วันพรุ่งนี้ (7 มี.ค. 2568) เวลา 09.30 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีนัดฟังคำพิพากษาในคดีของนักศึกษาและนักกิจกรรมรวม 9 คน ในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากกรณีการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จำเลยในคดีนี้ทั้ง 9 คน ประกอบด้วย “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, อานนท์ นำภา, ณัฐชนน ไพโรจน์, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “บอล” ชนินทร์ วงษ์ศรี, “ไฟซ้อน” สิทธินนท์ ทรงศิริ, “ลูกมาร์ค” และ “สาธร” (นามสมมติ)
สำหรับการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เป็นการจัดชุมนุมในมหาวิทยาลัยซึ่งมีผู้ขึ้นปราศรัยมาจากหลากหลายกลุ่ม โดยในวันดังกล่าวได้มีการอ่าน ‘ประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1’ ซึ่งมีรายละเอียดเป็นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์จำนวน 10 ข้อ
การชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ยังนำไปสู่การร้องศาลรัฐธรรมนูญโดย ณฐพร โตประยูร ให้ศาลมีคำวินิจฉัยว่านักกิจกรรมที่ถูกร้องจำนวน 3 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล มีการกระทำที่ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จากการปราศรัยหรือไม่
ต่อมา วันที่ 10 พ.ย. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวโดยเห็นว่า การกระทำของทั้ง 3 คน เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แต่ทั้งนี้คดีในศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เกี่ยวพันกับคดีอาญา ฝ่ายโจทก์ยังต้องนำสืบว่าการกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบตามข้อกล่าวหาที่ฟ้องมาหรือไม่ อย่างไร
.
เกี่ยวกับคดีนี้ ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2563 แกนนำ 6 คน ได้ถูกตำรวจ สภ.คลองหลวง เข้าจับกุมหรือแจ้งข้อกล่าวหา จากนั้นวันที่ 30 ส.ค. 2565 อัยการจังหวัดธัญบุรีได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดธัญบุรี สำหรับปนัสยา, ภาณุพงศ์, อานนท์, ณัฐชนน, พริษฐ์ ถูกฟ้องรวม 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในขณะที่ชนินทร์ถูกฟ้องเฉพาะข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ต่อมา วันที่ 6 ก.ย. 2565 ตำรวจยังได้จับกุม “ไฟซ้อน” ซึ่งทำหน้าที่พิธีกรบนเวที ตามหมายจับที่ออกไว้กว่า 2 ปีแล้ว จากนั้นอัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2565 ใน 3 ข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับกลุ่มแกนนำ
และในช่วงเดือน มี.ค. 2566 ยังมีการดำเนินคดีอีก 2 ราย โดยมีการจับกุม “สาธร” ขณะที่ “ลูกมาร์ค” เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาหลังทราบว่ามีหมายจับตั้งแต่ปี 2563 โดยระบุว่าเป็นผู้ร่วมดูแลการชุมนุมและเป็นพิธีกรบนเวที ตามลำดับ ก่อนถูกฟ้องใน 3 ข้อกล่าวหาเช่นเดียวกัน เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2566
ต่อมา ศาลมีคำสั่งรวมการพิจารณาคดีทั้งสามเข้าด้วยกัน เนื่องจากมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานชุดเดียวกัน

.
ภาพรวมการสืบพยาน: จำเลยสู้คดี ยืนยันการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่มีความรุนแรง-ใช้กำลัง และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ส่วนสถานที่ชุมนุมโล่งกว้าง อากาศถ่ายเท และมีมาตรการป้องกันโควิด 19
ในคดีนี้ จำเลยทั้งหมดยืนยันต่อสู้คดี โดยมีการสืบพยานทั้งสิ้นจำนวน 7 นัด ในระหว่างวันที่ 2 – 4, 9 – 10, 25 ต.ค., และ 12 พ.ย. 2567 โดยฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าสืบ 11 ปาก ฝ่ายจำเลยมี ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าเบิกความเป็นพยาน ในระหว่างการสืบพยานไม่สามารถติดต่อภาณุพงศ์และพริษฐ์ได้ ศาลจึงออกหมายจับและจำหน่ายคดีในส่วนของทั้งสองคน ต่อมา ในนัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2568 ปนัสยาไม่ได้เดินทางมาศาล ศาลจึงเลื่อนอ่านคำพิพากษาเป็นวันที่ 7 มี.ค. 2568
สำหรับฝ่ายจำเลยมีข้อต่อสู้ในคดีคือ ในที่ชุมนุมวันเกิดเหตุ เป็นการชุมนุมปราศรัยเพื่อแสดงความเห็นโดยสงบ มีการตรวจคัดกรองอาวุธก่อนเข้างาน เป็นการชุมนุมที่ปราศจากอาวุธ ไม่ใช้กําลังข่มขืนใจหรือใช้กําลังประทุษร้าย ซึ่งเป็นเสรีภาพในการแสดงความเห็นที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้
และสำหรับข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อนั้น เป็นความหวังดีต่อสถาบันกษัตริย์ โดยเป็นเพียงข้อเสนอ ไม่ได้บีบบังคับหน่วยงานใดหรือบุคคลใดให้ดําเนินการแต่อย่างใด และข้อเสนอดังกล่าวไม่ถึงกับก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เนื่องจากเป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น จึงไม่ได้ส่งเสริมให้ใครก่อความปั่นป่วนหรือความกระด้างกระเดื่อง หรือความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในสังคม
อีกทั้งที่เกิดเหตุยังเป็นสถานที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเท ไม่แออัด และผู้จัดชุมนุมมีมาตรการป้องกันโรคโควิดและมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาตรวจวัดอุณหภูมิ แจกเจลแอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัยก่อนเข้าพื้นที่ชุมนุม
.
การสืบพยานในคดีนี้ อานนท์ นำภา นอกจากเป็นหนึ่งในจำเลย ยังร่วมทำหน้าที่เป็นทนายจำเลยด้วย แต่ก่อนเริ่มสืบพยาน ผู้พิพากษามีความเห็นว่า ไม่สามารถให้อานนท์ว่าความได้ เนื่องจากสวมชุดนักโทษ จึงไม่สามารถสวมครุยทนายได้ แต่อานนท์ยืนยันว่า สามารถปฏิบัติหน้าที่ทนายความได้ โดยระบุว่าศาลอาญาเคยมีหนังสือไปสอบถามสภาทนายความฯ ซึ่งสภาทนายความฯ เองก็มีหนังสือยืนยันว่าตนปฏิบัติหน้าที่ทนายความได้ หลังจากศาลไปปรึกษาหัวหน้าศาลแล้ว ได้อนุญาตให้อานนท์ว่าความได้ เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตว่าความแต่อย่างใด
.

บันทึกการสืบพยานโจทก์
ตำรวจผู้กล่าวหาระบุ จำเลยปราศรัยหมิ่นเหม่ผิด ม.112 ก่อนผู้บังคับบัญชาให้แจ้งความข้อหา 116 แต่รับ คําปราศรัยไม่ยุยงให้ใช้ความรุนแรง ไม่ใช้กําลังประทุษร้าย และที่ชุมนุมเป็นพื้นที่โล่ง
พ.ต.อ.ณฐณัษฐ์ สัมภัณสิทธิ์ ผู้กล่าวหา ขณะเกิดเหตุเป็นรองผู้กำกับการสืบสวน สภ.คลองหลวง เบิกความว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2563 พยานได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ให้พยานกับพวกเฝ้าติดตามกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองในสื่อโซเชียล จากนั้นพยานได้ข้อมูลจากเพจ “พรรคโดมปฏิวัติ” ว่าจะมีการนัดชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและแสดงกิจกรรมทางการเมืองในวันเปิดเทอมวันแรก คือวันที่ 10 ส.ค. 2563 โดยจะมีรายละเอียดลงในวันที่ 27 ก.ค. 2563 ในเพจชื่อ “ธรรมศาสตร์และการชุมนุม”
เท่าที่พยานจําได้คือจะมีการชุมนุมตั้งแต่ 17.00 น. เป็นต้นไป บริเวณลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีการเชิญชวนประชาชน นักศึกษาที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกัน ผู้บังคับบัญชาจึงมอบหมายให้พยานกับพวกสืบสวนเกี่ยวกับการชุมนุมดังกล่าว จากการสืบสวนเบื้องต้นได้ความว่า มีผู้ร่วมจัดประมาณ 6 คน คือ จําเลยที่ 1 – 4, ที่ 7 และที่ 8 มีการระดมทุนโดยระบุเลขที่บัญชีและมีชื่อจําเลยที่ 6 และที่ 9 เพจเฟซบุ๊กของจําเลยที่ 5 ก็มีการลงข้อความเชิญชวนให้บริจาคเงินเข้าบัญชีดังกล่าว จากการตรวจสอบบัญชีในวันที่ 1 ส.ค. 2563 ปรากฏว่ามียอดเงินประมาณ 400,000 บาทเศษ
ต่อมา ในวันที่ 7 ส.ค. 2563 ได้มีการประชุมของฝ่ายสืบสวน ซึ่งมีสารวัตรสืบสวนเข้าร่วมประชุม แต่พยานไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย จากนั้นในวันที่ 9 ส.ค. พยานได้ตรวจสอบการอนุญาตให้ใช้พื้นที่บริเวณลานพญานาค ปรากฏว่าผู้อนุญาตให้ใช้สถานที่คือ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ในวันดังกล่าวพยานและชุดสืบสวนยังได้ลงพื้นที่บริเวณที่มีการจัดกิจกรรมด้วย และพบจำเลยที่ 1 กำลังเตรียมอุปกรณ์ในการจัดกิจกรรมและเห็นรถบรรทุกประมาณ 4 คัน
ในวันเกิดเหตุเวลา 09.00 น. มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ (ศปก.) เพื่อติดตามการชุมนุมดังกล่าว รวมทั้งติดตามข้อมูลข่าวสารตามสื่อสังคมออนไลน์ ต่อมา ในเวลา 15.00 น. พยานเห็นจําเลยที่ 5 เข้ามาดูแลการจัดกิจกรรม โดยในวันเกิดเหตุ แต่ละคนทําหน้าที่อย่างไรบ้าง พยานพอสรุปได้ดังนี้
จําเลยที่ 1 ขึ้นไปกล่าวปราศรัยบนเวที 2 ครั้ง มีการอ่านแถลงการณ์ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ซึ่งพยานจำรายละเอียดไม่ได้ และปราศรัยที่มีคําพูดหมิ่นเหม่ที่จะเกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ด้วย อีกทั้งมีการโจมตีรัฐบาลในขณะนั้นเรื่องการบริหารประเทศและให้ยุบสภา มีการทวงคืนประชาธิปไตย และให้หยุดคุกคามประชาชน
จําเลยที่ 2 และจําเลยที่ 3 ขึ้นปราศรัยบนเวที โดยเนื้อหาการปราศรัยของจำเลยที่ 3 มีลักษณะหมิ่นเหม่เกี่ยวกับมาตรา 112 ด้วย
จําเลยที่ 4 ปราศรัยและอ่านประกาศของคณะราษฎร พยานจํารายละเอียดไม่ได้ แต่เท่าที่จำได้ประกาศคณะราษฎรมีลักษณะหมิ่นเหม่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112
จําเลยที่ 5 เป็นผู้ร่วมชักชวนในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวให้ประชาชนคนทั่วไป นิสิตและนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม และมีส่วนในการจัดกิจกรรม จัดสถานที่ รวมทั้งร่วมชุมนุมด้วย
จําเลยที่ 7 และที่ 8 ทําหน้าที่เป็นพิธีกร และได้นํารูปของสมศักดิ์และปวิณขึ้นจอโปรเจคเตอร์ โดยเปรียบเทียบกับรูปที่มีอยู่ทุกบ้าน ในทํานองหมิ่นเหม่ที่จะเข้าข่ายมาตรา 112 ทั้งยังมีการพูดในลักษณะล้อเลียนสถาบันกษัตริย์ พยานจำได้บางส่วนว่า “ด้วยข้าว ด้วยแกงอ่อม…” พร้อมทั้งเปิดเพลง
ในช่วงที่มีคนมาร่วมชุมนุมมากที่สุด พยานกะด้วยสายตาแล้วมีประมาณ 1,500 คน มีเพียงบางคนที่ใส่หน้ากากอนามัย มีจุดตรวจวัดอุณภูมิเพียงจุดเดียว และไม่เห็นจุดตรวจหาเชื้อโควิด 19 วันดังกล่าวมีตํารวจและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมสังเกตการณ์ด้วย
หลังการชุมนุมมีคำสั่งแต่งตั้งพยานให้เป็นคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน จากนั้นผู้บังคับบัญชามอบหมายให้พยานแจ้งความดําเนินคดีจําเลยที่ 1-4 และที่ 7-8 ต่อมา ได้มีการสืบสวนเพิ่มเติมและมอบหมายให้แจ้งความเพิ่มอีก 3 คน คือ จําเลยที่ 5 – 6 และที่ 9
วันที่ 19 ก.ย. 2563 ตํารวจชุดสืบสวน กองกํากับการสืบสวนจังหวัดปทุมธานี และฝ่ายสืบสวน สภ.คลองหลวง ได้ตรวจสอบและตรวจยึดเอกสารที่หมิ่นเหม่ว่าเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์จากจําเลยที่ 4 ซึ่งเชื่อมโยงกับการชุมนุมในวันที่ 10 ส.ค. 2563
พยานได้แจ้งความดำเนินคดีกับจำเลยทั้งเก้าในข้อหาตามมาตรา 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต
จากนั้น พ.ต.อ.ณฐณัษฐ์ ตอบทนายจําเลยถามค้านว่า พยานทราบว่า การขออนุญาตชุมนุมเป็นเรื่องภายในมหาวิทยาลัย และมีตํารวจเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการขออนุญาตด้วย โดยพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้จัดชุมนุมเป็นที่โล่งกว้าง และมีอากาศถ่ายเท
พยานจำไม่ได้ว่าในช่วงเกิดเหตุมียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นศูนย์หรือไม่ และไม่ได้ตรวจสอบกับสำนักนายกฯ ว่ามียอดผู้ติดเชื้อโควิดเท่าใดก่อนจะมีการดำเนินคดี แต่พยานเชื่อว่าคณะทำงานได้ตรวจสอบแล้ว และเหตุผลที่ไม่ได้ส่งรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อเข้ามาในสำนวนการสอบสวน เนื่องจากไม่เห็นว่าเป็นหรือไม่เป็นประโยชน์ต่อจำเลยอย่างไร
