บทเพลงชีวิต ‘Desperado’ ของ ‘อ๋า’ นักดนตรีหัวรั้น ผู้ไม่ผันเมโลดี้ไปตามอำนาจนิยม

 เพลง A Girl Like You กำลังเล่นล้อท่วงทำนองไปกับแผ่นไวนิลที่หมุนเมโลดี้ไปตามแรงสั่นสะเทือนจากเข็มเครื่องเล่น กังวานแผดเสียงของ John Travolta นักแสดงมาดกวนจากภาพยนตร์  ‘Pulp fiction’ ผสานดนตรีดิสโก้อย่างลงตัว เป็นจังหวะเดียวกับที่ ‘อ๋า’ ณัฏฐสกล เวชศิรพลานนท์ นักศึกษาปี 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกดนตรีตะวันตก มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปรากฏตัวเพื่อพูดคุยเรื่องราวคดีทางการเมืองที่เขาเผชิญอยู่    

จากวันที่ตัดสินใจเรียนเอกกีตาร์แจ๊ส ผ่านการฝึกปรือฝีมือทั้งในแบบ Jazz, Soul หรือ Funk อย่างเข้มข้น ปีนี้ถือเป็นปีสุดท้ายในรั้วมหาลัยของอดีตสมาชิกภาคีนักเรียน KKC, กลุ่มขอนแก่นพอกันที และพรรคปฏิวัติมอดินแดง ที่ถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมและปาสีที่หน้าตำรวจภูธรภาค 4 เพียงเพราะต้องการแสดงออกถึงความคับแค้นกับสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุมอยู่บ่อยครั้งในห้วงปี 2564 

ยิ่งหากย้อนไปในชีวิตตั้งแต่เรียนมัธยมที่ขอนแก่นวิทยายน อ๋าเป็นเยาวชนคนหนึ่งที่ตั้งคำถามกับสิ่งที่เรียกว่าอำนาจนิยมทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน จนชีวิตผ่านเรื่องราวที่วันหนึ่งพบว่า ความสุขสมหวังและความทุกข์เป็นสิ่งสามัญ ต่อให้เจออะไรข้างหน้าก็พร้อมจะรับมือ เหมือนกับ ‘Desperado’ หนึ่งในบทเพลงยอดนิยมจากคณะ Eagles ที่คนเรียนดนตรีมาตระหนักลึกซึ้งถึงความหมายขึ้นกว่าวันที่พ่อเปิดฟังที่บ้านตอนเด็ก ๆ    

ข้อสรุปในชีวิตของอ๋าช่วงนี้คล้ายจะเป็นอย่างนั้น การที่ต้องออกทำงานตั้งแต่เรียนปี 1 เพราะปัญหาเรื่องการเงินของทางบ้าน ที่สุดท้ายก็ต่อสู้กับสภาวะนั้นจนเอาตัวรอดมาได้ เช่นเดียวกับคดีที่ถูกฟ้องข้อหา “ทำให้เสียทรัพย์” ที่ศาลจะพิพากษาในครั้งนี้ (17 ต.ค. 2567) ไม่ว่าผลจะออกมาทางไหน ในฐานะคนดนตรีที่ไม่ยอมค้อมหัวให้อำนาจนิยม เขาพร้อมจะรับผลทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้น  

‘ความเยาว์’ 

ความเยาว์ จากศิลปิน Darkest Romance บทเพลงที่อ๋าบอกเล่าถึงตัวตนในวัยเด็ก กับคำถามที่ไม่เข้าใจจากคนขี้สงสัยและชอบเรื่องแปลกใหม่ กระทั่งสงสัยไปหมด โตมาจึงรู้ว่าสิ่งที่พบเจอตอนเด็ก ๆ ไม่ได้แปลก เพียงแต่ไม่เข้าใจเท่านั้นเอง เปรียบกับตัวเองที่มีหลายเรื่องที่ไม่เข้าใจเลย แต่พอมองย้อนกลับไปก็เห็นและรู้ว่าทำไมพ่อแม่ถึงสู้มาได้ โดยเฉพาะเรื่องหนี้สินครอบครัว “จริง ๆ มันหนักมากเลย ถ้าเป็นเราคงเครียดมาก ๆ” 

