อัยการฟ้อง 5 นศ.-นักกิจกรรมขอนแก่น ร่วมคาร์ม็อบ#3 “ทำให้เสียทรัพย์” อีกคดี กล่าวหาปาสีใส่ป้าย ตร.ภ.4 – รูป ร.10 จนเปรอะเปื้อน-ใช้การไม่ได้

30 ม.ค. 2567 เวลา 10.30 น. นักศึกษาและนักกิจกรรม “ราษฎรขอนแก่น” 5 คน เดินทางไปที่ศาลแขวงขอนแก่น ตามที่พนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่นนัดหมาย เพื่อส่งฟ้องในข้อหา “ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์” จากกิจกรรมคาร์ม็อบขอนแก่น#3 “แห่ ไล่ ประยุทธ์” เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2564 ซึ่งมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้กล่าวหา หลังจากก่อนหน้านี้ ทั้งห้าถูกฟ้องในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกิจกรรมครั้งเดียวกันนี้ร่วมกับนักกิจกรรมอีก 5 ราย ไปแล้ว คดีอยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษาในวันที่ 8 มี.ค. 2567 นี้ 

ภายหลังศาลรับฟ้อง ทั้งห้าถูกนำตัวไปควบคุมที่ห้องขังใต้ถุนศาล จากนั้นทนายความได้ยื่นขอปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งห้าระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่มีหลักประกัน กว่า 4 ชั่วโมง ทั้งหมดจึงได้รับปล่อยตัว หลังศาลอนุญาตให้ประกันโดยให้วางหลักทรัพย์คนละ 2,000 บาท หากผิดสัญญาประกันให้ปรับคนละ 30,000 บาท โดยใช้เงินประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์

ทั้งนี้ เนื่องจาก ณัฏฐสกล เวชศิรพลานนท์, นุ้ก (นามสมมติ) และพงศธร (สงวนนามสกุล) ยังเป็นนักศึกษา กุลธิดา กระจ่างกุล และพายุ บุญโสภณ มีภาระการทำงานในต่างจังหวัด ทนายจึงขอให้ศาลสอบคำให้การในวันฟ้องนี้ และเตรียมยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีลับหลัง เพื่อที่จะได้ไม่เป็นภาระของจำเลยในการเดินทางมาศาลในนัดต่อๆ ไป ยกเว้นในนัดเบิกความเป็นพยานให้ตนเอง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอัยการโจทก์ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเดินทางมาศาลในวันนี้ได้ ศาลจึงนัดไปสอบคำให้การในวันที่ 19 ก.พ. 2567 ทำให้จำเลยต้องเดินทางมาศาลอีกครั้งในวันดังกล่าว

สำหรับคำฟ้อง วิมลพงศ์ ปัทมเมฆินทร์ พนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่น ระบุว่า เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2564 จําเลยทั้งห้ากับพวกได้ร่วมกันขว้างปาถุงบรรจุสีน้ำ (หลากหลายสี) จํานวนหลายถุง ใส่ป้ายตํารวจภูธรภาค 4 และพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 จนเปรอะเปื้อนเสียหายใช้การไม่ได้ ซึ่งป้ายตํารวจภูธรภาค 4 มูลค่า 12,000 บาท และรูปภาพพระบรมฉายาลักษณ์ มูลค่า 51,966.16 บาท เป็นทรัพย์สินของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ผู้เสียหาย คิดค่าเสียหายรวมเป็นเงินจํานวน 63,966.16 บาท 

อัยการระบุอีกว่า คดีนี้พ้นกําหนดระยะเวลาผัดฟ้องแล้ว แต่อธิบดีอัยการภาค 4 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดได้อนุญาตให้ฟ้องจําเลยทั้งห้าแล้ว ตามหนังสืออนุญาตให้ฟ้อง ลงวันที่ 9 พ.ย. 2566 

ตอนท้ายของคำฟ้อง อัยการยังระบุว่า ขอให้ศาลนับโทษจําคุกของณัฏฐสกล, นุ้ก, กุลธิดา และพายุ ในคดีนี้ต่อกับโทษจําคุกในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (คดีคาร์ม็อบขอนแก่น#3 เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2564) ของศาลแขวงขอนแก่นด้วย แต่ไม่คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี

.

คดีนี้ในชั้นสอบสวน คณะพนักงานสอบสวนได้แจ้งการกระทำที่กล่าวหาว่า วันดังกล่าวผู้ต้องหาได้เข้าร่วมกิจกรรม “CAR MOB #3” โดยได้มีการเคลื่อนขบวนไปตามถนนต่าง ๆ ในเขตอําเภอเมืองขอนแก่น เมื่อถึงบริเวณหน้ากองบัญชาการตํารวจภูธรภาค 4 ผู้ต้องหาได้นําถุงบรรจุสีน้ำซึ่งมีการตระเตรียมมาจํานวนมาก ขว้างปาใส่ป้ายตํารวจภูธรภาค 4 จนสีน้ำเปรอะเปื้อนบริเวณป้ายตํารวจภูธรภาค 4 และกระเด็นไปถูกพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ซึ่งอยู่ในบริเวณดังกล่าว ได้รับความเสียหายมูลค่า 63,966.16 บาท 

ต่อมา สํานักงานตํารวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ ในฐานะนิติบุคคล ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ได้รับความเสียหายข้างต้น ได้มอบอํานาจให้ พ.ต.อ.เชษฐ แตงนารา (ผู้กำกับกลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4) ร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีกับผู้ต้องหาในข้อหา “ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ซึ่งมีอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

นักกิจกรรมทั้งห้าให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และยังได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึงอัยการ ระบุว่า คดีนี้มีเหตุจากการจัดกิจกรรม CAR MOB #3 เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2564 ซึ่งเป็นเหตุและพฤติการณ์เดียวกันกับคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่พนักงานสอบสวนได้ส่งสํานวนคดีให้กับพนักงานอัยการศาลแขวงขอนแก่นแล้ว จึงขอให้อัยการรวมสำนวนคดีทั้งสองเป็นคดีเดียวกัน เพื่อความสะดวกต่อการพิจารณาคดี 

อย่างไรก็ตาม อัยการไม่ได้รวมคดีตามที่ผู้ต้องหาร้องขอ และแยกฟ้องเป็น 2 คดี ทำให้นักกิจกรรมทั้ง 5 ราย มีภาระต้องเดินทางไปศาลและต่อสู้คดีรวม 2 คดี จากการเข้าร่วมคาร์ม็อบขอนแก่นครั้งที่ 3

.

X