พยานคิดว่า สถานศึกษาที่พยานจบมานั้นมีการสอนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 แต่พยานไม่ทราบว่า ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 มีรายละเอียดอย่างไร และแถลงการณ์ที่อ่านในวันเกิดเหตุเป็นประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 2 หรือไม่ รวมทั้งไม่ทราบว่า มีใครไปฟ้องคณะราษฎรจากเหตุที่อ่านประกาศดังกล่าวหรือไม่
หากมีการสืบค้นทางข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตก็จะพบว่า มหาวิทยาลัยหรือสถาบันพระปกเกล้าก็มีการสอนเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองและคณะราษฎร แต่จะมีบุคคลใดไปฟ้องสถาบันพระปกเกล้าหรือไม่ พยานไม่ทราบ
พยานทราบว่า ที่ผ่านมามีการรัฐประหารหลายครั้ง และมีนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยหลายครั้งด้วยเช่นเดียวกัน และล่าสุดในปี 2557 มีการรัฐประหารโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พยานเห็นว่า บุคคลที่ไม่เห็นด้วยสามารถออกมาแสดงความคิดเห็นได้หากอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย รวมทั้งหากไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ร่างโดยคณะรัฐประหาร ก็สามารถคัดค้านได้ภายใต้กรอบของกฎหมาย
พยานเห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีผลต่อการเลือกตั้งปี 2566 แต่ไม่ขอออกความเห็นว่า ควรให้ สว.มีอํานาจเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เนื่องจากไม่มีผลกับจําเลยในคดีนี้
พยานไม่ทราบว่า สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ แต่ทราบว่ารัฐธรรมนูญ 2560 เปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีลาออก หรือยุบสภาได้ อย่างไรก็ตาม พยานไม่ทราบว่า การเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกหรือยุบสภานั้นเป็นข้อเรียกร้องตามปกติของระบอบประชาธิปไตยหรือไม่
พยานทราบว่า ธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2475 มีการระบุถึงสถานะและพระราชอํานาจของสถาบันกษัตริย์ไว้ด้วย แต่ไม่ทราบว่า มีการระบุว่าอํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยหรือไม่ และจําไม่ได้ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 จะมีการระบุในบางส่วนของมาตรา 3 ว่า อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยหรือไม่
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 จนถึงปัจจุบัน พยานเห็นว่า องค์พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ สำหรับคำปราศรัยในวันเกิดเหตุที่ว่า “กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ” สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น พยานไม่ขอให้ความเห็น เนื่องจากคำปราศรัยมีมากกว่านั้น พยานไม่ได้พิจารณาเพียงประโยคเดียว
ทนายถามพยานว่า สถานะของพระมหากษัตริย์ตามระบบบูรณาญาสิทธิราชย์ กับในระบอบประชาธิปไตยก็แตกต่างใช่หรือไม่ พยานตอบว่าแตกต่างด้วยคําพูด ทนายจึงถามพยานต่อไปว่า แต่อย่างอื่นก็เหมือนเดิมใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เนื่องจากวลีบางวลีก็ไม่เหมือนกัน ทนายจึงถามพยานว่า พระราชอํานาจและสถานะขององค์พระมหากษัตริย์ยังเหมือนเดิมทุกประการใช่หรือไม่ พยานของดออกความเห็น
พยานไม่ทราบว่า ทั่วโลกที่เป็นระบอบประชาธิปไตยประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์และเสนอแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ได้หรือไม่ อีกทั้งไม่ทราบว่า ประเทศไทยเคยมีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มาแล้วหลายฉบับ
พยานไม่ทราบว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ให้เป็นเหมือนกับธรรมนูญการปกครอง 2475 สามารถกระทำได้ และรัฐธรรมนูญห้ามการแก้ไขเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงอํานาจของรัฐเท่านั้น แต่ส่วนอื่นแก้ไขได้ รวมทั้งไม่ทราบว่า รัฐสภาสามารถลดหรือยกเลิกอํานาจของสถาบันกษัตริย์ ตลอดจนหน่วยงานในพระองค์ได้
ทนายถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่าประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์เหมือนประเทศไทยนั้น ห้ามสถาบันกษัตริย์รับหรือให้ทรัพย์สิน เช่น รัฐธรรมนูญ มาตรา 8 ของประเทศญี่ปุ่น พยานตอบว่า ไม่ทราบ และไม่ทราบว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เหมือนกับมาตรา 8 ของประเทศญี่ปุ่นสามารถทําได้ อีกทั้งไม่ทราบว่าประเทศอังกฤษจะมีการห้ามสถาบันกษัตริย์แสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะหรือไม่
พยานไม่ทราบว่าหลัก “The King Can Do No Wrong” จะมีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ และจำไม่ได้ว่าหลักการเรื่องปกเกล้าไม่ปกครองจะมีในรัฐธรรมนูญอย่างไร
พยานเห็นว่า การนําเสนอข่าวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ทั้งในด้านดีและไม่ดี หรือรอบด้านนั้นหากอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายก็สามารถทําได้ ซึ่งในส่วนการนําเสนอข่าวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ว่าควรนําเสนอให้รอบด้านหรือไม่ พยานของดออกความเห็น
พยานไม่เคยทราบข่าวว่ามีการอุ้มฆ่าวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ที่ประเทศลาว และของดออกความเห็นว่าควรจะมีการสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับการตายของบุคคลทั้งสองให้กระจ่างหรือไม่
พยานของดออกความเห็นว่า การรัฐประหารเป็นเรื่องดีหรือไม่ดีอย่างไร ถูกต้องตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ รวมถึงขอของดออกความเห็นว่า พยานเห็นด้วยหรือไม่หากมีการเสนอให้สถาบันกษัตริย์งดลงพระปรมาภิไธยในการรัฐประหาร
พยานไม่ทราบว่า ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือเป็นการให้สถาบันกษัตริย์ยังคงอยู่แต่ให้ปรับตัว
ตามที่ทนายจำเลยขอหมายเรียกพยานเอกสารคําสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีนั้น พยานไม่รับรองว่า เป็นข้อเท็จจริงเดียวกันกับคดีนี้หรือไม่ เนื่องจากไม่ใช่เอกสารในชั้นสอบสวนที่พยานลงชื่อไว้
พยานของดออกความเห็นว่า หากระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์ทรงเป็นประมุข กษัตริย์มีพระราชอํานาจมากเกินไปจะทําให้ไม่เกิดสมดุลในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ และในส่วนขององค์พระราชินี หากมีพระราชอํานาจมากเกินไปก็สามารถที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีพระราชอํานาจน้อยลงได้หรือไม่
พยานไม่ทราบว่า รัชกาลที่ 10 มีความเห็นให้แก้รัฐธรรมนูญที่ลงประชามติแล้ว ในกรณีที่รัชกาลที่ 10 ไม่ได้ประทับอยู่ที่ราชอาณาจักร ให้ตั้งผู้สําเร็จราชการแทนหรือไม่ตั้งก็ได้ และไม่ทราบอีกว่าตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2475 จนถึงปัจจุบันในกรณีที่กษัตริย์ไม่อยู่ในราชอาณาจักรจะต้องตั้งผู้สําเร็จราชการแทนเสมอ
ในวันเกิดเหตุในคดีนี้ รัชกาลที่ 10 จะประทับอยู่ที่ประเทศเยอรมันหรือไม่ พยานไม่ทราบ และในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีการตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ พยานก็ไม่ทราบเช่นกัน และไม่ทราบว่าการที่กษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในประเทศไทยจะทําให้มีผลกระทบต่อการปฏิบัติราชการของข้าราชการบางหน่วยงานที่จะต้องถวายคําสัตย์ปฏิญาณต่อหน้ากษัตริย์ และในช่วงเกิดเหตุคดีนี้พยานของดออดความเห็น จากที่ทนายถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ว่าที่จะเชิญพระองค์ท่านกลับมาประเทศไทย
ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ พยานทราบว่า จําเลยที่ 3 เป็นทนายความสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่นักศึกษาธรรมศาสตร์ และพยานจําได้ว่าในวันเกิดเหตุจําเลยที่ 4 ไปร่วมชุมนุมและขึ้นปราศรัยอ่านคําแถลงการณ์ โดยพยานถือว่าจําเลยที่ 4 เป็นผู้ร่วมกิจกรรม และพยานเข้าใจว่าผู้ที่ขึ้นปราศรัยจะถือว่าเป็นผู้ร่วมกิจกรรม หากแนวทางการสืบสวนไม่ปรากฏว่าเป็นผู้จัดกิจกรรม
ในการประชุมร่วมกันของคณะทำงานพยานจำไม่ได้ว่ามีการนำ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการส่วนพระองค์ฯ, พ.ร.ฎ.โอนอัตรากําลังพลฯ และ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ฯ มาพิจารณาด้วยหรือไม่
พยานจำไม่ได้ว่า ก่อนที่จะมีการแจ้งความในความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พยานทราบหรือไม่ว่าใครเป็นแอดมินเพจที่นำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในการไลฟ์สดการปราศรัย หรือมีการส่งข้อมูลไปตรวจสอบที่ ปอท. หรือไม่
พยานทราบบ้างว่า รัชกาลที่ 10 มีการขยายพระราชอำนาจมากกว่ารัชกาลที่ 9 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายในการขยายพระราชอํานาจ แต่งดออกความเห็น
พยานทราบว่าตนแจ้งความดําเนินคดีกับจําเลยในข้อหามาตรา 116 แต่ที่พยานเบิกความตอบอัยการว่า ถ้อยคําที่ปราศรัยในวันเกิดเหตุมีลักษณะเป็นการหมิ่นเหม่เข้าข่ายมาตรา 112 นั้น เนื่องจากพยานเห็นว่ามีลักษณะใกล้เคียงที่เกือบจะเข้าองค์ประกอบความผิดมาตรา 112 และเท่าที่พยานจําได้ การชุมนุมปราศรัยในวันเกิดเหตุไม่มีการดําเนินคดีมาตรา 112 กับบุคคลใด แม้กระทั่งผู้ที่ชูป้ายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
ทนายถามว่าในทางสืบสวน จำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หรือการไลฟ์สดใ่ช่หรือไม่ พยานตอบว่าเกี่ยวข้องในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ โดยถือว่าเป็นผู้ปราศรัยบนเวที
หลังการชุมนุมไม่มีการใช้กําลังประทุษร้ายหรือก่อความวุ่นวายหรือเหตุรุนแรงแต่อย่างใด และแยกย้ายไปโดยสงบไม่ได้มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่
การโพสต์เชิญชวนเข้าร่วมชุมนุมเป็นการโพสต์ในเพจ ซึ่งพยานจําไม่ได้ว่ามีใครเป็นแอดมินเพจ และนอกจากจำเลยที่ 5 มีจําเลยคนอื่นโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวหรือไม่
พยานไม่ทราบว่า บัญชีธนาคารที่มีชื่อของจําเลยที่ 6 และที่ 9 ร่วมกัน เป็นบัญชีของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมหรือไม่
ความเห็นที่พยานเสนอต่อผู้บังคับบัญชาว่า ถ้อยคําในการปราศรัยมีการหมิ่นเหม่ที่จะเข้าข่ายมาตรา 112 นั้น เป็นความเห็นของคณะทํางานไม่ใช่ความเห็นส่วนตัวของพยาน และในการแจ้งความข้อหามาตรา 116 นั้นเป็นการมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาด้วยวาจาในที่ประชุม แต่จำไม่ได้ว่าจะมีความเห็นประกอบที่เป็นหนังสือด้วยหรือไม่
พยานเข้าใจว่าการปราศรัยในวันเกิดเหตุนั้น ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือล้มล้างการปกครองหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ส่วนข้อเรียกร้องในวันเกิดเหตุนั้นพยานไม่ยืนยันว่าเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่
วันเกิดเหตุไม่ได้มีการตรวจยึดหรือพบว่าประชาชนคนใดมีอาวุธ อีกทั้งคําปราศรัยในวันเกิดเหตุนั้น ไม่มีการยุยงให้ใช้ความรุนแรง หรือใช้อาวุธทําร้ายเจ้าหน้าที่แต่แต่อย่างใด และการชุมนุมดังกล่าวไม่กระทบการสัญจรนอกมหาวิทยาลัย อีกทั้งเห็นว่าสถานที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่โล่งกว้างไม่ได้แออัด
ในวันเกิดเหตุ พยานแต่งกายนอกเครื่องแบบอยู่ในที่ชุมนุม หลังจากวันเกิดเหตุพยานก็ไม่ได้ติดเชื้อโควิด 19 แต่จําไม่ได้ว่าชุดสืบสวนคนอื่นมีผู้ใดติดเชื้อโควิดหรือไม่ และก่อนพยานจะแจ้งความดําเนินคดีกับจําเลยได้มีการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด้วย ในส่วนของ ศปก.ส่วนหน้า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขแจ้งว่าเข้ามาทําหน้าที่ แต่หากมีการชุมนุมมีจํานวนคนมากเกินไปก็ไม่เห็นด้วย และยืนยันตามที่ทนายถามว่าบริเวณในรั้วที่ชุมนุมยังเหลือพื้นที่ให้คนได้เดินไปมาได้
.
