3 ปี การบังคับสูญหาย “สยาม ธีรวุฒิ”: ความเจ็บปวดของครอบครัว กับการยืนยันสิทธิในการค้นหาความจริงต่อไป

วันที่ 8 พฤษภาคมของทุกปี กลายเป็นวันครบรอบการหายตัวไปของ “ไอซ์” หรือ สยาม ธีรวุฒิ ลูกชายคนเดียวของแม่กัญญา ธีรวุฒิ หัวใจของผู้เป็นแม่มิได้คลายความเจ็บปวดรวดร้าวและความทุกข์ทรมานไปได้แม้แต่วันเดียว แม้จะเข้ารอบปีที่ 3 นับแต่ทราบข่าวแล้วก็ตาม ว่าตำรวจเวียดนามได้จับกุมและส่งตัว สยาม ธีรวุฒิ พร้อมเพื่อนนักเคลื่อนไหวอีก 2 ราย คือ “ลุงสนามหลวง” หรือ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ และ “สหายยังบลัด” หรือ กฤษณะ ทัพไทย ให้ทางการไทยแล้ว แต่หลังจากนั้นก็ไม่พบตัวทั้งสามคนอีกเลย 

ข่าวร้ายสำหรับครอบครัวธีรวุฒิ เกิดขึ้นภายใต้บริบทที่คณะผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เห็นว่ามีการบังคับสูญหายเกิดขึ้นในอาเซียนในลักษณเป็นรูปแบบ “ความร่วมมือระหว่างรัฐ” โดยคณะผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติฯ ระบุข้อมูลว่านับตั้งแต่ปี 2559 ถึงปี 2563 มีนักกิจกรรมชาวไทยหลายคนถูกบังคับให้สูญหายในประเทศเพื่อนบ้าน หนึ่งในนั้น คือ สยาม ที่ยังมีหมายจับค้างและมีผลอยู่ในประเทศไทย

.  

ความเจ็บปวดร้าวรานของครอบครัวผู้สูญหาย คือจุดเริ่มต้นการทรมาน  

การบังคับให้บุคคลสูญหาย นอกจากบุคคลที่หายไปแล้ว ผู้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมนี้ ยังรวมไปถึง ‘สมาชิกในครอบครัว’ ของบุคคลที่สูญหายอีกด้วย ท่ามกลางความคลุมเครือในชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลอันเป็นที่รัก ความทุกข์ทรมานจะเริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งของคนในครอบครัว

กรณีของสยามและเพื่อนนักกิจกรรม “กัญญา” ยังมีความเคลือบแคลงว่าลูกชายของเธอเสียชีวิตแล้วหรือไม่ สยามเคยบอกแม่ว่า หากจำเป็นต้องย้ายที่อยู่ เขาจะใช้เวลา 3 เดือนในการจัดการและเริ่มเข้าที่เข้าทางในที่อยู่ใหม่อีกครั้ง แต่เหตุการณ์นับแต่ได้ข่าวว่าสยามถูกตำรวจเวียดนามจับ เวลาก็ล่วงเลยมากกว่า 3 เดือนจนเข้าปีที่ 3 แล้ว เธอยังไม่ได้ข่าวคราวของลูกชายอีกเลย หากคิดว่าลูกชายเสียชีวิตแล้ว ไหนล่ะศพของสยาม? เธอเองก็อยากเห็นกับตา เพื่อให้ชีวิตเดินหน้าต่อไป

สยามและเพื่อนถูกระบุว่า ได้ถูกจับกุมที่ประเทศเวียดนามโดยใช้หนังสือเดินทางปลอมและระบุว่ามีสัญชาติของประเทศอินโดนีเซีย คำถามจึงอยู่ที่ว่าลูกชายของเธอและเพื่อนๆ ยังอยู่บนแผ่นดินที่ประเทศเวียดนาม หรือถูกส่งต่อไปที่ประเทศอินโดนีเซียตามสัญชาติในหนังสือเดินทางนั้น หรือถูกส่งกลับมาที่ประเทศไทยตามสัญชาติที่แท้จริง

