จำคุก 2 เดือน – รอลงอาญา ปรับ 14,000 “5 นักกิจกรรมขอนแก่น” ปาสีป้าย ตร.ภ.4 ทำเสื่อมค่า แต่ยกฟ้องในส่วนรูป ร.10 ไม่มีหลักฐานว่าจำเลยปาสีใส่ 

12 ธ.ค. 2567 ศาลแขวงขอนแก่นนัดอ่านคำพิพากษาคดี “ทำให้เสียทรัพย์” ที่นักศึกษาและนักกิจกรรม “ราษฎรขอนแก่น” 5 คน ได้แก่ ณัฏฐสกล เวชศิรพลานนท์, พายุ บุญโสภณ, นุ้ก (นามสมมติ), พงศธร (สงวนนามสกุล) และกุลธิดา กระจ่างกุล ตกเป็นจำเลย กรณีแสดงออกเชิงสัญลักษณ์แสดงความไม่พอใจตำรวจที่สลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ด้วยความรุนแรง ด้วยการปาสีใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 (ตร.ภ.4) ในคาร์ม็อบขอนแก่น#3 “แห่ ไล่ ประยุทธ์” เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2564

ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 จำคุกคนละ 4 เดือน ปรับคนละ 21,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 2 เดือน 10 วัน ปรับคนละ 14,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว กับให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเฉพาะในส่วนค่าทำความสะอาดป้ายตำรวจรภูธรภาค 4 จำนวน 12,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี นับตั้งแต่วันเกิดเหตุจนกว่าจะชำระเสร็จ

.

เกี่ยวกับคาร์ม็อบขอนแก่น#3 นั้น เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2564 เพจ “ขอนแก่นพอกันที” ได้โพสต์นัดหมายชุมนุม โดยโพสต์แคปชั่นประกอบด้วยว่า “การชุมนุมรอบนี้ราษฎรขอนแก่นพร้อมยืนยันตอบโต้รัฐที่ทำร้ายประชาชนอย่างไม่แยแสความเป็นมนุษย์” เนื่องจากก่อนหน้านั้นมีการใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางเข้าสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาล โดยเฉพาะการชุมนุมหน้า สน.ดินแดง ในวันที่ 16 ส.ค. 2564 วาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปี ถูกยิงด้วยกระสุนจริงเข้าที่คอ อาการสาหัส และเสียชีวิตในภายหลัง โดยก่อนหน้าวันชุมนุมมีการขอรับบริจาคสีน้ำ และก่อนเริ่มกิจกรรมปาสีมีการประกาศว่า “เป็นการแอคชั่นเพื่อต่อต้านการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ”

จำเลยทั้งห้าในคดีนี้ถูกพนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ออกหมายเรียกเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ทำให้เสียทรัพย์ เป็นอีกคดี หลังถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกับ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ และนักกิจกรรมคนอื่น รวม 10 ราย จากกิจกรรมครั้งเดียวกัน ไปก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งที่อาจจะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมเป็นคดีเดียวกันได้ เป็นการสร้างภาระเกินจำเป็นให้กับนักกิจกรรมที่ต้องต่อสู้คดีรวม 2 คดี จากการเข้าร่วมคาร์ม็อบขอนแก่น#3 ทั้งนี้ ในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2567 ศาลแขวงขอนแก่นได้มีคำพิพากษายกฟ้องนักกิจกรรมทั้งสิบไปแล้ว

โดยในคดีนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ในขณะนั้น ได้มอบอํานาจให้ฝ่ายกฎหมายแจ้งความดําเนินคดีผู้ชุมนุม อ้างว่า ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 และพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ได้รับความเสียหายจากการปาสี คิดเป็นเงินรวม 63,966.16 บาท 