พนักงานสาธารณสุขคลองหลวงแจ้งความ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ แต่ยืนยันเรื่องสวมแมสก์-การล้างเจลแอลกอฮอล์ ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล และเป็นการชุมนุมโดยสงบ ที่ชุมนุมเป็นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเท
หทัยดาว คุ้มเมือง อายุ 34 ปี ขณะเกิดเหตุเป็นนักวิชาการสาธารณสุข อยู่ที่สํานักงานสาธารณสุขคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เบิกความว่า วันเกิดเหตุพยานได้รับมอบหมายจากสาธารณสุขอําเภอให้ไปทําหน้าที่คัดกรองผู้เข้าร่วมชุมนุม เนื่องจากในขณะนั้นมีสถานการณ์โควิด 19 และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิดกําหนดมาตรการในการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ในประเทศไทย
พยานเดินทางไปถึงที่เกิดเหตุเวลาประมาณ 15.00 – 17.00 น. จากนั้นสาธารณสุขอําเภอได้มีการจัดประชุมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้งหมดที่เดินทางไปในวันดังกล่าวทั้งหมด 30 คน โดยในส่วนของสาธารณสุขคลองหลวง มีชุดปฏิบัติงานจํานวน 3 ชุด และมีการแบ่งหน้าที่กันทํา
พยานได้รับมอบหมายให้ทําหน้าที่วัดอุณหภูมิผู้เข้าร่วมชุมนุมโดยใช้เครื่องเทอร์โมมิเตอร์ ซึ่งจะมีการตรวจสอบบริเวณหน้าผาก และจะทราบอุณหภูมิ โดยเจ้าหน้าที่บางคนจะถือเจลแอลกอฮอล์ให้ผู้ชุมนุมล้างมือก่อนเข้าไปที่ชุมนุม และเจ้าหน้าที่บางคนก็จะถือเทอร์โมมิเตอร์เช่นเดียวกับพยาน โดยพยานจะยืนอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้า-ออกของลานกิจกรรม ซึ่งในการชุมนุม ผู้เข้าร่วมชุมนุมจะนั่งกับพื้นและมีบางคนที่ยืน แต่พยานไม่ทราบว่าในวันดังกล่าวนั้นมีผู้ร่วมชุมนุมกี่คน
ต่อมา สภ.คลองหลวง ทำหนังสือไปถึงสาธารณสุข จากนั้นสาธารณสุขอําเภอคลองหลวงได้มอบหมายให้พยานไปร้องทุกข์เกี่ยวกับมาตรการโควิด ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว หากมีการจัดกิจกรรมจะต้องสวมหน้ากากอนามัย มีจุดล้างมือ คัดกรองอุณหภูมิ และควบคุมไม่ให้แออัด ซึ่งตามภาพถ่ายขณะเกิดเหตุจะปรากฏภาพผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัยและมีบางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย
พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เหตุการณ์ที่น่ากังวลสําหรับวันเกิดเหตุคือผู้เข้าร่วมชุมนุมมีจํานวนมาก ส่วนเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย การล้างเจลแอลกอฮอล์ และการแจกหน้ากากอนามัยไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล
ในการคัดกรองหากปรากฏว่ามีผู้อุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ก็จะไม่อนุญาตให้เข้าร่วมชุมนุม พยานอยู่บริเวณจุดคัดกรองบริเวณทางเข้าจนกระทั่งมืดแล้วและไม่มีใครเข้าไปในพื้นที่อีก จึงย้ายไปอยู่จุดปฐมพยาบาล
ก่อนไปปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกคนรวมทั้งพยานได้มีการตรวจหาเชื้อโควิด แต่ไม่ปรากฏว่าผู้ใดติดเชื้อโควิด 19 ทนายจำเลยถามว่า ตามภาพถ่ายในที่เกิดเหตุ เป็นภาพที่เจ้าหน้าที่ยืนชิดติดกัน ไม่เว้นระยะห่าง 1 เมตร ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ราชการกำหนด เพราะสวมหน้ากากอนามัยแล้วใช่หรือไม่ พยานตอบว่า การสวมหน้ากากอนามัยสามารถป้องกันโรคได้ แต่การจัดกิจกรรมต้องมีมาตรการในการควบคุมโรค
จากนั้นทนายถามต่อว่า หากผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่ได้เว้นระยะห่างกัน 1 เมตร ตามมาตรการ จะต้องสวมหน้ากากอนามัยจึงจะเป็นการป้องกันโรคติดต่อได้ใช่หรือไม่ เนื่องจากว่าละอองฝอยที่ออกมาจากการพูดหรือว่าหายใจนั้น จะอยู่ในบริเวณระยะใกล้ พยานตอบว่าเนื่องจากในช่วงเวลาเกิดเหตุ โรคโควิด 19 เป็นโรคใหม่ในประเทศไทย ซึ่งองค์ความรู้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ พยานจึงไม่สามารถตอบคําถามนี้ได้ แต่พยานทราบตั้งแต่ก่อนลงพื้นที่ว่าหน้ากากอนามัยช่วยลดการกระจายน้ำลาย และสามารถป้องกันโรคโควิด 19 ได้ แต่ไม่ทราบว่าจะมีประสิทธิภาพสูงหรือไม่
ในส่วนของสาธารณสุขอําเภอคลองหลวง พยานกล่าวว่าไม่ได้มีการประชุมก่อนวันเกิดเหตุ แต่มีการประชุมหน้างาน เนื่องจากเป็นคําสั่งด่วน โดยพยานลงพื้นที่โดยอาศัยอํานาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และตามข้อกำหนดและประกาศเกี่ยวกับโควิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่หลังเกิดเหตุไม่ได้มีการจัดทํารายงานการสอบสวนโรคว่ามีผู้ใดติดเชื้อโควิดจากการเข้าร่วมชุมนุมหรือไม่
เนื่องจากพยานเป็นเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ซึ่งหากพบว่าผู้ใดไม่สวมหน้ากากอนามัย สามารถเข้าไปตักเตือนให้สวมหน้ากากอนามัยได้ ส่วนบนเวทีจะมีการประกาศเป็นระยะว่าให้มีการสวมหน้ากากอนามัยหรือไม่ พยานไม่ทราบ
สําหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทําหน้าที่บันทึกภาพสามารถเดินได้ทั่วงาน โดยไม่ได้อยู่จุดเดียวกับพยาน ซึ่งในวันดังกล่าวไม่ได้มีการแบ่งหน้าที่ชัดเจนว่าใครจะทําหน้าที่เดินไปตักเตือนและบันทึกภาพ แต่ต่างคนจะใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกภาพไว้
พยานไม่ทราบว่าผู้บังคับบัญชาจะสั่งให้คนอื่นทํารายงานการสอบสวนโรคและประเมินความเสี่ยงหรือไม่ แต่พยานไม่ได้รับคําสั่งดังกล่าว อีกทั้งพยานจำไม่ได้ว่า ในวันที่ไปให้การในชั้นสอบสวน ตำรวจจะสอบถามเกี่ยวกับการจัดทำรายงานการประเมินความเสี่ยงหรือไม่ ซึ่งไม่ได้มีปรากฏในบันทึกคำให้การ
ในวันเกิดเหตุ พยานทํางานภายใต้คําสั่งของหัวหน้าที่ให้คัดกรองอุณหภูมิเท่านั้น ส่วนหัวหน้าจะแจ้งกับบุคคลอื่นให้ดําเนินการประสานงานให้ยุติการจัดกิจกรรมในกรณีที่พบผู้ไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือไม่อย่างไร พยานไม่ทราบ
ทนายถามพยานต่อว่า ตั้งแต่ก่อนจนหลังชุมนุม ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศเป็น 0 นั้นหมายความว่าแม้ก่อนหน้าจะมีการติดเชื้อ แต่รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ กล่าวคือไม่มีคนติดเชื้อในประเทศอีก ยอดผู้ติดเชื้อจึงกลายเป็น 0 ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ
ทนายถามว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว สามารถเดินทางโดยรถตู้หรือรถโดยสารที่มีเครื่องปรับอากาศโดยต้องสวมหน้ากากอนามัยใช่หรือไม่ ซึ่งการโดยสารในรถตู้จะอยู่ใกล้ชิดกัน มีระยะห่างน้อยกว่า 1 เมตร และเป็นสถานที่ปิด พยานตอบว่า ต้องดูในช่วงเวลาดังกล่าวว่ามีประกาศจากรัฐห้ามเดินทางหรือไม่
การชุมนุมในวันเกิดเหตุเป็นการชุมนุมโดยสงบ ไม่มีความวุ่นวาย ผู้ชุมนุมนั่งฟังการปราศรัยเท่านั้น บริเวณที่ชุมนุมเป็นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเท และหลังจากที่พยานปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุนั้น พยานไม่ได้ติดเชื้อโควิด 19 ส่วนเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ในหน่วยงานของพยานจะติดเชื้อโควิดหรือไม่ พยานจำไม่ได้
ตอบอัยการโจทก์ถามติง พยานยืนยันตามที่อัยการถามว่า สถิติที่ ศบค.แถลงนั้นเป็นสถิติที่แต่ละจังหวัดรายงานให้ สบค. ทราบ ซึ่งโดยส่วนมากนั้นจะช้ากว่าสถานการณ์จริงและจะเป็นการรายงานจากผู้ที่เข้าระบบการรักษา และหากผู้ใดไม่เข้าระบบการรักษาก็ไม่สามารถยืนยันอยู่ในสถิติตามเอกสารได้ และหากผู้มีอาการเจ็บป่วยไม่สบาย แต่ไม่ตรวจหาเชื้อโควิด ก็จะไม่มีข้อมูลเข้าระบบของ ศบค.
.
