พี่สาว “วันเฉลิม” ร้อง UN-กระทรวงยุติธรรม เร่งตามหาน้องชาย ด้านแม่ “สยาม” ย้ำขอรัฐจริงใจหาลูกชายให้เจอ

วันที่ 5 เม.ย. 2565 สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาว “ต้าร์” วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกบังคับให้สูญหายขณะที่อยู่ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อเดือนมิถุนายน  2563 พร้อมทนายความเดินทางไปพบ ว่าที่ร้อยตรีธนกฤต  จิตรอารีรักษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้มารับเรื่อง เพื่อสอบถามความคืบหน้าในการหายตัวไปของน้องชาย 

ผู้แทนรับเรื่องของกระทรวงยุติธรรม

สิตานันกล่าวกับผู้มารับเรื่องว่าใกล้จะครบรอบ 2 ปีแล้วที่น้องชายเธอหายตัวไป เธอรู้สึกกังวลที่ไม่ได้ทราบความเคลื่อนไหวอะไรเลย กังวลเรื่องความไม่คืบหน้า วันเฉลิมเองเป็นคนไทยคนหนึ่ง เธอเคยทราบมาว่าทางกระทรวงยุติธรรมเคยบอกว่าถ้ามีความเดือดร้อนอะไรก็ให้มาร้องเรียนได้ ตนได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดโดยการมอบหลักฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มีอยู่อย่างละเอียดให้กับทั้งทางการไทยและกัมพูชาเท่าๆ กันแล้ว 

ธนกฤตร่วมพูดคุยกว่า 1 ชั่วโมง โดยไม่ได้ให้รายละเอียดมากนักเกี่ยวกับการตามหาชะตากรรมและที่อยู่ของวันเฉลิม เพียงแต่ให้ข้อมูลสรุปได้ว่า ปกติถ้าใครมาร้องเรียนหน่วยงานรัฐ รัฐก็จะรับเรื่องให้และรีบดำเนินการให้ทุกๆ คน ไม่ว่าคนนั้นจะมาจากกลุ่มไหน คิดเห็นต่างทางการเมืองหรือไม่ แต่การดำเนินการใดต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าไม่ผิดรัฐธรรมนูญ   

โดยธนกฤตรับปากกับสิตานันว่าตนจะติดตามการดำเนินการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และอัยการสูงสุดให้อีกรอบ เพราะเท่าที่ตนทราบมาล่าสุด DSI ทำหนังสือไปตามเรื่องกับอัยการสูงสุดแล้ว แต่อัยการสูงสุดมีการเปลี่ยนตำแหน่งกันภายในไปเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ทางอัยการสูงสุดยังไม่ทราบผลการสอบถามนั้น 

บรรยากาศหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2565 สิตานันและกัญญา ธีรวุฒิ มารดาของ “ไอซ์” สยาม ธีรวุฒิ นักกิจกรรมที่มีรายงานว่าถูกบังคับให้สูญหายกับเพื่อนอีก 2 ราย ขณะอยู่ในประเทศเวียดนาม เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 พร้อมทนายความ เดินทางเข้าพบผู้แทนสํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ที่สำนักงานองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก เพื่อยื่นแถลงการณ์ร่วมของครอบครัวและองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศร่วม 50 รายชื่อ ในโอกาสที่คณะกรรมการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED) องค์การสหประชาชาติ เตรียมประชุมทบทวนสถานการณ์เบื้องต้นเกี่ยวกับการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศกัมพูชาในวันที่ 5 เม.ย. 2565 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 

โดยในแถลงการณ์ร่วมมีข้อเรียกร้อง “ให้คณะกรรมการฯ CED เน้นย้ำถึงความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องของประเทศกัมพูชาที่ไม่ดำเนินการค้นหาตัววันเฉลิมโดยทันทีและถี่ถ้วน ทั้งไม่ได้สืบสวนสอบสวนการบังคับสูญหายในกรณีนี้อย่างโปร่งใสและอย่างมีประสิทธิภาพ” ในแถลงการณ์เน้นย้ำประเด็นต่อทางการกัมพูชาในรอบการประชุมทบทวนสถานการณ์ครั้งนี้ว่า

“ความล้มเหลวในการสืบสวนสอบสวนกรณีการบังคับสูญหายเป็นความเสียหายร้ายแรงต่อพันธกรณีที่ประเทศกัมพูชามีต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) ซึ่งกัมพูชาได้เข้าเป็นภาคีตั้งแต่ปี 2556 โดยเฉพาะการที่ประเทศกัมพูชาละเมิดต่อหน้าที่ที่จะต้องทำการสืบสวนสอบสวนอย่างถี่ถ้วนและเที่ยงธรรมโดยไม่ชักช้า ดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดในทางอาญาและประกันสิทธิของผู้ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องโดยชอบธรรมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร” 

“ยิ่งไปกว่านั้น ความล่าช้าที่เกิดขึ้นโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรในการค้นหาผู้สูญหายถือว่าไม่สอดคล้องกับหลักการค้นหา (Guiding Principles) ผู้สูญหาย รวมทั้งหลักที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้สูญหายยังมีชีวิตอยู่ การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การต้องเริ่มต้นอย่างเร่งด่วนในการสืบสวนสอบสวน การใช้ข้อมูลอย่างเหมาะสม และพันธกรณีที่จะต้องค้นหาผู้สูญหายต่อไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าชะตากรรมของผู้สูญหายจะเป็นที่ปรากฏ” 

บรรยากาศหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ

ในวันเดียวกันนี้ สิตานันและกัญญายังให้ข้อมูลลำดับเหตุการณ์และข้อสังเกตเพิ่มเติมถึงการสืบสวนสอบสวนของรัฐบาลไทยผ่านองค์กรที่เกี่ยวข้องต่อการบังคับให้สูญหายของวันเฉลิมและสยาม 

ในส่วนของวันเฉลิม เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2564 สิตานันส่งหนังสือทางไปรษณีย์สอบถามความคืบหน้าไปยัง 3 หน่วยงานของรัฐไทย ได้แก่ อัยการสูงสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ล่าสุดสิตานันได้รับเพียงหนังสือตอบกลับจากกรมสอบสวนคดีพิเศษลงวันที่ 1 มี.ค. 2565 แจ้งว่าขณะนี้อยู่ระหว่างรอหนังสือแจ้งข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ทั้งไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากทางฝั่งกัมพูชา 

ด้านกัญญาได้ตั้งคำถามถึงเจ้าหน้าที่รัฐไทยและเวียดนามที่เธอเคยไปยื่นหนังสือให้ติดตามหาลูกชายของเธอ ว่าควรทำหน้าที่ในการตามหาบุคคลที่หายตัวไปอย่างแข็งขัน ไม่ใช่มาถามหาสยามจากครอบครัวของเธออย่างต่อเนื่อง การกระทำเช่นนี้สร้างความเจ็บปวดกับเธอ ที่ถึงตอนนี้เกือบ 3 ปีแล้ว ก็ยังไม่รู้ว่าลูกชายของเธออยู่ที่ไหน และเธอได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ช่วยเห็นใจเธอบ้าง และแสดงความจริงใจในการออกตามหาลูกชายของเธอเสียที  

สิตานันและกัญญาได้เรียกร้องต่อผู้แทนสํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ความโดยสรุปดังนี้ 

1. ขอให้ติดตามสอบถามความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนการบังคับให้สูญหายไปของวันเฉลิมและสยาม กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), อัยการสูงสุด, กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ, กองบังคับการปราบปรามฯ, กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

2. ขอให้ติดตามการดำเนินคดีที่เกิดจากการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยรัฐฟ้องเพื่อปิดกั้นตามหาวันเฉลิมและผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย ที่เกิดขึ้นกับสิตานัน รวมถึงผู้มาทำกิจกรรมที่บริเวณหน้าตึกสำนักงานองค์การสหประชาชาติ โดยไม่ว่าจะเป็นส่งตัวแทนเข้าร่วมสังเกตการณ์ หรือส่งหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ชั้นตำรวจ พนักงานอัยการ และชั้นศาล

3. ขอให้ตรวจสอบการบรรจุชื่อของวันเฉลิมและสยามเข้าเป็นหนึ่งในรายชื่อบุคคลสูญหายของคณะทำงานด้านการบังคับสูญหาย ขององค์การสหประชาชาติ (Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances – WGEID)

4. ขอให้ติดตามอย่างใกล้ชิดต่อกระบวนการผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย ในชั้นของสมาชิกวุฒิสภา

5. ขอให้ติดตามอย่างใกล้ชิดต่อสถานการณ์การคุกคามครอบครัวของสยามโดยตำรวจนอกเครื่องแบบจากสถานีตำรวจในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ไม่ให้เกิดเหตุการดังกล่าวขึ้นอีก 

สำหรับกรณีของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมด้านประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศ และผู้ลี้ภัยทางการเมือง หลังการรัฐประหาร 2557 ในประเทศกัมพูชา ได้หายตัวไปใกล้ที่พักชื่อ Mekong Garden Apartment ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ในย่าน Chroy Changva ที่กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563 จนถึงปัจจุบันยังไม่ทราบความคืบหน้าถึงชะตากรรมและที่อยู่ของวันเฉลิม  

กรณีของสยาม ธีรวุฒิ พร้อมนักเคลื่อนไหวอีก 2 ราย คือ “ลุงสนามหลวง” หรือ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ และ “สหายยังบลัด” หรือ กฤษณะ ทัพไทย ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลังการรัฐประหาร 2557 ได้ถูกจับกุมที่ประเทศเวียดนาม และมีรายงานว่าได้ถูกส่งตัวกลับมายังประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2562  แต่แล้วกลับไม่มีใครสามารถติดต่อหรือทราบชะตากรรมของทั้งสามคนอีกเลยนับจากนั้น โดยมารดาของสยามได้พยายามติดตามหาลูกชายและร้องเรียนกับหน่วยงานต่างๆ แต่จวนครบ 3 ปีแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:

วันผู้ลี้ภัยโลก: ภาวะคลุมเครือการตามหา “ต้าร์-วันเฉลิม” ถึงเวลาเดินหน้ากระบวนการยุติธรรมฝั่งไทย-กัมพูชา

ดีเอสไอยังไม่รับเป็นคดีพิเศษ: 1 ปี บังคับสูญหาย “วันเฉลิม” – 2 ปี “สยาม”

สยาม ธีรวุฒิ: เสียงร่ำไห้เงียบงัน กับ 2 ปีที่ยังคงสูญหายของผู้ลี้ภัยทางการเมือง

ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าถามหา “สยาม ธีรวุฒิ” ถึงบ้าน แม้ถูกบังคับสูญหายไปจวนครบ 3 ปีแล้ว

X