‘พรชัย’ ผู้ต้องขังคดี ม.112 ร่วมเรียกร้องสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2567 ทนายความได้เข้าเยี่ยมพรชัย วิมลศุภวงศ์ ผู้ต้องขังในคดีตามมาตรา 112 ที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ หลังจากถูกศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุก 12 ปี จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 4 ข้อความ และศาลฎีกามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวในระหว่างฎีกา ทำให้พรชัยถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2567

พรชัยเดินออกมาด้วยความตื่นเต้น และรีบเอ่ยถามเรื่องการมีพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ แต่ก็ได้ทราบว่ายังไม่มีข่าวในเรื่องนี้แต่อย่างใด แม้จะผ่านเดือนกรกฎาคมไปแล้ว 

ทนายความยังอัปเดตว่าเดิมที่ทางเรือนจำ นำเอกสาร “ใบแดง” มาให้ลงชื่อว่าคดีถึงที่สุดแล้วนั้น และพรชัยเข้าใจว่าสิ้นสุดในทุกคดีที่เขาถูกกล่าวหานั้น หลังไปตรวจสำนวนในคดีมาตรา 112 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าอัยการยังขอขยายฎีกาอยู่ ยังต้องรออีกช่วงหนึ่ง  ส่วนคดีที่สิ้นสุดแล้วน่าจะเป็นคดีที่ศาลจังหวัดยะลาเพียงคดีเดียวอยู่ แต่พรชัยคิดว่าเขาค่อนข้างมั่นใจว่ามีเอกสารในคดีของเชียงใหม่ด้วย เพราะระบุถึงคดีที่มีโทษจำคุก 12 ปี จึงขอให้ตรวจสอบอีกครั้ง

ในการเยี่ยมครั้งนี้ ยังมีการพูดคุยถึงเรื่องปัญหาของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากในวันที่ 9 สิงหาคม ของทุกปี สหประชาชาติกำหนดให้เป็น “วันชนเผ่าพื้นเมืองโลก” (International Day of the World’s Indigenous People) ทำให้พรชัยในฐานะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ร่วมพูดถึงสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย

พรชัยบอกว่าการมีวันสำคัญแต่ละปี ก็ถือเป็นโอกาสที่ดี ในการช่วยกันหยิบยกประเด็นของกลุ่มชาติพันธุ์ในแต่ละพื้นที่ขึ้นมาพูดถึง แต่เขาเห็นว่าที่ผ่านมา มักจะเป็นการพูดถึงสิทธิในทางวัฒนธรรม ที่กลุ่มต่าง ๆ จะรักษาอัตลักษณ์ความเป็นอยู่ไว้ แต่ยังไม่ค่อยมีการพูดถึงชนพื้นเมืองในฐานะคนที่อยู่ในประเทศที่ไม่ได้รับการบริการอย่างทั่วถึง ไม่สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภค การพัฒนาเทคโนโลยี การเข้าถึงอุตสาหกรรม และการเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ ได้ 

“พี่น้องหลายคนยังไม่ได้รับสถานะทางทะเบียน หรือบางคนได้รับสถานะอื่น ๆ ที่ไม่เท่ากับพลเมืองไทย ทำให้เกิดปัญหาในการใช้สิทธิต่าง ๆ เสมอมา”

พรชัยเห็นว่าแม้จะมีการรับรองสิทธิพลเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ในความเป็นจริง พี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองก็อาจไม่สามารถแสดงออกในที่สาธารณะได้ ไม่ว่าเนื่องจากนโยบายรัฐ หรือต้นทุนทางสังคม เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่มีต้นทุนทั้งทางการเงิน หรือการเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ในการแสดงออก  หรือมุมมองคนบางส่วนที่อาจจะมองว่าพี่น้องชาติพันธุ์เป็นพลเมืองชั้นสอง พูดจาไม่ชัด ไม่คล่องแคล่ว หรืออะไรก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาเองไม่กล้าที่จะแสดงออกในที่สาธารณะ