หลังจบ ม.6 เมื่อต้นปี 2564 การตัดสินใจแรกของอ๋า คือใช้เวลา Gab year 1 ปี เพื่อค้นหาตัวตน แต่จนท้าย ๆ ของช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัย เมื่อมหาวิทยาลัยขอนแก่นเปิดรับตรงโดยมีสาขาดนตรีตะวันตกของคณะศิลปกรรมศาสตร์เป็นหนึ่งในนั้น อ๋าตัดสินใจยื่นพอร์ทโฟลิโอในทันที กระทั่งได้สอบสัมภาษณ์ สุดท้ายอ๋าก็กลายมาเป็นนักศึกษาดนตรีอย่างเต็มตัว โดยเลือกเรียนเอกกีตาร์แจ๊ส เพราะดูสอดคล้องกับเส้นทางที่จะเดินไปต่อ 

อ๋ากล่าวว่า ในเครือดนตรีตะวันตกแน่นอนว่ามหาวิทยาลัยในส่วนกลางมีอิทธิพลต่อการอยากเข้าเรียนมากกว่า ทั้งมหิดล หรือศิลปากร แต่ด้วยปัจจัยครอบครัว เขาเลือกที่จะอยู่ขอนแก่น เมืองที่เกิดมาพร้อมกับความทรงจำและเสียงดนตรีในวัยเยาว์ ที่พ่อชอบฟังเพลงสากลเก่า ๆ ทั้งจาก Eagles หรือ Gary Moore 

อ๋าย้อนภาพว่า ตอนเรียนชั้นมัธยมต้นเขาเป็นเด็กที่เรียนกลาง ๆ มักคิดอะไรฟุ้งซ่านบ้าง แล้วยังเกเรหน่อย ๆ จากการชอบซิ่งมอเตอร์ไซค์ ทำให้พ่อแม่เป็นห่วง พ่อเลยซื้อกีตาร์ให้เพื่อจะได้มีสมาธิกับดนตรี กีตาร์ยามาฮ่า F310 รุ่นยอดนิยมของคนไทย โดยเฉพาะคนที่เริ่มฝึกหัด กลายเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรก จากที่ฟังเพลงทั่วไปก็ได้ฝึกมากขึ้น เพราะอยากให้พ่อเห็นว่าผ่อนคลาย และอยากจีบสาวด้วย จนเริ่มรู้สึกสนุก ได้เล่นดนตรีที่ชมรมดนตรีในโรงเรียน เข้าไปเจอเพื่อน ๆ และรุ่นพี่ ได้แลกเปลี่ยนเพลงกันฟัง จนหลงใหลไปเรื่อย ๆ เพลงหลาย ๆ รูปแบบ ค่อย ๆ เปลี่ยนโลกทัศน์ โดยเฉพาะการได้ย้อนไปฟังอัลบั้มแรก ๆ ของ Slipknot ยอดวงเฮฟวีเมทัลจากสหรัฐอเมริกา 

จากวันที่รู้สึกดนตรีแบบนั้นเร่าร้อนและหนักหน่วง จนภายหลังติดใจเพลงร็อคไปเลย ได้ย้อนไปฟังเพลงเก่า ๆ ที่พ่อเคยเปิดฟัง การฟังเพลงและฝึกเล่นมากขึ้นเป็นผลให้อ๋าขยับจากกีตาร์โปร่งมาเล่นกีตาร์ไฟฟ้าช่วงปลายเทอมสองของชั้น ม.4 คราวนี้เป็นกีต้าร์ Epiphone sg เริ่มฝึกจากยูทูบ จนมาถึง ม.6 ที่คิดว่าจะเล่นดนตรีเป็นอาชีพแน่ ๆ วันหนึ่งจึงตัดสินใจขอเงินพ่อไปเรียนกีตาร์กับอาจารย์ที่เป็นโปรด้านกีตาร์ในขอนแก่น ทำให้ได้ฝึกแบบถูกวิธีมีแบบแผน 