ประชาชนเข้าแจ้งความ 116 ระบุ จำไม่ได้ว่าวันเกิดเหตุมีการปราศรัยเรื่องใด ที่ไปให้การเพราะปลัดอำเภอบอก โดยตำรวจพิมพ์ข้อความในบันทึกคำให้การให้
ศรัญญา วัลลิสุพรรณ อาชีพแม่บ้าน เบิกความว่า พยานไปร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุด้วย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เข้าร่วมชุมนุม โดยทราบข่าวการชุมนุมจากเฟซบุ๊ก แต่จำไม่ได้ว่าจากใคร เนื่องจากเปิดดูไปเรื่อย ๆ และเจอข้อความดังกล่าว จึงอยากไปร่วมชุมนุมเพราะอยากรู้ว่าน้อง ๆ นักศึกษาพูดว่าอะไร แต่พยานจำไม่ได้ว่าเป็นการชุมนุมเรื่องใด
ในวันเกิดเหตุ พยานไปถึงที่ชุมนุมประมาณ 16.00 น. โดยพยานไปพร้อมกับเพื่อนอีกสองคน พยานจำได้ว่าในการชุมนุมมีผู้ขึ้นปราศรัยหลายคน พยานจำไม่ได้ทั้งหมด จำได้เพียงคนเดียวคือปนัสยา (จำเลยที่ 1) ซึ่งพยานก็จำเนื้อหาที่จำเลยที่ 1 ปราศรัยไม่ได้ และจำไม่ได้ว่าจะมีข้อเรียกร้องอะไรบ้าง ในวันดังกล่าวพยานมีความรู้สึกเฉย ๆ และอยู่จนถึงเวลาประมาณ 22.00 น. จึงกลับ ซึ่งเห็นคนจำนวนมากออกไปในเวลาเดียวกับพยาน
เท่าที่จำได้ วันดังกล่าวจะมีคนเข้า-ออกที่ชุมนุมตลอดเวลา อาจมีคนประมาณ 400 – 500 คน หรือหลักพันคนก็ไม่แน่ใจ ผู้เข้าร่วมชุมนุมมีการใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งพยานก็ใส่ด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนการเว้นระยะห่างก็มีทั้งเว้นและไม่เว้นบ้าง และจําได้ว่ามีจุดตรวจโควิดบริเวณก่อนเข้าไปในเขตชุมนุมและเมื่อเข้าไปข้างในก็จะมีน้อง ๆ ที่ไปร่วมชุมนุมตรวจกระเป๋าของผู้ร่วมชุมนุมด้วย
พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า รู้จักจําเลยที่ 1 เพียงคนเดียว โดยรู้จักจากสื่อสังคมออนไลน์และทางโทรทัศน์เท่านั้น ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว ส่วนรายชื่อจําเลยคนอื่น ๆ พยานไม่รู้จัก ในการไปให้การตํารวจได้พิมพ์ข้อความในบันทึกคำให้การมาให้พยาน พยานเพียงลงลายมือชื่ออย่างเดียว ไม่ได้ให้การใด ๆ
พยานยอมรับว่า เคยมาเบิกความที่ศาลนี้ในคดีมาตรา 112 ของณัฐชนน ไพโรจน์ ซึ่งพยานก็ให้การไว้ในทำนองเดียวกันกับคดีนี้คือพยานไม่ได้ให้การ มีตำรวจพิมพ์ข้อความให้ และตำรวจก็ให้พยานมาเบิกความต่อศาล ซึ่งในคดีดังกล่าว พยานก็ไม่รู้จักณัฐชนน จำเลยในคดีด้วย
ส่วนในคดีนี้ มาเป็นพยานได้เนื่องจากขณะนั้นพยานทำจิตอาสากับอำเภอคลองหลวง มีพิชญะ เพียราช ปลัดอำเภอในช่วงเกิดเหตุ ได้มาสอบถามว่าพยานเคยไปร่วมชุมนุมหรือไม่ พอทราบว่าพยานไปร่วมชุมนุมจึงให้มาเป็นพยานในคดีนี้ ซึ่งพยานไม่ทราบว่าในส่วนของพิชญะ จะเข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับการจัดชุมนุมดังกล่าวด้วยหรือไม่ จากนั้นพยานตอบทนายว่า ก่อนมาเป็นจิตอาสา จะต้องผ่านการอบรมและต้องได้รับหมวกและผ้าพันคอด้วย แต่ในวันเกิดเหตุ พยานแต่งตัวปกติ ไม่ได้ใส่ชุดจิตอาสาแต่อย่างใด ทั้งนี้ อัยการโจทก์ไม่ถามติง
.
สารวัตรสืบสวนเห็นว่า ไม่ได้มีการขู่ว่าหากไม่ทำตาม 10 ข้อเรียกร้อง แล้วจะดำเนินการสิ่งใด และยอมรับว่า วันเกิดเหตุไม่มีใครพกอาวุธ – ไม่มีการใช้กําลังประทุษร้าย
พ.ต.ท.สิรภพ บัวหลวง ขณะเกิดเหตุเป็นสารวัตรสืบสวนอยู่ที่ สภ.คลองหลวง เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2563 พยานได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้เฝ้าระวังและติดตามดูกิจกรรมทางการเมือง โดยให้มีการติดตามทางสื่อโซเชียล รวมทั้งพยานแวดล้อม จนกระทั่งพบว่ามีเพจเฟซบุ๊กชื่อเพจว่า “ธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ลงข้อความจัดกิจกรรม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” โดยมีการเชิญให้มาชุมนุมในวันเกิดเหตุ
ต่อมา พบว่ามีการขอบริจาคเป็นท่อน้ำเลี้ยงในการชุมนุม ระบุบัญชีธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 6 และ 9 พยานทำหน้าที่ติดตามตัวบุคคล ส่วนการติดตามสื่อสังคมออนไลน์เป็นหน้าที่ของ พ.ต.ท.สามารถ ซึ่งพยานเคยเห็นผ่านตาว่า จำเลยที่ 5 ได้โพสต์เชิญชวนมาชุมนุม แต่ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 3 จะมีการโพสต์อย่างไร
ในวันที่ 7 ส.ค. 2563 ได้มีการประชุมกับผู้ที่เกี่ยวข้องตามที่มีการขอจัดกิจกรรม โดยผู้ที่เข้าร่วมประชุมมีตํารวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่เทศบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข นักศึกษาที่ขอจัดกิจกรรม และอาจารย์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งในวันดังกล่าวนั้นอาจารย์เพียงแค่รับข้อเสนอการจัดกิจกรรมไปและยังไม่ได้ตัดสินใจ
ต่อมา ในวันที่ 9 ส.ค. 2563 พยานทราบจากผู้กํากับฯ ว่า ผอ.กองกิจการนักศึกษาฯ แจ้งว่า มหาวิทยาลัยอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมดังกล่าว และในวันเดียวกันพยานได้รับมอบหมายให้เข้าไปตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งปรากฏจําเลยที่ 1 เข้ามาในพื้นที่พร้อมกับกลุ่มนักศึกษาประมาณ 10 คน ต่อมา มีรถบรรทุกประมาณ 4 คัน เข้ามาพื้นที่และมีการเริ่มตั้งเวทีพร้อมทั้งเครื่องเสียง
ในวันเกิดเหตุเวลา 09.00 น. ตํารวจได้มีการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจที่ชื่อว่า ศปก.ส่วนหน้า ต่อมาในเวลา 12.00 น. ชุดสืบสวนของพยานเข้าไปในพื้นที่พบว่ายังไม่มีเหตุการณ์อะไรมากนัก ซึ่งในเวลา 14.20 น. พยานเห็นจําเลยที่ 5 เข้ามาในพื้นที่ชุมนุมไล่เลี่ยกับจำเลยที่ 1 จนกระทั่งเวลา 15.00 น. มีการแสดงดนตรีของวงสามัญชน และประชาชนเริ่มทยอยเข้ามาในพื้นที่และเริ่มมีซุ้มอาหารมาตั้ง
เวลา 17.00 น. ที่ ศปก.ส่วนหน้า มีการจัดประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมอีกครั้ง แต่พยานไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งในเวลาเดียวกันมีพิธีกร 2 คนขึ้นไปบนเวที คือจําเลยที่ 7 และที่ 8 โดยสลับกันปราศรัย จากนั้นพบว่า จำเลยที่ 4 ขึ้นปราศรัย และอ่านประกาศคณะราษฎร เท่าที่พยานจําได้มีการพาดพิงถึงการทํางานของรัฐบาลและสถาบันกษัตริย์ ซึ่งผู้ที่ขึ้นพูดปราศรัยอีกคนหนึ่งคือจําเลยที่ 1 โดยพูดปราศรัยใน 2 ช่วง ช่วงแรกพูดเกี่ยวกับการทํางานของรัฐบาล แต่ในช่วงที่ 2 เป็นช่วงปิดพูดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์และมีการประกาศข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม
พยานสังเกตเห็นว่า ผู้ชุมนุมเยอะมากที่สุดในเวลาประมาณ 18.30 – 19.00 น. ผู้เข้าร่วมชุมนุมค่อนข้างเบียดแน่น เนื่องจากเป็นพื้นที่ไม่กว้างนัก มีการนั่งไหล่ชนไหล่ติดกัน ผู้ชุมนุมบางคนสวมหน้ากากอนามัย แต่ส่วนใหญ่ไม่สวม
พ.ต.ท.สิรภพ ตอบทนายจําเลยถามค้านว่า พยานรู้จัก พ.ต.อ.ณฐณัษฐ์ เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันในวันเกิดเหตุ แต่คำให้การของพยานและ พ.ต.อ.ณฐณัษฐ์ จะเป็นการคัดลอกข้อความทุกตัวอักษรหรือไม่ พยานไม่ทราบ
ในวันเกิดเหตุพยานแต่งกายนอกเครื่องแบบอยู่ด้านข้างของผู้ชุมนุม ไม่ได้อยู่หน้าเวที พยานคอยดูแลว่าจะมีบุคคลภายนอกเข้ามาก่อเหตุความวุ่นวายในการชุมนุมหรือไม่ โดยในช่วงเวลาเกิดเหตุนั้นมีกลุ่มเห็นต่างทางการเมืองกับผู้ชุมนุม ทําให้พยานฟังการปราศรัยเป็นช่วง ๆ ในวันดังกล่าวไม่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายทั้งในและนอกพื้นที่ชุมนุม โดยกลุ่มนักศึกษาก็มีการ์ดนักศึกษามาดูแลความสงบเรียบร้อย ซึ่งพยานได้ประสานกับนักศึกษาด้วย
หากให้พยานเปรียบเทียบสถานที่เกิดเหตุใหญ่กว่าห้องพิจารณา แต่เล็กกว่าสนามฟุตบอลมาตรฐาน พื้นที่ประมาณ 2 งาน แต่มีแนวรั้วและยังมีร้านค้าอยู่บริเวณโดยรอบ ทําให้พื้นที่ชุมนุมเล็กลง อย่างไรก็ตาม ผู้ชุมนุมเดินกระจายตัวซื้อของตามร้านอาหารด้วย และในช่วงที่มีดนตรี ก็จะมีคนเดินเข้าออกโดยตลอด
พยานให้การในชั้นสอบสวนว่า คําปราศรัยของจําเลยที่ 1 อาจจะเข้าข่ายตามมาตรา 112 ซึ่ง 10 ข้อเรียกร้องนั้น พยานไม่ทราบว่านำเสนอต่อใคร แต่ไม่ได้มีการขู่ว่าหากไม่ทำแล้วจะดำเนินการอะไร ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวพยานไม่ทราบว่าจะสามารถดำเนินการด้วยการแก้ไขกฎหมายได้หรือไม่ ส่วนข้อเรียกร้องห้ามสถาบันกษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารเป็นข้อเรียกร้องตามระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ พยานไม่ขอออกความเห็น
ในการส่งเจ้าตํารวจชุดสืบสวนในการไปหาข่าวภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น พยานยอมรับว่ามีจริง โดยพยานจะแต่งกายนอกเครื่องแบบแต่มีการแสดงตัวชัดเจน โดยพยานแสดงตัวต่อหน้าอาจารย์และนักศึกษา และตอบทนายว่าในการประชุมวันที่ 7 ส.ค. 2563 ในส่วนของพยานจะเป็นการพูดคุยและเกี่ยวกับการป้องกันการระงับเหตุจากกลุ่มอื่น ๆ ในวันเกิดเหตุ ซึ่งในวันเกิดเหตุทีมของพยานมี 5 คน จะอยู่รอบนอกแนวรั้ว และพยานเชื่อว่ามีตำรวจสืบสวนปะปนอยู่ในที่ชุมนุมด้วย
รัฐธรรมนูญให้การรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม และยืนยันตามคำให้การของพยานที่ว่า การติชม วิพากษ์วิจารณ์สามารถทําได้ หากเป็นการทําโดยสุจริต ไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น
ผู้ที่ขึ้นปราศรัยในวันเกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการขอรับบริจาคมีการระบุวัตถุประสงค์ว่า นําไปใช้จัดกิจกรรมของนักศึกษา
วันเกิดเหตุ ไม่มีผู้ใดพกอาวุธ และไม่ได้มีการขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย หรือใช้กําลังประทุษร้ายแต่อย่างใด แต่พยานจําไม่ได้ว่า ในการปราศรัยผู้ปราศรัยได้ยุยงให้ใช้ความรุนแรงหรือไม่ หลังเกิดเหตุไม่มีใครมาร้องเรียนต่อพยานว่าได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุมแต่อย่างใด
พยานและผู้ใต้บังคับบัญชาไม่มีใครติดเชื้อโควิด 19 จากการปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุ เนื่องจากเจ้าพนักงานตํารวจทุกนายใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
.
