ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้-ย้อนสำนวนคดี “คาร์ม็อบกำแพงเพชร” ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่

14 ก.พ. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดกำแพงเพชรนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในคดีของอภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ อดีตผู้สมัคร นายก อบจ. กำแพงเพชร ของคณะก้าวหน้า วัย 45 ปี กรณีร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ #กำแพงเพชรจะไม่ทน เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564  โดยถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดกำแพงเพชร และข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ 

สำหรับคดีนี้ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2565 ศาลจังหวัดกำแพงเพชรพิพากษายกฟ้อง โดยสรุปเหตุผลของศาลชั้นต้นได้ 3 ประเด็นยกฟ้องว่า 

1. การชุมนุมอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะต้องมีลักษณะก่อให้เกิดความวุ่นวาย ไม่สงบเรียบร้อย หรือมีลักษณะรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล แต่การชุมนุมคาร์ม็อบดังกล่าวไม่ปรากฏเหตุรุนแรงหรือกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล  

2. คำสั่งจังหวัดกำแพงเพชรที่ 1810/2564 ข้อที่ 20 ไม่มีสภาพบังคับเด็ดขาดว่าผู้ฝ่าฝืนจะมีความผิดตาม พระราชกำหนดฉุกเฉินฯ 

3. พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 3 (6) บัญญัติมิให้ใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ต่อมาในวันที่ 26 ก.ค. 2565 พนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชรได้ยื่นอุทธรณ์คดี ขอให้พิพากษาลงโทษจำเลย เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ใน 2 ประเด็นโดยสรุปได้ว่า

1. โจทก์เห็นว่า ในประเด็นความหมายของ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมถึงสถานการณ์ทุกประเภท อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย จึงมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก ดังนั้นการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงเป็นสถานการณ์อันกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน จึงมีความจำเป็นต้องออกกฎหมาย จึงมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายที่มีสภาพบังคับเด็ดขาด และมีการกำหนดโทษไว้ ดังนั้นคำสั่งจังหวัดกำแพงเพชรที่ 1810/2564 ข้อที่ 20 มีสภาพบังคับเด็ดขาดว่าผู้ฝ่าฝืนจะมีความผิดตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

2. โจทก์เห็นว่า จากพยานหลักฐานรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดกิจกรรมการชุมนุมและเชิญชวนประชาชนทั่วไปให้ร่วมกิจกรรมการชุมนุมรวมกันมากกว่า 100 คน โดยจำเลยขับรถกระบะนำหน้าขบวนผู้ชุมนุมไปตามสถานที่ต่างๆ และกล่าวปราศรัยในที่ชุมนุม จำเลยจึงฝ่าฝินไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจังหวัดกำแพงเพชรที่ 1810/2564 ต้องรับโทษตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

.

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ – ไม่เห็นด้วยกับศาลชั้นต้น และย้อนสำนวนให้ “พิจารณาใหม่”

เวลา 9.30 น. อภิสิทธิ์พร้อมทนายความเข้านั่งรอในศาลจังหวัดกำแพงเพชร ห้องพิจารณาที่ 3 ก่อนศาลออกนั่งพิจารณามีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้นำกุญแจมือมาพันธนาการข้อมือทั้งสองข้างของอภิสิทธิ์ไว้ ก่อนศาลจะอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 โดยสรุปได้ว่า

1. ประเด็นเรื่องการไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ ฯ พนักงานอัยการไม่อุทธรณ์ จึงยุติที่ศาลชั้นต้น

2. ประเด็นเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีสภาพบังคับใช้หรือไม่นั้น โจทก์อุทธรณ์ว่าสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ตามนัยมาตรา 4 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดังนั้นสถานการณ์ใดที่อาจกระทบต่อประชาชนอย่างร้ายแรงที่จำเป็นต้องป้องปัดจากภยันตรายฉุกเฉินจึงจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อนับล้านคนและผู้ตายนับหมื่นคน ดังนั้นเพื่อปกป้องชีวิตประชาชน นายกรัฐมนตรีจึงมีอำนาจประกาศใช้พระราชกำหนดฉุกเฉินฯ