ต่อมา พนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่นได้ยื่นฟ้องนักกิจกรรมทั้งห้าต่อศาลแขวงขอนแก่น ระบุว่า เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2564 จําเลยทั้งห้ากับพวกได้ร่วมกันขว้างปาถุงบรรจุสีน้ำ (หลากหลายสี) จํานวนหลายถุง ใส่ป้ายตํารวจภูธรภาค 4 และพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นทรัพย์สินของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ จนเปรอะเปื้อนเสียหายใช้การไม่ได้ คิดค่าเสียหายรวมเป็นเงินจํานวน 63,966.16 บาท จากนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ยังได้ให้ผู้รับมอบอำนาจเข้ายื่นคำร้องต่อศาลขอเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเป็นเงินจำนวน 63,966.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี นับจากวันที่จำเลยทั้งห้ากระทำความผิดจนกว่าจะชำระเสร็จ

ด้านจำเลยทั้งห้าต่อสู้คดีโดยยืนยันว่า การปาสีเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง ตนร่วมปาสีเนื่องจากไม่พอใจรัฐบาลและตำรวจที่สลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ด้วยความรุนแรง โดยตั้งใจปาใส่โล่ตำรวจและป้าย ไม่ได้มีเจตนาทำให้ทรัพย์สินเสียหาย เนื่องจากทราบว่าเป็นสีน้ำที่ล้างออกได้

ศาลนัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2567 แต่ในวันดังกล่าว ศาลได้แจ้งเลื่อนการอ่านคำพิพากษาคดี ระบุว่า อธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 ให้สืบเสาะและพินิจจำเลยก่อน แม้จำเลยทั้งห้าแถลงคัดค้าน แต่ศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์ในการทำคำพิพากษาจึงมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยรายงานต่อศาลภายใน 45 วัน และให้เลื่อนฟังคำพิพากษาเป็นวันที่ 12 ธ.ค. 2567 เวลา 09.30 น.

อ่านประมวลคดีนี้: ประมวลคดีปาสีใส่ป้าย ตร.ภ.4: 5 นักกิจกรรมขอนแก่นยืนยัน ร่วมปาสีเหตุไม่พอใจรัฐบาลและตำรวจสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง ทั้งสีที่ปาเป็นสีน้ำล้างออกได้

.

เวลา 09.30 น. ณัฏฐสกล, พายุ, นุ้ก, พงศธร และกุลธิดา พร้อมทนายจำเลย และเพื่อนที่มาให้กำลังใจ ทยอยเดินทางมาถึงศาลแขวงขอนแก่น

ราว 10.00 น. ทวีศักดิ์ สุรนารถ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนอ่านคำพิพากษา มีใจความโดยสรุปว่า

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกับผู้ชุมนุมปาสีใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 และพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่

โจทก์มี พ.ต.ท.สุกฤษฎิ์ และ พ.ต.ต.ชัยพิชิต เบิกความว่า เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2564 ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้พยานสืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับการชุมนุม พยานได้แต่งกายนอกเครื่องแบบแฝงตัวสังเกตการณ์อยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม เวลา 18.30 น. ผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวมาถึงบริเวณหน้าป้ายตำรวจภูธรภาค 4 โดยมีตำรวจควบคุมฝูงชนยืนเรียงแถวด้านหน้าป้ายห่างจากป้ายประมาณ 2 เมตร ส่วนผู้ชุมนุมยืนห่างจากป้ายไม่น้อยกว่า 5 เมตร

เวลา 19.00 น. พยานทั้งสองเห็นผู้ชุมนุมประมาณ 20-30 คน ปาสีใส่ตำรวจควบคุมฝูงชนและป้ายตำรวจภูธรภาค 4 โดยตำรวจควบคุมฝูงชนยกโล่ขึ้นป้องกันตัว พยานทั้งสองอยู่ห่างจากป้ายประมาณ 20-30 เมตร เห็นเหตุการณ์ชัดเจน ประกอบกับบริเวณดังกล่าวมีแสงไฟส่องสว่าง และระหว่างเกิดเหตุมีการบันทึกเหตุการณ์เป็นวีดีโอ 