ตำรวจสืบสวนถ่ายภาพ-วิดีโอ ระบุระหว่างชุมนุมไม่มีการใช้ความรุนแรง และไม่ตรวจพบอาวุธจากผู้ชุมนุม
ร.ต.ท.สมเกตุ ชนะค้า ขณะเกิดเหตุเป็นสารวัตรสืบสวน สภ.คลองหลวง เบิกความว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 09.00 น. สภ.คลองหลวง ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า ซึ่งเป็นศูนย์เฉพาะกิจเกี่ยวกับคดีนี้ อยู่ที่อาคารเกาหลีเฮาท์ ในสถาบัน AIT ซึ่งอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
พยานได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ดูแลความสงบเรียบร้อยและถ่ายภาพและวิดีโอตั้งแต่เวลา 17.00 น. จนถึงการชุมนุมเลิก โดยพยานและพวกรวม 5 คน เข้าไปในที่ชุมนุมบริเวณหน้าเวทีและแบ่งให้แต่ละคนถ่ายภาพและวิดีโอตามแต่ละจุด โดยจะใช้กล้องตั้งประจำจุดต่าง ๆ และถ่ายไปทางเวทีด้วย โดยช่วงที่มีผู้ชุมนุมเยอะที่สุดนั้นมีประมาณ 2,000 – 2,500 คน ส่วนผู้ชุมนุมนั้นมีทั้งผู้ที่สวมและไม่สวมหน้ากากอนามัย พยานไม่แน่ใจว่าตามกฎหมายจะต้องมีการเว้นระยะเท่าใด แต่พยานเห็นว่าผู้ชุมนุมอยู่ใกล้ชิดกัน และแน่นพอสมควร
ขณะที่มีการปราศรัย พยานฟังการปราศรัยบ้างและไม่ฟังบ้างเนื่องจากต้องดูแลความสงบเรียบร้อยควบคู่กันไปด้วย พยานจำได้เพียงว่าผู้ที่ขึ้นปราศรัยและเป็นจำเลยในคดีนี้ มีจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ซึ่งพยานจำเนื้อหาที่ปราศรัยบนเวทีไม่ได้ เท่าที่จําได้คือมีการเรียกร้องในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรา 112
สมเกตุตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ที่เกิดเหตุมีพื้นที่ประมาณครึ่งสนามฟุตบอลมาตรฐาน ภายในงานจะมีร้านค้า และมีคนนำข้าวกล่องมาแจก ผู้ชุมนุมสามารถเดินเข้าออกได้ทางเดียว ซึ่งจะมีจุดตรวจอาวุธและจุดคัดกรองโควิดอยู่บริเวณเดียวกัน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาตรวจวัดอุณหภูมิด้วย
ในวันเกิดเหตุพยานแต่งกายนอกเครื่องแบบ โดยเข้าออกตามปกติเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป และมีการวัดอุณหภูมิด้วย ผู้ชุมนุมทยอยกันเดินทางเข้ามาในที่ชุมนุม ไม่ได้มาพร้อมกันทีเดียว
พยานเป็นหัวหน้าชุดในการบันทึกภาพนิ่งและวิดีโอ มีทั้งถ่ายไปที่บริเวณหน้าเวทีและแพลนกล้องไปรอบ ๆ ด้วย โดยพยานเป็นผู้ควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชาให้ดําเนินการ พยานไม่ได้ถ่ายด้วยตนเอง ซึ่งในหน่วยของพยานไม่ได้มีการถ่ายภาพมุมสูง แต่ไม่ทราบว่าจะมีเจ้าหน้าที่ชุดอื่นถ่ายไว้หรือไม่
กล้องที่ใช้ในการถ่ายวีดีโอในวันเกิดเหตุมีจํานวน 1 กล้อง โดยส่วนใหญ่พยานจะอยู่กับผู้ใต้บังคับบัญชาที่ถ่ายวีดีโอ แต่จะมีการเดินไปตามจุดต่าง ๆ เพื่อดูแลความเรียบร้อยเช่นเดียวกัน ส่วนผู้ใต้บังคับบัญชาคนอื่นในหน่วยของพยานจะอยู่ตามจุดอื่น ๆ ซึ่งมีทั้งการถ่ายภาพนิ่ง และถ่ายคลิปวีดีโอสั้น ๆ
หลังจากหน่วยของพยานทำหน้าที่เสร็จสิ้นก็นำหลักฐานไปให้ผู้บังคับบัญชาคือ ผู้กำกับการ สภ.คลองหลวง ที่ศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า หลังจากนั้นผู้กำกับฯ จะมอบให้ตำรวจอีกชุดหนึ่งดำเนินการอย่างไรต่อ พยานไม่ทราบ
หลังจากลงพื้นที่ในวันเกิดเหตุ ไม่มีใครในหน่วยของพยานติดเชื้อโควิด และในวันดังกล่าวหน่วยของพยานมีการสวมหน้ากากอนามัยทุกคน บริเวณหน้าเวทีมีคนจํานวนมาก แต่ด้านหลังก็จะมีคนจํานวนน้อยหน่อย ซึ่งในวันดังกล่าว พยานก็อยู่บริเวณหน้าเวทีที่มีคนหนาแน่นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ พยานยืนยันว่าระหว่างชุมนุมไม่มีการใช้ความรุนแรง และไม่ตรวจพบอาวุธจากผู้ชุมนุมแต่อย่างใด
.
ตำรวจสืบสวน Social Media ตรวจสอบว่ามีการลงข้อความจากการชุมนุม แต่ไม่ได้ตรวจสอบเจ้าของเพจหรือผู้โพสต์
พ.ต.ท.สามารถ เปาจีน ขณะเกิดเหตุเป็นสารวัตรสืบสวน สภ.คลองหลวง เบิกความว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2563 พยานได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ตรวจสอบสื่อสังคมออนไลน์ทุกประเภท ให้ติดตามเกี่ยวกับการชุมนุมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับการต่อต้านและขับไล่รัฐบาลในขณะนั้น
พยานพบเพจเฟซบุ๊กชื่อ “โดมปฏิวัติ” ประชาสัมพันธ์เชิญชวนมาชุมนุมที่ลานพญานาค ในวันที่ 10 ส.ค. 2563 โดยมีชื่อการชุมนุมว่า “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” อีกทั้งมีการเชิญชวนให้ระดมทุนโดยให้โอนเงินเข้าบัญชีของจําเลยที่ 6 และที่ 9
พยานได้ติดตามเฟซบุ๊กส่วนตัวของจําเลยที่ 3 ซึ่งมีการโพสต์ว่า จำเลยที่ 3 ได้รับเชิญให้มาพูดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในวันที่ 10 ส.ค. 2563 นอกจากนี้ พยานได้ติดตามเฟซบุ๊กของจําเลยที่ 5 ซึ่งมีการโพสต์ข้อความคล้าย ๆ กันกับเพจอื่นที่มีการเชิญชวนให้มาชุมนุม และเชิญชวนระดมทุน
ในวันเกิดเหตุ พยานทราบว่ามีการจัดตั้ง ศปก.ส่วนหน้า พยานได้รับมอบหมายให้ทําหน้าที่ติดตามสื่อโซเชียลอยู่ที่ สภ.คลองหลวง ไม่ได้ไปสถานที่เกิดเหตุ พยานเห็นว่า มีการถ่ายทอดสดเกือบทุกเพจ บางเพจถ่ายทอดสดเป็นช่วง ๆ บางเพจมีการนำเอาคำปราศรัยในที่ชุมนุมมาโพสต์พร้อมกับความเห็นของเจ้าของเพจด้วย
เท่าที่พยานจำได้ คนที่ขึ้นปราศรัยบนเวทีมีจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 7 และ 8 ทำหน้าที่เป็นพิธีกรตั้งแต่เริ่มจนจบงาน และเนื้อหาการปราศรัยส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเมือง การทำงานของรัฐบาล และสถาบันกษัตริย์ โดยมีการเรียกร้องให้รัฐบาลออกไป ไม่อยากให้รัฐบาลในขณะนั้นบริหารประเทศ และมีการเรียกร้องให้แก้ไขในเรื่องบทบาทและงบประมาณของสถาบันกษัตริย์ อีกทั้งเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายมาตราต่าง ๆ และหลังชุมนุมมีเพจต่าง ๆ นำข้อความที่ปรากฏในการชุมนุมมาลงประปราย
หลังเกิดเหตุพยานอยู่ในชุดสืบสวนตามคําสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน โดยได้รับมอบหมายให้ติดตามสื่อโซเซียลทั้งก่อนและหลังชุมนุม และสรุปเป็นรายงานการสืบสวน
ในส่วนของข้อความที่ปราศรัยในวันที่ 10 ส.ค. 2563 ได้มีการเอามาทําเป็นหนังสือและจะนําไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันดังกล่าวพยานเจอหนังสือพร้อมกับจำเลยที่ 4 บริเวณหมู่บ้านแถวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต พยานจึงทำบันทึกตรวจยึดหนังสือและภาพถ่ายประกอบคดีไว้
พ.ต.ท.สามารถ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่ทราบว่า หนังสือรวบรวมคำปราศรัยที่ถูกตรวจยึด มีการนํามาฟ้องจําเลยที่ 4 ที่ศาลนี้อีกคดีหนึ่ง และศาลชั้นต้นมีคําพิพากษายกฟ้อง
ในการตรวจสอบสื่อโซเชียล พยานตรวจสอบว่ามีการลงข้อความ แต่ไม่ได้ตรวจสอบเจ้าของเพจหรือผู้ที่ลงข้อความ และไม่ทราบว่า มีการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญการตรวจสอบ IP address หรือไม่ ในการตรวจสอบของพยาน พยานจะคัดลอกข้อความที่ปรากฏในเพจมาจัดทํารายงานการสืบสวน โดยพยานพบว่า มีการนำคลิปในวันเกิดเหตุไปลงในช่องยูทูบ แต่พยานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ถ่ายวิดีโอและนำไปโพสต์ และนอกจากนั้นมีสำนักข่าวนำคลิปวิดีโอไปรายงานข่าวคือสำนักข่าวประชาไทและ Voice TV
.
ผกก.สภ.คลองหลวง ยืนยัน เป็นการชุมนุมแสดงความเห็นโดยสงบ ปราศจากอาวุธ เป็นเสรีภาพในการแสดงความเห็นตาที่รัฐธรรมนูญรับรอง พื้นที่ชุมนุมเป็นลานกว้าง อากาศถ่ายเทได้
พ.ต.อ.เศรษฐณัณย์ ทิมวัฒน์ ขณะเกิดเหตุเป็นผู้กํากับการ สภ.คลองหลวง เบิกความว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2563 มีการประกาศผ่านสื่อโซเชียลว่าจะมีการจัดชุมนุมในวันที่ 10 ส.ค. 2563 บริเวณลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยผู้จัดชุมนุมประกาศในนาม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” พยานทราบว่ากลุ่มดังกล่าว หลัก ๆ จะมีจําเลยที่ 1 ที่ 4 และ ที่ 5 นอกจากนี้พยานยังพบว่า จําเลยที่ 3 มาขึ้นเวทีปราศรัยในวันเกิดเหตุด้วย
วันเกิดเหตุพยานไปยังบริเวณลานพญานาคในเวลาประมาณ 17.00 น. โดยพยานไปแจ้งกับจําเลยที่ 4 ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และให้งดจัดกิจกรรมการชุมนุม โดยใช้เครื่องขยายเสียงของตำรวจ ซึ่งเป็นลําโพงขนาดใหญ่ชนิดพกพา โดยมีการแจ้งให้กลุ่มผู้ชุมนุมและผู้จัดชุมนุมทราบประกาศเป็นข้อความตามเอกสาร พยานยืนประกาศอยู่ภายนอกรั้วแผงเหล็กกั้น และมีจําเลยที่ 4 ฟังประกาศอยู่ ผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ยินประกาศอย่างชัดเจน พยานได้นําเอกสารไปให้ผู้รับฟังลงลายมือชื่อด้วย ซึ่งจําเลยที่ 4 ทราบแต่ไม่ยอมลงลายมือชื่อ
หลังจากนั้นพยานจึงเข้าไปที่ ศปก. เพื่อประชุมชี้แจงตํารวจในที่ประชุมและมีการประชุมทางจอภาพไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อให้ทราบว่าได้มีการดําเนินการในขั้นตอนดังกล่าวแล้ว จากนั้นพยานจึงกลับไปพื้นที่ชุมนุมอีกครั้งพร้อมกับผู้ใต้บังคับบัญชาประมาณ 10 คน โดยมีชุดสืบสวนเข้าร่วมไปกับพยานด้วย
พยานมีหน้าที่ในการดูแลความสงบเรียบร้อยทั่วไปและสังเกตการณ์บนเวที ซึ่งไม่พบว่ามีเหตุการณ์ความไม่สงบและความรุนแรงเกิดขึ้น และมีตํารวจสืบสวนทําหน้าที่บันทึกภาพและวิดีโอในระหว่างการปราศรัยและการชุมนุมไว้ด้วย
การชุมนุมเลิกในเวลาประมาณ 21.30 น. หลังจากนั้นพยานกลับมาประชุมที่ ศปก. อีกครั้งเพื่อตรวจสอบข้อความที่มีการปราศรัยและมีการถอดข้อความ พบว่าบางข้อความเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 116 และการชุมนุมเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ทั้งยังมีการใช้เครื่องขยายเสียงโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย หลังจากนั้นได้มีคําสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน โดยพยานมีชื่ออยู่ในฝ่ายสอบสวน