กัญญาเปรยๆ ในหลายครั้งและย้ำมาตลอดว่า ทางการไปตรวจสอบตารางการเข้าออกการบินของประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย หรือประเทศไทยได้หรือไม่ ชื่อของทั้งสามพร้อมหมายเลขหนังสือเดินทางก็มีขนาดเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต ทำไมจะหาไม่ได้ ยกเว้นอย่างเดียว คือไม่ได้ตั้งใจหาให้ต่างหาก 

แนวคิดเรื่องความเป็นผู้เสียหายจากการบังคับให้บุคคลสูญหายในทางระหว่างประเทศ ถูกพัฒนาให้หมายถึง บุคคลทั้งหลายที่ทุกข์ทรมานจากภัยดังกล่าว อันเป็นผลโดยตรงจากการบังคับใหัสูญหาย ในคำพิพากษาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนในทวีปยุโรป, ทวีปอเมริกา และความเห็นของคณะทำงานเรื่องการสูญหายโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ (U๊์N Working Group on Enforced or Involuntary Disappearance –WGEID) มีข้อสรุปว่า ความเจ็บปวดรวดร้าวและทุกข์ทรมานของครอบครัว เป็นรูปแบบหนึ่งของการทรมานหรือการปฏิบัติอื่นๆ ที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมอีกด้วย 

‘การปฏิเสธอย่างต่อเนื่องโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่ หรือการดำเนินการสืบสวนอย่างมีประสิทธิภาพในข้อเท็จจริงของคดี’ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในกรณีการบังคับให้บุคคลสูญหาย อันเป็นจุดเริ่มต้นของความทรมานครอบครัว ทั้งหมดจะส่งผลต่อไปถึงสภาพจิตใจและความรู้สึกทางศีลธรรมของบุคคลในครอบครัว

กรณีของสยาม กัญญาต้องเผชิญกับคำตอบที่ไม่ชัดเจนจากหน่วยงานรัฐไทย ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. 2562 จากกองบังคับการปราบปราม ซึ่งเป็นหน่วยงานแรกที่เธอพยายามไปตามเรื่องลูกชาย ในฐานะที่เป็นหน่วยงานต้นสังกัดของพนักงานสอบสวนผู้ขอออกหมายจับสยามและเพื่อนนักเคลื่อนไหว ไล่เรียงไปยังหน่วยงานอื่นทั้ง กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล, คณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีถูกกระทำทรมานและบังคับให้หายสาบสูญ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)

อีกทั้ง ความเฉยเมยของทางการเวียดนามที่ไม่ออกมารับหนังสือร้องเรียนและตอบกลับอย่างเป็นทางการถึง แม่กัญญาที่เข้าไปยื่นหนังสือด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2562 ถึงหน้าสถานทูตเวียดนามประจำประเทศไทย รวมถึงรัฐบาลเวียดนามได้ทำหนังสือตอบกลับถึงคณะทำงานว่าด้วยการสูญหายโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจ (WGEID) ให้ยุติเรื่องร้องเรียนของสยามอีกด้วย   

.

สิทธิในการค้นหาความจริงถึงชะตากรรมและที่อยู่ของบุคคลอันเป็นที่รัก คือ การเยียวยาที่สำคัญที่สุดให้ครอบครัวผู้สูญหาย 

การเดินทางตามหาลูกชายเข้าปีที่ 3 ที่ตีบตันของครอบครัวธีรวุฒิ ย้ำเตือนว่าการบังคับบุคคลให้สูญหายที่มีรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย ครอบครัวของผู้สูญหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องการสืบสวนข้อเท็จจริง และการให้ผู้รับผิดชอบถูกดำเนินคดีและลงโทษอย่างถึงที่สุด ตลอดช่วงที่ครอบครัวทราบว่าบุคคลที่เขารักได้หายไป เพื่อบรรเทาระดับการทรมานหรือผลต่อจิตใจ ศีลธรรมของครอบครัวให้เบาบางลงไปบ้าง