หลังเกิดเหตุพยานทั้งสองได้จัดทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชา โดย พ.ต.ท.สุกฤษฎิ์ ได้รวบรวมข้อมูลจากตำรวจที่แฝงตัวในกลุ่มผู้ชุมนุมที่บันทึกภาพไว้ รวมทั้งไลฟ์สดของฝ่ายผู้ชุมนุม และ พ.ต.ต.ชัยพิชิต ถอดข้อมูลจากกล้องวงจรปิด จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า จำเลยทั้งห้าเข้าร่วมการชุมนุมและได้ร่วมกับผู้ชุมนุมปาสีใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 และป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ ทำให้ป้ายทั้งสองได้รับความเสียหาย

เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความทำนองเดียวกันว่า ในวันดังกล่าวผู้ชุมนุมประมาณ 20 – 30 คน ได้ร่วมกันปาสีใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 และตำรวจควบคุมฝูงชน จากการตรวจสอบภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวพบว่า จำเลยทั้งห้ารวมอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมและร่วมปาสีใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 รวมทั้งตำรวจควบคุมฝูงชน พยานทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานเบิกความสอดคล้องต้องกัน เชื่อว่า ให้การไปตามสัดย์จริง ไม่มีเจตนาใส่ความจำเลยทั้งห้า 

ประกอบกับจำเลยเบิกความรับว่า จำเลยที่ 1, ที่ 2 และที่ 4 มีเจตนาปาสีใส่ตำรวจควบคุมฝูงชน ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 5 เจตนาปาสีใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 อย่างไรก็ตาม แม้จำเลยที่ 1, ที่ 2 และที่ 4 รับว่า เจตนาปาสีใส่ตำรวจควบคุมฝูงชน แต่ตามวัตถุพยานภาพเคลื่อนไหวพบว่า ก่อนหน้าที่ผู้ชุมนุมจะปาสีใส่ตำรวจควบคุมฝูงชน ผู้ชุมนุมได้ใช้สีปาใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 ก่อนแล้ว และมีเสียงแกนนำปราศรัยในทำนองให้ขว้างปาสีใส่ป้ายภูธรตำรวจภูธรภาค 4 เชื่อว่า นอกจากจะปาสีใส่ตำรวจควบคุมฝูงชนที่ตั้งแถวอยู่หน้าป้ายแล้ว จำเลยที่ 1, ที่ 2 และที่ 4 ยังปาสีใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 

โจทก์ยังมี พ.ต.ท.สมพงษ์ เบิกความว่า หลังเกิดเหตุพยานได้นำกำลังพลเข้าตรวจสอบและทำความสะอาดป้ายตำรวจภูธรภาค 4 โดยการฉีดน้ำแรงดันสูง แต่ไม่สามารถล้างทำความสะอาดได้หมด บริเวณตัวอักษรยังมีคราบสีปรากฏ ต้องว่าจ้างหน่วยงานภายนอกเข้ามาดำเนินการทำความสะอาด 

ถือว่า การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการทำให้ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 เสื่อมค่า แม้สีที่จำเลยใช้ปาจะเป็นสีน้ำ และจำเลยทั้งห้าอ้างว่า การกระทำของจำเลยเป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการสลายการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อทวงถามความยุติธรรม แต่หากจำเลยทั้งห้าเห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในฐานะพลเมืองดีย่อมมีสิทธิร้องทุกข์ดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ให้รับโทษทางวินัยและทางกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องสร้างความเดือดร้อนแก่บุคคลอื่น และกระทำการให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่การกระทำของจำเลยหาได้อยู่ในกรอบของกฎหมาย เป็นการสร้างความเดือดร้อนและความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการ จึงไม่ใช่เป็นการใช้เสรีภาพตามที่จำเลยอ้าง แต่เป็นการทำให้ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 เสียหาย เสื่อมค่า