พยานได้ทําหนังสือถึงสาธารณสุข อําเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี หลังจากนั้นสาธารณสุขฯ ได้ทําหนังสือมอบหมายให้หทัยดาวเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อมาพยานได้ทําหนังสือถึง ปอท. เพื่อขอความร่วมมือในการรวบรวมพยานหลักฐานทางเทคโนโลยี ปอท. ได้ส่งรายงานการสืบสวนมาให้พยาน จากนั้นพยานมีความเห็นสั่งฟ้องจําเลยในข้อหาตามมาตรา 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
พ.ต.อ.เศรษฐณัณย์ ตอบทนายจําเลยถามค้านว่า ที่พยานประกาศในที่ชุมนุมมีการระบุรายละเอียดไว้ตามที่มีการตกลงก่อนที่จะมีการจัดกิจกรรม และมีการอ่านประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ซึ่งพยานจัดทําเอกสารขึ้นก่อน และมีการประกาศด้วยวาจา เนื่องจากจํานวนผู้เข้าร่วมชุมนุมเกินกว่าที่ประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีกําหนดไว้ มีการบันทึกวีดีโอขณะพยานอ่านประกาศไว้แต่ไม่ได้ยื่นต่อศาลในวันนี้
พยานได้เข้าร่วมประชุมในวันที่ 7 ส.ค.2563 ที่มีตํารวจ ฝ่ายปกครอง และนักศึกษาที่จัดกิจกรรม ซึ่งในการเข้าร่วมประชุมนั้น พยานไม่เห็นเอกสารขออนุญาตจัดงานและใช้สถานที่ภายในมหาวิทยาลัย และไม่ทราบว่า นักศึกษาได้แจ้งรายละเอียดว่า มีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 4,000 – 5,000 คน พร้อมทั้งแจ้งมาตรการควบคุมโรคโควิด 19
พยานได้รับแจ้งเป็นหนังสืออาจารย์ปริญญา ในการจัดกิจกรรมการชุมนุมนั้นเท่านั้น การประชุมเป็นไปในลักษณะตอบคําถามว่า หากมีการอนุญาตให้มีการชุมนุมแล้ว ตํารวจจะปฏิบัติอย่างไร ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะปฏิบัติอย่างไรในการจัดกิจกรรมเท่านั้น
ทนายถามว่า ตามถ้อยคำเจ้าพนักงานดูแลชุมนุม มีการระบุเพียงแค่ว่าตัวแทนผู้เข้าร่วมชุมนุม ไม่ได้มีการระบุชื่อจำเลยที่ 4 ไว้ด้วยแต่อย่างใด พยานตอบว่า ตนทราบว่าตัวแทนดังกล่าวนั้นคือจําเลยที่ 4 เนื่องจากจําเลยที่ 4 มีลักษณะที่มีขาข้างใดข้างหนึ่งที่ทําให้เดินไม่สมบูรณ์ พยานจึงรู้จักจําเลยที่ 4 ตั้งแต่ก่อนวันเกิดเหตุแล้ว
ในวันเกิดเหตุ พยานเห็นว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเตรียมมาตรการและปฏิบัติงานในการเฝ้าระวังโดยละเอียดและรอบคอบ และเห็นว่าลานพญานาคเป็นลานกว้าง มีอากาศถ่ายเทได้ และตอบทนายว่าตนไม่ได้ติดโควิดจากการลงพื้นที่ดังกล่าว อีกทั้งไม่ได้รับรายงานว่าตํารวจ สภ.คลองหลวง ที่ลงพื้นที่ในวันเกิดเหตุจะติดโควิดหรือไม่
ในวันเกิดเหตุนั้นมีตํารวจไปทําหน้าที่ดูแลคัดกรองตรวจอาวุธบริเวณทางเข้าด้วย นอกจากนี้ยังมีเครื่องสแกนการพกพาอาวุธ ซึ่งมีตํารวจเป็นผู้ไปติดตั้งไว้ และเมื่อเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมแล้วจะอยู่ภายในรั้วแผงเหล็ก ซึ่งรั้วแผงเหล็กดังกล่าวนั้นมีตํารวจเป็นผู้จัดทําและกั้นขึ้น เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและปลอดภัย
ในวันเกิดเหตุ พยานทราบรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่าในที่ชุมนุมมีการชูป้ายจากผู้ชุมนุมด้วย ซึ่งตํารวจได้มีการบันทึกภาพไว้ แต่ไม่ได้เข้าไปตักเตือน เพราะว่าขณะนั้นอยู่ระหว่างการชุมนุม ส่วนในขณะที่พยานเริ่มอ่านประกาศ พยานสังเกตเห็นว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมเข้าไปในพื้นที่ประมาณ 500 คน และเห็นว่ามีบางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย นอกจากนั้นยังมีลักษณะใกล้ชิด ไม่ได้มีการเว้นระยะห่าง
ทนายจำเลยถามพยานว่า หลังจากที่เห็นว่าคนเริ่มแน่นแล้ว พยานได้ไปหารือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่หน้างานหรือไม่ พยานตอบว่า ได้โทรไปยังสาธารณสุขอำเภอเพื่อหารือถึงเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ไม่ได้ไปหารือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่หน้างาน ซึ่งในวันเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจําจุดคัดกรองประมาณ 30 คน
คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนไม่ได้มีการประชุมก่อนการแจ้งข้อกล่าวหา โดยในเบื้องต้นมี พ.ต.อ.ณัฐนันท์ เสนอและคัดแยกข้อความที่เข้าข่ายความผิด จากนั้นจึงนําข้อความดังกล่าวมาพิจารณากันเอง หากเห็นว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายจึงจะส่งไปถามความเห็นนักวิชาการว่า เป็นความผิดหรือไม่ ซึ่งพยานจำได้ว่ามีการทําหนังสือนําส่งเพื่อไปสอบถามความเห็นนักวิชาการ แต่เมื่อไม่มีความเห็นตอบกลับมาจึงไม่ได้นําหนังสือดังกล่าวเข้ามาในสํานวนการสอบสวน
การชุมนุมในวันเกิดเหตุเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสงบ และปราศจากอาวุธ เป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้
พ.ต.อ.เศรษฐณัณย์ตอบอัยการโจทก์ถามติงว่า ในความผิดตามมาตรา 116 ตํารวจสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้ และในตามความผิดฐาน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ตํารวจสามารถดําเนินคดีเองได้
.
รอง ผกก.สอบสวน สภ.คลองหลวง เบิกความ วันเกิดเหตุไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ยืนยันว่า ศรัญญาเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเอง ไม่ได้มีการประสานงานมาก่อน
พ.ต.ท.สุชัย แสงส่อง ขณะเกิดเหตุเป็นรองผู้กํากับ (สอบสวน) สภ.คลองหลวง เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ พยานเข้าไปเกี่ยวข้องโดยเป็นคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคําสั่ง โดย พ.ต.ท.ณฐณัษฐ์ และ พ.ต.ท.สิรภพ ได้แจ้งว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2563 ได้ตรวจสอบจากเฟซบุ๊กเพจ “ธรรมศาสตร์และการชุมนุม” และมีข้อความว่า “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” จากนั้น พ.ต.ท.ณฐณัษฐ์ และ พ.ต.ต.สิรภพ ได้รับคําสั่งให้ตรวจสอบ จึงทราบว่ามีการนัดชุมนุมที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในวันที่ 10 ส.ค. 2563
ต่อมา ในวันเกิดเหตุมีการชุมนุมตามที่ประกาศไว้ ซึ่งในวันดังกล่าวพยานไปในที่เกิดเหตุร่วมสังเกตการณ์กับคณะพนักงานสอบสวนอีก 2 คน โดยอยู่นอกแผงรั้ว ไม่ได้เข้าไปด้านใน ซึ่งพยานจำไม่ได้ว่าจะมีทางเข้าออกกี่ทาง จากนั้นพยานกับพวกร่วมตรวจตรา ฟังการปราศรัยและถ่ายภาพนิ่งไว้ ส่วนการถ่ายวิดีโอจะเป็นหน้าที่ของตำรวจชุดอื่น
พยานอยู่ในพื้นที่จนกระทั่งผู้ชุมนุมทยอยกลับ โดยในวันดังกล่าวไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น จากนั้นจึงกลับมาที่ศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้ตํารวจแบ่งหน้าที่กันทํา โดยมีชุดถอดเทปการปราศรัย และชุดสืบสวนสอบสวนเพื่อพิจารณาว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความผิดหรือไม่ ซึ่งพยานอยู่ในชุดสอบสวนและเป็นผู้จัดทําเอกสารและมีการสอบคําให้การพยานและผู้ที่เกี่ยวข้อง
เมื่อพยานรวบรวมพยานหลักฐานและประชุมร่วมกับคณะทำงานแล้ว จึงขอออกหมายจับจําเลยที่ 1-5 และจำเลยที่ 7-9 ส่วนจำเลยที่ 6 ได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาหลังมีการออกหมายจับ จากนั้นจึงส่งสํานวนคดีในส่วนของผู้ต้องหา 3 คน ไปยังสํานักงานอัยการก่อน ได้แก่ จําเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 และหลังจากนั้นได้มีการสรุปสํานวนลงความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 9 คน ซึ่งพยานจำได้ว่า จำเลยที่ 6 และ 9 ไม่ได้ถูกดำเนินคดีในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ส่วนคนอื่นถูกดำเนินคดีครบทุกข้อกล่าวหา
พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ปัจจุบันมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว และในการจัดชุมนุมของนักศึกษามีการขออนุญาตเป็นหนังสือ แต่พยานจำไม่ได้ว่ามีการแจ้งยอดผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจํานวนเท่าใด และกล่าวว่าหากมีการระบุไว้ก็ยืนยันตามเอกสาร ซึ่งเอกสารดังกล่าวจะมีระบุถึงแผนการดำเนินการกิจกรรมนี้ด้วย
พยานทราบและยืนยันตามเอกสารว่ามีการประกาศข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในวันที่ 31 ก.ค. 2563 ซึ่งเป็นวันก่อนเกิดเหตุ โดยในประกาศมีการระบุถึงการจัดกิจกรรมกลุ่มนั้นสามารถทำอย่างไรได้บ้าง และตามบันทึกคําให้การของหทัยดาวระบุว่าได้รับมอบหมายให้มาดําเนินคดีตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ แต่ตามคําขอท้ายฟ้องของอัยการไม่มีการขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
พยานไม่เคยได้รับแจ้งว่า อัยการมีคําสั่งไม่ฟ้องจําเลยทั้งเก้าในทุกข้อหา พยานทราบเพียงแต่ว่าอยู่ระหว่างการเสนอสํานวนเพื่อพิจารณาไปยังสํานักงานอธิบดีอัยการภาค 1 แต่ไม่ทราบเกี่ยวกับความเห็นไม่สั่งฟ้อง ซึ่งหากมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง อัยการจะส่งสำนวนคดีกลับมายังตำรวจ แต่ในคดีนี้ไม่ได้มีการส่งสำนวนกลับมา
พยานจําได้ว่าศรัญญาเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเอง ไม่ได้มีการประสานเพื่อให้มาให้การแต่อย่างใด ซึ่งจะมีปลัดอําเภอคลองหลวงจะเป็นผู้ประสานในการมาให้การหรือไม่ พยานไม่ทราบ และพยานยืนยันว่าหน้าที่ในการจัดมาตรการป้องกันโรคเป็นหน้าที่ของผู้จัดชุมนุม ไม่ใช่ผู้เข้าร่วมชุมนุมแต่อย่างใด และการชุมนุมดังกล่าวไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เนื่องจากเป็นการจัดชุมนุมในสถานศึกษา
.
