ประมวลคดีปาสีใส่ป้าย ตร.ภ.4: 5 นักกิจกรรมขอนแก่นยืนยัน ร่วมปาสีเหตุไม่พอใจรัฐบาลและตำรวจสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง ทั้งสีที่ปาเป็นสีน้ำล้างออกได้  

17 ต.ค. 2567 นักศึกษาและนักกิจกรรม “ราษฎรขอนแก่น” 5 คน มีนัดเดินทางไปที่ศาลแขวงขอนแก่นเพื่อฟังคำพิพากษาคดีที่ถูกอัยการฟ้องในข้อหา “ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์” กรณีมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์แสดงความไม่พอใจตำรวจด้วยการปาสีใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 ในคาร์ม็อบขอนแก่น#3 “แห่ ไล่ ประยุทธ์” เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2564 

จำเลยทั้งห้าได้แก่ ณัฏฐสกล เวชศิรพลานนท์, พายุ บุญโสภณ, นุ้ก (นามสมมติ), พงศธร (สงวนนามสกุล) และกุลธิดา กระจ่างกุล ขณะเกิดเหตุทั้งหมดยกเว้นพายุ ยังเป็นนักศึกษา ปัจจุบันมีเพียงณัฏฐสกลที่ยังคงศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

ทั้งห้าคนถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2564 ร่วมกับ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ และนักกิจกรรมคนอื่น รวมทั้งหมด 10 ราย จากกิจกรรมครั้งเดียวกันนี้แล้ว แต่หลังจากนั้น พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ตัวแทนสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ได้มอบอํานาจให้ พ.ต.อ.เชษฐ แตงนารา เข้าร้องทุกข์ดําเนินคดีกับผู้ชุมนุม อ้างว่า กลุ่มผู้ชุมนุมในวันดังกล่าวได้ปาถุงสีใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 (ตร.ภ.4) ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แก่ ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 และพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 คิดเป็นเงินรวม 63,966.16 บาท 

ต่อมา พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ได้ออกหมายเรียกนักศึกษาและนักกิจกรรมทั้ง 5 คน เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ทำให้เสียทรัพย์ ในคดีนี้เป็นอีกคดี ทั้งที่อาจจะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมเป็นคดีเดียวกันได้ เป็นการสร้างภาระเกินจำเป็นให้กับนักกิจกรรมที่ต้องต่อสู้คดีรวม 2 คดี จากการเข้าร่วมคาร์ม็อบขอนแก่น#3

ทั้งนี้ ในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2567 ศาลแขวงขอนแก่นได้มีคำพิพากษายกฟ้องนักกิจกรรมทั้งสิบไปแล้ว

เกี่ยวกับคาร์ม็อบขอนแก่น#3 นั้น เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2564 เพจ “ขอนแก่นพอกันที” ได้โพสต์นัดหมายชุมนุม โดยโพสต์แคปชั่นประกอบด้วยว่า “การชุมนุมรอบนี้ราษฎรขอนแก่นพร้อมยืนยันตอบโต้รัฐที่ทำร้ายประชาชนอย่างไม่แยแสความเป็นมนุษย์” เนื่องจากก่อนหน้านั้นมีการใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางเข้าสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาล โดยเฉพาะการชุมนุมหน้า สน.ดินแดง ในวันที่ 16 ส.ค. 2564 วาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปี ถูกยิงด้วยกระสุนจริงเข้าที่คอ อาการสาหัส และเสียชีวิตในภายหลัง โดยก่อนหน้าวันชุมนุมมีการขอรับบริจาคสีน้ำ และก่อนเริ่มกิจกรรมปาสีมีการประกาศว่า “เป็นการแอคชั่นเพื่อต่อต้านการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ” 

.

สำหรับคดีนี้ เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2567 พนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่นยื่นฟ้องณัฏฐสกล, พายุ, นุ้ก, พงศธร และกุลธิดา ต่อศาลแขวงขอนแก่น ในข้อหาร่วมกันทำให้เสียทรัพย์  ระบุว่า เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2564 จําเลยทั้งห้ากับพวกได้ร่วมกันขว้างปาถุงบรรจุสีน้ำ (หลากหลายสี) จํานวนหลายถุง ใส่ป้ายตํารวจภูธรภาค 4 และพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นทรัพย์สินของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ จนเปรอะเปื้อนเสียหายใช้การไม่ได้ คิดค่าเสียหายรวมเป็นเงินจํานวน 63,966.16 บาท 

ต่อมา วันที่ 16 ก.พ. 2567 พ.ต.ท.พิทยา กำแหงพล รับมอบอำนาจสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เข้ายื่นคำร้องต่อศาลขอเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเป็นเงินจำนวน 63,966.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี นับจากวันที่จำเลยทั้งห้ากระทำความผิด (วันที่ 22 ส.ค. 2564) จนกว่าจะชำระเสร็จ

การสืบพยานในคดีนี้มีขึ้นช่วงวันที่ 23-26 และ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา อัยการนำพยานโจทก์เข้าสืบรวม 11 ปาก และพยานผู้ร้องหรือผู้เสียหายอีก 1 ปาก ทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งผู้รับมอบอำนาจจาก สตช. ชุดสืบสวน และพนักงานสอบสวน โดยเบิกความสรุปได้ว่า มีภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกับผู้ชุมนุมปาสีใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 ในวันเกิดเหตุ ซึ่งสีบนป้ายบางส่วนล้างไม่ออก ต้องจ้างบริษัททำความสะอาด ทั้งใช้น้ำล้างสีที่พระบรมฉายาลักษณ์ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนใหม่ แต่รับว่าสีที่ผู้ชุมนุมใช้เป็นสีน้ำ และไม่มีข้อมูลว่ามีใครปาสีใส่พระบรมฉายาลักษณ์ รวมทั้งไม่ปรากฏภาพพระบรมฉายาลักษณ์ได้รับความเสียหาย  

ด้านจำเลยมีจำเลยทั้งห้าเบิกความเป็นพยานให้ตนเอง ยืนยันว่า การปาสีเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง ตนร่วมปาสีเนื่องจากไม่พอใจรัฐบาลและตำรวจที่สลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ด้วยความรุนแรง โดยตั้งใจปาใส่โล่ตำรวจและป้าย โดยไม่ได้มีเจตนาทำให้ทรัพย์สินเสียหาย เนื่องจากทราบว่าเป็นสีน้ำที่ล้างออกได้

รายละเอียดคำเบิกความของพยานโจทก์และพยานจำเลยมีดังนี้

.

พ.ต.อ.เชษฐ แตงนารา ผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหาย (สตช.) เข้าแจ้งความร้องทุกข์ เบิกความว่า เหตุในคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2564 ขณะนั้นพยานรับราชการตำแหน่งผู้กำกับฝ่ายกฎหมายคดีปกครองและคดีแพ่ง กองบังคับการกฎหมายและคดี กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 มีอำนาจหน้าที่เป็นนิติกรประจำกองบัญชาตำรวจภูธรภาค 4 ในด้านเกี่ยวกับกฎหมายคดีแพ่งและคดีปกครอง 

โดยในคดีนี้พยานได้รับมอบอำนาจจาก พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ให้เข้าแจ้งความร้อง ทุกข์ให้ดำเนินคดีจำเลยทั้งห้าในคดีนี้ ในข้อหาร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ทั้งนี้ ผบ.ตร. เป็นผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ผู้เสียหาย ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล 

สืบเนื่องมาจากในวันที่ 22 ส.ค. 2564 ได้มีคาร์ม็อบเคลื่อนขบวนมาที่บริเวณหน้าตำรวจภูธรภาค 4 จากนั้นกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมได้มีการทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 และป้ายตำรวจภูธรภาค 4 ด้วยการขว้างปาสีใส่จนได้รับความเสียหาย คิดเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 63,966.16 บาท 

ภายหลังจากเหตุการณ์ตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่นได้รายงานให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ทราบ จากนั้นฝ่ายอำนวยการ 2 ตำรวจภูธรภาค 4 ได้ตรวจสอบความเสียหายและรายงานผู้บังคับบัญชา ตำรวจภาค 4 จึงได้รายงาน สตช. เพื่อให้มอบอำนาจมาดำเนินการดำเนินคดี 

ต่อมา เมื่อ สตช. มอบอำนาจให้พยานแล้ว พยานจึงได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีกับจำเลยทั้งห้า และต่อมาในวันที่ 3 พ.ย. 2564 พยานได้ให้การต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ในฐานะผู้กล่าวหา 

จากนั้น พ.ต.อ.เชษฐ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่เห็นเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ และไม่ได้ไปตรวจที่เกิดเหตุด้วยตัวเอง แต่ก่อนเข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจำเลยทั้งห้า พยานได้อ่านรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมแล้ว และได้อาศัยข้อเท็จจริงจากรายงานดังกล่าวเป็นหลักฐาน 

ตามรายงานความเคลื่อนไหวฯ ระบุข้อความว่า ในช่วงเวลา 18.53 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้ขว้างปาถุงบรรจุสีใส่โล่ตำรวจและป้ายตำรวจภูธรภาค 4 ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่า จำเลยทั้งห้าได้ร่วมปาถุงบรรจุสีด้วย 

ค่าเสียหายจำนวน 63,966.16 บาทนั้น เป็นการรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่พระบรมฉายาลักษณ์และป้ายตำรวจภูธรภาค 4 ซึ่งตรวจพบความเสียหายภายหลังจากเกิดเหตุแล้ว 

พยานไม่ทราบว่า ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 มีความสูงกี่เมตร และพระบรมฉายาลักษณ์ที่ติดตั้งอยู่ด้านบนของป้ายสูงขึ้นไปอีกกี่เมตร 

.

พ.ต.ท.สมพงษ์ เทือกเพีย ขณะเกิดเหตุเป็นรองผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ 4 กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 มีหน้าที่ควบคุมดูแลการจัดซื้อจัดจ้าง เบิกความว่า เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2564 พยานได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาว่า มีการชุมนุมคาร์ม็อบครั้งที่ 3 และมีการสาดสีใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 รวมทั้งพระบรมฉายาลักษณ์ ให้พยานไปตรวจสอบความเสียหาย 

เวลาประมาณ 22.00 น. ภายหลังจากที่กลุ่มผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมแล้ว พยานเดินทางไปถึง พบกำลังพลของกองบังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 4 กำลังใช้ปืนอัดแรงดันน้ำฉีดทำความสะอาดล้างคราบสีออกจากป้ายตำรวจภูธรภาค 4 และพื้น โดยพบว่า ไม่สามารถล้างสีขาวและสีอื่นอีกหลายสีออกได้  ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นสีประเภทใด 

ส่วนของป้ายที่ปืนแรงดันน้ำฉีดล้างสีออกได้เพียงบางส่วนประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ คือบริเวณตัวอักษรและตราโล่ พยานยังตรวจพบว่า พระบรมฉายาลักษณ์ที่ติดตั้งอยู่ด้านบนก็ได้รับความเสียหายจากสีตั้งแต่บริเวณกลางภาพลงมาด้านล่าง 

หลังจากตรวจสอบความเสียหายแล้วพยานได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ต่อมา ผู้บังคับบัญชาได้สั่งการให้จัดหาผู้รับเหมามาดำเนินการทำความสะอาดป้ายตำรวจภูธรภาค 4 มีผู้สนใจเสนอราคาเข้ามา 2 ราย โดยรายที่ได้รับเลือกคือ หจก.กรชานนท์ เสนอราคา 12,000 บาท 

วันที่ 26 ส.ค. 2564 หจก.กรชานนท์ ได้เข้าทำความสะอาดป้ายตำรวจภูธรภาค 4 แต่ไม่สามารถล้างสีออกได้หมด โดยทางผู้รับเหมาแจ้งว่า คราบสีบริเวณสัญลักษณ์ตราโล่ฝังลึก ไม่สามารถล้างออกได้ 

พยานจึงได้จัดหาผู้รับเหมามาทำความสะอาดเพิ่มเติม โดย หจก.อำนวยศิลป์การช่าง ได้รับการคัดเลือก เสนอราคาในการทำความสะอาดตราโล่ 8,500 บาท ในส่วนของพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งไม่สามารถล้างทำความสะอาดได้ เสนอราคาในการจัดทำใหม่พร้อมติดตั้งเป็นเงิน 40,066.50 บาท เมื่อรวมภาษีแล้วรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 51,966.06 บาท 

หจก.อำนวยศิลป์ฯ ได้ดำเนินการตามที่ได้รับเหมาในช่วงประมาณวันที่ 28 ส.ค. 2564 จากนั้นพยานได้ทำบันทึกเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อขอเบิกจ่ายให้แก่ หจก.กรชานนท์ และ หจก.อำนวยศิลป์การช่าง รวมเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้น 63,966.16 บาท 

การดำเนินการของพยานเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภัณฑ์ พ.ศ. 2560 

พ.ต.ท.สมพงษ์ ตอบทนายจำเลยถามค้านในเวลาต่อมาว่า พยานไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุด้วย แต่เดินทางไปตรวจสอบความเสียหายหลังยุติการชุมนุมแล้ว พร้อมกับผู้ใต้บังคับบัญชาอีก 3-4 คน 

ภายหลังผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าทำความสะอาด แต่ไม่ได้ระบุในรายงานความเสียหาย และในวันที่ 23 ส.ค. 2564 ผู้บังคับบัญชาได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ชุดอื่นเข้าทำความสะอาดป้ายโดยใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันอีก ซึ่งยังมีสีบางส่วนล้างไม่ออก พยานไม่ได้ร่วมดำเนินการด้วย

พยานไม่มั่นใจว่า สีที่ผู้ชุมนุมใช้ในวันดังกล่าวจะเป็นสีผสมน้ำหรือไม่  

ผู้ใต้บังคับบัญชาของพยานเป็นผู้จัดทำรายงานความเสียหาย โดยภาพถ่ายแนบท้ายรายงานดังกล่าวเป็นภาพถ่ายความเสียหายที่เกิดขึ้นกับป้ายตำรวจภูธรภาค 4 และพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งตามภาพถ่ายตัวอักษรบนป้ายตำรวจภูธรภาค 4 ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด 

พื้นป้ายตำรวจภูธรภาค 4 ทำมาจากหินแกรนิตสีดำ ผิวลื่น ตัวอักษรทำจากอลูมิเนียม ส่วนสัญลักษณ์ตราโล่ทำมาจากอลูมิเนียมคอมโพสิท ทั้งหมดเป็นพื้นผิวเรียบ มันวาว ยกเว้นตราโล่ที่ผิวขรุขระ ส่วนพื้นบริเวณด้านหน้าป้ายเป็นหินแกรนิต ผิวเรียบ   

สัญลักษณ์ตราโล่บนป้ายตำรวจภูธรภาค 4 ของเดิมทำจากอลูมิเนียมคอมโพสิท เมื่อไม่สามารถล้างคราบสีออกได้จึงได้มีการเปลี่ยนอันใหม่โดยใช้เป็นวัสดุเหมือนเดิม 

ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 มีความสูงประมาณ 4 เมตร ส่วนข้อความว่า “ทรงพระเจริญ” และพระบรมฉายาลักษณ์ติดตั้งในระดับที่สูงตั้งแต่ 4 เมตรขึ้นไปจนถึงประมาณ 8 เมตร 

ตามบันทึกข้อความขออนุมัติเบิกเงินค่าจ้างเหมาติดตั้งพระบรมฉายาลักษณ์ ไม่ปรากฏภาพถ่ายพระบรมฉายาลักษณ์ที่ได้รับความเสียหายว่าเป็นไปในลักษณะใด

ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 มีขอบสูงขึ้นมาจากพื้นป้าย แต่พยานไม่ทราบว่าสูงที่เซนติเมตร และไม่ยืนยันว่า หากมีการปาสีใส่ป้าย สีน่าจะต้องกระเด็นติดที่ขอบป้ายดังกล่าว ไม่กระเด็นไปถูกพระบรมฉายาลักษณ์ 

พยานไม่ทราบว่า การที่พระบรมฉายาลักษณ์ได้รับความเสียหายนั้น เกิดจากกลุ่มผู้ชุมนุมจงใจปาสีใส่พระบรมฉายาลักษณ์โดยตรงหรือไม่  

.

โจทก์นำตำรวจสืบสวนเข้าเบิกความ 2 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท.สุกฤษฎิ์ พุทธิทัยธีรธร และ พ.ต.ต.ชัยพิชิต ปฏิสังข์ สารวัตรและรองสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ทั้งสองเบิกความโดยสรุปว่า วันเกิดเหตุในคดีนี้พยานได้รับมอบหมายให้ทำการติดตามกลุ่มผู้ชุมนุม พยานจึงแต่งกายนอกเครื่องแบบแฝงตัวในกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งเคลื่อนขบวนไปถึงหน้าตำรวจภูธรภาค 4 ในวลาประมาณ 18.30 น.

บริเวณหน้าตำรวจภูธรภาค 4 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการจัดเตรียมกำลังตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) รวมประมาณ 1 กองร้อย ส่วนหนึ่งอยู่ในตำรวจภูธรภาค 4 อีกส่วนตั้งแถวหน้ากระดานอยู่หน้าป้ายตำรวจภูธรภาค 4 ห่างจากป้ายประมาณ 2 เมตร ถือโล่ที่มีความสูงไม่เกิน 160 เซนติเมตร ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมมีประมาณ 100 คน ยืนเต็มถนนหน้าตำรวจภูธรภาค 4 ซึ่งมี 4 ช่องทาง แถวหน้าห่างจากป้ายไม่เกิน 5 เมตร ส่วนพยานไปยืนสังเกตการณ์อยู่ด้านหลังผู้ชุมนุม 

พยานเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมนำถุงบรรจุของเหลวมีสีมากองรวมกันบริเวณด้านหน้าของผู้ชุมนุมจำนวนมากกว่า 100 ถุง ระหว่างนั้นมีการปราศรัยของแกนนำด้วย จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้หยิบถุงบรรจุของเหลวปาใส่ คฝ. และป้ายตำรวจภูธรภาค 4 คฝ.ได้ยกโล่ขึ้นป้องกัน ซึ่งโล่ในขณะที่ยกขึ้นนั้นมีความสูงไม่เกิน 2 เมตร แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังสามารถปาถุงบรรจุของเหลวข้ามไปใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 ได้ 

ขณะเกิดเหตุมีแสงสว่างจากเสาไฟในตำรวจภูธรภาค 4 และเสาไฟฟ้าสาธารณะ พยานยืนอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 20-30 เมตร สามารถมองเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยรวมได้อย่างชัดเจน 

พยานยืนดูเหตุการณ์จนถึงเวลาประมาณ 19.00 น. ก็เดินทางกลับ สภ.เมืองขอนแก่น ขณะนั้นการชุมนุมยังไม่ยุติ จากนั้น พ.ต.ท.สุกฤษฎิ์ ได้จัดทำรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม โดยรวบรวมภาพและข้อมูลจากชุดสืบสวนที่แต่งนอกเครื่องแบบแฝงตัวในที่ชุมนุม รวมถึงข้อมูลจากไลฟ์สดในเพจเฟซบุ๊กที่กลุ่มผู้ชุมนุมโพสต์นัดหมายชุมนุมรวม 3 เพจ ซึ่งพยานไม่ทราบว่าใครเป็นแอดมินดูแลเพจดังกล่าว 

ส่วน พ.ต.ต.ชัยพิชิต ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบข้อมูลผู้ชุมนุมจากกล้องวงจรปิดและถอดเทปคำปราศรัยจากไลฟ์สดในเพจเฟซบุ๊ก 

พ.ต.ท.สุกฤษฎิ์ เบิกความด้วยว่า ก่อนการชุมนุมตำรวจได้มีการรวบรวมข้อมูลของกลุ่มผู้ชุมนุมไว้ และจากการตรวจสอบพบว่า ในวันเกิดเหตุมีจำเลยทั้งห้ารวมอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย 

โดยจำเลยที่ 1 ณัฏฐสกล พบว่า เป็นคนไลฟ์สดและเชิญชวนให้คนมาร่วมชุมนุม ทั้งยังมีภาพร่วมปาถุงสีใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 โดยพิสูจน์ทราบจากการแต่งกาย อีกทั้งก่อนหน้านี้จำเลยที่ 1 เคยร่วมชุมนุมและเป็นผู้ไลฟ์สดการชุมนุมหลายครั้ง พยานจึงรู้จักและจำหน้าได้ ส่วนจำเลยที่ 2 – 5 เป็นผู้ร่วมชุมนุม และปรากฏภาพร่วมปาถุงสีใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4  

นอกจากภาพถ่ายของจำเลยทั้งห้าในวันเกิดเหตุแล้ว ตำรวจยังมีข้อมูลการร่วมชุมนุมในครั้งก่อน ๆ ของจำเลยทั้งห้า จึงเชื่อว่าจำเลยทั้งห้าได้ร่วมชุมนุมและร่วมใช้ถุงบรรจุสีขว้างปาใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 

ภายหลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมแล้ว ในคืนวันเดียวกันพยานได้ลงพื้นที่ตรวจดูบริเวณที่เกิดเหตุ จากการตรวจสอบพบว่ามีป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ และป้ายตำรวจภูธรภาค 4 ได้รับความเสียหาย

ตำรวจสืบสวนทั้ง 2 นายตอบทนายจำเลยถามค้านสรุปได้ว่า ในวันเกิดเหตุมีตำรวจคนอื่นเป็นผู้บันทึกภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม พยานไม่ได้บันทึก 

รายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมระบุว่า เวลา 18.53 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้ขว้างปาถุงบรรจุสีใส่โล่เจ้าหน้าที่ตำรวจและป้ายตำรวจภูธรภาค 4 ไม่มีข้อความระบุว่า กลุ่มผู้ชุมนุมรวมทั้งจำเลยทั้งห้าได้ขว้างปาสีใส่พระบรมฉายาลักษณ์ด้วย 

กลุ่มผู้ชุมนุมต่างคนต่างมา ขณะเกิดเหตุมีผู้ร่วมชุมนุมเป็นจำนวนหลักร้อยคน ผู้ที่ร่วมใช้ถุงสีปาใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 และ คฝ. ก็มีเป็นจำนวนมาก แต่พยานสามารถระบุตัวบุคคลได้เพียงจำเลยทั้งห้าเท่านั้น ส่วนคนอื่นไม่สามารถระบุได้ จึงไม่ได้ดำเนินคดี อีกทั้งในช่วงดังกล่าวเหตุการณ์ชุลมุน พยานจึงไม่สามารถระบุได้ว่า ผู้ชุมนุมคนใดขว้างปาใส่บริเวณใดของป้าย นอกจากนี้ พยานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัดเตรียมและนำถุงสีมา 

โล่ที่ คฝ.ถือหากยกขึ้นจะสูงประมาณ 170 เซนติเมตร ส่วนป้ายตำรวจภูธรภาค 4 สูงประมาณ 4 เมตร ถัดขึ้นไปเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งต้องสูงเกินกว่า 4 เมตร 

นอกจากความเสียหายจากการถูกขว้างปาสีใส่ในวันเกิดเหตุแล้ว ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 ยังไม่ได้รับความเสียหายจากเหตุอื่น และจากการตรวจสถานที่เกิดเหตุภายหลังการชุมนุมพบว่าสีที่เปรอะเปื้อนป้ายตำรวจภูธรภาค 4 เป็นสีน้ำ

ไม่ปรากฏว่ากลุ่มผู้ชุมนุมทำร้าย คฝ. มีเพียงการกระทบกระทั่งกันเล็กน้อย และจากการสืบสวนกลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ ไม่ได้บุกรุกสถานที่ราชการ เนื้อหาการปราศรัยเป็นการวิจารณ์บริหารวัคซีนของรัฐบาลและการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ และมูลเหตุจูงใจของการที่จำเลยทั้งห้ากับกลุ่มผู้ชุมนุมมาชุมนุมและขว้างปาสีใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 มาจากความไม่พอใจการบริหารวัคซีนโควิด-19 และการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บ

ตามรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม มีการระบุชื่อของจำเลยที่ 1 ว่าเป็นผู้ไลฟ์สดเพจขอนแก่นพอกันที, ดาวดินสามัญชน และภาคีนักเรียน KKC แม้จะทำการไลฟ์สดได้เพียงเพจเดียวเท่านั้น แต่สามารถแชร์ไปยังเพจอื่นได้ ซึ่งพยานไม่ทราบว่า จำเลยที่ 1 ไลฟ์ในเพจใดแน่ 

ภาพถ่ายในรายงานความเคลื่อนไหวและภาพถ่ายประกอบคดีไม่มีการระบุที่มาของภาพว่านำมาจากคลิปใด และเกิดเหตุเวลาใด 

พ.ต.ท.สุกฤษฎิ์ ตอบทนายจำเลยด้วยว่า พยานได้เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่า จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันนำถุงบรรจุสีน้ำที่ตระเตรียมมาจำนวนมากขว้างปาใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 เป็นเหตุให้สีน้ำเลอะเปรอะเปื้อนป้ายดังกล่าวและกระเด็นไปถูกพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งพยานไม่เห็นว่ามีใครขว้างปาสีน้ำใส่พระบรมฉายาลักษณ์    

.

พ.ต.ท.ศุภมินทร์ ล้วนโสม รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.เมืองขอนแก่น หัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดีนี้ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2564 พ.ต.อ.เชษฐ แตงนารา ได้รับมอบอำนาจจาก ผบ.ตร.ให้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับจำเลยทั้งห้าในข้อหาร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ในวันเดียวกันผู้กำกับการ สภ.เมืองขอนแก่น ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีนี้ ให้พยานเป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน 

จากนั้นพยานให้มอบหมายให้คณะทำงานรวบรวมพยานหลักฐาน สอบคำให้การผู้กล่าวหา รวมทั้งพยานที่เกี่ยวข้อง และออกหมายเรียกผู้ต้องหาเข้ารับทราบข้อกล่าวหา จากนั้นวันที่ 20 ธ.ค. 2564 จำเลยที่ 1, 2, 3 และ 5 ได้เข้าพบกับพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ส่วนจำเลยที่ 4 ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2566 ชั้นสอบสวนจำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา 

ภายหลังจากรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว คณะพนักงานสอบสวนได้สรุปความเห็นว่า เห็นควรสั่งฟ้องจำเลยทั้งห้าในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ เนื่องจากมีภาพเคลื่อนไหวว่า ในวันเกิดเหตุกลุ่มผู้ชุมนุมรวมทั้งจำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันใช้ถุงสีขว้างปาใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 เป็นเหตุให้สีกระเด็นใส่พระบรมฉายาลักษณ์ ก่อนเสนอสำนวนต่อผู้บังคับบัญชา 

นอกจากนี้ อัยการยังนำคณะพนักงานสอบสวนคดีนี้ที่ผู้กำกับการ สภ.เมืองขอนแก่น มีคำสั่งแต่งตั้ง และร่วมสอบปากคำพยาน รวมถึงร่วมพิจารณาพยานหลักฐาน เข้าเบิกความอีก 6 ปาก ทั้งหมดเบิกความสรุปได้ว่า คณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกับผู้ชุมนุมใช้ถุงบรรจุสีน้ำขว้างปาใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 จึงมีความเห็นควรสั่งฟ้องจำเลยทั้งห้า ในข้อหาร่วมกันทำให้เสียทรัพย์   

ในการตอบคำถามค้านของทนายจำเลย คณะพนักงานสอบสวนรับว่า ตามรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งพยานใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณาลงความเห็นว่า ควรสั่งฟ้องผู้ต้องหานั้น ระบุว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้ขว้างปาถุงบรรจุสีใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจและป้ายตำรวจภูธรภาค 4 ไม่มีข้อความระบุว่า ถึงจำเลยทั้งห้ารวมถึงผู้ชุมนุมขว้างปาสีน้ำใส่พระบรมฉายาลักษณ์ด้วย แต่ตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหามีการระบุนอกเหนือไปจากรายงานดังกล่าวว่า ทำให้พระบรมฉายาลักษณ์เสียหาย

จากการสอบสวนไม่ปรากฏข้อมูลว่า มีผู้ชุมนุมใช้สีน้ำขว้างปาใส่พระบรมฉายาลักษณ์โดยตรง 

พ.ต.ท.ศุภมินทร์ ยังตอบทนายจำเลยว่า รายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมตอนหนึ่งระบุชื่อเยาวชน 2 คน เข้าร่วมการชุมนุมและปาสีใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 ซึ่งต่อมาพยานได้เปรียบเทียบปรับทั้งสองในข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม พยานตอบอัยการในเวลาต่อมาว่า ขณะที่เปรียบเทียบปรับเยาวชนทั้งสองนั้นผู้เสียหายยังไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีผู้ชุมนุมในข้อหาทำให้เสียทรัพย์

พ.ต.ท.พิทยา คำแหงพล กองบังคับการกฎหมายและคดี ตำรวจภูธรภาค 4 ผู้รับมอบอำนาจจาก สตช. ให้ร้องทุกข์ในส่วนแพ่ง ได้ยื่นคำให้การต่อศาลเป็นเอกสารในฐานะพยานผู้ร้องหรือผู้เสียหาย มีเนื้อหาโดยสรุปว่า 

คดีนี้พนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่นเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้าในความผิดฐาน “ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์” ผู้เสียหายเป็นราชการส่วนกลางมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดย ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าส่วนราชการ ปัจจุบันมี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็น ผบ.ตร. โดยมี พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร.(กม.5) ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร.ในงานกฎหมายและคดีของทุกหน่วยงาน

การกระทำของจำเลยทั้งห้าตามคำฟ้องโจทก์เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายได้รับ ความเสียหายต่อทรัพย์สิน ผู้เสียหายจึงประสงค์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งห้าประกอบด้วย ค่าเสียหายต่อพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 จำนวน 51,966.16 บาท, ค่าเสียหายต่อป้ายตำรวจภูธรภาค 4 จำนวน 12,000 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับจากวันที่จำเลยทั้งห้ากระทำความผิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้เสียหาย

จากนั้น พ.ต.ท.พิทยา ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุด้วย ความเสียหายในวันเกิดเหตุเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง พยานไม่ทราบ พยานทราบความเสียหายเฉพาะที่ปรากฏตามรายงานการจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้น 

ตามรายงานผลความเสียหายไม่ปรากฏภาพพระบรมฉายาลักษณ์ได้รับความเสียหาย มีเพียงข้อความบรรยาย แต่รายงานการจัดจ้างมีรายละเอียดระบุความเสียหายไว้ชัดเจน 

พยานไม่ทราบว่า ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 ก่อสร้างมาแล้วกี่ปี และหลังเกิดเหตุที่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 ได้รับความเสียหาย ประชาชนทั่วไปจะทราบว่าบริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งของตำรวจภูธรภาค 4 หรือไม่ 

ขณะและหลังเกิดเหตุพยานไม่เคยเดินทางมาดูที่เกิดเหตุ พยานไม่ทราบว่า ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 สูงกี่เมตร 

.

ณัฏฐสกล เวชศิรพลานนท์ จำเลยที่ 1 นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้นปีที่ 4 เบิกความเป็นพยานให้ตนเองว่า กิจกรรมคาร์ม็อบ 3 เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2564 เป็นกิจกรรมเรียกร้องสิทธิของประชาชนและการแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อเจ้ทหน้าที่รัฐในเวลานั้น เป็นการแสดงออกทางการเมือง โดยมีเหตุจากความไม่พอใจการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ โดยใช้วิธีที่ไม่ชอบ ใช้กระสุนยาง ทำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมได้รับบาดเจ็บ 

พยานเข้าร่วมคาร์ม็อบ 3 ด้วย โดยทราบการนัดหมายจากเพจขอนแก่นพอกันที จากนั้นในวันเกิดเหตุพยานเดินทางไปร่วมชุมนุมโดยใช้รถจักรยานยนต์ของตนเอง สุดท้ายผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนไปรวมกันที่หน้าตำรวจภูธรภาค 4 ในเวลาประมาณ 18.00 น. มีการปราศรัยประณามเจ้าหน้าที่รัฐและการบริหารงานของรัฐบาลในขณะนั้นด้วยการ ทั้งยังด่าทอเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาควบคุมการชุมนุม

ขณะพยานเดินไปมาในละแวกนั้นพบเห็นถุงบรรจุสีน้ำวางอยู่ โดยไม่ทราบว่าใครจัดเตรียมมา จากนั้นผู้ชุมนุมประมาณ 20-30 คน ได้ใช้ถุงบรรจุสีดังกล่าวขว้างปาใส่โล่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พยานก็ร่วมปาด้วย โดยเล็งไปที่โล่ตำรวจ 

ในฐานะที่พยานเรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์ พยานสังเกตว่าสีในถุงมีความหนืดไม่มาก น่าจะเป็นสีน้ำผสมเจือจางด้วยน้ำ

พยานสูง 173 เซนติเมตร ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 สูงประมาณ 5 เมตร ส่วนพระบรมฉายาลักษณ์ติดตั้งอยู่ด้านบนของป้ายรวมแล้วน่าจะสูงประมาณ 10 เมตร 

เหตุในคดีนี้ต่อเนื่องกับคดีชุมนุมคาร์ม็อบ 3 ซึ่งพยานถูกฟ้องเป็นจำเลยด้วย โดยในคดีชุมนุมดังกล่าวศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง 

พยานขอให้การยืนยันว่า การเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ 3 เป็นการแสดงออกทางการเมืองเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการบริหารงานของรัฐบาล 

ณัฏฐสกลตอบอัยการถามค้านว่า ขณะพยานและกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 30 คน ร่วมกันใช้ถุงบรรจุสีน้ำขว้างปาใส่โล่ตำรวจนั้น แกนนำกำลังปราศรัยอยู่บนรถเครื่องเสียง 

พยานปาถุงบรรจุสีน้ำไปประมาณ 3-4 ถุง ขณะที่ขว้างปา พยานมีความรู้สึกโกรธตำรวจที่สลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ และโกรธการบริหารงานของรัฐบาล 

พยานไม่แน่ใจว่า พยานปาถุงสีใส่โล่ตำรวจโดยสุดแรงหรือไม่ ส่วนภาพพยานชี้นิ้วนั้น พยานเจตนาชี้ไปที่ตำรวจที่เฝ้าระวังการชุมนุม 

.

พายุ บุญโสภณ จำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานให้ตนเองว่า ก่อนมีกิจกรรมคาร์ม็อบขอนแก่น 3 ที่กรุงเทพฯ มีกรณีตำรวจเข้าสลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรง ตามข่าวคือมีการใช้กระสุนจริงด้วย มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ พยานเองก็เคยเข้าร่วมการชุมนุมและถูกเจ้าหน้าที่ยิงด้วยกระสุนยางเข้าที่บริเวณตาขวา ทำให้ตาขวาสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร 

พยานทราบการนัดหมายชุมนุมจากเพจดาวดิน หลังทำงานเสร็จพยานจึงอาศัยรถของเพื่อนเดินทางมาขอนแก่น 

ในวันเกิดเหตุขณะเคลื่อนขบวนพยานได้ขอติดรถไปกับผู้ที่เข้าร่วมชุมนุม โดยไม่ทราบว่าเจ้าของรถเป็นใคร ขบวนเคลื่อนมาหยุดที่หน้าตำรวจภูธรภาค 4 ในเวลาใกล้มืดแล้ว มีการปราศรัย ขณะนั้นมีผู้ชุมนุมประมาณ 100 คน 

จากนั้นผู้ชุมนุมประมาณ 20-30 คน ได้ใช้ถุงสีน้ำปาใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยตำรวจได้ยกโล่ขึ้นป้องกันตัวเองและป้ายตำรวจภูธรภาค 4 ขณะที่ตำรวจยกโล่ขึ้นกำบังนั้น ขอบบนของโล่จะสูงจากพื้นประมาณ 180 เซนติเมตร ส่วนป้ายตำรวจภูธรภาค 4 มีความสูงประมาณ 5 เมตร รวมป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ด้วยมีความสูงประมาณ 20 เมตร โดยขอบล่างของพระบรมฉายาลักษณ์อยู่สูงจากป้ายตำรวจภูธรภาค 4 มากกว่า 1 เมตร 

สีที่ผู้ชุมนุมใช้ขว้างปาใส่ป้ายเป็นสีน้ำ เหตุที่พยานทราบเนื่องจากพยานเดินไปเหยียบถุงสีแตก สีกระเด็นใส่ขาแล้วล้างออกด้วยน้ำเปล่า

พยานปาถุงสีร่วมกับผู้ชุมนุมคนอื่นด้วย โดยตั้งใจขว้างข้ามตำรวจไปที่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 เนื่องจากพยานทราบว่าเป็นสีน้ำ สามารถล้างออกได้ อีกทั้งพยานไม่พอใจการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ซึ่งพยานเคยเป็นได้รับบาดเจ็บด้วย 

นอกจากถูกฟ้องในคดีนี้แล้ว ก่อนหน้านี้พยานได้ถูกพนักงานอัยการฟ้องในข้อหาร่วมกันชุมนุม จากการเข้าร่วมคาร์ม็อบครั้งเดียวกันนี้ ซึ่งในคดีดังกล่าวศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง 

พายุตอบอัยการถามค้านด้วยว่า พยานเห็นถุงบรรจุสีวางอยู่ที่บริเวณด้านหน้าผู้ชุมนุม ห่างจากแนวตำรวจประมาณ 5 เมตร ซึ่งพยานได้ร่วมปาถุงสีด้วยประมาณ 2 ถุง ด้วยอารมณ์โกรธรัฐบาลและตำรวจที่สลายการชุมนุม 

พยานเห็นป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ติดตั้งอยู่ด้านบนของป้ายตำรวจภูธรภาค 4 แต่ตั้งใจปาข้ามผู้ชุมนุมและตำรวจไปที่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4

.

นุ้ก จำเลยที่ 3 เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า ขณะเกิดเหตุในคดีนี้พยานกำลังศึกษาอยู่ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้นปีที่ 2 

สืบเนื่องจากในช่วงปี 2563 มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนติดเชื้อล้มป่วยและเสียชีวิตตามถนน เมรุล้น จึงเป็นผลให้มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 

วันที่ 7 ส.ค. 2564 มีการชุมนุมใหญ่ที่กรุงเทพฯ พยานไม่ได้ไปร่วมชุมนุม แต่ทราบข่าวว่ามีผู้เข้าชุมนุมเป็นจำนวนมาก และได้ถูกเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรง 

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวเพจขอนแก่นพอกันทีได้นัดชุมนุมคาร์ม็อบ 3 ซึ่งความเข้าใจของพยานเป็นการแสดงออกทางการเมืองโดยการเคลื่อนขบวนรถไปตามถนน พยานได้เข้าร่วมชุมนุมด้วย โดยใช้รถจักรยานยนต์ส่วนตัว เริ่มรวมกลุ่มกันที่หน้าตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากนั้นเคลื่อนขบวนไปตามถนน และมารวมตัวกันจุดสุดท้ายที่หน้าตำรวจภูธรภาค 4 

เมื่อพยานขับรถมาถึงจุดดังกล่าวได้จอดรถและเดินมารวมกับกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากที่บริเวณหน้าป้ายตำรวจภูธรภาค 4 โดยมีรถเครื่องเสียงจอดบริเวณนั้นด้วย 

ต่อมา พยานเห็นคนนำถุงบรรจุสีน้ำมาวางกองหน้าผู้ชุมนุม แต่ไม่ทราบว่าเป็นใครและใครจัดเตรียมมา จากนั้นผู้ชุมนุมไม่ต่ำกว่า 20 คน หยิบถุงสีไปปา พยานจึงร่วมปาด้วย 3-4 ถุง โดยเล็งไปที่โล่ตำรวจ

พยานไม่ได้มีการส่วนเกี่ยวข้องหรือเป็นแอดมินเพจที่โพสต์นัดชุมนุม 

ขณะที่พยานปาถุงสี ได้มีสีกระเด็นมาเปื้อนกางเกงด้วย หากล้างเลยก็สามารถล้างออกได้ เนื่องจากเป็นสีน้ำ แต่พยานอยากเก็บไว้เป็นที่ระลึก จึงไม่ได้ล้างออก 

ตามภาพถ่ายป้ายตำรวจภูธรภาค 4 สูงประมาณ 5 เมตร มีขอบกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร ลึกประมาณ 15 เซนติเมตร ส่วนพระบรมฉายาลักษณ์สูง 5 – 10 เมตร  

ในการขว้างปาถุงบรรจุสีน้ำใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 นั้น ถุงจะแตกและเกิดการกระจายของสีย้อยลงด้านล่าง รวมถึงกระเด็นติดขอบ ไม่สามารถกระเด็นขึ้นไปเปื้อนพระบรมฉายาลักษณ์ด้านบนได้ 

พยานถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลนี้ในคดีจากการชุมนุมคาร์ม็อบ 3 ซึ่งดังกล่าวศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง 

การที่พยานเข้าร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุ เป็นการใช้สิทธิการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมือง ตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรอง 

ก่อนการชุมนุมเพจขอนแก่นพอกันทีได้โพสต์ระดมทุนและขอรับบริจาคสีน้ำ เป็นการยืนยันว่า สีที่ใช้ในวันเกิดเหตุเป็นสีน้ำ 

จากนี้นนุ้กตอบอัยการถามค้านว่า ตามภาพถ่ายประกอบคดี พยานกำลังเงื้อปาถุงสีโดยยืนอยู่ห่างจากแนวตำรวจประมาณ 3 เมตร พยานร่วมปาถุงสีไป 3-4 ถุง เนื่องจากโกรธและไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลในช่วงนั้น 

ขณะที่พยานใช้สีน้ำขว้างปาใส่โล่ตำรวจ พยานมองเห็นป้ายตำรวจภูธรภาค 4 ที่อยู่ทางด้านหลัง และพระบรมฉายาลักษณ์ที่ติดตั้งอยู่ด้านบน 

เพจขอนแก่นพอกันทีโพสต์ข้อความขอรับบริจาคสีในวันที่ 19 ส.ค. 2564 ซึ่งในวันดังกล่าวพยานไม่ได้เห็นข้อความดังกล่าว เพิ่งมาเห็นในวันนี้ 

.

พงศธร จำเลยที่ 4 เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุพยานศึกษาอยู่ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาสาระสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้นปีที่ 2 ปัจจุบันเป็นพนักงานบริษัท  

ในช่วงก่อนเกิดเหตุในคดีนี้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พยานได้ติดตามและเกิดความรู้สึกไม่พอใจการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 16 ส.ค. 2564 ซึ่งเพจขอนแก่นพอกันที ได้โพสต์ภาพผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมด้วย

พยานทราบเรื่องการชุมนุมในวันเกิดเหตุจากเพจขอนแก่นพอกันทีที่ได้โพสต์นัดหมายชุมนุมคาร์ม็อบ 3 โดยพยานไม่ได้เกี่ยวข้องกับเพจดังกล่าว

ในวันเกิดเหตุพยานกับเพื่อนเข้าร่วมชุมนุมโดยใช้รถจักรยานยนต์ของเพื่อน มีพยานเป็นคนขับ เพื่อนนั่งซ้อน ไปรวมตัวที่หน้าตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเคลื่อนขบวไปตามถนน ไปหยุดที่หน้าตำรวจภูธรภาค 4 

พยานไม่ทราบวัตถุประสงค์ของผู้จัดชุมนุมคาร์ม็อบ 3 แต่เบื้องต้นทราบว่า เป็นการแสดงออกทางการเมือง 

เมื่อพยานไปถึงหน้าตำรวจภูธรภาค 4 ในเวลาประมาณ 18.00 น. พยานได้ไปจอดในซอยแคบ ๆ ซึ่งมีจักรยานยนต์หลายคันจอดอยู่แล้ว จากนั้นพยานและเพื่อนได้เดินไปรวมกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณหน้าป้ายตำรวจภูธรภาค 4 ขณะนั้นมีผู้ชุมนุมประมาณ 100 คน โดยไปยืนอยู่แถวหน้าและเห็นถุงบรรจุสีวางอยู่ที่พื้นถนนด้านหน้ากลุ่มผู้ชุมนุมแล้ว ขณะที่ตำรวจก็ยืนถือโล่อยู่ด้านหน้าผู้ชุมนุมเช่นกัน 

จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 20-30 คน ได้ร่วมกันใช้ถุงสีขว้างปาใส่ตำรวจจากหลายทิศทาง พยานได้ร่วมขว้างปาด้วยโดยตั้งใจปาใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ 4-5 นายที่ไม่มีโล่ยืนอยู่ด้านขวาของป้าย ปาไปประมาณ 5-6 ถุง เมื่อเห็นว่าสีน้ำโดนบริเวณใบหน้าของตำรวจ พยานจึงหยุดและเดินออกมา ส่วนเพื่อนของพยานยืนรออยู่ทางด้านหลัง ไม่ได้ร่วมขว้างปาสีด้วย 

เหตุที่พยานเข้าร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุเนื่องจากพยานไม่พอใจการสลายการชุมนุมและไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศของรัฐบาล 

จากนั้นพงศธรตอบอัยการถามค้านว่า ขณะที่พยานใช้สีน้ำปาใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ มีแกนนำปราศรัยอยู่ พยานมองเห็นป้ายตำรวจภูธรภาค 4 และพระบรมฉายาลักษณ์ แต่พยานตั้งใจปาใส่ตำรวจ 

.

กุลธิดา กระจ่างกุล จำเลยที่ 5 เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้พยานกำลังศึกษาอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารราชกระบัง คณะสถาปัตยกรรม สาขาวิจิตรศิลป์ ชั้นปีที่ 3 ปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นนักข่าวและผู้ช่วยวิจัย 

ก่อนเกิดเหตุมีสถานการณ์เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ มีการใช้กระสุนยางและกระสุนจริง แก๊สน้ำตา และกระบอง เป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมหลายรายได้รับบาดเจ็บ บางรายสูญเสียการมองเห็น และมีเยาวชนวัย 14 ปี ถูกยิงกระทั่งเสียชีวิตในภายหลัง

จากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ในวันที่ 22 ส.ค. 2564 มีการชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองที่จังหวัดขอนแก่น โดยใช้ชื่อว่าคาร์ม็อบ 3 เพื่อต่อต้านเจ้าหน้าที่รัฐที่สลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรง ประกอบกับกลุ่มแกนนำถูกจับกุมจึงมีการเรียกร้องให้ปล่อยตัว 

พยานทราบว่ามีการชุมนุมจากเพจขอนแก่นพอกันที โดยพยานเป็นเพียงผู้ติดตาม ไม่ได้เป็นแอดมินเพจ  

ในการชุมนุมคาร์ม็อบ 3 ผู้ร่วมชุมนุมจะขับรถมาร่วมขบวนขับไปตามถนน มีการบีบแตรเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบในการสลายการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง 

วันเกิดเหตุพยานขับรถจักรยานยนต์ส่วนตัวเข้าร่วม เคลื่อนขบวนไปถึงบริเวณหน้าตำรวจภูธรภาค 4 ในเวลาประมาณ 18.30 น. ขณะนั้นมีผู้ชุมนุมอยู่ราว 100 – 200 คน พยานสังเกตเห็นว่าผู้คนค่อนข้างชุลมุน จากนั้นพยานได้ลงจากรถเดินไปที่แถวหน้าของกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งยืนอยู่หน้าป้ายตำรวจภูธรภาค 4 และพบถุงบรรจุสีน้ำวางอยู่ที่ด้านหน้าแล้ว แต่ละถุงมีขนาดเท่ากับ 1 กำมือ 

ต่อมา ผู้ชุมนุมประมาณ 20 คน ได้ร่วมกันใช้ถุงบรรจุสีน้ำขว้างปาไปที่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 โดยไม่มีผู้ร่วมชุมนุมคนใดให้สัญญาณก่อนแต่อย่างใด พยานได้ร่วมปาด้วยโดยปาไปประมาณ 2-3 ถุง 

ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 สูงประมาณ 4-5 เมตร ส่วนขอบด้านล่างพระบรมฉายาลักษณ์อยู่สูงจากพื้นประมาณ 5-6 เมตร 

การปาถุงบรรจุสีน้ำใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 ไม่น่าจะทำให้สีกระเด็นไปถูกพระบรมฉายาลักษณ์ได้ เนื่องจากด้านบนป้ายมีขอบ 

นอกจากคดีนี้แล้ว พยานยังได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลนี้ในคดีร่วมกันชุมนุม จากการร่วมคาร์ม็อบ 3 ในคดีดังกล่าวศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง 

กุลธิดาตอบอัยการถามค้านในเวลาต่อมาว่า ขณะที่ขว้างปาถุงบรรจุสีน้ำใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 มีแกนนำปราศรัยอยู่ที่รถเครื่องเสียง แต่พยานไม่ทราบรายละเอียดว่าเป็นการปราศรัยในเรื่องอะไร 

พยานตั้งใจขว้างปาถุงบรรจุสีน้ำใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 แต่ปาในลักษณะข้ามศีรษะของตำรวจหรือไม่ พยานจำไม่ได้ 

.

X