ในส่วนของป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ พ.ต.ท.สมพงษ์ เบิกความว่า หลังเกิดเหตุพยานได้เข้าตรวจสถานที่เกิดเหตุ นอกจากป้ายตำรวจภูธรภาค 4 แล้วมีป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ได้รับความเสียหายด้วย แต่ไม่ปรากฏภาพหลักฐานว่าพระบรมฉายาลักษณ์ส่วนใดได้รับความเสียหายจากการปาสี 

แม้ พ.ต.ท.สุกฤษฎิ์ และ พ.ต.ต.ชัยพิชิต เบิกความว่า จำเลยทั้งห้าปาสีใส่ตำรวจควบคุมฝูงชน ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 และพระบรมฉายาลักษณ์ แต่ไม่ปรากฏจากคำเบิกความว่า จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันปาสีใส่พระบรมฉายาลักษณ์ ทั้งวัตถุพยานที่โจทก์อ้างส่งจำนวน 3 คลิป ปรากฏเพียงภาพผู้ชุมนุมปาสีใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 และตำรวจควบคุมฝูงชน โดยไม่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมปาสีใส่พระบรมฉายาลักษณ์แต่อย่างใด ประกอบกับจำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธมาโดยตลอด พยานหลักฐานโจทก์จึงมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันปาสีใส่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์จริงหรือไม่ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย 

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งห้าชดใช้ค่าเสียหายต่อพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 จำนวน 51,966.16 บาท, ค่าเสียหายต่อป้ายตำรวจภูธรภาค 4 จำนวน 12,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับจากวันที่จำเลยทั้งห้ากระทำความผิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้เสียหาย เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันปาสีใส่พระบรมฉายาลักษณ์จนได้รับความเสียหายหรือไม่ จำเลยทั้งห้าจึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายต่อพระบรมฉายาลักษณ์ ยกคำร้องในส่วนนี้ 

พิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 จำคุกคนละ 4 เดือน ปรับคนละ 21,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 2 เดือน 10 วัน ปรับคนละ 14,000 บาท

พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจเห็นว่า จำเลยทั้งห้าไม่มีประวัติเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว กับให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเฉพาะในส่วนค่าทำความสะอาดป้ายตำรวจภูธรภาค 4 จำนวน 12,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี นับตั้งแต่วันเกิดเหตุจนกว่าจะชำระเสร็จ 

ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และคดีนี้ศาลให้รอการลงโทษ จึงให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้

.

หลังศาลอ่านคำพิพากษาจบ ได้กล่าวกับจำเลยและทนายจำเลยว่า ในส่วนค่าปรับถ้าจำเลยไม่สามารถชำระได้ให้ยื่นคำร้องขอทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับเข้ามา และถ้าจำเลยไม่พอใจผลคำพิพากษาก็สามารถอุทธรณ์ได้ ศาลเข้าใจอยู่ว่าเป็นการใช้เสรีภาพ

จากนั้นตำรวจประจำศาลได้พาจำเลยทั้งห้าไปรอที่หน้าห้องขังด้านหลังศาล ระหว่างทนายจำเลยยื่นคำร้องขอทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ กระทั่งราว 13.00 น. ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาต ทำให้นักกิจกรรมทั้งห้าได้รับการปล่อยตัว โดยหลังจากนี้ทั้งห้าคนต้องทำงานบริการสังคมคนละ 56 ชั่วโมง 

ในส่วนค่าเสียหายที่ต้องชำระให้แก่ สตช. นักกิจกรรมทั้งห้าได้ร่วมกันวางเงินต่อศาลในวันเดียวกันนี้เป็นเงินรวม 14,000 บาท 

สำหรับการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นนี้ นักกิจกรรมขอนแก่นและทนายจำเลยเปิดเผยว่า อาจต้องปรึกษาหารือในรายละเอียดกันก่อนที่จะตัดสินใจว่า จะยื่นอุทธรณ์หรือไม่

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

บทเพลงชีวิต ‘Desperado’ ของ ‘อ๋า’ นักดนตรีหัวรั้น ผู้ไม่ผันเมโลดี้ไปตามอำนาจนิยม

X