เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดสมุทรสาครนัดฟังคำสั่งหลังการไต่สวนคำร้องขอให้ “ไอซ์” หรือ “สยาม ธีรวุฒิ” เป็นคนสาบสูญ ซึ่งมารดาคือ “กัญญา ธีรวุฒิ” เป็นผู้ร้องและพยานที่เข้าเบิกความ หลังจากสยามถูกบังคับให้สูญหายไปเกินกว่า 5 ปีแล้ว
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2567 กัญญาซึ่งเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของสยามและทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสมุทรสาครขอให้ศาลสั่งให้สยามเป็นบุคคลสาบสูญ หลังจากที่สยามถูกบังคับให้สูญหายไปตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค. 2562 และไม่มีบุคคลใดพบตัวหรือติดต่อได้อีกเลยตลอดระยะเวลากว่า 5 ปี โดยศาลได้นัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 21 ต.ค. 2567
.
แม่ยืนยัน ครอบครัวไม่สามารถติดต่อสยามได้มากว่า 5 ปี ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ ขอศาลสั่งสยามเป็นคนสาบสูญ เพื่อใช้สิทธิในฐานะทายาท
คำร้องของมารดาสยามสามารถสรุปรายละเอียดได้ดังนี้
เดิมสยามมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดสมุทรสาคร โดยอยู่อาศัยกับครอบครัว ซึ่งที่ผ่านมาสยามเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองได้ร่วมเล่นละครเวทีเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ในงานรำลึก 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เมื่อปี 2556
ต่อมา วันที่ 22 พ.ค. 2557 เกิดการรัฐประหารโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ คสช. ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว รัฐบาลเผด็จการได้เร่งรัดการดำเนินคดีมาตรา 112 และได้ออกหมายจับนักกิจกรรมทางการเมืองหลายคนรวมถึงสยามและเพื่อน ในความผิดตามมาตรา 112 สาเหตุมาจากการขึ้นแสดงละครเวทีเมื่อปี 2556 สยามจึงได้เดินทางออกจากประเทศไทยไปลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศลาว ร่วมกับผู้ลี้ภัยชื่อ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ และกฤษณะ ทัพไทย โดยสยามได้ติดต่อพูดคุยกับผู้ร้องและน้องสาวมาโดยตลอด หลังทราบที่อยู่อันเป็นหลักแหล่ง ผู้ร้องและครอบครัวได้เดินทางไปพบสยามเพื่อถามไถ่ทุกข์สุขอีกด้วย
สยามและเพื่อนยังคงเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยตลอดมา ผ่านสื่อออนไลน์ อาทิ ยูทูบ รวมทั้งสื่อสารกับประชาชนไทยในประเด็นปัญหาของสังคมและการเมือง
จนกระทั่ง วันที่ 8 – 9 พ.ค. 2562 สื่อออนไลน์ ชื่อ “เพียงดิน รักไทย” ได้แจ้งข่าวผ่านยูทูบช่องมหาวิทยาลัยประชาชนว่า ตำรวจเวียดนามได้ส่งตัวสยามและพวกให้ทางการไทยแล้ว ต่อมา 10 พ.ค. 2562 ผู้ร้องได้ติดต่อเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) หลังจากนั้นยังได้เดินทางไปพบเจ้าหน้าที่สถานทูตเวียดนามเพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่กลับไม่ได้รับแจ้งว่ามีการจับกุม การส่งตัว และข้อมูลใด ๆ อีกเลย
โดยปกติหากมีเหตุการณ์ที่ต้องหลบซ่อนจากภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับสยามและพวก สยามก็จะต้องแจ้งรายละเอียดให้ผู้ร้องทราบทุกครั้งเพื่อไม่ให้ผู้ร้องต้องเป็นห่วงเป็นเวลานาน แต่ในครั้งดังกล่าว ผู้ร้องไม่สามารถติดต่อพูดคุยได้อีกเลย ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2561 จนกระทั่งทราบข่าวว่าถูกจับที่ประเทศเวียดนาม
ผู้ร้องได้เดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์ที่ศูนย์ป้องกันการทรมาน เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2566 ในข้อหาตามมาตรา 7 ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ควบคุมหรือลักพาบุคคลใด โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิเสธว่ามิได้กระทำการดังกล่าว หรือปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ปรากฏตัวของบุคคลนั้น ซึ่งส่งผลให้บุคคลนั้นไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อขอให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดให้ถึงที่สุด
ปัจจุบันเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว ผู้ร้องและครอบครัวก็ยังไม่ทราบข่าวของสยามอีกเลยว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ซึ่งทำให้ผู้ร้องและครอบครัวไม่สามารถดำเนินการทางกฎหมายใด ๆ เกี่ยวกับสยามได้ ผู้ร้องจึงขอศาลมีคำสั่งให้สยามเป็นคนสาบสูญ เพื่อที่ผู้ร้องจะได้ใช้สิทธิในฐานะทายาทดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
.