นอกจากด้านดนตรีที่เริ่มเป็นตัวแทนโรงเรียน ต้องซ้อมลงแข่งประกวดตามสนามต่าง ๆ ตั้งแต่ขึ้น ม.5 ชีวิตของอ๋าในห้องเรียนวิทย์-คณิต ที่โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ได้สนใจเรื่องอื่น ๆ บ้าง ตอนเพื่อนชักชวนลงสมัครสภานักเรียน “ก็ไม่รู้ทำไมเขาชวนเรา แต่เพื่อนบอกจะเอาไปทำฝ่ายโสตฯ ดูแลพวกอุปกรณ์ แล้วจากทิศทางของนโยบายทำโรงเรียนให้ดีขึ้นก็เลยเชื่อใจและอยู่ในพรรค พอลงสมัครก็ได้รับเลือกและคิดว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด” 

แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็รู้สึกว่า สิ่งที่เคยโฆษณาไว้ตอนหาเสียงไม่ได้ถูกทำให้เกิดขึ้นจริง “มองในมุมเพื่อนก็พอเข้าใจเพราะเป็นช่วงโควิดระบาด จึงจัดการอะไรไม่ได้” 

อ๋าอธิบายต่อว่า สถานการณ์ช่วงนั้นมีข้อเรียกร้องจากการเมืองกระแสหลักกำลังมาแรง เริ่มมีรุ่นน้อง มีเพื่อน ออกมาพูดบ้าง จนช่วงครึ่งหลังของปี 2563 กลุ่มกิจกรรมพูดคุยถึงข้อเรียกร้อง 3 ข้อที่หนักแน่นขึ้น ได้แก่ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และองคาพยพ ลาออก 2. รัฐสภาต้องเปิดประชุมวิสามัญทันทีเพื่อรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย “มีการพูดถึงอภิวัฒน์สยาม 2475 เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ก็เกิดอยากรู้เหมือนกันจึงไปหาข้อมูลตามทวิตเตอร์” 

สำหรับอ๋า จุดที่หักเหจริง ๆ เป็นเหตุการณ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ที่เพื่อนในโรงเรียนประกาศแสดงออกสัญลักษณ์ Flash Mob จะมีการชุมนุมชูกระดาษเปล่า และปราศรัยสั้น ๆ ตอนนั้นอยู่ ม.6 ด้วยความเป็นสภานักเรียน อ๋าพบว่าอยู่ดี ๆ ครูก็เรียกประชุมสภาด่วน มีการพูดคุยหารือว่า จะจัดการกับการชุมนุมของนักเรียนยังไงดี และส่วนใหญ่อยากให้หยุดเพราะจะสร้างความวุ่นวาย 

“แต่ในความคิดส่วนตัวคนไปชุมนุมแค่นั้น ไม่น่าจะวุ่นวายได้” สุดท้ายตอนบ่ายโมงโรงเรียนประกาศให้นักเรียนทุกคนกลับบ้าน อ้างว่าจะมีการพ่นยากันยุง เลยฉงนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะแค่เป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์ และมีนักเรียนไม่ถึง 10 คนที่จะทำกิจกรรมดังกล่าว

วันเดียวกันนั้นเองหนึ่งในคนที่จะไปแสดงออกทางการเมืองโทรมาตามให้อ๋าไปพบ เมื่อไปถึงจึงเห็นการรวมกลุ่มของนักเรียนหลาย ๆ โรงเรียนในขอนแก่น หนึ่งในบทสนทนาคือมีหลายโรงเรียนที่เผชิญเหตุการณ์นี้เหมือนกัน ทุกคนลงความเห็นว่า โรงเรียนไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียน ไม่สามารถทำให้นักเรียนแสดงออกได้ เราควรสร้างกลุ่มที่คอยส่งเสียงให้ใหญ่กว่าเดิม ให้ภาครัฐเห็นว่าเราสำคัญ การพูดคุยวันนั้นเกิดเป็นภาคีนักเรียน KKC ที่ภายหลังอ๋าได้เข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มนี้อย่างเต็มตัว 

‘Take the Power Back’

“ช่วงเข้ามหาวิทยาลัยปี 1 ตอนปี 2564 เป็นช่วงกำลังซิ่ง ให้เป็นเพลง Take the Power Back ของ Rage Against the Machine กำลังมันส์ พร้อมไฮด์ปาร์ค พร้อมพูด เพราะหงุดหงิดสุด ๆ ไม่เอาอำนาจนิยมจริง ๆ แล้ว” 

