ไต่สวนถอนประกัน “ตะวัน – บุ้ง” เหตุร่วมชุมนุม-พ่นสีหน้า วธ. 2 นักกิจกรรมยืนยัน เพียงใช้เสรีภาพชุมนุม ด้านทนายตะลึง สันติบาลแอบถ่ายรูป ละเมิดอำนาจศาล

21 พ.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดไต่สวนคำร้องขอถอนประกัน “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ “บุ้ง” เนติพร (สงวนนามสกุล) จำเลยในคดีมาตรา 112 กรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จที่บริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 หลังพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ยื่นคำร้องโดยอ้างเหตุที่ทั้งสองเข้าร่วมชุมนุมและพ่นสีหน้ากระทรวงวัฒนธรรม เรียกร้องให้ถอดเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สว. ออกจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2566 หลังไต่สวนพยานฝ่ายละ 2 ปาก ศาลนัดฟังคำสั่งในวันที่ 25 ธ.ค. 2566 เวลา 09.00 น. 

ระหว่างการไต่สวน เกิดเหตุตำรวจสันติบาลแอบถ่ายรูปทนายจำเลยหน้าห้องพิจารณาคดี ก่อนศาลเห็นว่าผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และลงโทษโดยให้ไล่ออกจากบริเวณศาล พร้อมว่ากล่าวตักเตือนว่าอย่ากระทำเช่นนี้อีก

ก่อนหน้านี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้เคยนัดไต่สวนคำร้องขอถอนประกันในเหตุเดียวกันนี้มาแล้วเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา แต่พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ผู้ร้อง ไม่มาศาลตามนัด ศาลจึงยกคำร้องขอเพิกถอนการประกันตัว ต่อมา พนักงานสอบสวนคนเดิมได้ยื่นคำร้องขอถอนประกันต่อศาลอีกครั้ง ก่อนศาลมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องในครั้งนี้

สำหรับเหตุในการขอถอนประกัน พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน อ้างว่า ตะวัน จำเลยที่ 1 และบุ้ง จำเลยที่ 3 ร่วมกันจัดการชุมนุมที่หน้ากระทรวงวัฒนธรรมเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2566 เพื่อเรียกร้องให้ถอดถอน เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกวุฒิสภา ออกจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ โดยมีการพ่นสีสเปรย์ จุดพลุ และพลุควัน ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขประกันที่ศาลเคยกำหนดไว้ว่า “ห้ามกระทำการใด ๆ ในลักษณะเช่นเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา อันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง”

อนึ่ง ภายหลังจากการไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้องรวม 2 ปากเสร็จสิ้น ทนายจำเลยแถลงว่า ขอนำพยานในฝ่ายของจำเลยเข้าไต่สวนด้วย โดยขอเวลาเตรียมพยานสักครู่ ระหว่างที่ทนายกำลังเตรียมพยานอยู่หน้าห้องพิจารณาที่ 505 นั้น ได้มีบุคคลที่ไม่ทราบว่าเป็นใครใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพทนายความและจำเลยทั้งสอง และหลบหนีไป ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลสามารถควบคุมตัวไว้ได้ ทนายจำเลยจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนและดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลกับบุคคลดังกล่าว

ศาลสอบบุคคลดังกล่าวแล้วได้ความว่าชื่อจ่าสิบตำรวจอรรถพล ตุ้มทอง ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจสันติบาล ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มาติดตามดูคดีนี้ว่ามีเหตุวุ่นวายใด ๆ หรือไม่ จ.ส.ต.อรรถพล แถลงยอมรับว่าได้ถ่ายภาพทนายจำเลยไว้จริง โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เนื่องจากเพิ่งย้ายมารับราชการในกรุงเทพฯ และได้ลบภาพดังกล่าวออกไปหมดแล้ว

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จ.ส.ต.อรรถพล ได้ถ่ายภาพทนายจำเลยบริเวณหน้าห้องพิจารณา 505 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล จนเป็นเหตุให้ทนายจำเลยไม่แน่ใจในความปลอดภัย และไม่ทราบว่าจะนำภาพดังกล่าวไปใช้ในกิจการใด จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1), มาตรา 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จึงมีคำสั่งให้ลงโทษไล่ออกจากบริเวณศาล และว่ากล่าวตักเตือน จ.ส.ต.อรรถพล ว่าอย่ากระทำเช่นนี้อีก

บันทึกการไต่สวนถอนประกัน: พงส.กล่าวหาจำเลยชุมนุม-พ่นสี ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ผิดเงื่อนไขประกัน แม้คดีอยู่ในชั้นศาล ไม่ใช่หน้าที่ของ ตร.แล้ว ด้านบุ้ง-ตะวัน ยืนยัน ใช้สิทธิเสรีภาพชุมนุมตาม รธน. ไม่ได้พ่นสี ไม่ได้ก่อความวุ่นวาย จึงไม่ผิดเงื่อนไขประกัน