แม่เบิกความยืนยันตามคำร้อง ติดต่อสยามไม่ได้แม้พยายามทุกช่องทาง ทั้งไม่มีองค์กรใดทราบข้อมูล
ในนัดไต่สวนคำร้อง วันที่ 21 ต.ค. 2567 เวลา 13.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 15 กัญญาเดินทางมาศาลพร้อมลูกสาวเพื่อพบทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม โดยมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมสังเกตการณ์คดี
ต่อมา เวลา 14.32 น. หลังจากศาลพิจารณาคดีอื่นเสร็จสิ้น ศาลได้ให้กัญญาเข้าสาบานตนและเบิกความ
กัญญาเบิกความว่า พยานเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของสยาม ธีรวุฒิ เดิมสยามอาศัยอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่เกิด ต่อมาเมื่อประมาณปี 2556 สยามบอกพยานว่า เขาถูกออกหมายจับในข้อหาตามมาตรา 112 แต่ในขณะนั้นพยานไม่เคยเห็นหมายจับดังกล่าว โดยมาเห็นในภายหลังจากที่สยามสูญหายไปแล้ว
ในปี 2557 สยามขอลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ที่ประเทศลาว พยานได้เดินทางไปส่งสยามที่ป้ายรถเมล์ ที่สถานีขนส่งสายใต้ โดยสยามบอกว่าจะไปประเทศลาวกับชูชีพและกฤษณะ
หลังจากนั้นสยามติดต่อพยานและน้องสาวผ่านทางไลน์บ้างประมาณ 3 เดือนต่อครั้ง ต่อมาในปี 2559 พยานเดินทางไปเมืองเวียงจันทร์ ประเทศลาว เพื่อพบกับสยาม และหลังจากเดินทางกลับไทยก็ยังมีการติดต่อกันอยู่
ประมาณเดือนมกราคม 2562 พยานไม่สามารถติดต่อสยามได้ จนวันที่ 8 พ.ค. 2562 มีเพื่อนของสยามติดต่อมาหาแจ้งว่าพบทางสื่อออนไลน์ว่า สยามถูกจับที่เวียดนามและส่งมาไทยพร้อมกับชูชีพและกฤษณะ ให้พยานไปที่กองปราบฯ
พยานจึงเดินทางไปที่กองปราบฯ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าไม่มีการจับกุม และไม่มีอำนาจดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาที่หนีไปอยู่ต่างประเทศ พยานจึงไปตามหาสยามที่สถานทูตเวียดนาม และกระทรวงยุติธรรม
นอกจากนี้ พยานยังพยายามติดต่อสยามทางโทรศัพท์และไลน์แต่ติดต่อไม่ได้ โดยติดต่อชูชีพและกฤษณะไม่ได้ด้วยเช่นกัน
จากที่พยานไปติดตามหาสยามและร้องเรียนกับองค์กรต่าง ๆ ไม่มีองค์กรใดทราบว่าลูกชายของพยานอยู่ที่ใด
หลังการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลนัดฟังคำสั่งในวันที่ 20 ธ.ค. 2567 เวลา 09.00 น.
.
นับแต่สยามถูกบังคับให้สูญหาย กัญญาซึ่งพยายามไปตามหาลูกชายต้องเผชิญกับคำตอบที่ไม่ชัดเจนจากหน่วยงานรัฐไทยเกี่ยวกับชะตากรรมของเขา ตั้งแต่กองบังคับการปราบปราม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขอออกหมายจับสยาม, กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล, คณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีถูกกระทำทรมานและบังคับให้หายสาบสูญ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
แม้แต่เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 3 ปี เมื่อไม่มีความคืบหน้าใด ๆ กัญญาจึงได้ยื่นเรื่องเพื่อขอใช้สิทธิรับการเยียวยาในฐานะผู้เสียหายในคดีอาญา ตาม พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาฯ คณะอนุกรรมการฯ ได้ยกคำร้องโดยระบุเหตุผลว่า สยามไม่ใช่ผู้เสียหายตามนิยามของ พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงแน่ชัดว่าสยามได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตและร่างกายหรือจิตใจ การยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการฯ ก็ถูกยกคำขอโดยระบุเหตุผลในทำนองเดียวกัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์
ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ออกรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ 22/2567 จากข้อร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการบังคับสูญหายบุคคลที่พำนักอาศัยในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อขอลี้ภัยทางการเมือง 9 ราย โดยมีสยามหนึ่งในจำนวนนั้น ในรายงานฉบับดังกล่าว คณะกรรมการสิทธิฯ ได้มีมติว่า กรณีการหายตัวไปของบุคคลทั้ง 9 ราย น่าเชื่อว่าเป็นการบังคับบุคคลให้สูญหายตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
.
(อัปเดต 5 ม.ค. 2568) เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมรายงานว่า ศาลจังหวัดสมุทรสาครมีคำสั่งยกคำร้องขอให้สยามเป็นบุคคลสาบสูญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 61 ส่วนหนึ่งของคำสั่งศาลระบุว่า นายสยามอาจไม่ได้อาศัยอยู่ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวถาวร และจากที่ผู้ร้องเบิกความว่าสยามถูกออกหมายจับในข้อหาตามมาตรา 112 และหลังเดินทางออกจากประเทศไทยแล้ว บางครั้งมีเหตุการณ์ที่นายสยามต้องหลบซ่อนจากภัยอันตราย แต่พยานหลักฐานของผู้ร้องก็ยังไม่เพียงพอให้รับฟังเป็นยุติ ได้ว่า นายสยามเป็นคนสาบสูญ
.
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
กองปราบไม่รับแจ้งความ เหตุผู้ลี้ภัย 3 คนหายไปหลังมีข่าวส่งตัวกลับไทย
สยาม ธีรวุฒิ: เสียงร่ำไห้เงียบงัน กับ 2 ปีที่ยังคงสูญหายของผู้ลี้ภัยทางการเมือง
ดีเอสไอยังไม่รับเป็นคดีพิเศษ: 1 ปี บังคับสูญหาย “วันเฉลิม” – 2 ปี “สยาม”
ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าถามหา “สยาม ธีรวุฒิ” ถึงบ้าน แม้ถูกบังคับสูญหายไปจวนครบ 3 ปีแล้ว
3 ปี การบังคับสูญหาย “สยาม ธีรวุฒิ”: ความเจ็บปวดของครอบครัว กับการยืนยันสิทธิในการค้นหาความจริงต่อไป