พรุ่งนี้ (23 เม.ย. 2568) เวลา 9.00 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอเชิญชวนประชาชนร่วมสังเกตการณ์การสืบพยานโจทก์คดีมาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ “เบนจา อะปัญ” นักกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม #กระชากหน้ากากสยามไบโอไซน์ หน้าอาคารศรีจุลทรัพย์ ที่ทำการของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2564
คดีนี้มีการสืบพยานโจทก์ไปแล้วบางส่วนระหว่างวันที่ 25 – 26 มี.ค. 2568 และจะมีนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยต่อไปในวันที่ 23 – 24 เม.ย. และ 13 – 16 พ.ค. 2568 โดยในระหว่างการสืบพยาน ศาลยังไม่ได้ออกหมายเรียกพยานเอกสาร 3 รายการเกี่ยวกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ผู้ผลิตวัคซีนโควิด-2019 ยี่ห้อแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งมีรัชกาลที่ 10 เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ให้ ทนายความจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารดังกล่าวไปถึง 2 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม แม้ทนายความจะมีคำแถลงถึงความสำคัญของพยานเอกสารเพื่อใช้ในการต่อสู้คดี ศาลอาญากรุงเทพใต้ก็มีคำสั่งไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ทั้ง 2 ครั้ง โดยครั้งหนึ่งระบุเหตุผลท่อนหนึ่งว่า “ทั้งเป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดแจ้งก่อนอยู่แล้ว จึงจะนำข้อมูลมากล่าวหาจนเป็นการกระทำความผิดตามฟ้อง จึงไม่มีเหตุที่จะออกหมายเรียกให้”
จำเลยเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวมิใช่เหตุผลตามกฎหมายอันเป็นเหตุให้ไม่สามารถออกหมายเรียกพยานเอกสารได้ และเป็นการวินิจฉัยเสมือนว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว และไม่ให้โอกาสจำเลยในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
.
คดีนี้มี ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกของกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้กล่าวหา ซึ่งเบนจาได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกที่ สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 และเนื่องจากทางตำรวจมีการแจ้งวันที่ชุมนุมผิด จึงต้องเข้ารับทราบข้อหาอีกครั้งในวันที่ 13 ก.ค. 2564
เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2567 พนักงานอัยการได้สั่งฟ้องคดีใน 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ มาตรา 112 และ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยไม่ได้สั่งฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
ในนัดตรวจพยานหลักฐาน ทนายความจำเลยได้ยื่นบัญชีพยานจำเลยรวม 23 อันดับ ลงวันที่ 27 พ.ค. 2567 ซึ่งศาลมีคำสั่งรับบัญชีพยานจำเลยแล้ว
ต่อมาในวันที่ 17 มี.ค. 2568 ทนายความได้ยื่นคำร้องขอออกหมายเรียกพยานเอกสารลำดับที่ 18 ถึง 20 ในบัญชีพยานข้างต้น เนื่องจากพยานเอกสารดังกล่าวเป็นพยานเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก จำเลยไม่สามารถนำมาแสดงต่อศาลได้ด้วยตนเอง และเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดีที่ต้องใช้ถามค้านพยานบุคคลของโจทก์และใช้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลย ได้แก่
- สัญญาจ้างผลิตวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 2019 ระหว่างบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด
- สัญญารับงบประมาณระหว่างสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด อยู่ที่ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด
- บันทึกการประชุมของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติและเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกับการวางเงื่อนไขคุณสมบัติและรายละเอียดของเอกชนที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐในการผลิตวัคซีน
อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งตามคำร้องขอออกหมายเรียกพยานหลักฐาน ลงวันที่ 17 มี.ค. 2568 ว่า “ให้ทนายจำเลยแถลงว่ามีเหตุผลใดที่จะต้องใช้เอกสารตามที่หมายเรียกเกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดีหรือไม่ก่อนออกหมาย”
.