ตำรวจสันติบาลเผย มีสายลับอยู่ในที่ประชุมแบ่งงานนักศึกษา แต่ไม่ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวน วันเกิดเหตุไม่มีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้น
พ.ต.ท.คชา ศรชัย ขณะเกิดเหตุรับราชการที่กองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 มีหน้าที่สืบสวนหาข่างทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองในช่วงเวลานั้น ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี เบิกความว่า ประมาณเดือน ก.ค. 2563 พยานได้รับมอบหมายให้สืบสวนกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมือง กลุ่มนักศึกษา กลุ่มที่มีปัญหาความเดือดร้อน และกลุ่มแรงงานในพื้นที่ที่เคลื่อนไหวกับนักศึกษา พยานได้สืบสวนทางช่องทางออนไลน์ และสืบสวนจากแหล่งข่าวสายลับ และช่องทางอื่น ๆ
จากการสืบสวนทางโซเชียลมีเดีย ก่อนเกิดเหตุพยานพบการประกาศของนักศึกษาในนามของ “ธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ในเพจเฟซบุ๊ก ใช้หัวข้อว่า “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” นัดชุมนุมในวันที่ 10 ส.ค. 2563 ซึ่งประกาศดังกล่าวปรากฏในเพจเฟซบุ๊กกลุ่ม “ธรรมศาสตร์และการชุมนุม”, “โดมปฏิวัติ” และ “ศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” พบอีกว่ามีโพสต์บัญชีระดมทุนการชุมนุม เป็นบัญชีธนาคารกรุงเทพ ชื่อบัญชี “ชนินทร์ วงษ์ศรี” และอีกคนหนึ่งที่พยานจำชื่อไม่ได้
จากนั้นพยานลงพื้นที่ มีคนที่แสดงตัวลักษณะเหมือนเป็นผู้จัด ได้แก่จำเลยที่ 1, ที่ 4 และที่ 5 และบุคคลอื่น ๆ แต่พยานจำไม่ได้ ซึ่งจากการสืบสวนพบว่า ก่อนการจัดกิจกรรมผู้ชุมนุมมีการประชุมกันก่อน มีการแบ่งหน้าที่กันทำว่าใครปราศรัย ใครจัดเวที
ก่อนวันเกิดเหตุ มีการเตรียมการจัดเวที ตั้งอุปกรณ์ มีจำเลยที่ 1 และที่ 4 มาสำรวจความเรียบร้อย และก่อนการจัดกิจกรรม พยานจำวันเวลาไม่ได้แน่ชัด มีการประชุมกันระหว่างอาจารย์, เจ้าหน้าที่ความมั่นคง, เจ้าหน้าที่ตำรวจ และนักศึกษา ที่พยานจำได้ คือจำเลยที่ 1 เข้าร่วมประชุม โดยมีการขอให้ที่พูดปราศรัยไม่มีเรื่องผิดกฎหมายหรือพูดถึงสถาบันกษัตริย์ นอกจากนี้มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมประชุมด้วย ซึ่งมีความกังวลเกี่ยวกับโรคระบาด ขอให้ต้องสวมหน้ากาก และมีจุดคัดกรองในการชุมนุม
จำเลยในคดีนี้ที่ขึ้นปราศรัย ได้แก่ จำเลยที่ 3, ที่ 1 และที่ 4 และบุคคลอื่น ๆ มีพิธีกร 2 คนดำเนินรายการ โดยการปราศรัยมีข้อเรียกร้อง 3 ประการ ได้แก่ 1.ให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชน 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3.เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา โดยระหว่างการปราศรัยมีการให้ผู้ปราศรัยขึ้นพูด โดยจำเลยที่ 3 พูดประเด็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ จำเลยที่ 1 พูด 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ ส่วนจำเลยที่ 4 อ่านคำประกาศของคณะราษฎร 2475
ช่วงเวลาที่ผู้ชุมนุมมากที่สุดมีกว่า 2,500 คน โดยผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย นั่งใกล้ชิดกัน ไม่มีการเว้นระยะห่าง หลังกิจกรรมเสร็จสิ้น พยานเฝ้าดูต่อจนเมื่อผู้ชุมนุมและผู้จัดชุมนุมแยกย้าย พยานจึงเดินทางกลับ
พ.ต.ท.คชา ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในคดีนี้พยานลงพื้นที่และทำรายงานการสืบสวนหาข่าวเสนอต่อผู้บังคับบัญชา การประชุมแบ่งหน้าที่มีขึ้นก่อนการชุมนุมประมาณ 1-2 วัน ซึ่งมีสถานที่ประชุมน่าจะเป็นที่พักของนักศึกษาอยู่นอกมหาวิทยาลัย พยานเห็นว่านั่งประชุมกันอยู่ พยานไม่ได้บันทึกภาพหรือวิดีโอ และไม่ได้ขอกล้องวงจรปิดมาส่งเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ ซึ่งในชั้นสอบสวน พยานไม่ได้ให้รายละเอียดว่าการประชุมแบ่งงานดังกล่าวเกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร เพียงให้ข้อมูลว่ามีประชุมเตรียมการ
พยานนั่งอยู่ด้านนอกอยู่ห่างจากจุดที่นักศึกษาประชุมกันประมาณ 20 เมตร สถานที่เป็นห้องกระจกใสที่ให้ผู้พักอาศัยมาประชุม พยานจึงเป็นภายในห้อง พยานไม่ได้ยินว่าจะมีการพูดคุยอะไรกัน แต่มีสายข่าวของพยานอยู่ในที่ประชุม แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าใคร ซึ่งสายข่าวไม่ได้บันทึกเสียงไว้
พยานไม่ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่ามีสายข่าวอยู่ในที่ประชุม สายข่าวของพยานยังมีชีวิตอยู่ แต่พยานไม่สามารถติดต่อได้แล้ว การหาข่าวของสันติบาลมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับหน่วยงานอื่น แต่พยานไม่ได้แลกเปลี่ยนกับตำรวจ สภ.คลองหลวง ซึ่งในการสืบหาข่าวส่วนใหญ่มีการบันทึกภาพ บันทึกเสียงบ้างถ้าทำได้ แต่ไม่มีการดักฟังโทรศัพท์ การประชุมเตรียมการดังกล่าว ไม่พ้นวิสัยที่จะบันทึกเสียงได้
ทนายถามว่า พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ฯ และ พ.ร.บ.บริหารราชการในพระองค์ฯ ออกโดยรัฐสภาใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่แน่ใจ และ พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับสามารถแก้ไขโดยรัฐสภาได้หรือไม่นั้น พยานก็ไม่แน่ใจ ส่วนการแก้ไขมาตรา 112 หรือรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภาหรือไม่ พยานไม่แน่ใจ แต่พยานเห็นว่าหากมีการเสนอความเห็นจากประชาชน ทุกฝ่ายต้องรับฟังประชาชน
ในวันเกิดเหตุ มีการแบ่งหน้าที่กันทำของฝ่ายรัฐ เช่น เรื่องโควิดก็ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ส่วนเรื่องความมั่นคงก็ให้เจ้าพนักงานตำรวจ จากนั้นพยานยืนยันว่าในวันเกิดเหตุ ไม่มีเหตุความรุนแรงใด ๆ ทนายถามพยานว่าเหตุผลที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ปกครองไม่สวมหน้ากากอนามัยเพราะเหตุใด เพราะผ่านจุดคัดกรองมาแล้วใช่หรือไม่ พยานตอบว่าป็นเรื่องของแต่ละบุคคล
พยานทราบว่า นักศึกษาธรรมศาสตร์เคยมีบทบาทในการออกมาเรียกร้องต่อต้านรัฐบาลในปี 2516 และ 2519 และการรัฐประหาร 2557 โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พยานทราบว่ามีนักศึกษาธรรมศาสตร์ออกมาคัดค้านการรัฐประหารว่าไม่เป็นประชาธิปไตย
พยานยอมรับว่า การจัดกิจกรรมของนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่ผ่านมามีทั้งการชุมนุมและเสวนาทางวิชาการเกี่ยวกับการเมืองและประชาธิปไตย ทางมหาวิทยาลัยปกติก็เปิดพื้นที่ให้ทำกิจกรรมโดยต้องขออนุญาต จากนั้นทนายถามว่าการแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือเห็นต่าง ประชาชนทำได้ เป็นเสรีภาพที่รับรองตามรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ พยานตอบว่าทำได้ แต่ต้องพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย
.
ตำรวจ ปอท. ผู้จัดทำรายงานการสืบสวนเหตุการณ์ #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เบิกความ ไม่ได้ตรวจสอบแอดมินเพจธรรมศาสตร์และการชุมนุม
พ.ต.ท.อิสรพงศ์ ทิพย์อาภากุล ขณะเกิดเหตุพยานรับราชการอยู่ที่ บก.ปอท. เบิกความว่า ในช่วงเดือน ก.ค. – ส.ค. 2563 พยานได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้สืบสวนหาข่าว และมีการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ โดยส่วนมากพยานจะหาข่าวจากเพจเฟซบุ๊ก “Free Youth” “ เยาวชนปลดแอก” “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม”
พยานยืนยันว่า มีการตรวจสอบทางโซเชียลเพื่อยืนยันว่ามีการชุมนุมในคดีนี้จริง โดยตำรวจท้องที่ส่งเรื่องมาทางผู้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชาจึงให้พยานตรวจสอบว่า มีใครชักชวนชุมนุมบ้าง พยานจำได้ว่า มีจำเลยที่ 1 และที่ 2 ลงข้อความเชิญชวน และลงโปสเตอร์เชิญชวนให้มาชุมนุม และเป็นผู้จัดทำรายงานการสืบสวนเหตุการณ์ #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ตั้งแต่ก่อนและขณะชุมนุม แต่พยานไม่ทราบว่าจำเลยในคดีนี้มีการแบ่งหน้าที่กันอย่างไร และจำไม่ได้ว่ามีผู้ใดร่วมชุมนุมบ้าง
พ.ต.ท.อิสรพงศ์ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่สนใจเรื่องการเมืองเป็นพิเศษ สนใจแค่ในส่วนที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ และพยานยืนยันว่าเคยให้การในชั้นสอบสวนในคดีการชุมนุมที่ศาลอาญา แต่ไม่ขอออกความเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เพราะพยานเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเทคโนโลยี และไม่ขอออกความเห็นในคดีนี้ด้วยเช่นกัน และตอบทนายว่าพยานไม่ได้มีการตรวจสอบแอดมินเพจธรรมศาสตร์และการชุมนุม
.
รองอธิการ มธ. ผู้อนุญาตให้ใช้สถานที่ชุมนุม เห็นว่า ที่ชุมนุมเปิดโล่ง อากาศถ่ายเท เหมาะกับจำนวนคน วันเกิดเหตุไม่มีพฤติการณ์ใดที่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 116
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ขณะเกิดเหตุเป็นรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและมั่นคง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ มีกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชื่อกลุ่มว่า “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ทําหนังสือขอใช้สถานที่บริเวณลานพญานาค บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีลายมือชื่อของจําเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ 1. ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2. ให้มีการยุบสภา และ 3. ให้รัฐบาลในขณะนั้นหยุดคุกคามประชาชน ซึ่งหนังสือขออนุญาตดังกล่าว ไม่มีการกําหนดหรือระบุไว้ว่าจะมีการปราศรัยที่เป็นการก้าวล่วงสถาบันกษัตริย์
จากนั้นพยานได้มอบหมายผู้อํานวยการสํานักงานบริหารทรัพย์สินและการกีฬาดูและจัดการเรื่องสถานที่ เนื่องจากบริเวณลานพญานาคเป็นของสํานักงานบริหารทรัพย์สินและการกีฬา สําหรับในส่วนของมาตรการสาธารณสุขในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 นั้น พยานได้มอบหมายให้กองกิจการนักศึกษาเป็นผู้ดําเนินการ
ในวันเกิดเหตุ พยานไปร่วมฟังด้วย โดยไปถึงที่ลานพญานาคเวลาประมาณ 19.00 – 20.00 น. ซึ่งตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2549 นั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีการวางแนวทางในกรณีที่นักศึกษาต้องการที่จะแสดงสิทธิ เสรีภาพ แสดงความเห็น ต้องแจ้งฝ่ายความมั่นคงก่อน และมีการพูดคุยกับนักศึกษาโดยจะให้ทํากิจกรรมภายในรั้วมหาวิทยาลัย ดังนั้นในทางปฏิบัติ พยานจึงไม่จําเป็นต้องไปนั่งฟังการชุมนุมตั้งแต่ต้นจนจบ เนื่องจากมีการหารือและประสานงานกับฝ่ายความมั่นคงและตำรวจไว้ล่วงหน้าแล้ว ซึ่งในการปราศรัยในครั้งนี้มีความกังวลจากตํารวจว่า หากมีการปราศรัยในเรื่องละเอียดอ่อน ตํารวจจะดําเนินการตักเตือน และพูดคุยเจรจา
พยานตอบทนายจําเลยถามค้านว่า ในวันเกิดเหตุมีการปราศรัยถึงคณะราษฎรและปรีดี พนมยงค์ ซึ่งปรีดี พนมยงค์ มีความเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือ เป็นหนึ่งในคณะราษฎรและเป็นผู้สถาปนาและก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน โดยมีเจตจํานงในข้อที่ 6 ว่าจะต้องการให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
ในส่วนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมีการแสดงออกและการส่งเสริมในส่วนของประชาธิปไตย และมีบทบาทในการแสดงออกทางการเมืองเสมอมา และช่วงรัฐประหารปี 2557 ในขณะนั้นพยานดํารงตําแหน่งรองอธิการฝ่ายกิจการนักศึกษา พบเห็นบทบาทของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกมาต่อต้านการรัฐประหารว่าไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ
วันเกิดเหตุจําเลยที่ 1 ได้อ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ซึ่งถือได้ว่าเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ว่าเหตุใดจึงต้องมีการยึดอํานาจ และในวันดังกล่าวนั้นจําเลยที่ 1 ได้อ่านข้อเรียกร้องจํานวน 10 ข้อ โดยข้อที่ 1 นั้นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 โดยต้องการที่จะมีการให้แก้ไขไปเหมือนมาตรา 6 ของธรรมนูญการปกครอง ฉบับวันที่ 27 มิ.ย. 2475 ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฉบับแรกของประเทศไทย มีการลงพระปรมาภิไธยโดยในหลวงรัชกาลที่ 7 โดยเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ สามารถอ้างถึง และสามารถมีการแก้ไขในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้
พยานกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะมีการห้ามไว้ 2 เรื่อง ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน ก็ได้มีการบัญญัติไว้ในมาตรา 255 คือไม่สามารถแก้ไขรูปแบบของรัฐและการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขได้
ในส่วนของจําเลยทุกคนในคดีนี้ พยานทราบว่า ไม่ได้ฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 หากถามความเห็นของพยานว่า การกระทําของจําเลยในคดีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 116 หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาในส่วนของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ก่อน ซึ่งในความเห็นของพยานจะต้องมีองค์ประกอบความผิดโดยแบ่งเป็น 3 อนุมาตรา
โดยอนุแรกจะต้องเป็นการใช้กําลังข่มขืนใจหรือใช้กําลังประทุษร้าย ซึ่งการปราศรัยด้วยวาจานั้นไม่ถือว่าเป็นการใช้กําลังข่มขืนใจหรือใช้กําลังประทุษร้าย ซึ่งในการตีความน่าจะเป็นการใช้กําลังทหารหรือยึดสถานที่ราชการ ซึ่งในวันเกิดเหตุคดีนี้ไม่มีพฤติการณ์ดังกล่าว
ในส่วนของอนุที่ 2 จะต้องเป็นการยุยงปลุกปั่นถึงขนาดก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร เช่น ชักชวนไปยึดทําเนียมรัฐบาล เป็นต้น ซึ่งในวันดังกล่าวนั้นเป็นเพียงการปราศรัยอย่างเดียว
ในส่วนของอนุที่ 3 นั้น จะต้องเป็นการชักชวนให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ซึ่งการนําเสนอว่าจะดําเนินการอย่างไรหรือแก้ไขกฎหมายอย่างไรนั้น ยังไม่ถือว่าเป็นการกระทําเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
พยานกล่าวต่อว่า หากจะมีการท้าวความถึงมาตรา 116 นั้น เป็นเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ซึ่งถ้าเป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และเป็นการแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริตก็สามารถทําได้ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ
ทนายถามพยานว่า ในกรณีที่มีการชุมนุมทั่วไปและมีใครคนใดคนหนึ่งกล่าวหาหรือทําร้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ร่วมชุมนุมทุกคนจําต้องรับผิดหรือไม่ พยานตอบว่าตามหลักกฎหมายอาญาจะต้องรับผิดเฉพาะบุคคลที่เป็นผู้กระทําความผิดเท่านั้น และยังบัญญัติอยู่ในมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญด้วย
ในส่วนของรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น มีบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพไว้ในมาตรา 25 และเรื่องเสรีภาพการชุมนุมมีการรับรองไว้ในมาตรา 44 ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยสงบและเปิดเผย และในส่วนของเสรีภาพในการพูดและแสดงความคิดเห็นมีรับรองไว้ในมาตรา 34 ซึ่งมีความสำคัญเพราะในความเห็นของพยานนั้น ในมาตรา 3 ระบุว่า อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย เมื่อประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้ และกล่าวว่าวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมดังกล่าวนั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
จากนั้นทนายถามเกี่ยวกับการประชุมเตรียมความพร้อมก่อนถึงวันเกิดเหตุคดีนี้ พยานตอบว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุขเข้าร่วมประชุม และได้มีการแนบแผนการจัดการเกี่ยวกับโรคโควิดด้วย อีกทั้งได้มีการแนบจํานวนผู้ที่น่าจะเข้าชุมนุมในวันดังกล่าว โดยมีการระบุว่ามีประมาณ 4,000 – 5,000 คน
พยานเห็นว่า ลานพญานาคมีลักษณะเป็นพื้นที่เปิดโล่ง มีอากาศถ่ายเท ไม่ได้อยู่ภายในโรงยิม ซึ่งพยานพิจารณาแล้วเห็นว่ามีพื้นที่กว้างขวางเพียงพอที่จะร้องรับจํานวนผู้เข้าร่วมชุมนุม 4,000 – 5,000 คน หลังเกิดเหตุ กลุ่มผู้ชุมนุมไม่เกิดเป็นคลัสเตอร์เป็นกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด 19 แต่อย่างใด ในวันเกิดเหตุยังมีเครื่องสแกนอาวุธและให้บุคคลเข้าออกได้ทางเดียว
พยานทราบว่า “จ่านิว” ซึ่งเป็นนักศึกษาที่ออกมาคัดค้านการรัฐประหาร เคยถูกทหารอุ้มในปี 2557 และ 2558 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว พยานเห็นว่าฝ่ายความมั่นคง ตํารวจสันติบาลจะต้องมีการติดตามหาข่าว จะต้องไปเยี่ยมบ้าน ทําให้ประชาชนหรือคนทั่วไปรู้สึกว่าถูกคุกคาม ซึ่งบางคนถูกคุกความโดยการอุ้มหรือจับกุมไปด้วย ดังนั้น พยานเห็นว่า ประชาชนทั่วไปสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ ซึ่งมาจากการรัฐประหาร เป็นเสรีภาพของประชาชนตามกฎหมาย
10 ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยมีการระบุว่าไม่ได้เป็นการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ แต่เป็นเพียงการหารือ พยานเห็นว่าหากไม่ใช่การล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐก็สามารถที่เสนอได้ อยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญ
พยานขอกล่าวเพิ่มเติมว่า การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยมีเกิดขึ้นในประเทศแถบยุโรปมานานแล้ว เพื่อให้ประชาชนและกษัตริย์อยู่ควบคู่กันไปกับระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขได้
.