ตะวันและบุ้งเดินทางมาฟังการพิจารณาคดี พร้อมกับเพื่อนนักกิจกรรมที่มาร่วมสังเกตการณ์และให้กำลังใจจำนวนหนึ่ง

เวลา 09.40 น. ร้อยตำรวจโทสราวุฒิ จันทร์เขียว พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ผู้ร้อง เข้าเบิกความถึงข้อเท็จจริงตามคำร้อง โดยระบุว่า ในคดีนี้ หลังจากที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนดให้ปฏิบัติ โดย สน.ปทุมวัน ได้รับรายงานการสืบสวนจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ซึ่งพบว่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2566 จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันจัดกิจกรรมบริเวณหน้ากระทรวงวัฒนธรรม เรียกร้องให้มีการถอดถอน เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกวุฒิสภา ออกจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ โดยจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันพ่นสีสเปรย์ จุดพลุ และพลุควัน ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ซึ่งผิดข้อกำหนดการปล่อยชั่วคราวของศาล 

และได้รับรายงานการสืบสวนเพิ่มเติมจาก สน.ห้วยขวาง พบว่า จำเลยที่ 3 ได้นำสีสเปรย์มาพ่นใส่ธงประจำพระองค์ของสมเด็จพระราชินี ทั้งยังให้สัมภาษณ์ความว่า “ไม่กลัวที่จะถูกดำเนินคดี 112 เพราะเคยถูกดำเนินคดีมาแล้ว” 

ร.ต.ท.สราวุฒิ ระบุว่า การกระทำในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยสำนึกในโอกาสที่ตนได้รับ และฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ศาลกำหนด จึงเป็นสาเหตุให้พยานยื่นคำร้องขอเพิกถอนการประกันตัวจำเลย

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน ร.ต.ท.สราวุฒิ รับว่า เกี่ยวกับคดีนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้รับการปล่อยตัว โดยปัจจุบันอยู่ในการพิจารณาของศาล ซึ่งมีโจทก์คือ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 พยานไม่ได้มีความเกี่ยวข้องหรือหน้าที่ใด ๆ แล้ว เพียงแต่ได้รับมอบหมายให้มายื่นคำร้องขอถอนประกันจำเลยเท่านั้น 

ในนัดไต่สวนครั้งแรก ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง พยานจึงได้ยื่นคำร้องอีกครั้ง โดยได้รับคำสั่งจากรองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.ปทุมวัน แต่รองผู้กำกับจะได้รับคำสั่งมาจากใครอีกนั้น พยานไม่ทราบ

พยานไม่เคยตรวจสำนวนในคดีนี้มาก่อน แต่ทราบข้อมูลการปล่อยตัวชั่วคราวจากผู้บังคับบัญชาซึ่งได้จัดเตรียมข้อมูลดังกล่าวไว้แล้ว ก่อนให้พยานทำคำร้องมายื่น

พยานไม่ทราบว่า ก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามในการยื่นถอนประกันมาแล้วหลายครั้ง และศาลก็ให้เหตุผลว่าไม่มีเหตุให้ถอนประกัน เนื่องจากไม่ได้ผิดเงื่อนไขการประกันตัว ในการมายื่นขอถอนประกันจำเลยทั้งสองครั้งนี้ พยานก็ไม่ได้แจ้งพนักงานอัยการก่อน 

ที่พยานเบิกความว่า จำเลยที่ 3 พ่นสีสเปรย์ลงบนธงประจำพระองค์ของสมเด็จพระราชินี พยานไม่ทราบข้อเท็จจริงว่ามีใครร่วมกระทำบ้าง และจะมีการสั่งฟ้องหรือไม่ 

พยานได้รับมอบหมายให้นำคำร้องมายื่น แต่ในวันเกิดเหตุตามคำร้อง พยานไม่ได้ลงพื้นที่ และไม่ทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รวมถึงไม่ทราบว่า มีการฟ้องคดีใครไปแล้วหรือไม่

การที่จำเลยที่ 3 ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ไม่กลัวที่จะถูกดำเนินคดี 112 นั้น จะเป็นการตอบคำถามในเชิงท้าทายให้มาดำเนินคดีหรือไม่ พยานไม่ทราบ

พยานไม่ทราบว่า เงื่อนไขการประกันตัวของจำเลยทั้งสองจะมีอะไรบ้าง และไม่ทราบว่า การชุมนุมที่หน้ากระทรวงวัฒนธรรมเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ 

