร่เอกสารดังกล่าว รวมถึงในวันดังกล่าวก็ไม่ได้ไปเข้าร่วมเวทีสัญจรแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ชี้แจงอย่างแจ้งชัดว่าเหตุใดจึงสงสัยนพพล เพียงแต่ชี้แจงว่าเป็นการทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ทั้งนี้ระหว่างการพูดคุย พันโทพิษณุพงศ์ ใจพุทธ ซึ่งนั่งฟังการพูดคุยตลอดเวลา ได้ลุกไปจากวงสนทนา  โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้โทรไปสอบถามภายหลัง ทราบว่านายทหารคนดังกล่าวได้เดินทางกลับไปแล้วและไม่ติดใจจะพูดคุยใดๆ อีก  แต่ก่อนจบการพูดคุยเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่ายังอาจมีการนัดหมายเพื่อพบกันในอนาคตcropped-tlhr-logo.png

ทั้งนี้ นางสาวเยาวลักษ์ อนุพันธ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการคุกคามการทำงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพราะหากเจ้าหน้าที่ต้องการพูดคุยเพื่อหาข้อมูลเพียงอย่างเดียวก็สามารถติดต่อโดยวิธีการอื่น และกระทำในเวลากลางวันได้ ไม่จำเป็นต้องติดตามแฟนของนพพลไปในเวลากลางคืน และพาตัวออกมาเพื่อรอพบนพพลในเวลานั้น และหากเจ้าหน้าที่มีพยานหลักฐานใดก็ควรชี้แจงมาโดยตรง เพื่อความชัดเจนกับคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน และไม่สร้างบรรยากาศความหวาดกลัวในการที่ประชาชนจะออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการลงประชามติ

X