เปิดอุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ชี้ “สุรชัย แซ่ด่าน-สยาม ธีรวุฒิ” ไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีสิทธิตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ สองครอบครัวยืนยันต่อสู้เพื่อให้รัฐไทยเยียวยา

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2566 ที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม “ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์” ภรรยาของ “สุรชัย แซ่ด่าน” และ “กัญญา ธีรวุฒิ” มารดาของ “สยาม ธีรวุฒิ” สองบุคคลที่เชื่อว่าถูกบังคับให้สูญหาย ได้เดินทางเข้ายื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ภายใต้ พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 (พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาฯ) ต่อศาลอุทธรณ์ โดยมี Protection International (PI), มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือในการยื่นคำร้องตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2565 ที่กระทรวงยุติธรรม ปราณีและกัญญาได้เดินทางเข้ายื่นเรื่องเพื่อขอใช้สิทธิในการเยียวยาในฐานะที่เป็นผู้เสียหายในคดีอาญา ตาม พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาฯ  ในระหว่างที่ได้ลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องตามหาที่อยู่และชะตากรรมของสุรชัยและสยามที่เชื่อว่าถูกบังคับให้สูญหายตั้งแต่ ธ.ค. ปี 2561 และ พ.ค. ปี 2562 ตามลำดับ

วันที่ 9 ก.พ. 2566 คณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยคดีอาญา (คณะอนุกรรมการฯ) ได้ยกคำร้องของทั้งสองครอบครัว คณะอนุกรรมการฯ ได้ระบุเหตุผลว่าสุรชัยและสยามไม่ใช่ผู้เสียหายตามนิยามของ พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาฯ  เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงแน่ชัดว่าทั้งสองคนได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตและร่างกายหรือจิตใจ  

เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2566 ทั้งสองครอบครัวจึงได้อุทธรณ์คำสั่งของอนุกรรมการฯ ต่อคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา (คณะกรรมการฯ) 

ต่อมาเมื่อวันที่ 23-24 ส.ค. 2566 ปราณีและกัญญาได้รับผลคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ที่ให้ยกคำขอของทั้งสอง โดยระบุเหตุผลในทำนองเดียวกันว่า ข้อเท็จจริงเป็นกรณีที่ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดว่าสุรชัยและสยามได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตหรือร่างกายหรือจิตใจ จึงมิใช่ผู้เสียหายที่อาจมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามมาตรา 3 พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาฯ 

ปราณีและกัญญาจึงยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ข้างต้น ต่อศาลอุทธรณ์ โดยสามารถสรุปเหตุผลและข้อโต้แย้งได้ 3 ประการ ดังนี้

.

ประการที่ 1 ประเทศไทยมีความผูกพันต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กฎหมายระดับพระราชบัญญัติภายในประเทศ รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน 

เนื่องจากการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่ไม่อาจกระทำได้ไม่ว่าสถานการณ์ใด ๆ และเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2560, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคี ทำให้มีหน้าที่ต้องไม่ให้เกิดการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศเหล่านี้ หากปรากฎว่ามีการดำเนินการที่ละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ประเทศไทยย่อมต้องมีมาตรการการเยียวยาบุคคลที่ถูกละเมิดดังกล่าวด้วย

.

ประการที่ 2 บุคคลที่ถูกบังคับสูญหายทั้งตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และมาตรา 3 และมาตรา 7 ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ย่อมต้องตีความว่าเป็นผู้เสียหายที่อาจมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตาม มาตรา 3 พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาฯ ด้วย

ตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. 2566 ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการทรมาน และการกระทําให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565  ซึ่งได้ให้คำนิยามในมาตรา 3 ว่า “ควบคุมตัว” หมายความว่า การจับ คุมตัว ขัง กักตัว กักขัง หรือกระทําด้วยประการอื่นใด ในทํานองเดียวกันอันเป็นการจํากัดเสรีภาพในร่างกายของบุคคล และมาตรา 7 วางหลักไว้ว่า ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐควบคุมตัว หรือลักพาบุคคลใด โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิเสธว่ามิได้กระทําการดังกล่าว หรือปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ปรากฏตัวของบุคคลนั้นซึ่งส่งผลให้ บุคคลนั้นไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ผู้นั้นกระทําความผิดฐานกระทําให้บุคคลสูญหาย โดยถือเป็นความผิดต่อเนื่องจนกว่าจะทราบชะตากรรมของบุคคลนั้น

