291 วันไร้อิสรภาพในเรือนจำของ “บัสบาส”: ชวนคุยเรื่องอาหารในเรือนจำ หลังอาการซึมเศร้าเริ่มดีขึ้น

นับตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. 2567 ก็เป็นเวลา 291 วันแล้ว จากวันที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาจำคุก “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร นักกิจกรรมและพ่อค้าขายเสื้อผ้าวัย 31 ปี ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการโพสต์หรือแชร์ข้อความในเฟซบุ๊ก จำนวน 25 กรรม รวมโทษจำคุก 50 ปี และไม่ได้รับสิทธิประกันตัวในชั้นฎีกา

ต่อมาวันที่ 4 ก.ย. 2567 บัสบาสถูกศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาในคดีที่ 3 ของเขา จากการโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กอีกจำนวน 2 กรรม จำคุก 4 ปี และบวกโทษจากคดีบุกรุกเคหสถานที่ศาลเคยพิพากษารอการลงโทษไว้อีก 6 เดือน รวมแล้วบัสบาสมีโทษจำคุก 54 ปี 6 เดือน ก่อนตัดสินใจสู้ต่อในชั้นฎีกาทุกคดี ทำให้เขายังถูกคุมขังในระหว่างฎีกา

เมื่อวันที่ 28-29 ต.ค. 2567 ทนายความเข้าเยี่ยมบัสบาส 2 ครั้ง เพื่อพูดคุยทางคดีและถามสารทุกข์สุขดิบ หลังจากเหตุการณ์อุทกภัยในจังหวัดเชียงรายเริ่มคลี่คลายลง โดยได้เยี่ยมผ่านจอคอมพิวเตอร์เหมือนเช่นเคย ภาพบัสบาสผมสั้นใส่ชุดนักโทษสีฟ้าดูไม่ค่อยคุ้นตาเหมือนตอนอยู่ด้านนอกเรือนจำ 

บัสบาสเข้าใจดีถึงสถานการณ์ที่ต้องติดอยู่ในเรือนจำเป็นเวลานานถึง 54 ปี 6 เดือน และพยายามถามไถ่ถึง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ว่าจะเข้าสภาเมื่อไร แนวโน้มเป็นอย่างไร เป็นคำถามแรก ๆ ที่พูดคุยกัน แม้ว่าเขาจะดูเซื่องซึม ไม่ร่าเริง โดยแจ้งว่าอาการโรคซึมเศร้าของเขาเริ่มทุเลาลง หลังจากหมอปรับลดยาลง ก็รู้สึกดีขึ้นบ้างแล้ว 

.

“ข้าวซอย ไม่ซอยเลย”: ว่าด้วยคุณภาพอาหารในเรือนจำ

บัสบาสเล่าว่า เขาไม่สามารถกินอาหารของเรือนจำได้มานานแล้ว เพราะคุณภาพไม่ค่อยดี เขาอธิบายว่าสภาพโต๊ะทานอาหารในโรงเลี้ยงเป็นสแตนเลสคล้ายแบบโรงเลี้ยงของทหาร เก้าอี้เป็นไม้ แต่อาหารไม่ดีเท่า 

“อาหารทหารเกณฑ์ยังดีกว่านี้เยอะ” บัสบาสอธิบายว่าปกติจะมีเมนูอาหารติดอยู่ด้านหน้า แต่อาหารที่ได้มักจะไม่ตรงปก “เช่น แกงเทโพ เขาจะเรียกกันว่าแกงเททิ้ง น้ำเงี้ยวก็ไม่เงี้ยวเลย ข้าวซอยก็ไม่ซอยเลย” เขาพูดติดตลก และอธิบายต่อไปว่า “ข้าวซอยเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวที่มีน้ำจ๋องแจ๋ง อย่าได้หากะทิในนั้น” 

เมื่อถามว่ามีเนื้อสัตว์บ้างไหมเขาอุทานว่า “อย่าได้ขอร้องพระเจ้าเลย มันมาเป็นเศษ ๆ วันไหนมีเนื้อนุ่ม ๆ ชิ้นโต ๆ มาคงดีใจมาก แต่จริง ๆ มันก็ไม่ควรเป็นอย่างนั้น” 

เมื่อถึงเวลาทานอาหาร จะมีการจัดวางไว้เป็นจุด ๆ ตามโต๊ะไว้อยู่แล้ว อาหาร 1 เซ็ทจะกิน 4 คน มีข้าวเหนียว 1 กับแกง 1-2 อย่าง แล้วแต่วัน ซึ่งเขากินไม่ค่อยได้ บัสบาสรู้สึกราวกับว่าเหมือนถูกบีบบังคับให้จะต้องซื้ออาหารที่ร้านค้า โดยเขามักไม่กินอาหารเช้า แต่จะกินกาแฟแทน 

บัสบาสตัดพ้อขึ้นมาว่า “พวกนี้มันก็เป็นปัญหามานานแล้ว ไม่เห็นมีใครมาแก้ปัญหา พูดไปก็เท่านั้น” บางครั้งข้าวกึ่งสุกกึ่งดิบมา พอแจ้งทางผู้คุมไปก็ปรับปรุงให้สุกขึ้นอยู่บ้าง 

สำหรับน้ำดื่ม จะมีแทงค์สำหรับกดน้ำเย็นดื่ม แต่ตอนนี้เสียอยู่ เพราะจุกก๊อกหลุด ก็เลยกินน้ำก๊อกซึ่งเป็นน้ำประปาข้าง ๆ ไม่รู้ว่ากรองน้ำมาหรือไม่ ถ้าคนไหนมีเงินก็ซื้อน้ำขวดกินกัน และจะมีถังน้ำร้อน 2 ถังเอาไว้ให้กดน้ำร้อนกินมาม่า ข้างในถ้ามาม่ายอดฮิตราคา 7 บาท นิชชินขาย 10 บาท ส่วนที่ต้องซื้อมีไว้ คือ ซอสแม็กกี้ น้ำปลา น้ำตาล พริก ตอนนี้มีน้ำปลาร้าด้วย เอาไว้ใช้ DIY อาหารเอา

สำหรับปริมาณอาหารในโรงเลี้ยงจะน้อยกว่าอาหารที่ซื้อกินเอง จริง ๆ ก็ไม่ได้มากกว่าเท่าไร แต่อย่างน้อยก็มีเนื้อสัตว์ให้ได้เคี้ยวบ้าง

.

