วันที่ 23 ก.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง นัดฟังคำสั่งคดี “ละเมิดอำนาจศาล” ของนักกิจกรรม 4 คน ได้แก่ “สายน้ำ” นภสินธุ์ (สงวนนามสกุล), “แบม” อรวรรณ (สงวนนามสกุล), “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ “วอน” (นามสมมติ) จากการถูกกล่าวหาว่าได้ตะโกนด่าทอเจ้าหน้าที่ศาลที่พยายามจะนำตัววอนไปที่ห้องพิจารณาคดีเพื่อไต่สวนในคดีละเมิดอำนาจศาลอีกคดีหนึ่ง โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2566
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลที่เชิญตัววอนไปไต่สวนทำไปกะทันหัน ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ทราบนัดหมายคดีล่วงหน้า ทั้งคลิปกล้องวงจรปิดไม่ได้บันทึกเสียงเอาไว้ จึงไม่อาจทราบได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่ด่าทอเจ้าหน้าที่ศาลอย่างไร จึงยกประโยชน์ให้กับผู้ถูกกล่าวหา ให้ยกคำร้อง
.
เหตุในคดี วอนถูกตำรวจเข้าเชิญตัววอนไปไต่สวน โดยไม่ทราบรายละเอียด จึงปฏิเสธ
เหตุในคดีนี้เกิดขึ้น เนื่องจากเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2566 เวลาประมาณ 12.00 น. วอนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลเข้าเชิญตัวกะทันหันให้ไปไต่สวนในคดีละเมิดอำนาจศาลอีกคดีหนึ่งของศาลเยาวชนฯ จากกรณีถูกกล่าวหาว่าใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพ “หยก” นักกิจกรรมเยาวชน ที่นั่งหันหลังให้ผู้พิพากษาในห้องพิจารณาคดี ขณะถูกนำตัวไปตรวจสอบการจับกุมในคดีมาตรา 112
แต่ในขณะถูกเชิญตัว วอนระบุว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการแจ้งรายละเอียดแต่อย่างใด และเขาไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ศาลนำตัวเข้าไปในห้องพิจารณาคดี ซึ่งภายหลังสายน้ำ แบม และตะวัน ก็ได้ตามขึ้นมาเพื่อพาเขาออกจากบริเวณอาคารของศาล และเดินทางกลับบ้าน
ต่อมาวันที่ 14 พ.ย. 2566 ศาลเยาวชนฯ ได้นัดพิจารณาคดีละเมิดอำนาจศาลกับนักกิจกรรมทั้ง 4 ราย ซึ่งมีข้อกล่าวหาว่ามีผู้ตะโกนด่าทอเจ้าหน้าที่ศาล ในขณะที่เจ้าหน้าที่พยายามจะนำตัววอนไปไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล ก่อนจะถูกเลื่อนการไต่สวนออกมาเป็นวันที่ 15 ม.ค. 2567 และ 17 มิ.ย. 2567
ในคดีนี้ ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 ราย ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยมีข้อต่อสู้ว่าไม่ได้ด่าทอเจ้าหน้าที่ศาล และไม่มีการสร้างความวุ่นวายตามที่ถูกกล่าวหา ส่วนผู้อำนวยการสำนักงานศาลเยาวชนฯ ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ ได้นำคลิปกล้องวงจรปิดมาเป็นพยานหลักฐาน แต่ก็ไม่มีการบันทึกเสียงเอาไว้ ทำให้ไม่สามารถชี้ตัวได้ว่าใครคือคนที่ด่าทอเจ้าหน้าที่ศาลตามที่กล่าวหา
.