จากข้อเท็จจริงในกรณีของสุรชัยและสยามเชื่อได้ว่าทั้งสองเป็นบุคคลสูญหายโดยถูกบังคับที่ถึงแก่ชีวิตแล้ว ประเทศไทยมีหน้าที่ต้องคุ้มครองประชาชนของประเทศตนไม่ให้เกิดการสูญหายของพลเมืองขึ้น โดยที่ไม่จำต้องพิสูจน์ว่าทั้งสองได้รับความเสียหายแก่ชีวิตหรือร่างกายหรือจิตใจ จากฐานความผิดทางอาญาที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาฯ เนื่องจากการสูญหายของทั้งสองย่อมถือเป็นความเสียหายและความผิดทางอาญาแล้ว ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และมาตรา 3 และมาตรา 7 ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ

การตีความเป็นผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาฯ มาตรา 3 ย่อมต้องตีความให้สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าวและ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ด้วย ดังนั้นสุรชัยและสยามจึงเป็นผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาฯ ที่อาจมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเพื่อเยียวยา และเป็นหลักประกันตามหลักนิติธรรมซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการให้ความคุ้มครองในสิทธิเสรีภาพของประชาชน อีกทั้ง ตามหลักแห่งความรับผิดชอบของรัฐ หลักมาตรการเยียวยาผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งมาตรฐานในการนำกฎหมายระหว่างประเทศมาปรับใช้ภายในประเทศ อันเป็นไปเพื่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามหลักกฎหมาย ความยุติธรรม และสอดคล้องกับการคุ้มครองสิทธิของประชาชนอย่างแท้จริง

.

ประการที่ 3 การเข้าถึงการเยียวยาและค่าตอบแทนของผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายและครอบครัวจะต้องไม่ขึ้นอยู่กับการพิสูจน์ว่าผู้ที่หายสาบสูญได้ถึงแก่ความตายแล้ว 

คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการหายสาบสูญโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจ (UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearance, or WGEID) ได้อธิบายไว้ในความเห็นทั่วไปเกี่ยวกับข้อ 19 ตามปฏิญญาว่าด้วยการปกป้องบุคคลทั้งมวลให้ปลอดจากการถูกบังคับให้หายสาบสูญ ค.ศ. 1992 (Declaration on the Protection of all Persons from Enforced Disappearance) ไว้ว่า การเข้าถึงการเยียวยาและค่าตอบแทนของผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายและครอบครัวจะต้องไม่ขึ้นอยู่กับการพิสูจน์ว่าผู้ที่หายสาบสูญได้ถึงแก่ความตายแล้ว ผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องแสดงใบมรณบัตรเพื่อที่จะได้รับค่าตอบแทนนั้น

พันธกรณีและหน้าที่ของรัฐภายใต้ปฏิญญาดังกล่าวมีมากกว่าเพียงแค่ค้นหาบุคคลที่หายสาบสูญ รัฐยังมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนที่เพียงพอ (adequate compensation) ให้กับครอบครัวของผู้ที่หายสาบสูญ เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่บุคคลหายสาบสูญ เช่น ความเสียหายต่อร่างกายหรือจิตใจ, โอกาสที่เสียไป, ความเสียหายทางวัตถุ, รายได้ที่เสียไป  ฯลฯ รวมถึงค่าตอบแทนในกรณีที่ผู้ที่หายสาบสูญเสียชีวิต  ซึ่งค่าตอบแทนต้องได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของการละเมิดสิทธิมนุษยชน (gravity of the human rights violation) และ “ความเจ็บปวด” (suffering) ของผู้ที่หายสาบสูญหรือครอบครัว                                                       
.

ในตอนท้ายของอุทธรณ์ นอกจากคำขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณากลับหรือแก้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ แล้ว ปราณีและกัญญายังขอให้ศาลอุทธรณ์ดำเนินการไต่สวนพยานหลักฐานเกี่ยวกับกรณี เพื่อให้ประโยชน์ในการได้มาซึ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีอย่างชัดเจนอีกด้วย

.

เนื่องจาก พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาฯ มาตรา 25 กำหนดให้คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ถือเป็นที่สุด ดังนั้นคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในกรณีของสุรชัยและสยามนี้ จะกลายเป็นบรรทัดฐานแรกๆ ในเรื่องการขอค่าเยียวยา กรณีที่ผู้เสียหายเป็นบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย จึงเป็นที่น่าจับตามองว่ารัฐไทยจะมีนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองและเยียวยาประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพไปในทิศทางใด

X