ด้านกัญญายังคงเดินหน้าเรียกร้องให้ทุกฝ่ายตามหาลูกชาย เมื่อมีโอกาสและจังหวะชีวิตมาตลอด 3 ปี  ล่าสุดเธอก็เป็นเรี่ยวแรงหนึ่งในการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย ในกระบวนการของสภาผู้แทนราษฎรร่วมกับครอบครัวผู้สูญหายรายอื่นๆ ด้วย  

ท่ามกลางการเคลื่อนไหวดังกล่าว เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2565 ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจำนวน 2 นาย ระบุว่ามาจาก สภ.กระทุ่มแบน เดินทางมาที่บ้านของกัญญา และเข้าสอบถามว่าที่นี่คือบ้านของ “สยาม ธีรวุฒิ” หรือไม่ เขาอยู่บ้านหรือไม่ และหายตัวไปตั้งแต่เมื่อไหร่ ก่อนจะขอถ่ายรูปกัญญาไว้ โดยที่ก่อนหน้านี้ ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปีที่เป็นวันเกิดของสยาม มักจะมีเจ้าหน้าที่มาสอดส่องที่บ้านอยู่ตลอดด้วย

กัญญาตัดสินใจที่จะนำเรื่องไปร้องเรียนแก่ผู้แทนสํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ถึงการคุกคามที่ไม่ปกติดังกล่าว และเข้าพบตัวแทนฯ เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2565  

เจ้าหน้าที่รัฐไทยตอบกลับครอบครัวสยาม โดยการให้เจ้าหน้าที่สันติบาลนายที่ติดตามครอบครัวสยามมาตลอด โทรหากัญญาอีกครั้ง เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2565 เพื่อขอเข้าพบที่บ้านของกัญญาอีก และขอพูดคุยเรื่องที่มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาหาที่บ้าน โดยสันติบาลนายนั้นได้แจ้งว่าไปเคลียร์ให้แล้วกับหัวหน้า ต่อไปจะไม่มีตำรวจนอกเครื่องแบบมาหาอีกแล้ว ตนขอรับรอง ขอให้กัญญาไม่ต้องร้อนใจไป

กัญญาตั้งคำถามว่า แทนที่จะโทรมาหาเธอว่าไม่ต้องร้อนใจไป ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐไทยไม่ประสานงานและเร่งสืบสวนสอบสวน สรุปผลการทำงาน และรับกรณีการหายตัวไปของสยามและเพื่อน รวมถึงกรณีของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่หายตัวไปที่พนมเปญ เป็นคดีพิเศษตามกลไกของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งกัญญาและสิตานัน พี่สาววันเฉลิม ได้เข้าไปให้ข้อมูลไว้แล้วตั้งแต่ 2 มิ.ย. 2564 หรือเจ้าหน้าที่รัฐไทยควรหยุดคุกคามครอบครัวของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายที่ออกมาเรียกร้องให้ค้นหาชะตากรรมและที่อยู่ของคนในครอบครัวได้แล้ว  

กัญญาฝากคำถามถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่าคำถามประเภท “สยามอยู่ที่นี้หรือไม่” หรือ “สยามกลับมาบ้านหรือยัง” ควรเป็นคำถามที่เจ้าหน้าที่รัฐไทยต้องตอบเธอมากกว่าที่เธอจะตอบใครได้ เธอบอกว่าจะเป็นจะตายอย่างไร บอกเธอมาเถอะ เธอพร้อมยอมรับ และขอใช้สิทธิในการค้นหาความจริงต่อไปจนกว่าจะทราบถึงชะตากรรมและที่อยู่ของสยามลูกชายของเธอ

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง: 

กองปราบไม่รับแจ้งความ เหตุผู้ลี้ภัย 3 คนหายไปหลังมีข่าวส่งตัวกลับไทย

สยาม ธีรวุฒิ: เสียงร่ำไห้เงียบงัน กับ 2 ปีที่ยังคงสูญหายของผู้ลี้ภัยทางการเมือง

ดีเอสไอยังไม่รับเป็นคดีพิเศษ: 1 ปี บังคับสูญหาย “วันเฉลิม” – 2 ปี “สยาม”

ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าถามหา “สยาม ธีรวุฒิ” ถึงบ้าน แม้ถูกบังคับสูญหายไปจวนครบ 3 ปีแล้ว

X