เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2567 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ได้นัดหมายสั่งฟ้องคดีของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ เบนจา อะปัญ สองนักกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีที่ทั้งคู่ปราศรัยในการชุมนุม #กระชากหน้ากากสยามไบโอไซน์ หน้าอาคารศรีจุลทรัพย์ ที่ทำการของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2564
คดีนี้มี ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกของกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้กล่าวหา ไว้ที่ สน.ปทุมวัน โดยผู้กล่าวหารายนี้ได้กล่าวหาคดีมาตรา 112 ไว้ไม่น้อยกว่า 8 คดี (นับเฉพาะคดีที่ทราบว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ถูกกล่าวหา) และยังไปให้ความเห็นในฐานะพยานในคดีมาตรา 112 อีกหลายสิบคดี
เบนจาได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกที่ สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 และเนื่องจากทางตำรวจมีการแจ้งวันที่ชุมนุมผิด จึงต้องเข้ารับทราบข้อหาอีกครั้งในวันที่ 13 ก.ค. 2564 ส่วนพริษฐ์ถูกพนักงานสอบสวนเข้าแจ้งข้อหาในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างถูกคุมขังในคดีอื่น ๆ เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2564
ก่อนที่ตำรวจส่งสำนวนคดีไปที่อัยการเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 และอัยการได้นัดฟังคำสั่งราวเดือนละ 1 ครั้งเรื่อยมาเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี จนมีคำสั่งฟ้องคดีในที่สุด
ในการฟ้องคดีมี สุกิต กังวล พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 เป็นผู้เรียงฟ้องโดยฟ้องใน 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ มาตรา 112 และ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยไม่ได้สั่งฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเคยมีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อทั้งสองไว้ เนื่องจากทั้งสองข้อหานี้มีอัตราโทษปรับ และมีอายุความ 1 ปี ทำให้หมดอายุความที่จะฟ้องในสองข้อหานี้แล้ว
.
โดยสรุปฟ้องได้กล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2564 จำเลยทั้งสองเป็นแกนนำในการชุมนุมชื่อว่า “กระชากหน้ากากสยามไบโอไซเอนซ์” ที่บริเวณหน้าอาคารศรีจุลทรัพย์ โดยมีประชาชนทั่วไปเข้าร่วมชุมนุมจำนวนหลายร้อยคน อันเป็นกิจกรรมที่มีการรวมตัวที่มีความแออัดในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในเขตพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
จำเลยทั้งสองยังได้ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ด้วยการร่วมกันกล่าวปราศรัยในกิจกรรมดังกล่าว ให้ประชาชนจำนวนหลายร้อยคนที่มาร่วม ประชาชนที่สัญจรไปมา รวมถึงประชาชนจำนวนมากที่รับชมการถ่ายทอดสดการชุมนุมผ่านสื่อสังคมออนไลน์รับฟัง
คำฟ้องได้ยกคำปราศรัยของพริษฐ์ ในฐานะจำเลยที่ 1 จำนวน 13 ท่อน พร้อมระบุว่าข้อความดังกล่าวทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้ว่า การดำเนินการผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 เป็นวัคซีนที่ได้รับพระราชทาน โดยรัชกาลที่ 10 ทรงนำเงินภาษีของประชาชนมาใช้ผลิต และนำมาแจกจ่ายให้แก่ประชาชน และทำให้เข้าใจได้ว่าบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นบริษัทของสถาบันพระมหากษัตริย์ และบริษัทดังกล่าวผูกขาดการดำเนินโครงการผลิตวัคซีน โดยใช้เงินจากภาษีของประชาชนมาดำเนินการ กล่าวหาพระมหากษัตริย์มีผลประโยชน์ทับซ้อน
และได้ยกคำปราศรับของเบนจา จำเลยที่ 2 จำนวน 3 ท่อน พร้อมระบุว่าข้อความดังกล่าวทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้ว่ารัชกาลที่ 10 ทรงมีส่วนร่วมในการหากำไรในการจัดทำวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 โดยทรงเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด และบริษัท SCG ซึ่งร่วมกับรัฐบาลหาผลประโยชน์ร่วมกันและผูกขาดวัคซีนอยู่ที่บริษัทเดียว คือแอสตราเซนเนก้า
อัยการบรรยายว่าคำปราศรัยของทั้งคู่เป็นการจาบจ้าง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง และทำให้ประชาชนชาวไทยเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้
ในท้ายฟ้อง อัยการระบุว่าหากจำเลยทั้งสองยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณา ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล
ต่อมา ศาลอาญากรุงเทพใต้อนุญาตให้ประกันตัวพริษฐ์และเบนจา โดยให้วางหลักประกันคนละ 200,000 บาท โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร
ศาลกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปวันที่ 4 มี.ค. 2567 เวลา 13.30 น.
.
สำหรับกิจกรรม “กระชากหน้ากากสยามไบโอไซน์” พริษฐ์และเบนจาได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่บริเวณหน้าอาคารศรีจุลทรัพย์ ทั้งสองกล่าวปราศรัยเรื่องการผูกขาดวัคซีน หลังรัฐบาลสั่งวัคซีนจาก 2 บริษัท ได้แก่ วัคซีนซิโนแวค และวัคซีนแอสตราเซนเนก้า ซึ่งตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในประเด็นที่รัฐบาลให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์เท่านั้น เป็นผู้ผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกา
ทั้งนี้ พริษฐ์นับเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 ด้วยจำนวนคดีมากที่สุดในประวัติศาสตร์การใช้ข้อกล่าวหานี้ (เท่าที่ทราบข้อมูล) คือจำนวนถึง 24 คดี โดยขณะนี้คดีถูกสั่งฟ้องอยู่ในชั้นศาลแล้ว 21 คดี ขณะที่เบนจาถูกกล่าวหาในข้อหานี้ทั้งหมด 8 คดี โดยคดีอยู่ในชั้นศาลแล้ว 6 คดี (ดูสถิติคดีมาตรา 112 ยุคหลังปี 2563)
.