น่าจะเป็นเพราะสั่งสมเรื่องราวการต่อสู้มาตั้งแต่ ม.ปลาย ทั้งเรื่องโรงเรียน เรื่องเหตุการณ์ที่กรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นการจับกุม การสลายการชุมนุม ที่บางครั้งเขาก็ตกอยู่ในวงล้อมของโล่ตำรวจควบคุมฝูงชน จนทุกอย่างประกอบร่างเป็นตัวอ๋า มองว่าความหมายหลัก ๆ จากเพลงดังกล่าวเป็นการปลุกระดม 

“ผมมองว่า ไปเอาอำนาจ ไปเอาสิทธิเอาเสียงของเราคืนมาจากผู้มีอำนาจ ช่วงนั้นก็เป็นการเปลี่ยนตัวเองจากเด็กนักเรียนเป็นวัยนักศึกษามหาลัย มีความอิสระมากขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงมากขึ้น” 

ปี 2564 อ๋าเคลื่อนไหวร่วมกับ 3 กลุ่ม ภาคีนักเรียน KKC ที่ทำมาก่อนหน้านั้น ‘ขอนแก่นพอกันที’ เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ไปแสดงออกทางการเมืองตามวาระโอกาสในขอนแก่น และพรรคปฏิวัติมอดินแดง พรรคการเมืองในมหาวิทยาลัยที่ผลักดันเรื่องสวัสดิภาพของนักศึกษา ทั้งหมดสอดรับไปกับกระแสความเคลื่อนไหวทางการเมือง 

กระทั่งกิจกรรมคาร์ม็อบขอนแก่นครั้งที่ 3 ใต้ชื่อ “แห่ ไล่ ประยุทธ์” เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2564 หลังเหตุการณ์อ๋าและผู้เข้าร่วมชุมนุมรวม 10 คน ถูกฟ้องคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และจากกิจกรรมครั้งเดียวกันนี้ก็ทำให้อ๋าและคนอื่น ๆ รวม 5 คน ถูกดำเนินคดี “ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์” ที่คำฟ้องระบุว่า “จำเลยร่วมกันขว้างปาถุงบรรจุสีน้ำ (หลากหลายสี) จํานวนหลายถุง ใส่ป้ายตํารวจภูธรภาค 4 และพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 จนเปรอะเปื้อนเสียหายใช้การไม่ได้ ซึ่งป้ายตํารวจภูธรภาค 4 มูลค่า 12,000 บาท และรูปภาพพระบรมฉายาลักษณ์ มูลค่า 51,966.16 บาท เป็นทรัพย์สินของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ผู้เสียหาย คิดค่าเสียหายรวมเป็นเงินจํานวน 63,966.16 บาท”

ระหว่างต่อสู้คดีที่ต้องไปสถานีตำรวจบ้าง สำนักงานอัยการ กระทั่งต้องไปศาลบ้าง เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่อ๋าเริ่มเอาตัวเองออกจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในปลายเทอมสองของปี 1 เหตุผลหลัก ๆ เพราะครอบครัวประสบปัญหาเรื่องหนี้สินเหมือนตอนเด็ก ๆ แต่ครั้งนี้หนักกว่า 

“ที่บ้านโทรมาบอกว่า อีก 1-2 เดือน จะไม่ไหวแล้วนะ ตอนนั้นรู้สึกว่าต้องลดบทบาทตัวเองตรงนี้ก่อน ไม่งั้นพ่อกับแม่ก็หนัก คิดว่ามาหาเงินช่วยพ่อแม่ เพราะพ่อแม่มีหนี้ที่บ้านเยอะ”  

เมื่อรู้สึกว่าต้องช่วยทางบ้าน เพราะพ่อก็อายุมากแล้ว จึงต้องหางานทำ เริ่มจากไปขอล้างจานที่ร้านกะเพราของรุ่นพี่ ได้ครั้งละ 300 บาท อ๋าเล่าถึงเหตุการณ์วันนั้นว่า อย่างน้อยก็ไม่ได้ไปขอพ่อแม่ และรับงานจ้างจากคนที่ทำการเมือง ไปเคลียร์สถานที่ ทำการบ้านให้รุ่นน้อง “งานอะไรได้เงินคือเอาหมด” 