คำแถลงจำเลยฯ ลงวันที่ 26 มี.ค. 68 ระบุพยานเอกสารจะพิสูจน์ว่าจำเลยแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต – โจทก์นำพยานเกี่ยวข้องกับประเด็นเข้าสืบและอ้างอิงถึงพยานเอกสารที่ขอหมายเรียก – ไม่ใช่เอกสารความลับ ศาลหมายเรียกได้
ทนายความจำเลยจึงยื่นแถลงความเกี่ยวพันและความจำเป็นในการออกหมายเรียกพยานเอกสารให้แก่จำเลย ลงวันที่ 26 มี.ค. 2568 ระบุโดยสรุปว่า พยานเอกสารลำดับที่ 18 ถึง 20 มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดีนี้โดยตรง และเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดีที่ต้องใช้ถามค้านพยานบุคคลของโจทก์และใช้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลย
ประการแรก จำเลยปราศรัยวิจารณ์รัฐบาลและบุคคลที่เกี่ยวข้องในการบริหารสถานการณ์โควิด-19 และจัดสรรวัคซีน พยานเอกสารจะพิสูจน์ว่าจำเลยกล่าวความจริงและเป็นประโยชน์แก่ประชาชน และเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
ขณะเกิดเหตุคดีนี้ มีการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและลดจำนวนผู้ติดเชื้อ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องได้มีการวิจัย ผลิต นำเข้า จำหน่าย และแจกจ่ายวัคซีนให้แก่ประชาชน ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มประชาชนทั่วไปถึงปัญหาในการจัดสรรวัคซีนที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์ประสิทธิภาพของวัคซีนยี่ห้อต่าง ๆ และคำปราศรัยของจำเลยก็เป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและบุคคลที่เกี่ยวข้องในการบริหารสถานการณ์โควิด-19 และจัดสรรวัคซีนให้แก่ประชาชน
ดังนั้น พยานลำดับที่ 18, 19 และ 20 จึงเป็นพยานเอกสารสำคัญที่จะพิสูจน์ให้ศาลเห็นถึงข้อเท็จจริงและเจตนาของจำเลยที่กล่าวถ้อยคำหรือข้อความอันเป็นความจริงและเป็นประโยชน์แก่ประชาชน และเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ไม่ใช่การใส่ความ จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใด
ประการที่สอง การสืบพยานโจทก์เกี่ยวข้องกับประเด็นและพยานเอกสารที่จำเลยขอหมายเรียก ย่อมต้องใช้เอกสารอันน่าเชื่อถือในการถามค้านพยานโจทก์ เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลย
โจทก์ได้นำพยานบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวข้าสืบพยาน และยังได้อ้างอิงถึงเอกสารพยานลำดับที่ 18 – 20 ดังกล่าวอีกด้วย โดยน่าเชื่อว่าในการสืบพยานโจทก์ต่อไป การได้มาซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าว จะเป็นการดำรงซึ่งความยุติธรรมและให้สิทธิของจำเลยในคดีอาญาในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
ในการต่อสู้คดีของจำเลยในคดีอาญานั้น ย่อมต้องใช้เอกสารดังกล่าวซึ่งเกี่ยวพันโดยตรงกับบรรยายฟ้องของโจทก์ในการถามค้านพยานโจทก์ทั้งหลายในทุกรายปาก รวมไปถึงพนักงานสอบสวนผู้ทำความเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดในคดีนี้ เพื่อต่อสู้คดีและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน
จำเลยมีความจำเป็นต้องใช้เอกสารดังกล่าวอันน่าเชื่อถือและมาจากแหล่งที่มาอันน่าเชื่อถือ ไม่มีผู้ใดหรือพยานรายใดสามารถปฏิเสธได้ว่าไม่รู้ที่มาหรือไม่น่าเชื่อถือ เพื่อใช้หักล้างพยานโจทก์และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน เพื่อทำลายน้ำหนักพยานโจทก์ในการสืบพยานให้เห็นว่าโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีข้อหาร้ายแรงกล่าวหาว่าจำเลยทำความผิดในคดีนี้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติและเป็นวิธีปฏิบัติของการต่อสู้คดีของจำเลยในคดีอาญาและเป็นไปตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา
ประการที่สาม เอกสารที่ขอหมายเรียกไม่ใช่เอกสารอันเป็นความลับ ผู้ครอบครองสามารถนำส่งต่อศาลได้หากมีการออกหมายเรียก
เอกสารทั้ง 3 รายการดังกล่าวก็ไม่ใช่เอกสารอันเป็นความลับแต่อย่างใด ย่อมเป็นเอกสารที่ผู้ครอบครองอันอยู่นอกเหนือจากความควบคุมของจำเลยสามารถนำส่งต่อศาลได้หากมีการออกหมายเรียก และจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ เนื่องจากตามวิธีพิจารณาความอาญาและวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายก็กำหนดชัดเจนว่าให้พึงฟังเอกสารต้นฉบับหรือสำเนาที่ได้รับรองถูกต้องจากทางราชการหรือผู้ครอบครอง
.