.
บันทึกการสืบพยานจำเลย
อาจารย์นิติศาสตร์เบิกความ การวินิจฉัยคดีอาญาว่าเป็นความผิดหรือไม่ จะต้องพิจารณาตามองค์ประกอบตามมาตรา 116 อย่างเคร่งครัด ไม่จําเป็นต้องเป็นไปตามคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ พนักงานมหาวิทยาลัย ตําแหน่งรองศาสตราจารย์ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เบิกความว่า พยานจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากประเทศเยอรมัน โดยทําผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐาน เน้นเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ มีผลงานทางวิชาการเป็นหนังสือเรียนเรื่องทฤษฎีสิทธิขั้นพื้นฐาน ปัจจุบันสอนวิชากฎหมายสิทธิขั้นพื้นฐานและกฎหมายปกครอง
ที่โจทก์ฟ้องจําเลยในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 นั้น พยานมีความเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติมาตรา 116 ไว้ในหมวดความมั่นคง แต่แท้ที่จริงแล้วนั้นมาตรา 116 มีที่มาทางวิชาการว่าเป็นหลักประชาธิปไตยที่ปกป้องตนเองได้ กล่าวคือ รัฐต้องการใช้มาตรการทางอาญาในการยับยั้งการกระทําหรือความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยไปเป็นรูปแบบการปกครองอื่น
มาตรา 116 แม้จะมีวัตถุประสงค์ในการพิทักษ์ความมั่นคงของรัฐ แต่เนื้อหามีลักษณะจํากัดเสรีภาพของบุคคลเป็นการทั่วไป ดังนั้น การตีความว่าบุคคลใดกระทําการและมีความผิดตามมาตรา 116 จะต้องตีความโดยเคร่งครัดและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของบทบัญญัติมาตราดังกล่าว
กล่าวคือผู้กระทําจะต้องมีวัตถุประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อกฎหมายบ้านเมือง ซึ่งตรงกับมาตรา 116 (1) ส่วน (2) นั้น เป็นการก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ซึ่งทั้งสองอนุจะต้องตีความการกระทําของบุคคลที่มุ่งหมายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบอบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยไปเป็นรูปแบบอื่น จึงจะมีความผิดตามมาตรานี้ได้
พยานทราบว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การปราศรัยของ อานนท์ ภาณุพงศ์ และปนัสยา ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 และให้เลิกกระทำการดังกล่าวที่เกิดขึ้นต่อไปในอนาคตตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 2 โดยพยานมีความเห็นว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวมีเนื้อหาสำคัญ ห้ามไม่ให้แสดงความคิดเห็นหรือหยุดการกระทําที่ศาลเห็นว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ซึ่งเป็นการสั่งห้ามบุคคลกระทําการดังกล่าวต่อไป ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ 2560
ในตอนท้ายของมาตรา 49 ให้อํานาจศาลรัฐธรรมนูญแต่เพียงอย่างเดียวคือ การสั่งห้ามไม่ให้บุคคลกระทําการตามที่ถูกฟ้องว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะมีการฟ้องร้องเป็นคดีอาญาต่อไป โดยคําวินิจฉัยที่ระบุว่าเป็นหรือไม่เป็นการล้มล้างนั้นเป็นคนละเรื่องกับการกระทําความผิดอาญา ซึ่งจะต้องมีการฟ้องและพิสูจน์ในคดีอาญาว่าการกระทํานั้นเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาหรือไม่ เป็นการแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด ซึ่งคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทําความผิดตามมาตรา 116 แต่อย่างใด พูดแต่เพียงว่าไม่ตัดสิทธิในการดําเนินคดีอาญาเท่านั้น
ในส่วนของผลผูกพันตามคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคสี่ บัญญัติไว้ว่า คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร ซึ่งหมายถึงผลของคําตัดสินหรือคําสั่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีนั้นโดยตรง ซึ่งคําวินิจฉัยดังกล่าวนั้นมีเพียงประเด็นเดียวคือสั่งห้ามกระทําการ ซึ่งมีผลผูกพันไปแล้ว เนื่องจากการกระทําที่ถูกสั่งห้ามนั้นสิ้นสุดไปแล้ว และไม่ได้หมายความว่าเหตุผลที่ศาลให้ในคําวินิจฉัยจะผูกพันศาลในคดีอาญาด้วย เพราะการวินิจฉัยคดีอาญาว่าเป็นความผิดหรือไม่ จะต้องพิจารณาตามองค์ประกอบความผิดของมาตรา 116 ต่างหาก ซึ่งไม่จําเป็นต้องเป็นไปตามคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
คําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไม่ได้มีการสืบพยาน ซึ่งพยานมีความเห็นทางวิชาการว่า ในการจะวินิจฉัยตามพยานหลักฐานใดก็ตามจะต้องมีการฟังพยานทั้งสองฝ่าย ซึ่งศาลให้เหตุผลในคดีดังกล่าวว่า ข้อเท็จจริงตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ศาลสามารถเห็นได้เอง ซึ่งวิธีการให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญนั้นไม่ชัด จึงไม่สามารถนํามาใช้พิสูจน์ความผิดในกฎหมายอาญาได้
นอกจากนี้ยังมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอีก 2 คดี ที่ศาลให้เหตุผลทํานองเดียวกัน คือ คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ และคดียุบพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นเรื่องการตีความเช่นเดียวกันในเรื่องกระทําที่เป็นการล้มล้างการปกครอง โดยศาลให้เหตุผลทํานองเดียวกันว่า ในส่วนของข้อเท็จจริงถ้าศาลเห็นเองศาลจะไม่รับฟังหรือไม่จําต้องให้มีการสืบพยานถึงที่สุดก็ได้
ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการชุมนุมในวันเกิดเหตุคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญใช้เหตุการณ์เกี่ยวกับการเผาพระบรมฉายาลักษณ์หรือมีการลบธงแถบสีน้ําเงินในวันนั้น ซึ่งการให้เหตุผลของศาลมีการอ้างการกระทําที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลายคราว รวมทั้งการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองและการกระทําที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน มีการพิจารณาองค์ประกอบหลายอย่าง รวมถึงการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสื่อสังคมออนไลน์ทุกประเภท ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญใช้คําว่า องค์กรเครือข่าย ซึ่งมีการกระทำที่รุนแรงมากบ้างน้อยบ้าง แต่ศาลมองเห็นว่าเป็นการกระทำที่เป็นลักษณะมีเป้าหมายเดียวกัน ไม่สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข จึงมีคําสั่งให้เลิกการกระทํา
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 นั้น ศาลเพียงแค่นําสืบเพียงว่า จะมีเหตุผลเพียงพอที่จะมีคําสั่งห้ามหรือไม่เท่านั้น ซึ่งวัตถุประสงค์ของมาตรา 49 ไม่ได้ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญสืบข้อเท็จจริงถึงกับคดีอาญาทั่วไป โดยในคดีอาญาทั่วไปศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาพยานหลักฐานมากกว่าศาลรัฐธรรมนูญ
การกระทําในวันเกิดเหตุที่มีการฟ้องร้องจําเลยในคดีนี้นั้น พยานเห็นว่า ต้องแยกการกระทําของจำเลยที่เห็นว่าเป็นการกระทําที่ควรหรือไม่ควร ออกจากการกระทําที่ครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย ซึ่งการกระทําที่เห็นว่าควรหรือไม่นั้น แต่ละบุคคลมีความเห็นต่างกันได้
แต่การกระทําจะเข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือไม่นั้น พยานเห็นว่า ยังไม่ถึงขั้นจะเป็นความผิดตามมาตรา 116 เนื่องจากการกระทําของจําเลยในคดีนี้ รัฐธรรมนูญเน้นย้ําแต่เพียงว่า เป็นเสรีภาพของบุคคลและเป็นการใช้เสรีภาพ ซึ่งจะถูกต้องสมควรหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่การกระทํายังห่างไกลกันกับองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 116 ที่ต้องมีความมุ่งหมายโดยตรงที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้เสรีภาพโดยทั่วไป
สําหรับการชุมนุมที่มีขึ้นระหว่างประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงสถานการณ์โควิดนั้น พยานมีความเห็นว่า 1. ประกาศที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญเนื่องจากเป็นการห้ามชุมนุมโดยสิ้นเชิง ทําให้ไม่สามารถใช้เสรีภาพได้เลย
และ 2. แม้แต่ประกาศนั้นยังมีเนื้อความที่สามารถตีความได้ว่า บุคคลจะใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้หรือไม่ เพราะในประกาศนั้นใช้คําว่า “ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมที่มีการเสี่ยงต่อการระบาดของโรคโควิด 19” แต่ตามคําฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า มีการชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้มีการบรรยายฟ้องให้ละเอียดว่า การชุมนุมของจําเลยส่งผลโดยตรงหรืออาจส่งผลต่อการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวได้
อีกทั้งพยานทราบว่า ฝั่งของผู้ชุมนุมซึ่งเป็นจําเลยในคดีนี้ได้พยายามและมีมาตรการเต็มที่แล้วในการป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรค เช่น ให้มีการสวมหน้ากากอนามัย และมีการเว้นระยะห่างในการชุมนุม ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวน่าจะทําให้จําเลยไม่น่าจะกระทําความผิดตามกฎหมายดังกล่าว
.