“ผมยังอยากให้ทุกคนให้ความสนใจในเรื่องการเข้าถึงการศึกษา และการแสดงออกในฐานะพลเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ การอยู่ในสังคมที่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน จะต้องไม่มีใครในสังคม ไม่ว่าชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง คนจน ถูกสร้างปมขึ้นในสังคม แต่ทุกคนให้เกียรติกัน”

พรชัยยังขอให้รัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม สนับสนุนมากกว่าเพียงแค่กิจกรรมวัฒนธรรมของชนเผ่า แต่สนับสนุนเรื่องสิทธิการศึกษา สวัสดิการ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิในที่ดิน สิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในการเข้าถึงสถาบันการเงิน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาศักยภาพ

พรชัยเห็นว่าพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์กำลังเผชิญกับปัญหาหลายอย่างที่เรื้อรังมา ไม่ว่าจะเรื่องที่ดินทำกิน การเข้าไม่ถึงที่ดินทำให้เข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ตามมาไม่ได้ด้วย หรือการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และการละเมิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ในบริเวณชายแดน ก็ยังคงเกิดขึ้นและมีปัญหาสืบเนื่องมา

“วิถีชีวิตของพี่น้องชาติพันธุ์ชัดเจน เรามีวัฒนธรรมและประเพณีที่ปกป้องผืนป่า การทำไร่เป็นแบบไร่หมุนเวียน เราจัดการทรัพยากรอย่างเป็นระบบตามประเพณีเรื่อยมา แต่พื้นที่ชายแดนถูกเข้ามาใช้ประโยชน์โดยกลุ่มนายทุนเพื่อสร้างอุตสาหกรรม ทำให้พี่น้องต้องอพยพเข้าสู่เมืองเพราะไม่มีที่ทำกิน หรือการถูกแย่งงานจากกลุ่มนายทุน ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นไม่ว่าจะการเกษตร น้ำมัน การขนส่ง พี่น้องยิ่งทำงานยิ่งจนเป็นหนี้ ทำให้เค้าเลือกที่จะเข้ามาในเมือง เพื่อความอยู่รอดของครอบครัว

“รัฐอาจเข้ามามีส่วนช่วยเรื่องนี้ได้โดยการลดต้นทุนการเกษตร หรือการเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ ที่ถูกลง การปล่อยสินเชื่อและลดดอกเบี้ย ปัญหานายทุนกดราคา เป็นต้น”

พรชัยกล่าวคล้าย ๆ กับก่อนหน้านื้ว่า แม้เขาจะปรับตัวกับการใช้ชีวิตภายในเรือนจำได้ แต่โดยแท้แล้ว เขาก็ยังคงคิดว่าตัวเองไม่ควรต้องมาอยู่ที่นี่ พรชัยยังย้ำว่าอยากให้รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม คำนึงถึงผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง เพราะการแสดงออกทางการเมืองไม่ควรที่จะถูกจับอยู่ในเรือนจำ เพราะเป็นเพียงการแสดงความเห็นเท่านั้น ไม่ควรทำให้การแสดงออกกลายเป็นภัยของสังคม

“ผมคาดหวังว่าผมจะได้ออกไปและทำหน้าที่ในสถานะพลเมือง ถึงอย่างไรผมมองว่าปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือปัญหารัฐธรรมนูญ และสภาพเช่นนี้ การพูดว่าเราเป็นประชาธิปไตยก็เป็นการโกหกทั้งสิ้น ทั้งที่หลักการของประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญต้องมาจากประชาชน ซึ่งตอนนี้เราก็พูดได้ไม่เต็มปาก” พรชัยทิ้งท้าย

.

ย้อนอ่านเรื่องราวชีวิตของพรชัย การต่อสู้ของ “พรชัย”: จากคนบนดอย คนจร พ่อค้า ผู้ชุมนุม และผู้ถูกดำเนินคดี ม.112

.

X