ผ่านไประยะหนึ่ง วันหนึ่งมีคนโทรศัพท์เข้ามา เป็นนักดนตรีรุ่นพี่ที่เคยเห็นอ๋าไปเล่นเปิดหมวกของพรรคปฏิวัติมอดินแดง ชักชวนให้ไปเล่นแทนที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเล่นดนตรีกลางคืนอย่างเป็นทางการ ก่อนจะค้นพบภายหลังว่า นอกจากดนตรีแจ๊สที่ร่ำเรียนมา ต้องมีเพลงแขนงอื่น ๆ เก็บสะสม ทั้งแนวตลาดและวาไรตี้ 

จากนั้นเพื่อนก็ชวนไปออดิชั่นตามร้านต่าง ๆ ตอนปลายปี 1 ยังไม่ได้มีพื้นที่เยอะมาก เพียง 2-3 รอบต่อสัปดาห์ ขึ้นปี 2 มีงานเยอะขึ้น เล่นเกือบทุกวัน มีรายได้ต่อเดือนประมาณ 15,000 บาท ตอนนั้นเล่นเพลงสากล อาร์แอนด์บี แต่ถนัดสุดคือ Soul ที่สามารถหยิบองค์ประกอบจากพื้นฐานแจ๊สที่ร่ำเรียนมาเอามาผสานได้ เพลงจากศิลปินที่เล่นบ่อย ๆ มี  Keshi, นนท์ ธนนท์ 

อ๋าบอกว่า ช่วงที่เล่นดนตรีตอนอยู่ปี 1 ปี 2 ยังกลับมาช่วยรุ่นน้องในภาคีนักเรียน KKC ทำกิจกรรมได้บ้าง แต่ตั้งแต่ขึ้นปี 3 ที่ต้องทั้งหาเงินและต้องเรียนไปด้วย ทำให้เขาห่างจากการเมืองไปจริง ๆ 

‘The Great Gig in the Sky’

ช่วงที่ถูกดำเนินคดีตอนปี 1 ตอนนั้นอ๋ามืดแปดด้านเพราะไม่เคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน แต่สิ่งที่อ๋ารีบตัดสินใจคือบอกพ่อแม่ก่อนเลยว่าโดนคดี “แต่ก็เกริ่นมาแล้วว่าเคลื่อนไหวอยู่ตลอด มีสิทธิจะถูกแจ้งข้อกล่าวหาเข้าสักวัน ก็ต้องไปตามกระบวนการ แต่ถามว่าเห็นด้วยมั้ย ก็ไม่เห็นด้วย” 

ทั้งสองคดีกว่าศาลจะสืบพยานก็ตอนอยู่ปี 3 และปี 4 ตอนนั้นนึกถึงเพลง The Great Gig in the Sky ของ วงโปรเกสซีฟร็อคในตำนานอย่าง Pink Floyd “มันมีความครุ่นคิดว่าจะเอาไงต่อดี แต่พอไปอีกช่วงหนึ่งก็เริ่มเข้าใจ แต่ลึก ๆ ก็มีความว่างเปล่าว่า จะไปต่อได้ไหม พ่อแม่จะครุ่นคิดหรือเปล่าว่าเราอาจจะหมดอนาคตเพราะเรื่องนี้ไปเลย”

เมื่อมองไปถึงคนถูกดำเนินคดีร่วมกันซึ่งต่างก็เป็นคนรุ่นใกล้ ๆ กัน “เราต่างคนต่างเสียเวลา เพราะเริ่มมีงาน อย่างผมก็ต้องลาเรียนเพื่อไปศาล มาเสียเวลากับเรื่องราวแบบนี้”  

ย้อนไปในเหตุการณ์วันที่ถูกดำเนินคดี เกิดจากความคับแค้นใจที่สั่งสมมาเยอะแล้ว ทั้งเรื่องการกระจายวัคซีนโควิด ทั้งไม่เห็นด้วยกับการสลายการชุมนุมที่สร้างความรุนแรงกับประชาชน “เลยคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างที่น่าจะส่งผล ส่งสาร ส่งภาพ ไปหาส่วนกลาง เลยเลือกที่จะปาสีใส่โล่ของ คฝ. และภาพที่ปรากฏคือโล่ที่เปื้อนสี หรือแม้กระทั่งป้ายเปื้อนสี เพื่อแสดงให้เห็นว่าทางอีสานก็ไม่พอใจกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ”