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงขอศาลได้โปรดออกหมายเรียกพยานเอกสารตามคำร้องขอออกหมายเรียกพยานเอกสาร ฉบับลงวันที่ 17 มี.ค. 2568 เพื่อเป็นหลักประกันความยุติธรรมและให้สิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่แก่ตัวจำเลย
.
ในวันเดียวกัน (26 มี.ค. 2568) ศาลมีคำสั่งตามคำร้องแถลงความเกี่ยวพันและความจำเป็นในการออกหมายเรียกพยานเอกสารให้แก่จำเลย ลงวันที่ 26 มี.ค. 2568 ว่า “พิเคราะห์คำร้องประกอบคำขอหมายเรียกของจำเลยแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานที่จำเลยขอหมายเรียกไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นในคดี ทั้งเป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดแจ้งก่อนอยู่แล้ว จึงจะนำข้อมูลมากล่าวหาจนเป็นการกระทำความผิดตามฟ้อง จึงไม่มีเหตุที่จะออกหมายเรียกให้ ยกคำร้อง”
.
คำแถลงจำเลยฯ ลงวันที่ 8 เม.ย. 68 ระบุคำสั่งไม่ออกหมายเรียกเป็นการวินิจฉัยเสมือนจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด และไม่มีเหตุผลตามกฎหมาย – เคยมีคำพิพากษาคดี 112 ระบุว่าจำเลยไม่ขวนขวายแสดงหลักฐานเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ จึงขอศาลออกหมายเรียก
วันที่ 8 เม.ย. 2568 ทนายความจำเลยจึงได้ยื่นคำร้องขอออกหมายเรียกพยานบุคคลและพยานเอกสารอีกครั้ง โดยขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานบุคคลลำดับที่ 3 ถึง 17 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก และพยานเอกสารลำดับที่ 18 ถึง 20 ตามข้างต้น
ในวันเดียวกัน (8 เม.ย. 2568) ศาลมีคำสั่งระบุว่า “อนุญาตให้หมายเรียกพยานอันดับ 3 ถึงอันดับ 6 และอนุญาตให้นำไปส่งเอง ส่วนพยานที่เหลือให้ทนายจำเลยแถลงว่ามีความจำเป็นเกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดีอย่างไร แล้วจึงจะพิจารณาสั่ง”
พยานบุคคลที่ศาลไม่ออกหมายเรียกให้ เช่น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, พลเอกสถิตย์พงษ์ สุขวิมล, เลขาธิการพระราชวัง, อนุทิน ชาญวีรกุล, ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 2019, ประธานคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ, ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ, กรรมการผู้มีอำนาจแทน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด (สหราชอาณาจักร), กรรมการผู้มีอำนาจแทน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด, กรรมการผู้มีอำนาจแทน บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด และกรรมการผู้มีอำนาจแทน บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด
ทนายความยื่นคำแถลงเกี่ยวกับพยานลำดับที่ 18 – 20 ลงวันที่ 8 เม.ย. 2568 โดยอ้างอิงถึงคำสั่งศาลในวันที่ 26 มี.ค. 2568 ระบุว่า จำเลยไม่เห็นพ้องด้วยต่อคำสั่งดังกล่าวและเรียนถึงความจำเป็นในการได้มาซึ่งพยานเอกสาร ตามบัญชีพยานของจำเลยลำดับที่ 18 ถึง 20