ขอบคุณผู้บริจาคหนังสือ – ส่วนการเขียนจดหมายออกมายังยาก

บัสบาสพูดด้วยความตื่นเต้นว่า “ได้หนังสือแล้วนะ มี 4 กล่อง” เห็นว่าบริจาคให้เรือนจำ 2 กล่อง และเขียนเป็นชื่อบัสบาส 2 กล่อง อย่างไรก็ตามกล่องที่เป็นชื่อของเขาจะไม่ถูกส่งกลับ และถือเป็นหนังสือบริจาคเข้าเรือนจำ ทำให้ตอนนี้แดน 1 ที่บัสบาสอยู่ได้หนังสือมาไว้แล้ว 50 เล่ม 

เขารู้ได้ทันทีว่าเป็นหนังสือที่มีคนส่งมาให้เขาได้อ่านจากชื่อหนังสือ ไม่ว่าจะเป็น ชาร์ลส์ ดาร์วิน, แฟรงเกนสไตน์ เป็นหนังสือที่น่าสนใจ เขารู้สึกขอบคุณผู้ส่งหนังสือมาให้ ด้วยเจตนาคิดว่าจะแบ่งนักโทษคนอื่น ๆ  อ่านกันด้วย 

บัสบาสบอกต่อไปว่า ยังอยากได้พวกหนังสือการ์ตูน One Piece หรือหนังสือที่อ่านง่าย ๆ เช่น Animal farm หรือหนังสือของ George Orwell เผื่อนักโทษคนอื่น ๆ จะสนใจอ่านด้วย บัสบาสเข้าใจว่าการเข้ามาเยี่ยมที่เรือนจำเป็นเรื่องยาก และการสื่อสารกันผ่านจดหมายตอนนี้ก็เป็นเรื่องที่ยากเหมือนกัน

“มันไม่มีฟิลเขียนเลย รู้สึกทุกอย่างพังทลาย ไม่รู้จะเขียนอะไร” บัสบาสตัดพ้อ และเล่าถึงก่อนหน้านี้เขาพยายามเขียนและจะส่งจดหมายออกมา 2 ฉบับ ฉบับแรกถูกห้ามเพราะเขียนเกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับที่สองเลยเขียนสั้น ๆ แค่ว่า “บัสบาส ผมดูเหมือนอาชญากรหรือไม่?” เขาก็ยังไม่ให้ส่ง จึงเลิกเขียนเลย รู้สึกเหมือนว่าเขียนอะไรก็ไม่ได้ ผิดไปหมด ไม่ว่าจะเขียนยาว ๆ หรือสั้น ๆ 

“เหนื่อยใจ หมดฟิล” บัสบาสบอกว่ากว่าที่เขาจะเขียนออกมาได้สักฉบับนั้นยาก แต่เขาก็จะลองพยายามเขียนจดหมายต่อไป

บัสบาสพูดต่อไปว่าเขาไม่ได้รับจดหมายมาหลายเดือนแล้ว โดยไม่รู้เลยว่ามีใครส่งจดหมายมาหาบ้างหรือไหม เหมือนกับว่าเจ้าหน้าที่จะกำหนดให้เฉพาะผู้มีรายชื่อ 10 คนที่บัสบาสแจ้งไว้สามารถส่งจดหมายหาได้เท่านั้น ทำให้เขาไม่ได้รับจดหมายจากบุคคลภายนอกเลย แม้ล่าสุดทราบว่าจะมีการทำโปสการ์ดรูปวาดการ์ตูนของเขา และมีนักศึกษา-ประชาชนร่วมกันเขียนให้กำลังใจจำนวนหลายแผ่น แต่ก็ยังไม่ทราบว่าจะส่งเข้าไปได้อย่างไร

บัสบาสทิ้งท้ายว่า ทางเจ้าหน้าที่เรือนจำแจ้งขอให้เปลี่ยนช่องทางการบริคจาคหนังสือ ขอให้เปลี่ยนไปบริจาคเข้าแดนการศึกษา เรือนจำกลางเชียงรายด้วย

.

สามารถส่งจดหมายถึงบัสบาสไปที่ มงคล ถิระโคตร แดน 1 เรือนจำกลางเชียงราย เลขที่ 222 หมู่ที่ 3 ต.ดอยฮาง อ.เมือง จ.เชียงราย 57000

สามารถบริจาคหนังสือส่งไปที่ แดนการศึกษา เรือนจำกลางเชียงราย เลขที่ 222 หมู่ที่ 3 ต.ดอยฮาง อ.เมือง จ.เชียงราย 57000

.

ย้อนอ่านบันทึกเยี่ยมบ้านบัสบาส “ก็แค่ยักไหล่แล้วไปต่อ ผมยังหายใจอยู่นี่หน่า”: พาเยี่ยมบ้าน ‘บัสบาส’ ผู้ต้องโทษประวัติศาสตร์คดี ม.112

ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์บัสบาส เสียงเพลงพังก์ ในโลกขบถของ “บัสบาส” ผู้ต่อสู้คดี 112

.

X