ร้อยตำรวจเอกเทวฤทธิ์ (ไม่ทราบนามสกุล) ผู้จัดทำรายงานการสืบสวน สน.ห้วยขวาง เบิกความในฐานะพยานผู้ร้องว่า พยานได้รับรายงานจากทางการข่าวว่า กลุ่มทะลุวังจะมีการจัดการชุมนุมที่หน้ากระทรวงวัฒนธรรมในวันที่ 6 ส.ค. 2566 เพื่อเรียกร้องให้ถอดถอน เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกวุฒิสภา ออกจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ

หลังทราบข่าว ผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายให้หน่วยของพยานเข้าไปสังเกตการณ์การชุมนุม บันทึกภาพ และกลับมาทำรายงานการสืบสวน โดยไม่ต้องเข้าจับกุมหรือใช้ความรุนแรง 

ในวันเกิดเหตุพยานได้ลงพื้นที่และพบว่า กลุ่มทะลุวังเดินทางมาในเวลาประมาณ 16.00 น. มีการจัดกิจกรรมจนถึงเวลา 18.00 น. 

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน ร.ต.อ.เทวฤทธิ์ กล่าวว่า ตนอยู่ในเหตุการณ์ชุมนุมในวันที่ 6 ส.ค. 2566 และเห็นจำเลยทั้งสอง กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งหมดมีประมาณ 30 กว่าคน แต่พยานทำการพิสูจน์ได้เพียง 18 คน และยังไม่มีการฟ้องคดีกับคนที่ไปร่วมชุมนุมแต่อย่างใด  

ทนายถามพยานว่า ตามรายงานการสืบสวน ไม่ได้มีการตั้งข้อหาเกี่ยวกับธงประจำพระองค์ของสมเด็จพระราชินีใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ เนื่องจากเป็นเรื่องของพนักงานสอบสวน 

ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ จำเลยที่ 1 เบิกความระบุว่า ในวันที่ 6 ส.ค. 2566 มีการนัดหมายให้ไปชุมนุมที่หน้ากระทรวงวัฒนธรรม เพื่อเรียกร้องให้มีการถอนถอน เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกวุฒิสภา ออกจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ เนื่องจากไม่เคารพเสียงข้างมากของประชาชน จากกรณีไม่ยกมือโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ ที่ประชาชนเลือกมา ตนจึงได้ไปร่วมชุมนุมด้วย โดยในวันนั้นมีการทำกิจกรรมประมาณ 1 ชม. จากนั้นก็ได้แยกย้ายกันกลับ ไม่มีการก่อเหตุความวุ่นวายใด ๆ 

จากการชุมนุมดังกล่าว พยานถูกพนักงานสอบสวน สน.ห้วยขวาง แจ้งข้อหา ขีดเขียน พ่นสี ลงบนทางสาธารณะ แต่พยานไม่ได้ทำ และไม่ทราบว่าใครเป็นคนทำ โดยคดีนี้ยังไม่มีการสั่งฟ้องแต่อย่างใด

ศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนไขประกันว่า ห้ามพยานไปชุมนุมทางการเมือง

เนติพร (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 3 เบิกความระบุว่า เงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้คือ 1.ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร 2.ห้ามกระทำการใด ๆ ในลักษณะเช่นเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาอีก 3.ห้ามขัดขวางกระบวนการพิจารณาของศาล ไม่ได้มีการห้ามไปใช้สิทธิในการชุมนุมซึ่งได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ

วันที่ 6 ส.ค. 2566 พยานได้ไปชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้มีการถอนถอน เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกวุฒิสภา ออกจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ เนื่องจากไม่เคารพเสียงข้างมากของประชาชน จากกรณีไม่ยกมือโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ ที่ประชาชนเลือกมา ในวันดังกล่าวมีผู้ชุมนุมประมาณ 30-40 คน 

ในวันดังกล่าว พยานไม่ได้ขีดเขียน หรือพ่นสีใด ๆ ภายหลังการชุมนุม พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาพยานว่า กระทำการขีดเขียน พ่นสี ทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย ซึ่งไม่มีข้อหาเกี่ยวกับมาตรา 112 และธงประจำพระองค์ของสมเด็จพระราชินี โดยคดีดังกล่าวยังไม่ได้มีการสั่งฟ้องหรือพิพากษาแต่อย่างใด

ที่ผู้ร้องเบิกความว่า พยานให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า ไม่กลัวที่จะโดนคดี 112 นั้น ข้อเท็จจริงคือ นักข่าวได้ถามว่า กลัวหรือไม่ที่จะโดนคดี พยานจึงตอบไปว่า “ไม่กลัว เพราะโดน ม.112 มาแล้ว คงไม่มีอะไรที่หนักไปกว่านี้แล้ว”

เนติพรยืนยันว่า ตนไปชุมนุมตามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ตนยังไม่ได้ทำผิดตามเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวที่ศาลกำหนดด้วย

ดูฐานข้อมูลคดี:

คดี 112-116 นักกิจกรรม-เยาวชน 9 ราย หลังทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ

X