ประการแรก จากการสืบพยานโจทก์ พยานเอกสารที่ขอหมายเรียกเกี่ยวข้องและเป็นประเด็นในคดีอย่างชัดแจ้ง จำเป็นต้องใช้ในการถามความ การไม่ออกหมายเรียกขัดต่อหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
พยานเอกสารทั้ง 3 ฉบับ เป็นพยานเอกสารที่เกี่ยวข้องและเป็นประเด็นในคดีอย่างชัดแจ้ง เห็นได้ชัดจากคำเบิกความของพยานโจทก์ และรายละเอียดของพยานที่โจทก์ได้นำเข้าสืบในคดีนี้แล้วบางส่วน และที่โจทก์จะนำเข้าสืบต่อไปในวันที่ 23 เม.ย. 2568 ต่อไป ซึ่งล้วนแต่เป็นพยานที่เกี่ยวข้องที่จำเลยจำเป็นต้องใช้เอกสารเหล่านี้ในการถามความในชั้นสืบพยานเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง
เนื่องจากเอกสารทั้งสามฉบับอยู่นอกเหนือความครอบครองของจำเลย เป็นไปดังที่เรียนตามคำแถลงฉบับลงวันที่ 26 มี.ค. 2568 ของจำเลย จึงเป็นกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องขอให้ศาลใช้ขั้นตอนตามปกติของศาลยุติธรรมในการออกหมายเรียกพยานเอกสารให้จำเลยเพื่อมาใช้ในการต่อสู้คดี อันเป็นปกติปฏิบัติ
การไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารดังกล่าวให้จำเลย ทั้งที่เป็นพยานเอกสารที่เกี่ยวพันและเกี่ยวข้องกับประเด็นในคดีโดยตรงอย่างชัดแจ้งนั้น เป็นการทำให้จำเลยเสียสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ซึ่งเป็นหลักประกันสิทธิของจำเลยในกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา และในหลักกฏหมายอาญาของประเทศไทยและระหว่างประเทศ รวมถึงขัดกับหลักการตามข้อกำหนดภาคีสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเป็นรัฐสมาชิกและได้ลงนามให้สัตยาบันไว้
ประการที่สอง คำสั่งของศาลที่ไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ไม่ใช่เหตุผลตามกฎหมาย เป็นการวินิจฉัยเสมือนจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว และไม่ให้โอกาสจำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
จำเลยไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งของศาลซึ่งระบุว่า “ทั้งเป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดแจ้งก่อนอยู่แล้วจึงจะนำข้อมูลมากล่าวหาจนเป็นการกระทำความผิดตามฟ้องจึงไม่มีเหตุที่จะออกหมายเรียกให้”
เหตุผลดังกล่าว มิใช่เหตุผลตามกฎหมายอันเป็นเหตุให้ไม่สามารถออกหมายเรียกพยานเอกสารดังกล่าวได้
นอกจากนี้ การวินิจฉัยและสั่งว่าไม่มีเหตุที่จะออกหมายเรียกให้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดแจ้งก่อนอยู่แล้ว จึงจะนำข้อมูลมากล่าวหาจนเป็นการกระทำความผิดตามฟ้อง เป็นการวินิจฉัยเสมือนว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดแล้วและไม่ให้โอกาสจำเลยในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
กรณีของจำเลยไม่ใช่คดีที่มีบทสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นความผิด และในคดีเช่นมาตรา 112 ศาลยุติธรรมอื่น เช่น ศาลอาญา ก็เคยออกหมายเรียกเอกสารสำคัญที่ต้องใช้ต่อสู้คดีให้แก่จำเลย และหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ก็ทำการส่งเอกสารมาให้