จากข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกัน คือมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และขยายระยะเวลาประกาศใช้ออกไปและมีประกาศจังหวัดกำแพงเพชรที่กำหนดมาตรการในการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อโควิด-19 ตามข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ดังนั้นในเขตท้องที่จังหวัดกำแพงเพชร ในขณะนั้นมีการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินโดยมีข้อกำหนดคำสั่งหลายฉบับระบุให้ประชาชนนำไปปฏิบัติ เป็นข้อกำหนดที่ออกตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงเป็นกฎหมายที่กำหนดข้อปฏิบัติ เมื่อฝ่าฝืนจึงมีโทษจำคุกและโทษปรับตามมาตรา 18 จึงเป็นบทกำหนดโทษอาญาตามมาตรา 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

คำสั่งจังหวัดกำแพงเพชรที่ 1810/2564  มีการกำหนดห้ามจัดกิจกรรมรวมตัวกันเกินกว่า 100 คน ดังนั้นเมื่อมีการจัดกิจกรรมจึงถือเป็นความผิดดังกล่าว เพราะผู้ฝ่าฝืนต้องรับโทษตามข้อกำหนดคำสั่งจังหวัดกำแพงเพชรซึ่งมีสภาพบังคับ

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจึงไม่พ้องด้วยกับความเห็นของศาลอุทธรณ์ภาค 6 อย่างไรก็ดี ศาลชั้นต้นไม่ได้วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหรือไม่ ศาลอุทธรณ์เห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่ว่าจำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้จัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกันเกินกว่า 100 คนหรือไม่

3. ประเด็นข้อเท็จจริงที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมนั้น เป็นอุทธรณ์นอกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

.

หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาแล้ว ได้สอบถามพนักงานอัยการและฝ่ายจำเลย ว่าประสงค์จะมีการสืบพยานเพิ่มเติมหรือไม่ ทั้งสองฝ่ายแถลงไม่ติดใจสืบพยานเพิ่มเติม โดยยืนยันขอให้พยานหลักฐานที่สืบกันมาให้ศาลพิพากษาตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 กำหนด และนัดฟังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นอีกครั้งในวันที่ 20 มี.ค. 2566 เวลา 9.00 น.

.

เมื่อศาลกำหนดวันนัดได้ ได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในชั้นพิจารณาคดีในทันที เนื่องจากเห็นว่าจำเลยมาตามนัดทุกครั้ง ไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี พร้อมกำชับจำเลยให้มาตามนัดทุกนัด

.

กล่าวโดยสรุปได้ว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุผลว่า การชุมนุมที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะต้องมีลักษณะก่อให้การความปั่นป่วนไม่สงบเรียบร้อย หรือมีความรุนแรงต่อความมั่นคงของรัฐ แต่การชุมนุมคาร์ม็อบดังกล่าวไม่ปรากฏเหตุรุนแรง การกระทำของจำเลยที่ชักชวนบุคคลอื่นมาชุมนุม จึงไม่มีความผิดตามกฎหมาย  แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่าแม้จะเป็นการชุมนุม แต่ประเทศไทยอยู่ในห้วงประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะสถานการณ์โรคแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีความร้ายแรง จึงมีการออกกฎหมายที่มีโทษอาญาเพื่อให้ประชาชนปฏิบัติตาม เมื่อฝ่าฝืนจึงต้องรับโทษ ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับพิพากษาของศาลชั้นต้น

อย่างไรก็ดีในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐาน เป็นผู้จัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 100 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือไม่ จึงย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ เมื่อคู่ความ โจทก์และจำเลยไม่ประสงค์สืบพยานเพิ่มเติมแล้ว ศาลจึงนัดฟังคำพิพากษาใหม่

.

ย้อนอ่านเรื่องราวของอภิสิทธิ์ และบันทึกการสืบพยานคดีนี้

“ถ้าไม่ทำวันนี้ ก็จะไม่มีวันข้างหน้า” คุยกับจำเลยคดีคาร์ม็อบกำแพงเพชร จากนักพัฒนาชุมชน ถึงคนทำงานการเมือง

ก่อนพิพากษาคดี “คาร์ม็อบกำแพงเพชร” : ไม่ใช่ผู้จัด-กิจกรรมไม่เสี่ยงแพร่โรค-การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สะท้อนปัญหาการใช่ กม. ของรัฐ

X