หลังต่อสู้คดีมายาวนาน อ๋ารับว่าไม่กังวลกับคำพิพากษาเลย ผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตามนั้น ถ้าโดนปรับก็จ่าย แต่จะไหวมั้ยอีกเรื่องหนึ่ง ก็พร้อมที่จะไปเผชิญหน้า

กับชีวิตในหนทางข้างหน้าของนักศึกษากีตาร์แจ๊ส อ๋าคิดว่าเรียนจบก็อยากทำเพลงกับเพื่อนแล้วได้ออกทัวร์อัลบั้ม ตอนนี้วง T. Nue Thun  (ต.เนื้อตุ๋น) ที่อ๋าเป็น 1 ใน 5 สมาชิก ในตำแหน่งกีตาร์ มีเพลงของตัวเองปล่อยออกมา 2 เพลง หนึ่งในนั้นชื่อเพลง ‘You’ เพลงป๊อปฟังสบายที่มีกลิ่นอายความเป็น R&B (Rhythm & Blues) แฝงอยู่ และมีเดโมเพลงที่กำลังจะเข้าห้องอัดอีกอีกจำนวนหนึ่ง  

เหตุที่ใช้ชื่อ ต.เนื้อตุ๋น เพราะเป็นชื่อไทย ๆ เหมือนวงที่มีชื่อสะดุดตาอย่าง ‘ปลานิลเต็มบ้าน’ ในแนวเพลงอินดี้ป๊อป กระบวนการทำเพลงเริ่มจากนักร้องแต่งเนื้อเพลง เขาใส่ไลน์กีตาร์  ผสมผสานสิ่งที่ต่างคนต่างชอบ “ผมอาจจะชอบงานฝรั่ง สมาชิกคนอื่นอาจจะฟังอินดี้ป๊อปไทย ตอนนี้ทางวงก็มีงานอีเวนท์ไปเล่นบ้าง ทั้งของมหาลัยหรือของเทศกาลอื่น ๆ  ผมตั้งเป้าอยากทำวงให้ประสบความสำเร็จ เข้าค่ายเพลงและออกอัลบั้ม อนาคตข้างหน้าอาจเรียนรู้การเป็นโปรดิวเซอร์” อ๋าบอกเล่าความฝัน

พ้นไปจากงานดนตรีที่มุ่งมั่น เอาจริงเอาจัง ทุกวันนี้อ๋ายังสนใจการเมือง หากจะมีการเล่นดนตรีในที่ชุมนุม “ถ้าเป็นผมคนเดียวก็จะไปเลย”  

ด้วยยังอยากเห็นสิ่งที่คาดหวังจะเห็นตอนปี 1 ถ้าเลือกตั้งรัฐบาลต้องมาจากเสียงของประชาชนจริง ๆ และสนใจเรื่องรัฐสวัสดิการที่สอดคล้องกับทุกคนมากกว่านี้ ในฐานะฟรีแลนซ์อยากเห็นสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐานที่คนเข้าถึงได้ง่าย “อย่างผมทำงานดนตรี อยากให้คนไม่เครียดกับเรื่องต่าง ๆ จนเกินไป ทั้งทำงานหนัก จนไม่มีเวลาสนใจเรื่องอื่น” 

อย่างน้อย ๆ อยากให้ถนนดี สิ่งแวดล้อมดี “ผมเชื่อว่าถ้าสิ่งแวดล้อมดี คนจะเลือกมาเสพงานศิลปะมากขึ้น ต้องมีพื้นที่ให้คนเข้าถึงงานที่จรรโลงจิตใจบ้าง”  

สุดท้ายเปรียบชีวิตปัจจุบันเป็นดั่งบทเพลง  ‘Desperado’ ของ Eagle “ผมรู้สึกเข้าใจในชีวิตมากขึ้น เป็นความปลงว่า ความผิดหวังเป็นแบบนี้นะ แต่ไม่เป็นไร ทำให้เรารู้สึกโตขึ้น ทั้งชีวิตส่วนตัวและเรื่องราวต่อสู้ทางการเมืองที่ผ่านมา ก็ไม่คิดว่าตัวเองจะได้เจออะไรอีกข้างหน้า แต่ก็พร้อมรับมือกับทุกอย่าง”  

X