ภายในคำแถลงได้แนบเอกสารตัวอย่างในคดีมาตรา 112 ของ “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ กรณีไลฟ์สดทางเฟซบุ๊กส่วนตัวอยู่บริเวณทางเท้าบนถนนราชดำเนินนอก ก่อนที่จะมีขบวนเสด็จของในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งศาลอาญาได้ออกหมายเรียกพยานเอกสารเกี่ยวกับขบวนเสด็จของรัชกาลที่ 10 พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ให้แก่จำเลย 3 รายการ ได้แก่ แผนการรักษาความปลอดภัย, แผนการเดินทาง, และรายงานการจราจรและสภาพการจราจร
ประการที่สาม แม้หลักในคดีอาญา โจทก์ต้องนำสืบจนปราศจากข้อสงสัย แต่ในคดี 112 เคยมีคำวินิจฉัยของคำพิพากษาระบุว่าจำเลยไม่ขวนขวายที่จะให้การหรือแสดงหลักฐานเพื่อแสดงความบริสุทธิ์
ในหลายครั้ง การดำเนินคดีมาตรา 112 ต่อบุคคล ปรากฏว่ามีการพิพากษาว่าจำเลยมีการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา โดยในบางครั้งคำพิพากษาระบุถึงขนาดที่ว่า “พฤติกรรมของจำเลยซึ่งไม่นำพาหรือขวนขวายที่จะให้การหรือแสดงหลักฐานใดเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของตน” เป็นข้อสำคัญในการที่ศาลวินิจฉัยว่าเป็นการผิดวิสัยของบุคคลทั่วไปในฐานะปวงชนชาวไทย
แนวทางการวินิจฉัยดังกล่าวนี้ ทำให้เห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จำเลยจะต้องขวนขวายหาหลักฐาน และเอกสารต่าง ๆ เพื่อเข้าต่อสู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองด้วย เนื่องจากแม้ว่าในหลักปฏิบัติโจทก์จะต้องนำสืบจนปราศจากข้อสงสัยและชัดแจ้ง แต่ก็ปรากฏว่า ศาลยุติธรรมยังมองว่าจำเลยมีภาระการนำสืบด้วยในคดีอาญา
ภายในคำแถลงได้แนบเอกสารข่าวแจกสื่อมวลชนของศาลอาญาในคดีมาตรา 112 ของ “ไอซ์” รักชนก ศรีนอก กรณีถูกกล่าวหาว่าทวีตข้อความวิจารณ์รัฐบาลว่า ผูกขาดการจัดซื้อจัดหาวัคซีนโควิด-19 ไว้กับสถาบันกษัตริย์ และกรณีรีทวิตภาพถ่ายในการชุมนุม #16ตุลาไปแยกปทุมวัน ปี 2563 ซึ่งมีข้อความที่ถูกกล่าวหาว่าต่อต้านสถาบันกษัตริย์ ซึ่งศาลอาญาพิพากษาว่ารักชนกมีความผิดตามฟ้องและลงโทษจำคุก 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา
.
ด้วยเหตุผลทั้งหมดข้างต้น จำเลยไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งฉบับลงวันที่ 26 มี.ค. 2568 ดังกล่าว และได้ยื่นคำร้องขออกหมายเรียกพยานเอกสารและพยานบุคคลทั้งหมดมาพร้อมกันกับคำแถลงฉบับนี้ในวันนี้ โดยขอให้ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตให้ออกหมายเรียกพยานเอกสารและพยานบุคคลทั้งหมดในทุกประเด็น เพื่อเป็นหลักประกันว่าจำเลยมีสิทธิในการต่อสู้คดี
.
ต่อมาในวันเดียวกัน (8 เม.ย. 2568) ศาลมีคำสั่งตามคำแถลงเกี่ยวกับพยานลำดับที่ 18 – 20 ลงวันที่ 8 เม.ย. 2568 ว่า “พิเคราะห์ตามคำร้องแล้ว พยานหลักฐานตามหมายเรียกเป็นเรื่องที่จำเลยย่อมทราบมาก่อนที่จะนำมากล่าวเป็นถ้อยคำตามที่โจทก์อ้างในคำฟ้อง จึงไม่มีเหตุที่จะออกหมายเรียกให้”