ศาลยกคำร้อง เห็นว่าตำรวจศาลเชิญตัวโดยกระทันหัน และกล้องไม่มีเสียง ไม่ทราบว่าใครด่าทอ
วันนี้ (23 ก.ค.2567) เวลา 09.30 น. ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คนได้ทยอยเดินทางมาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 4 โดยมีทนายความติดตามมาด้วย ก่อนที่เจ้าหน้าที่ศาลจะแจ้งว่าศาลยังไม่ลงมาในเร็ว ๆ นี้
ต่อมาเวลา 11.15 น. ศาลขึ้นพิจารณาคดี โดยเริ่มอ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า พิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในวันเกิดเหตุผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดได้เดินทางมาเพื่อฟังคำพิพากษาในคดีของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 หรือสายน้ำ ก่อนที่จะเดินทางกลับ โดยผู้ถูกล่าวหาที่ 4 หรือวอน ได้ถูกตำรวจศาลซึ่งได้รับมอบหมายคำสั่งจากผู้กล่าวหาให้เรียกตัววอนไปที่ห้องพิจารณาคดี เพื่อดำเนินการไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลอีกคดีหนึ่งที่วอนเป็นผู้ถูกกล่าวหา แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ไม่ได้รับแจ้งหรือมีนัดหมายในคดีดังกล่าววันนั้น จึงได้ปฏิเสธที่จะเข้าห้องพิจารณาคดี
เมื่อผู้ถูกกล่าวหาคนอื่นติดตามขึ้นมาบนอาคารศาล ก็ได้มีการทักท้วงและมีปากเสียงกับเจ้าหน้าที่ศาลและตำรวจศาลที่นำตัววอนมาขึ้นไต่สวนโดยพลการ ก่อนทั้งหมดจะเดินทางกลับ
ศาลเห็นว่า พฤติการณ์ดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลทำไปโดยความกะทันหัน ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ไม่ได้ทราบนัดหมายคดีล่วงหน้า โดยผู้ถูกกล่าวหาได้เบิกความว่าตัวเองมีความตกใจนั้น ศาลรับฟังแล้วเห็นว่าย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา รวมถึงการใช้วาจาที่ไม่สุภาพซึ่งก็อาจเกิดขึ้นจากความตกใจของผู้ถูกกล่าวหาเอง
ทั้งพยานหลักฐานที่เป็นคลิปวีดิโอจากกล้องวงจรปิดที่ผู้กล่าวหานำส่งนั้น ศาลเห็นว่าคลิปดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงกริยาของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 จริง โดยผู้กล่าวหาและตำรวจศาลได้เบิกความกล่าวว่ากลุ่มผู้ถูกกล่าวหาได้ด่าทอเจ้าหน้าที่ศาลด้วยคำหยาบคายจนเป็นเหตุให้ต้องมาดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลในคดีนี้ แต่คลิปดังกล่าวไม่มีการบันทึกเสียงเอาไว้
รวมถึงที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดเบิกความโดยสอดคล้องกันว่าไม่มีใครด่าทอเจ้าหน้าที่ตามที่ถูกกล่าวหา เมื่อไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ด่าทอเจ้าหน้าที่ศาล และผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดมีพฤติการณ์ตามข้อกล่าวหาอย่างไร จึงยกประโยชน์ให้ผู้ถูกกล่าวหา พิพากษายกคำร้อง
สำหรับคดีละเมิดอำนาจศาลที่ “วอน” ถูกนำตัวไปไต่สวนโดยกะทันหันนั้นเป็นคดีที่เขาถูกกล่าวหาว่าใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพ “หยก” นักกิจกรรมเยาวชน ที่นั่งหันหลังให้ผู้พิพากษาในห้องพิจารณาคดี ขณะตรวจสอบการจับกุมในคดีมาตรา 112 เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2566
ภายหลังเมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2567 ศาลเยาวชนฯ ได้มีการนัดไต่สวนข้อกล่าวหา โดยวอนได้รับสารภาพโดยยอมรับว่าตนได้ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพจริง แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการตักเตือนก็ได้ลบภาพดังกล่าวออก และไม่ได้ทำการเผยแพร่ภาพแต่อย่างใด
ศาลเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มาตรา 6 ให้จำคุกผู้ถูกกล่าวหามีกำหนด 1 เดือน ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 15 วัน โดยเขายังได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดี และคดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา