ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาเป็นครั้งที่ 3 คดี “คาร์ม็อบกำแพงเพชร” เห็นว่าเป็นผู้จัดชุมนุม ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยืนตามศาลชั้นต้น

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดกำแพงเพชรนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในคดีของ อภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ อดีตผู้สมัคร นายก อบจ. กำแพงเพชร ของคณะก้าวหน้า ก่อนจะเป็นกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล และถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปีในเวลาต่อมา 

เหตุคดีนี้เกิดจากกรณีอภิสิทธิ์เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ #กำแพงเพชรจะไม่ทน เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 โดยถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดกำแพงเพชร และข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ในครั้งนี้เป็นการพิพากษาเป็นครั้งที่สามของศาลอุทธรณ์ภาค 6 แล้ว 

แม้การต่อสู้ยาวนานมานานกว่า 3 ปี แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาครั้งที่สามยืนตามศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำเลย เนื่องจากรับฟังว่าจำเลยเป็นผู้จัดกิจกรรมคาร์ม็อบ ฝ่าฝืนต่อประกาศจังหวัดกำแพงเพชรฯ  ลงโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 30,000 บาท มีเหตุบรรเทาโทษ 1 ใน 3 คงเหลือโทษจำคุก 2 เดือน และปรับ 20,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้เป็นเวลา 1 ปี โดยเป็นคำพิพากษาตามมติที่ประชุมใหญ่ของศาลอุทธรณ์ภาค 6

.

กว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะพิพากษาคดีเป็นครั้งที่ 3 ใช้เวลาต่อสู้คดีมากกว่า 3 ปี

ย้อนไปเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2564 อภิสิทธิ์ถูกแจ้งข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองกำแพงเพชร โดยถูกกล่าวหาว่าเขาเป็นผู้จัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลเกิน 20 คนโดยไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ #กำแพงเพชรจะไม่ทน ซึ่งอภิสิทธิ์ให้การปฏิเสธมาตั้งแต่ตอนต้นว่าตนเองไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว เพียงแต่มาร่วมเท่านั้น แต่กลับถูกตำรวจเลือกดำเนินคดีเพียงคนเดียว ต่อมาหลังพนักงานอัยการสั่งฟ้อง เขาต่อสู้คดีในศาล โดยมีการสืบพยานไปเมื่อวันที่ 10 และ 11 พ.ค. 2565

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2565 ศาลจังหวัดกำแพงเพชรเคยพิพากษายกฟ้องคดีนี้ โดยเห็นว่าการที่จำเลยร่วมชุมนุม กิจกรรมคาร์ม็อบ ไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และไม่ก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้น อันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกทั้งเห็นว่าคำสั่งจังหวัดกำแพงเพชรไม่มีสภาพบังคับเด็ดขาดว่าผู้ฝ่าฝืนจะมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมทั้งเห็นว่าตามมาตรา 3 (6) ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ไม่ให้ใช้บังคับกฎหมายนี้ในขณะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ตาม อัยการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา กระทั่งวันที่ 14 ก.พ. 2566 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาในครั้งแรก โดยพิพากษาว่าคำสั่งจังหวัดกำแพงเพชรมีสภาพบังคับ และให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยใหม่ในประเด็นว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือไม่ เนื่องจากไม่ได้วินิจฉัยมาในคำพิพากษา

วันที่ 20 มี.ค. 2566 ศาลจังหวัดกำแพงเพชรนัดอ่านคำพิพากษาเป็นครั้งที่สอง โดยครั้งนี้พิพากษากลับจากครั้งแรกว่าจำเลยมีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากเข้าข่ายเป็นผู้จัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกว่า 100 คนขึ้นไป ให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 30,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 2 เดือน และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้เป็นเวลา 1 ปี 

อภิสิทธิ์ตัดสินใจอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวเนื่องจากเชื่อว่าตนเองไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม และไม่ควรมีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดังกล่าว แต่วันที่ 27 พ.ย. 2566 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ได้พิพากษาเป็นครั้งที่สอง เห็นว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นขัดต่อพระธรรมนูญศาลยุติธรรม เนื่องจากมีผู้พิพากษาลงชื่อในคำพิพากษาเพียงคนเดียว ในคดีที่ลงโทษปรับเกินกว่า 10,000 บาท จึงให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่อีกครั้ง

ต่อมาวันที่ 31 ม.ค. 2567 ศาลจังหวัดกำแพงเพชรนัดอ่านคำพิพากษาเป็นครั้งที่สาม โดยเห็นว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษเช่นเดียวกับคำพิพากษาในครั้งที่สอง เพียงแต่ครั้งนี้มีผู้พิพากษาลงชื่อครบ 2 คนเท่านั้น ก่อนที่จำเลยจะยืนยันอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 อีกครั้ง โดยยืนยันว่าตนเองไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมและการชุมนุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญสามารถกระทำได้

.

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เห็นว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุม คาร์ม็อบ #กำแพงเพชรจะไม่ทน เป็นการฝ่าฝืนประกาศจังหวัดกำแพงเพชร

เวลา 9.30 น. อภิรักษ์ เขียนนอก ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน เปิดซองคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 แต่ก่อนจะเริ่มอ่าน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้นำกุญแจมือเหล็กมาใส่ข้อมือของอภิสิทธิ์ตลอดการฟังคำพิพากษา และศาลได้อ่านสรุปเฉพาะส่วนเหตุผลของคำพิพากษา โดยสรุปเป็น 2 ประเด็นได้ว่า

1. ศาลชั้นต้นนำความหมายตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาบังคับใช้กับความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ เป็นการเอากฎหมายอื่นมาลงโทษจำเลย

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดกำแพงเพชรที่ 1810/2564 ข้อที่ 2 หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์โดยสรุปว่าจำเลยไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรมคาร์ม็อบกำแพงเพชร และจะนำบทนิยามคำศัพท์ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาเทียบเคียงเพื่อลงโทษจำเลยไม่ได้ 

เห็นว่าคำสั่งจังหวัดพิษณุโลกออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 เมื่อบทบัญญัติดังกล่าวรวมทั้งคำสั่งจังหวัดกำแพงเพชรไม่ได้นิยามความหมายของคำว่า “ผู้จัดกิจกรรม” ไว้ จึงต้องตีความตามความหมายทั่วไปตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งนิยามคำว่า “จัดการ” หมายถึง สั่งงาน ควบคุมงาน ดำเนินงาน และนิยามคำว่า “กิจกรรม” หมายถึง การกระทำหรือสิ่งที่ทำ

ดังนั้นการจะเป็นความผิดตามประกาศดังกล่าวจะต้องได้ความว่าเป็นผู้สั่งงาน หรือผู้ควบคุมงาน หรือเป็นผู้ดำเนินงานให้มีการรวมกลุ่มของบุคคลซึ่งมีจำนวนมากกว่า 100 คน การที่ศาลชั้นต้นตีความโดยเทียบเคียงคำว่า “ผู้จัดกิจกรรม” กับคำว่า “ผู้จัดการชุมนุม” ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ พ.ศ. 2558 มาตรา 4 ที่บัญญัติให้การชุมนุมหมายความรวมถึงผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมสาธารณะ โดยแสดงออกหรือมีพฤติกรรมที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเองเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น จึงเป็นการนำกฎหมายอื่นมาวินิจฉัยลงโทษจำเลย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคแรก อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น

2. ศาลเห็นว่าพฤติกรรมจำเลยส่อเจตนาเป็นผู้จัดกิจกรรมคาร์ม็อบ แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยเชิญชวนผ่านเพจเฟซบุ๊ก ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีก

อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ภาค 6 โดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าข้อเท็จจริงของคดีรับฟังยุติว่าวันที่ 24 ก.ค. 2564 มีเพจเฟซบุ๊กชื่อ “ราษฎรกำแพงเพชร” โพสต์ข้อความเชิญชวนให้ประชาชนรวมตัวเพื่อทำกิจกรรมคาร์ม็อบในวันที่ 1 ส.ค. 2564 การใช้สื่อสังคมออนไลน์เชิญชวนให้มีมวลชนจำนวนมากมาร่วมกิจกรรมในลักษณะเช่นนี้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าไม่สามารถบริหารจัดการโดยลำพังเพียงบุคคลเดียว แต่ต้องอาศัยการร่วมใจร่วมมือของบุคคลหลายฝ่าย รวมกันเป็นเครือข่าย

ดังนั้นผู้จัดกิจกรรมดังกล่าวจึงไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลเดียว แต่อาจมีได้ทั้งผู้สั่งงาน ผู้ควบคุมงาน และผู้ดำเนินการ ซึ่งรวมอยู่ในความหมายของคำว่าผู้จัดกิจกรรมได้ พร้อมกันหลายคน หลายหน้าที่ โดยขึ้นอยู่กับพฤติกรรมในการแสดงออกของแต่ละบุคคล

สำหรับในกรณีของจำเลยแม้จะรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเกี่ยวข้องเป็นผู้บริหารหรือผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊ก “ราษฎรกำแพงเพชร” แต่การที่จำเลยทราบดีว่าช่วงเวลาดังกล่าวมีคำสั่งจังหวัดกำแพงเพชรที่ 1810/2564 ห้ามจัดกิจกรรมที่รวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนมากกว่า 100 คน เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019

การที่จำเลยซึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่นได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ไปยังสาธารณชนให้มาร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบเช่นนี้ จำเลยย่อมคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าอาจมีประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะผู้ที่ให้การสนับสนุนจำเลยในด้านต่าง ๆ จำนวนหนึ่ง จะเดินทางมาร่วมกิจกรรมตามคำเชื้อเชิญ 

ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมื่อถึงเวลานัดหมาย จำเลยยังมาทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถยนต์นำขบวน ซึ่งมีทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ตามหลังหลายสิบคัน ไปตามเส้นทางที่กำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จำเลยทำหน้าที่ใช้เครื่องขยายเสียง กล่าวโจมตีการบริหารงานของรัฐบาลเป็นคนสุดท้าย แล้วจำเลยยังทำหน้าที่เป็นผู้กล่าวขอบคุณมวลชนที่มาร่วม และเจ้าพนักงานตำรวจผู้มาคอยดูแลความสงบเรียบร้อย แล้วจึงสลายการชุมนุมแยกย้ายกันกลับ

ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ แม้ตามทางการนำสืบของโจทก์จะไม่ปรากฏว่าก่อนเคลื่อนขบวนไปยังสถานที่ต่าง ๆ จำเลยได้พูดผ่านเครื่องขยายเสียงให้มวลชนที่มาร่วมทำกิจกรรมคาร์ม็อบ ขับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ตามหลังรถยนต์ของจำเลย หรือจำเลยได้ดำเนินการอย่างใดในการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบก็ตาม แต่ตามพฤติกรรมของจำเลยที่แสดงออกทั้งหมดดังกล่าว เป็นการส่อเจตนาว่าจำเลยมีเครือข่ายเจตนาระดมมวลชนเข้าร่วมทำกิจกรรมคารม็อบ 

ข้อเท็จจริงไม่เพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยเป็นผู้สั่งการ หรือผู้ควบคุมการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว แต่ฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ดำเนินการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบด้วยตนเอง ซึ่งอยู่ในคำนิยามของคำว่า “ผู้จัดกิจกรรม” ตามที่กล่าวมา และเมื่อได้วินิจฉัยมาดังนี้แล้ว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นย่อยอื่นอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษจำเลยมานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

ลงนามคำพิพากษาโดย ชาญศักดิ์ เชิดสงวน, เกรียงศักดิ์ ดำรงศักดิ์ศิริ และ คมกริช ภัทรพิทักษ์

.

อภิสิทธิ์ตั้งคำถามถึงการใส่กุญแจมือในระหว่างฟังคำพิพากษา รวม 6 ครั้งแล้ว

“ผมถูกใส่กุญแจมือแบบนี้ ครั้งที่ 6 แล้ว”

อภิสิทธิ์ตั้งคำถามถึงกรณีความไม่สมควรในการใส่กุญแจมือกับจำเลยในขณะฟังคำพิพากษา ตั้งแต่ฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ย้อนกลับไปมารวม 6 ครั้งแล้ว เขาถูกใส่กุญแจมือทุกครั้งขณะฟังคำพิพากษา เปรียบเหมือนอาชญากรร้ายแรง แม้ว่าคดีนี้เขาจะชำระค่าปรับไปแล้ว และโทษจำคุกก็รอลงอาญาไว้ก็ตาม

“ที่อื่นเขาก็ไม่ทำกันแบบนี้” อภิสิทธิ์เล่าว่าเขาในฐานะประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจเข้าไปร่วมฟังหรือสังเกตการณ์วันฟังคำพิพากษาคดีชุมนุมทางการเมืองของศาลอื่น ก็ยังไม่เห็นว่ามีการใส่กุญแจมือขณะฟังคำพิพากษาเท่าไรนัก

อีกทั้งการใส่กุญแจมือก็ดูไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากถ้าหากจำเลยจะหนี ก็คงจะหนีไปก่อน จะมาฟังคำพิพากษาแล้ว และอยู่ในห้องพิจารณาก็ไม่สามารถจะหนีไปไหนได้อยู่แล้ว โดยพฤติการณ์จำเลยไม่ได้คิดจะหลบหนีมาตั้งแต่ต้น และคดีก็ยังไม่สิ้นสุด ยังไม่ถึงฎีกาก็ยังตัดสินไม่ได้ว่าเขาเป็นผู้กระทำความผิดจริง

นอกจากนี้ในคดีจากการแสดงออกทางการเมือง การใช้ข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ กับคนที่เห็นต่างจากรัฐเท่านั้น ก็ไม่ใช่อาชญากรร้ายแรงเหมือนอย่างคดีฆ่าคนตายที่จำเป็นต้องรักษาความปลอดภัยขนาดนั้น 

“ไม่มีใครอยากใส่กุญแจมือหรอก มันน่าภาคภูมิใจตรงไหน”

อภิสิทธิ์เล่าต่อหลังจากถูกใส่กุญแจมือเป็นครั้งที่ 6 ว่าการใส่กุญแจมือเหมือนเป็นการลดทอนคุณค่าของผู้ถูกกล่าวหา แม้ว่าเขาจะยืนยันมาตลอดว่าไม่ได้กระทำความผิดใด ๆ การถูกดำเนินคดีนี้ ก็พร้อมจะต่อสู้ตามกฎ กติกา แต่การนำกุญแจมือมาใส่ทำให้รู้สึกไม่ดี ถูกปฏิบัติดั่งอาชญากรไปแล้ว

ความรู้สึกหลังจากฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 อภิสิทธิ์เผยว่าตนเองจริง ๆ แล้วไม่ได้กังวลอะไร และคิดว่าจะต้องต่อสู้จนถึงที่สุดให้สังคมได้รับรู้ เป็นบทเรียนให้กับสังคม สำหรับคนรุ่นหลังด้วย

.

ย้อนอ่านเรื่องราวของอภิสิทธิ์ และบันทึกการสืบพยานคดีนี้

“ถ้าไม่ทำวันนี้ ก็จะไม่มีวันข้างหน้า” คุยกับจำเลยคดีคาร์ม็อบกำแพงเพชร จากนักพัฒนาชุมชน ถึงคนทำงานการเมือง

ก่อนพิพากษาคดี “คาร์ม็อบกำแพงเพชร” : ไม่ใช่ผู้จัด-กิจกรรมไม่เสี่ยงแพร่โรค-การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สะท้อนปัญหาการใช่ กม. ของรัฐ

X